ดนตรีผู้ไท ลมหายใจวัฒนธรรมที่เหลืออยู่


ดนตรีผู้ไท ลมหายใจวัฒนธรรมที่เหลืออยู่ ยังคงต้องการสืบสานจากลูกหลานชาวผู้ไททุกคน

ในงานผู้ไทนานาชาติครั้งที่ 1  ที่อำเภอเขาวง ที่จัดกันเมื่อวันที่ 9-11 ของเดือนที่ผ่านมา   ผมมองเห็นอะไรหลายอย่างที่คิดว่า  สิ่งเหล่านั้นมันใกล้เวลาที่จะสูญหายไปจากสังคมของชาติพันธุ์    แต่ผมมองผิดไปนิด  อาจจะเป็นการมองในมุมที่แคบ เนื่องจากไม่ได้อยู่เขาวงนานหลายปี  ทำให้มองไม่เห็นสภาพจริงของสิ่งที่เป็นอยู่   ความเป็นจริงที่ดำเนินอยู่คือ   ชาวผู้ไทยังคงรักษาขนบ  ประเพณี  ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษแต่ครั้งโบราณ ยังไม่ใกล้เวลาที่จะสูญสลายเลยสักนิด  ตรงกันข้าม   ชาวผู้ไทยังคงรักษาวิถีชีวิต  ความเชื่อ  ประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ  อาจจะปรับให้เข้ากับยุคสมัยตามความเหมาะสม      อัตตลักษณ์อย่างหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นความเข้มแข็งของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท  นั่นก็คือ ดนตรี  ชาวผู้ไทเกือบทุกคนล้วนมีดนตรีในหัวใจ  และดนตรีนั้นก็ได้สร้างความเป็นอันหนึ่ง  อันเดียวกัน   สร้างความสามัคคีในกลุ่ม  ชุมชน  ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมของประเทศเรากำลังต้องการให้เกิด  สังเกตได้จากการเล่นดนตรีพื้นบ้านประกอบการฟ้อน  ในงานวันที่  10  มีนาคม  ผู้เล่นดนตรีซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาย มีหลากหลายอายุ ตั้งแต่เด็กประถมหัวเกรียน  ไปจนถึงรุ่นพ่อ รุ่นปู่  เล่นในคณะหรือวงเดียวกัน  ในวันนั้นเป็นคณะของชาวบ้านโพนสวาง  ภาพที่เห็นเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นได้ว่า ดนตรีไม่จำกัดอายุ เพศ  การศึกษา  และฐานะทางสังคม ดนตรีได้หล่อหลอมให้สังคมผู้ไทกลายเป็นหนึ่งเดียว  ซึ่งโดยปกติแล้ว  ชุมชนระดับหมู่บ้านจะมีการทำกิจกรรมร่วมกัน  เช่น บุญประจำปี  ซึ่งมีการแสดงดนตรีพื้นบ้านเกือบทุกครั้ง  และในงานนี้ก็เช่นกัน  ผู้ไทจากทุกหมู่บ้าน มาร่วมหรือมาโฮมกัน  เล่นดนตรีพื้นบ้านและฟ้อนผู้ไท แปลกตรงที่ฟ้อนผู้ไท ส่วนมากจะเป็นแม่บ้านอายุวัยกลางคนจนถึงอายุใกล้เลข 6   สาวๆ  จะไม่ค่อยรวมตัวกันมาฟ้อน  สอบถามได้ความว่าลูกหลานผู้ไทไปเรียน ทำงานไกลบ้าน  ทำให้ไม่มีโอกาสมาร่วม  ซึ่งเป็นเหตุผลที่ฟังแล้วน่าคิด  ว่าสำนึกในความเป็นชาติพันธุ์ของชาวผู้ไทที่ไปทำงานในท้องถิ่นอื่น  หรือไปศึกษาเล่าเรียน  มีมากน้อยเพียงใด  ต่อไปถ้าสังคมไทยของเรามีการหลอมรวมวัฒนธรรมระหว่างชาติพันธุ์  ชุมชน  กลุ่มคน  ลูกหลานเชื้อสายผู้ไทจะยังให้ความสำคัญกับอัตตลักษณ์มากน้อยเพียงใด  อัตตลักษณ์ผู้ไทจะดำรงอยู่หรือต้องปรับเปลี่ยน ท่ามกลางความเปลี่ยนไปของสังคม  

  • ได้มีโอกาสชมการแสดงลำผู้ไทประวัติการอพยพย้ายเข้าสู่ประเทศสยาม  ในงานผู้ไทนานาชาติครั้งที่ 1 ก็เลยถอดเนื้อความลำ  มาให้หัดลำกัน  

             


 

ลำประวัติภูไท

โอ้ยยย......เดิกๆ ก่อน ยังมิสมพอนอนน้องยาจอนซิ่นไล่  สาวภูไท  เอ.........เอย

โอ้ยนอ  น้องสาวเอย  มาบัดนี้ จะขอเว่าประวัติเก่า  คราวหลัง  เมิงกุดสิมของเฮา

แม้นผู้เลอมาตั้ง  หละแม้นผู้เลอมาสร้าง  พาภูไทมายู  ผมสิบอกให้ฮู้  ให้จำไว้เจ้าอย่าหลง

ยังมีองค์เซื้อเจ้า พระธิเบศร์วงษา  เพิ่นได้พาภูไทมา  หนีจากแดนเมืองแม้ว

แกวทางก่ำ  ทางเมิงบกเมิงวัง  บานนาน้อยอ้อยหนู  ตั้งแต่เก่า  แผ่นดินเกิดอูดเอ้า เพราะจีนฮ่อมาก่อกวน

เพิ่นเลยซวนเอาได้  ซาวภูไทได้พลัดถิ่น หนีจากแดนดินฝั่งซ้าย  ก๋ายมาหึ้นฝั่งขวา 

พากันมาเป๋นร้อย ถอยมาเป๋นหลายหมู่  มายูคนละหม่อง พากันสร้างแปงแปน   เอ้ยย.......

พระธิเบศร์วงษาเพิ่นบอกแจ้ง  บ่อนยูซุ่มกิ๋นเย็น    มันหละเป๋นภูวง  เป๋นดงภูอ้อม  เพิ่นเลยพามาหยังแปงเมิงเนายู 

พาภูไทพี่น้อง  ได้มาสร้างถิ่นฐาน  หละเพิ่นจังตั้งซื่อบ้านให้ดังสมใจ๋หมาย  เมิงกุดสิมนาลาย  ตั้งแต้เดิมนามเข้า

พระธิเบศร์วงษา  เอ้ยย...เป๋นเจ้า  คองเมิงตุ้ไผ่  ซาวภูไทพ่น้องลุงป้าได้ซุ่มเย็น    เป๋นเพราะบารมีกว้างของพระองค์ตั้งแต่ก่อน    คำสอนเพิ่นว่าไว้  ภูไทน้อยให้จือเอา   ละเพิ่นผัดว่า ไม้ไผ่ลำเด๋ว  เอ็ดฮั้วกะมีไกว้  ไทมีพ้อมแปงบ้านกะมีเหิง   เมิงกุดสิม เขาวง ม้อมภูไทคนงาม  เอ่อ.เอ้ย...........

                โอ้ยยย...นอ..เจ้าผู้เนิด ๆเน้อ  นกเป็ดก่าลงหนอง  เจ้าไป๋ถ์กแห  สายไหมย้อมน้ำคั่ง ผู้เลอเด๋...

อดบ่มาถืกแหว  สายฝ้ายอ้ายปั่นหมาย  สายฝ้ายอ้ายปั่นหมาย  เอ....เอ้ย...............

            โอ้ยยย...นอ..น้องสาวเอย  น้องยักไล่อ้ายเป๋นเพอเด๋   ยังมิไล่ตั้งแต่เดิ๋นสิบเอ็ด  ขันแม้นน้ำโท่มป่อง  พูนเด

                โอ้ยยย..นอ  สางภูไทเอ้ย   น้องยักไล่อ้ายเป๋นเพอเด๋     ตั้งแต่เดิ๋นสิบสอง  บ่อยน้ำของ  โท่มแจง  พูนเด

บาดว่าน้ำแห้งแล้ว  ผัดไล่อ้ายเซอขี้ตม  กมเอ๋ย กม มิทันได้เหลาเอย     บาดว่ากมเหลาแล้ว  ซังมาเป๋นคือ  ไม้แป้นปีก  บัดว่า ซีซอดแล้ว  ซังมาเป๋นกะตาชัน   น้อยอ่ำทำ  สาวภูไทคนงามเอย..............

ดนตรีพื้นบ้านผู้ไทเขาวง ประกอบไปด้วย ปี่ภูไท กลองตุ้ม แคนใหญ่ ซอ พิน  

สาวมัธยมจากโรงเรียนเรณูวิิทยานุกูล มาร่วมฟ้อนรำในพิธีเปิดงาน ซึ่งใช้แนวดนตรีผู้ไทเมืองกุดสิมนารายณ์  เป็นลายผู้ไททางใหญ่ ต่างจากลายลมพัดพร้าว(ลายผู้ไททางน้อย)ที่เคยรำฟ้อน   แต่พวกเธอก็สามารถฟ้อนได้อ่อนช้อยและสวยงาม  ทั้งๆ ที่ไม่เคยซ้อมมาก่อน

คำสำคัญ (Tags): #ดนตรีผู้ไท
หมายเลขบันทึก: 483559เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2012 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท