สาเหตุการลาออกยอดนิยม


ในช่วงปลายปีผ่านมา ทางผมเองได้ลองทำการสำรวจหาสาเหตุของการที่พนักงานลาออกจากบริษัท โดยการสอบถามจากพนักงานที่เพิ่งจะลาออกจากบริษัท และจากการรวบรวมเอาข้อมูล exit interview ของบริษัทลูกค้าที่ผมเข้าไปเป็นที่ปรึกษา ก็ได้ผลลัพท์ที่ไม่ผิดคาดแต่อย่างใด

สาเหตุของการลาออกที่พนักงานแจ้งกับฝ่ายบุคคลก็คือ ลาออกเนื่องจากไม่ได้รับปฏิบัติที่ดีจากหัวหน้าของตนเอง บางคนก็บอกว่า หัวหน้างานปฏิบัติกับเขาไม่เหมือนกับเขาเป็นมนุษย์ (ผมอ่านแล้วตกใจเลยนะครับ) บ้างก็แจ้งว่า หัวหน้าไม่เคยให้เกียรติเขาเลย

มีเพียงส่วนน้อยมากที่บอกว่าลาออกเพราะไม่พอใจเรื่องค่าตอบแทน

แสดงว่าถ้าเราต้องการให้พนักงานยินดีทำงานกับองค์กรไปนานๆ และสร้างผลงานให้กับองค์กรอย่างเต็มที่ เราจะต้องพัฒนาหัวหน้างานของเราในทุกระดับให้เป็นหัวหน้างานที่สามารถบริหารคนได้อย่างดี เพราะมิฉะนั้นแล้ว คนกี่คนที่เราหาเข้ามา ก็จะไม่สามารถอยู่ทำงานกับหัวหน้าคนนั้นได้เลย ก็ต้องหาพนักงานใหม่อยู่ตลอดเวลา

ผมเคยสอบถามกลุ่มพนักงานในองค์กรว่า อะไรที่น่าจะเป็นปัจจัยที่สร้างแรงจูงใจให้เขารู้สึกอยากทำงาน อยากสร้างผลงานให้กับองค์กร คำตอบก็มีดังนี้ครับ

  • มีหัวหน้างานที่ดี และเข้าใจพนักงาน ให้เกียรติพนักงาน และปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน นี่เป็นคำตอบอันดับแรกเลยครับ ที่พนักงานบอกว่าเป็นแรงจูงใจในการทำงานที่สำคัญมากที่ทำให้เราอยู่ทำงานในองค์กรได้ด้วยความสบายใจ
  • มีเพื่อนร่วมงานที่ดี และไม่มีการเมืองในองค์กรมากนัก
  • มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน คืออยู่ทำงานแล้วรู้ว่าตัวเองจะสามารถโตไปในทางไหนได้บ้าง
  • มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศในการทำงาน และเครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆ ในการทำงาน
  • มีเงินเดือนและสวัสดิการที่เหมาะสม และสามารถแข่งขันได้กับตลาด

ไม่ว่าจะทำการสำรวจเรื่องแรงจูงใจมาสักกี่ปีก็ตาม ผลในเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนมักไม่ใช่ปัจจัยแรกๆ ในการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานในการสร้างผลงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องมากกว่า

ก็เลยยิ่งทำให้เราเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะของหัวหน้างานให้พร้อมก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าที่จะต้องบริหารคน เพราะผมเห็นหลายบริษัทที่เลื่อนพนักงานขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้า โดยที่ไม่มีการเตรียมความพร้อมก่อนล่วงหน้าเลย พอถึงเวลาที่เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นหัวหน้าแล้ว จึงค่อยส่งเขาไปอบรมและพัฒนา ซึ่งผมมองว่ามันไม่ทันการณ์แล้ว หรืออาจจะช้าเกินไป เพราะถึงตอนนั้นองค์กรอาจจะต้องเสียบุคลากรที่มีความสามารถไปเพียงแค่หัวหน้างานไม่สามารถที่จะดูแล และเอาใจใส่พนักงานของตนเองได้อย่างเหมาะสม

อีกประเด็นที่สำคัญก็คือ ในเมื่อฝ่ายบุคคลรับทราบมาแล้วว่า สาเหตุการลาออกของพนักงานนั้นมาจากหัวหน้าบางคนในองค์กร ฝ่ายบุคคลมีการวางแผนการพัฒนาหัวหน้างานคนนั้น ร่วมกับผู้บังคับบัญชาของเขาหรือไม่ เชื่อมั้ยครับว่า เกินกว่า 60% ขององค์กรที่ผมเข้าไปสำรวจนั้น ไม่มีมาตรการอะไรเลยในการที่จะพัฒนาหัวหน้างานคนนั้นให้เป็นหัวหน้างานที่ดีขึ้น ผลสุดท้ายก็จะเกิดปัญหาการลาออกของพนักงานวนเวียนอยู่อย่างเดิม และไม่มีวันสิ้นสุด

คำสำคัญ (Tags): #การลาออก
หมายเลขบันทึก: 483470เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2012 06:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นเรื่องที่น่าคิดจริง ๆ ครับ

ขอบคุณมากครับ ;)...

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหัวหน้า(สูงสุด) มองลงไปดูระดับปฏิบัติการ ให้เห็นตามความเป็นจริง น่าจะพัฒนาได้ไม่ยาก.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท