เหลื่อมล้ำอย่างเท่าเทียม


วันนี้คนไทยเราพูดถึง “เสรีภาพและความเท่าเทียม” ในด้านหนึ่ง และ “ความเหลื่อมล้ำในสังคม” อีกด้านหนึ่ง โดยในที่สุดก็มักสรุปกันว่า สังคมไทยเรามีความเหลื่อมล้ำมาก ต้องจัดการให้ “เท่าเทียมกัน”

 

น่าสังเกตว่าผู้ที่จุดประเด็นเหลื่อมล้ำ กลับกลายเป็นกลุ่มคนที่รวยที่สุดและมีความเหลื่อมล้ำกับคนชั้นล่างมากที่สุด กลายเป็นว่านี่มัน “ปากว่าตาขยิบ” หรือเปล่า

 

ประเด็นความเท่าเทียมกันนี้ เป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากระบบปัจเจกชนนิยม (individualism) ของชนชาติฝรั่ง ที่ฝังรากมานานหลายพันปี จนมาผลิดอกออกผลเมื่อสักสองร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง   เช่น มีการจัดตั้งระบบประชาธิปไตย ให้ทุกคนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้เท่าเทียมกัน

 

แต่ในทางปฏิบัติ ถามว่า แม้ในวันนี้ สังคมฝรั่งเท่าเทียมกันไหม ต้องตอบว่า ไม่ ...ในหลายประเด็นมีความเหลื่อมล้ำยิ่งกว่าสังคมไทยเสียอีก  เช่น กรณีผู้หญิงเป็นผู้บริหารองค์กรนั้น ประเทศไทยดีกว่าฝรั่งอย่างมหาศาล

 

หมู่บ้านคนรวยฝรั่งนั้น ตั้งแยกอยู่ในย่านรวย คนจนไม่มีสิทธิกร้ำกราย แต่ของไทยเรา คฤหาสน์หรูสร้างติดกระต๊อบคนจนก็มีให้เห็นมากหลาย

 

ความเท่าเทียมที่แท้ไม่มีในโลก  จะพอมีบ้างก็แต่เพียงในหมู่พระภิกษุในบวรพุทธศาสนา ที่ทุกคนแต่งกายเหมือนกัน มีสมบัติประจำตัวเท่ากัน

 

ไม่ว่าสังคมใด ความเหลื่อมล้ำเป็นธรรมดาโลก และว่าไปแล้ว เป็นสิ่งจำเป็นด้วยซ้ำไป เพียงแต่ว่าเราต้องทำให้คนระดับล่าง มีกินมีใช้ที่พอเพียง อย่าให้เขาต้องยากลำบากในการดำรงชีวิตเนื่องเพราะการถูกเอาเปรียบจากชนชั้นสูงจนเกินไป  

 

การจะจัดการให้ได้ดังกล่าวนั้น จำเป็นที่สุดคือ ต้องมีระบบการเมืองที่เป็นธรรม มีความจริงใจในการกำจัดความเหลื่อมล้ำ  มิใช่เพียงแค่ใช้ความเหลื่อมล้ำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อสร้างความร่ำรวยให้พวกตนยิ่งๆขึ้นไปเรื่อยๆ  

 

ถ้าเป็นแบบที่ว่านี้ ในระยะยาว มันจะยิ่งเหลื่อมล้ำมากกว่าเก่าเสียอีก จะกลียุคในที่สุด

 

ในอดีต มีการเลิกทาส แต่ทาสจำนวนไม่น้อย อาสาอยู่รับใช้นายทาสต่อไป นี่แสดงว่าเขาต้องการอยู่แบบเหลื่อมล้ำ ดีกว่าอยู่แบบเท่าเทียมด้วยซ้ำไป น่าถามว่า “ทำไม” 

 

...ที่แน่ๆ สังคมไทยเราต่างจากฝรั่งมาก ดังนั้น อย่าไปลอก “ความเท่าเทียม” (จอมปลอม)  ของฝรั่งมาใช้แบบชุ่ยๆ เหมือนเรื่องอื่นๆ อีกเลย

 

 

...คนถางทาง (๒๗ มีนาคม ๒๕๕๕)

หมายเลขบันทึก: 483353เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2012 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท