beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

ครบรอบ ๒๕ ปี แห่งการทำงานและรับราชการ ตอนที่ ๕ (5/55)


เป็นอันว่าผมได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนไปบรรจุเป็นอาจารย์ที่มศวพิษณุโลก

ต่อจากตอนที่ ๔

      การที่ทางภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คัดเลือกเฉพาะบัณฑิตชาย ๒ คน เพื่อให้ทาง มศวพิษณุโลกคัดเลือกเหลือ ๑ ใน ๒ นั้น เข้าใจว่า คงเป็นเพราะต้องไปทำงานอยู่ที่ต่างจังหวัด นิสิตชายจะสะดวกกว่า และแนวโน้มที่จะสละทุนน้อยกว่า

      มีการนัดวันสัมภาษณ์อีกครั้ง และทางมศว พิษณุโลก ส่ง รศ.ปรียานันท์ แสนโภชน์ และ ผศ.เพ็ญศิริ นภีรงค์ มาสัมภาษณ์...เมื่อสัมภาษณ์แล้ว ได้คัดเลือกผมให้ได้รับทุนโครงการผลิตและพัฒนาอาจารย์ ตามความต้องการของมศว พิษณุโลก เพื่อให้ไปสอนวิชาสัตววิทยา ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานของหลักสูตรชีววิทยา ที่มศว พิษณุโลก

     ที่ผมได้รับการคัดเลือกเพื่อไปเป็นอาจารย์ที่มศว พิษณุโลกนั้น เข้าใจว่าเป็นเพราะผมเรียนวิชาพื้นฐานทางสัตว์มามากกว่าอีกคนหนึ่ง และคะแนนชีววิทยาภาพรวมแล้ว ผมคงได้มากกว่า อีกทั้งมีลักษณะอื่นประกอบกันด้วย... การเป็นศิษย์เก่าของที่จุฬาฯ ก็คงมีอานิสงค์ด้วยเหมือนกัน เพราะที่นี่เป็นสถาบันฝ่ายผลิต...

      เป็นอันว่า ผมมีเหตุที่จะต้องไปอยู่พิษณุโลก เมืองที่ผมไม่เคยไปเที่ยวและไม่รู้จักลักษณะทางภูมิศาสตร์อะไรมากนักนอกจากเรื่องของประวัติศาสตร์ แต่ก็ทำให้ผมมีโอกาสที่จะได้ออกไปทำงานนอกกรุงเทพฯ เมืองที่สับสนวุ่นวายในความเห็นของผม

     เมื่อจบขั้นตอนของการสอบเข้าและการคัดเลือกแล้ว ยังเหลือเวลาอีกเกือบ ๒ เดือนกว่าจะเปิดเทอม ช่วงนี้ผมก็ยังไปทำงานกับอาจารย์สุดสนองเหมือนเดิม.. ช่วงปิดเทอมนี้ช่างเงียบเหงาดีเสียเหลือเกิน แต่ผมชอบเพราะเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตมีความสงบ และมีงานทำ

     งานที่ผมทำนั้น เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ท่านอาจารย์สุดสนองกำลังทำวิจัย ทดลองใช้สีย้อมจากสมุนไพรธรรมชาติมาย้อมเนื้อเยื่อเพื่อทดแทนสีย้อมจากต่างประเทศที่มีราคาแพง

     สีย้อมจากต่างประเทศที่ใช้ย้อมเนื้อเยื่อตอนนั้น (จนถึงปัจจุบันนี้) ที่อาจารย์สุดสนองสนใจและต้องการใช้สีย้อมจากสมุนไพรของไทยทดแทนนั้น ได้แก่สี Haematoxylin และ Eosin  

     สี Haematoxylin นั้นได้มาจากต้นไม้ที่ชื่อว่า logwood มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Haematoxylon campechianum  เป็นต้นไม้ใน order Leguminosae (Genus Eucaesalpinieae) คำว่า Haemato แปลว่า เลือด และ xylo แปลว่าไม้

     สี Haematoxylin นั้นจะย้อมติดพวกเส้นใยอีลาสติกได้ดี ตลอดจนย้อมติดนิวเคลียสของเซลล์ด้วย โดยนิวเคลียสจะติดสีน้ำเงินเข้ม

     ส่วน Eosin เป็นสีย้อมที่เกิดจากปฎิกิริยาของโบรมายในฟลูโอรีซิน ใช้ย้อมสีไซโตพลาสซึม, เส้นใยคอลลาเจนและเส้นใยกล้ามเนื้อทำให้ติดสีแดงชมพู... Eosin รากศัพท์มาจากภาษากรีกแปลว่า dawn มีความหมายว่า ตะวันขึ้น, สว่าง

    เวลาย้อมเนื้อเยื่อเราจะใช้สีย้อม ๒ ตัวนี้ ทำให้ติดสีเนื้อเยื่อบริเวณที่แตกต่างกันเรียกว่า counterstain โดยย้อมสี Haematoxylin ก่อนแล้วตามด้วย Eosin ทำให้เนื้อเยื่อติดสีน้ำเงินที่นิวเคลียสและติดสีชมพูที่ Cytoplasm

     แล้วค่อยมาเขียนต่อครับ   (เขียนต่อ 19 มิ.ย.56 ว่างเว้นไปปีกว่า)

    วันหนึ่ง ผมย้อมสีเนื้อเยื่อส่วน Mesentery (เป็นผนังบางๆ ซึ่งช่วยยึดลำไส้เล็กให้ติดกับผนังช่องท้องและเป็นเส้นทางที่เลือด ท่อน้ำเหลือง และเส้นประสาทผ่านเข้าออกจากลำไส้เล็ก) ของหนู ส่วนนี้คือขั้วยึดลำไส้ของหนูนั่นเอง ย้อมสี Couterstain โดยย้อมนิวเคลียสด้วยสีน้ำเงินจากลูกหว้า และย้อมสีไซโตพลาซึมด้วยฝาง



หมายเลขบันทึก: 483147เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2012 08:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 08:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท