เรียนรู้สู่ความเป็นสากล ผ่านวรรณกรรม


วิเชียร ไชยบัง โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ครูใหญ่ : โรงเรียนนอกกะลา

บทสัมภาษณ์ลงในนิตยสารแม่และเด็ก


อธิษฐานสิจ๊ะกับนางฟ้าสีเขียว...ชื่อเรื่องน่ารักเชียว
    “ผมพบว่า เด็กๆ แต่ละคนที่พออยู่ในวัยสัก 2 - 3 ขวบถึงสี่ขวบ จะมีสีใดสีหนึ่งที่ชอบเป็นพิเศษ และแต่ละคนก็ไม่ได้ชอบสีเดียวกัน  นั่นเป็นวิถีของแต่ละคน บางคนชอบสีฟ้า จะกินอะไรก็เป็นสีฟ้า อยากได้อะไรก็สีฟ้า คนที่ชอบสีเขียว อยากจะกินไอติมอร่อยหรือไม่อร่อยก็ชั่ง แต่ขอให้เป็นสีเขียว อะไรอย่างนี้  ผมกำลังจะบอกว่าเด็กแต่ละคนเขาก็จะมีวิถีของเขา แล้วมีวิธีคิดของเขา เพราะฉะนั้น ในเรื่องของอธิษฐานสิจ๊ะกับนางฟ้าสีเขียว เด็กคนนี้จะมีวิธีคิดของตัวเอง
    ...ซึ่งแน่นอนว่า คนรอบข้างก็จะมองว่า ผิดบ้าง ถูกบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะมองว่า ผิด เพราะมันไม่เป็นอย่างที่เราต้องการหรืออย่างที่เราคิด  แล้วตัวละครก็จะดำเนินไปทั้งก่อนเข้าเรียน และระหว่างเข้าเรียนช่วงต้นๆ สิ่งที่ผมสื่อก็พยายามจะบอกให้ทั้งครู และพ่อแม่เข้าใจว่า เด็กๆ คิดอะไร แล้ววิธีคิดเป็นยังไง ทั้งในช่วงก่อนเข้าเรียน และก็ขณะที่เข้าเรียน”
“ไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ” ทัศนะต่อคณะกรรมการตัดสิน
    “ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร มันเป็นมาตรฐานของคนวัด ซึ่งคนวัดเอง ก็มีแค่สี่ห้าคน แล้วคนวัดเองก็ไม่ใช่เด็ก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการสื่อไม่ใช่สื่อให้เฉพาะผู้ใหญ่สี่ห้าคนนั้น แต่สิ่งที่เราสื่อคือให้เด็กๆ ให้พ่อแม่ และครู ที่ทำงานกับเด็ก  เพราะฉะนั้น อย่างไรก็ตามมันยังทำงาน แม้ว่าไม่ได้รางวัลที่หนึ่ง มันก็ยังทำงานในหน้าที่ของทำเพื่อเด็ก และเยาวชน ซึ่งสำคัญที่สุด  รางวัลเป็นเพียงสิ่งที่จะทำให้คนรู้จักหนังสือ  จะทำให้คนได้ใช้ประโยชน์มันได้มากขึ้น ผมเชื่อว่า คนที่เขียนแล้วได้รางวัลโนเบลหลายคน หรือเกือบทุกคน เขาไม่ได้สนใจรางวัล  แต่สิ่งที่เขาสนใจคือ เขาได้สื่อสารเหล่านั้น ถึงผู้รับสารมั้ย และสารเหล่านั้นได้ยกระดับผู้คนขึ้นมั้ย”
ตราประทับรางวัลกับความรู้สึกรักการอ่าน
    “ตอนนี้ สังคมของไทยเรายังต้องใช้อยู่ หมายความว่า ความรู้สึกรักการอ่าน หรือการกล่อมเกลาให้เด็กรักการอ่าน มันต้องมีตัวอย่าง ทีนี้ ถามว่า คนไทยมีเปอร์เซ็นต์การอ่านหนังสือกี่เปอร์เซ็นต์ ผมเข้าใจว่า ประมาณไม่กี่บรรทัดต่อปี  แต่สิ่งนี้จะช่วยดึงดูดให้พ่อแม่อ่าน ที่จริงแล้วไม่ต้องบอกให้เด็กอ่าน แค่พ่อแม่นอนอ่านหนังสือทุกวันๆ เด็กๆ จะรักการอ่านหนังสือโดยอัตโนมัติ เขาจะเริ่มงมจากสิ่งที่ไม่รู้ เมื่อได้รู้เขาก็จะสนุกกับมัน  แล้วสุดท้ายเขาจะติดหนังสือ แต่อันหนึ่งน่าสนใจนะ ถ้าพ่อแม่สนใจหนังสือประเภทไหน เด็กจะมีแนวโน้มที่จะสนใจหนังสือประเภทนั้นมากเช่นกัน”
คุณค่าของรางวัลทางวรรณกรรมเยาวชน
    “ผมว่าดีหมด และควรพยายามที่จะสร้างเวทีเพื่อให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นเยอะๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเด็กๆ อย่างในโรงเรียนนอกกะลา (โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา) เราไม่ใช้แบบเรียนภาษาไทยในการสอนภาษา  เราเอาวรรณกรรมไปสอนเลย ตั้งแต่ ป.1 จนถึง ป.6 เราใช้วรรณกรรมชั้นละ 4 เรื่อง 4 ประเภท   ประเภทแรกก็จะเป็นกลุ่มนิทาน ก็จะเลือกตามระดับยากง่ายไป  อย่าง ป.5-6 ก็จะเรียนนิทานเวตาล  ผมมองว่ามันเหมาะกับเยาวชน   ประเภทที่ 2 ก็จะเป็นพวกวรรณกรรมเยาวชนต่างประเทศ  ประเภทที่ 3 ก็จะเป็นวรรณกรรมเยาวชนไทย และ  ประเภทที่ 4 ก็เป็นวรรณคดี ทั้ง 4 อย่างนี้ก็ให้ประโยชน์คนละแบบ อย่างนิทานก็ให้ข้อคิดแบบตัดฉับๆ แต่ว่าในเรื่องของวรรณกรรมก็ค่อยๆ ละเลียดอารมณ์ไป ในเรื่องของวรรณคดี ก็เป็นแนวคิดของสังคมที่เป็นรากเง้าเดิมๆ ส่วนแนวคิดของวรรณกรรมเยาวชนต่างประเทศ ก็จะออกมาเชิงความรู้สึกที่เป็นสากล
    ...ซึ่งเราไม่มีแบบเรียนภาษาไทย เราใช้วรรณกรรมในการสอน แล้วถอดความ ถอดคำ ถอดอะไรต่างๆ ออกจากวรรณกรรมมา แล้วเราจะเริ่มไล่เรียงจากง่ายไปหายาก สั้นไปหายาว   อย่าง ความสุขของกะทิ และ เจ้าชายน้อย เราให้เรียน ป.3  หรือเจ้าชายไม่วิเศษ เรียน ป.1 อะไรอย่างนี้ครับ แต่ถ้าเป็นเด็กชั้นโตก็จะเป็นวรรณกรรมที่ยาวขึ้น ชั้นป.5-6 จะได้เรียนจากวรรณกรรมของลีโอ ตอลสตอย หรือ ตอสโตเยฟสกี้  ซึ่งเราต้องใส่ใจในการเลือก   วรรณกรรมจะให้ความละเอียดอ่อนทางด้านจิตใจ  ความงามของการใช้ภาษา  สิ่งนี้หนังสือทั่วๆ ไปสอนไม่ได้   และสิ่งที่สำคัญที่เด็กจะได้จากวรรณกรรมก็คือ หนึ่งได้เรียนรู้ชีวิตผ่านแบบแบบจำลองชีวิตในวรรณกรรมซึ่งเขาไม่มีโอกาสที่ จะใช้ชีวิตอย่างนั้นจริงๆ   สองก็คือเขาได้ซึมซับความละเมียดละไมของอารมณ์ผ่านตัวละคร  และอย่างที่สามเขาจะได้มีโอกาสซึมซับในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม หรือค่านิยมที่ผู้เขียนสอดแทรกไว้”
ลิตเติ้ลทรี และผองเพื่อนวรรณกรรมเยาวชนที่ควรเลือกหยิบอ่าน
    “วรรณกรรมเยาวชนนะครับ ก็มีลิตเติ้ลทรี แล้วก็ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน เจค็อปคนทำขนมปัง หรือไม่ก็ต้นส้มแสนรัก เจ้าชายน้อย ถ้าเป็นญี่ปุ่นก็โต๊ะโตะจัง  อันนี้ก็อ่าน แต่ผมเอ่ยลิตเติ้ลทรีก่อนนะ เพราะชอบเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่ง หลังจากพ่อแม่ตายก็ไปอยู่กับปู่กับย่าในป่าที่เป็นอินเดียแดง ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตในวิถีของคนป่า ของวิถีอินเดียแดงอย่าแท้จริง ความเชื่อและทัศนคติที่ปู่กับย่าปลูกฝังให้ แต่ทีนี้ เขาอยู่อย่างนั้น เขาก็ค่อยเติบโต
    ...แต่ขณะเดียวกัน สังคมข้างนอกก็เริ่มรุกราน รุกรานเข้าไปถึงในป่า รุกรานวัฒนธรรมของอินเดียแดง บางอย่างสิ่งที่อินเดียแดงเชื่อว่าถูกก็กลายเป็นผิดตามกรอบของความเชื่อใหม่ และสุดท้าย หลังจากที่ปู่กับย่าตาย เขาต้องออกจากป่า เพราะว่าถูกเล่นงานทางด้านกฎหมายและอยู่ไม่ได้ แล้วออกมารับใช้ระบบ ซึ่งก็เป็นความเจ็บปวดมากที่วิถีนึงถูกรุกรานด้วยวิถีนึง  จากเรื่องนี้ทำให้ผมตระหนักมากๆ ว่า เราต้องเคารพของวิถีของแต่ละวิถี เราไม่ควรรุกรานวิถีของกันและกัน”
ยุคสมัยแห่งแฟนตาซี อาทิ แฮร์รี่ พอตเตอร์, เพอร์ซี่ย์ แจ็คสัน ฯลฯ
    “ผมว่า วรรณกรรมดีหมด คือข้อดีของการอ่านงานวรรณกรรมก็คือการสร้างการจดจ่อ  การจดจ่อที่ยาวนานจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนรู้ การจดจ่อทำให้เกิดการใคร่ครวญ ความเข้าใจแบบลึกๆ ต้องอาศัยการจดจ่อและการใคร่ครวญ   แต่ถ้าเด็กได้ดูหนัง หรือดูทีวี พวกนี้ก็จะมีภาพที่ฉับไว มีแสงสีเสียงที่วูบวาบ และก็จะถูกดึงความสนใจก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว  การคงสมาธิจะสั้นสู้เด็กที่อ่านวรรณกรรมไม่ได้   ทีนี้ ถ้าถามว่า วรรณกรรมในเชิงแฟนตาซีหรือแบบอื่นๆ อย่างไหนดี ผมมองว่า ไม่ได้ต่างกัน
    ...แต่ว่า วรรณกรรมที่ดีควรจะมีแบบจำลองชีวิตจริงที่ดีงามซ่อนไว้ด้วย   แต่ไม่ได้บอกว่า ไม่ให้มีจินตนาการนะครับ  ทั้งต้องโยงกับอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นสากลด้วยอย่างเช่น ความฝัน ความทุกข์ ความเศร้าหมองเจ็บปวด ความรัก ความกล้าหาญ เป็นต้น”
เปรียบเทียบ...วรรณกรรมเยาวชนไทยกับต่างประเทศ
    “ผมมองว่า ไม่ต่างกัน ใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน แต่ว่า ในส่วนไทย เวลาคนเขียนๆ ลงไปก็จะมีความเป็นไทยอยู่ ทั้งการใช้ภาษา วัฒนธรรม ค่านิยม ด้วยความคิดที่ใส่ลงไปก็จะเป็นแบบไทยๆ เด็กก็จะรับได้ง่าย แต่ไม่ใช่หมายความว่า วรรณกรรมเยาวชนต่างประเทศเด็กจะรับไม่ได้ เพราะพวกนี้มันมีความเป็นสากลอยู่ ผมเรียกว่า วรรณกรรมสื่อความเป็นสากล คือเวลาเราพูดถึงความเป็นสากล เรามักจะได้ยินคำนี้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในหลักสูตรก็มี ในนโยบายของรัฐบาลก็มี ที่อยากจะพัฒนาเด็กไปสู่ความเป็นสากล
    ...ซึ่งคนตีความ ของความเป็นสากลว่า การใช้คอมพิวเตอร์เป็น การใช้ภาษาอังกฤษได้ แต่ผมมองว่า นั่นไม่ใช่ความเป็นสากล ความเป็นสากลคือทุกคนรู้สึกสัมผัสได้ถึงสิ่งเดียวกัน เช่น มีคนมาทำร้ายเรา เราเจ็บปวด ทุกคนเหมือนกันหมด นี่คือสากล  ไม่ชอบให้ใครมาทำร้ายเรา  เหงา  รัก  ฝัน  แล้วสิ่งที่ถ่ายทอดความเป็นสากลแบบนี้ได้ คือวรรณกรรม เพราะฉะนั้น วรรณกรรมคือสื่อสิ่งเดียวที่เชื่อมความเป็นสากลได้ดีที่สุด ไม่ใช่คอมพิวเตอร์”
สุดท้าย วรรณกรรมสำหรับเด็ก...พ่อแม่ควรตระหนัก
    “ที่จริงเราอยากให้พ่อแม่ทุกคนตระหนักในเรื่องของการให้เด็กได้อ่านวรรณกรรม เพราะวรรณกรรมจะช่วยเพิ่มพูนทักษะการใช้ภาษาอันละเมียดละไม  ทั้งยังสื่อลักษณะของบุคลิกภาพของตัวละคร  มีวิถีการดำเนินชีวิต มีทัศนคติแฝงอยู่  ขณะที่อ่านเด็กก็จะมีอารมณ์ไปพันเกี่ยวไปกับตัวละคร  เหมือนกับเขาได้ใช้ชีวิตในรูปแบบนั้น  ต้องเข้าใจว่าข้อจำกัดของเด็กๆ คือเขาไม่มีเวลาที่จะใช้ชีวิตหลายๆ รูปแบบได้ แต่วรรณกรรมได้จำลองชีวิตหลายๆ รูปแบบไว้แล้ว และสุดท้าย เขาก็จะเห็นค่าปกติของตัวละครแต่ละตัวว่า วิถีปฏิบัติแบบไหนเหมาะสมหรือบุคลิกภาพอย่างไรเหมาะสม”

“ไม่อยากเชื่อนะว่า เรามีเด็กในวัยเรียนประมาณ 8 ล้านคน ครู 4 แสนคน  แต่พอเราทำหนังสือวรรณกรรมสักเล่มพิมพ์สามพันกลับขายได้ไม่กี่ร้อย  ไม่ใช่ว่าโรงเรียนต่างๆ จะไม่มีเงินซื้อหนังสือ  แต่เราเห็นค่าของวรรณกรรมน้อยไป  นโยบายรัฐบาลเองต้องเปิดเวทีให้หนังสือวรรณกรรมให้ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ใน ชั้นหนังสือห้องสมุดมากๆ ด้วย  โรงเรียนต่างๆ มักถูกกรอบให้ซื้อหนังสือแบบเรียน หนังสือแบบฝึก อะไรเทือกนั้น ในนั้นมีแต่ความรู้อันแห้งแล้งและพร้อมจะตกยุค  ปราศจากอารมณ์ความรู้สึกอันเป็นสากล”


อ่านเพิ่มเติม : http://lamplaimatpattanaschool.blogspot.com/2010/08/blog-post_4629.html



หมายเลขบันทึก: 483096เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2012 19:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท