ชีวิตที่พอเพียง : 104. เรียนรู้จากการแต่งงานของลูก


        การที่ลูกสาวแต่งงานกับคนต่างชาตินี้     แรกรู้ข่าว (หลายปีมาแล้ว) เราก็ไม่สบายใจนะครับ     เราอยากได้ลูกเขยไทยมากกว่า     แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรามีส่วนให้เกิดสภาพเขยแขกนี้ด้วย     คือเรายุให้ลูกสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนที่อเมริกา     แล้วลูกก็ดันเก่งพอที่จะสอบได้     แล้วก็บังเอิญเพื่อนของลูกสาวคนที่สองที่ได้ทุนคิงก่อน ๒ ปี มีแฟนเป็นคนอินเดีย     จึงชักนำให้ใต้กับมูราลี่ได้พบกันและติดต่อกันเรื่อยมา

       ใต้เขาเป็นคนเก่ง และแข็งบวกร้อน    คือใจร้อนแบบพ่อ (บวกแม่ - คือร้อนทั้งบ้านนั่นแหละ)     เราจึงงงว่ามูราลี่ทนเขาได้อย่างไร     ผมเดาว่าหนุ่มไทยทนความร้อนและความเก่งของเขาไม่ได้  เก่งในที่นี้หมายถึงเรียนเก่งเท่านั้นนะครับ     ในด้านการดูแลอารมณ์ตนเองเขาคงต้องฝึกอีกมาก     เป็นความผิดของผมที่แทบไม่ได้ฝึกเขาเลยเมื่อตอนยังเล็ก    หรือบางครั้งเราทำตัวอย่างไม่ดีให้เขาเห็นด้วยซ้ำไป  

       การมางานแต่งงานที่ไฮเดอราบัดระหว่างวันที่ ๒๘ - ๓๐ กค. ๔๙    ช่วยให้ผมได้เรียนรู้ประเพณีอินเดียมากขึ้น    และก็เห็นชัดเจนว่ายิ่งมีการศึกษา คนเราก็งมงายน้อยลง     แต่ก็ยังถือบางส่วนลึกๆ อยู่     เช่นเขาต้องเอาวันเดือนปีและเวลาเกิดของเจ้าบ่าวเจ้าสาว    กับวันเดือนปีเกิดของพ่อเจ้าบ่าวเจ้าสาว ไปคำนวณหาฤกษ์ในการทำพิธี     สำหรับผม ผมก็จะหาว่าเป็นวิธีหารายได้ของหมอดู     คือผมไม่เชื่อเรื่องเช่นนี้    แต่เราก็ไม่เข้าไปยุ่ง   

       พิธีกรรมที่มากมาย ช่วยสร้างความคุ้นเคยให้แก่สองครอบครัว ที่จะมาใกล้ชิดสนิทสนมกัน     และช่วยสร้างความใกล้ชิดความรักใคร่ภายในครอบครัวด้วย     คล้ายๆ มีการลงแขกช่วยงานกัน    เหมือนที่บ้านนอกของไทย     ที่มีการไปช่วยงานซึ่งกันและกัน     แต่ที่บ้านผมที่ชุมพรการช่วยงานชักจางลงไป  แทนที่ด้วยการจ้างงาน    การช่วยงานหรือจ้างงานนี้ มีทั้งการเตรียมสถานที่ เตรียมอาหารเลี้ยงแขก   ต้อนรับแขก  แต่งตัวเจ้าสาว  เป็นต้น

       ทุกเรื่องนะครับ  ที่เรามองให้เป็นบวกก็ได้ เป็นลบก็ได้     ชีวิตคนเราถ้าเรา "ถือบวก" เก่ง  เราก็จะสุขง่าย ทุกข์ยาก    และเรียนรู้ง่าย     แต่ถ้าเราฝึกตัวเองให้เป็นนัก "ถือลบ" หรือ "ถือทุกข์"  เราก็จะทุกข์ง่าย สุขยาก    เรียนรู้ยาก     เรื่องแบบนี้ไม่มีใครสอนใครได้ ต้องเรียนรู้เอาเอง  

       การได้มาเห็นเมืองไฮเดอราบัด  เท่ากับมาภาคใต้ของอินเดียเป็นครั้งแรก      ผมรู้สึกคล้ายๆ ตอนไปเมืองนอกครั้งแรกๆ     เห็นฝรั่งเป็นฝรั่งเหมือนกันหมด    นานๆ เข้าจึงเริ่มดูออกว่าเป็นคนอิตาเลียน    ฝรั่งเศส   เยอรมัน  ฯลฯ     พอมาที่ไฮเดอราบัด ก็เห็นคนเป็นแขกหมด    ก็ค่อยๆ หัดสังเกตดูความแตกต่างของคน     เราจะเห็นว่าคนอินเดียเป็นลูกผสมทั้งนั้น    คนขาวตัวสูงมักผสมเปอร์เชีย ซึ่งก็คืออิหร่านโบราณ    คนอินเดียใต้แท้จะตัวเตี้ยและผิวดำจัด     ที่เรียกว่าพวกมิลักขะ    ส่วนพวกผิวขาวสูงเป็นอารยัน  

วิจารณ์ พานิช
๒๙ กค. ๔๙
ไฮเดอราบัด  

หมายเลขบันทึก: 48304เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2006 08:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 07:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท