เหตุที่มา และการกระทำที่เป็นสีลัพพตปรามาส


ธรรมหลักในศาสนาพุทธคือ อิทัปปัจจยตา ที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้อธิบายความหมายไว้ว่าคือ

ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย, ความเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย, กระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย,กฎที่ว่า
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น;
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี, เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ,
เป็นอีกชื่อหนึ่งของหลัก ปฏิจจสมุปบาท หรือ ปัจจยาการ*

นั้นสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ รวมไปถึงพฤติกรรมแต่ละอย่างของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ดังเช่น พฤติกรรมที่เกิดจากความงมงาย แล้วแสดงออกด้วยการรักษาศีล และการมีวัตรปฏิบัติ การสวดมนต์ การฝึกสมาธิ เป็นต้น โดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของสิ่งที่ทำ ตามที่ชาวพุทธรู้จักพฤติกรรมนี้ในนาม สีลัพพตปรามาส

พระเถระ ๒ รูปที่โลกยกย่องได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องเกี่ยวกับสีลัพพตปรามาสนี้ไว้ดีแล้ว ขอยกมาอ้างดังต่อไปนี้

สีลัพพตปรามาส ก็คือความงมงายเกี่ยวกับการปฏิบัติในศีลและวัตรต่างๆที่ตนปฏิบัติอยู่ พอเอ่ยมาสักว่าชื่อ คนทั้งหลายก็พอจะเข้าใจได้ว่า หมายถึงอะไร ในบาลีจึงไม่มีคำอธิบายที่เป็นคำตรัสโดยตรง ครั้นต่อมาถึงสมัยนี้ โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ ปัญหามันเกิดขึ้นมาก คือ ไม่รู้ ไม่สามารถจะเข้าใจได้ ว่าสิ่งที่เรียกว่าสีลัพพตปรามาสนั้น คืออะไร

พุทธทาสภิกขุ คู่มือพ้นทุกข์ฉบับสมบูรณ์ หน้า ๑๗๔

สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลและพรต (clinging to mere rule and ritual) ความอยากได้ อยากเป็นอยู่ ความกลัวต่อการสูญสลายของตัวตน โดยไม่เข้าใจกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ผสมกับความยึดมั่นในทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ประพฤติปฏิบัติตามๆกันอย่างงมงายในสิ่งที่นิยมว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ ที่จะสนองความอยากของตนได้ ทั้งที่มองไม่เห็นความสัมพันธ์ทางเหตุผล ความอยากให้ตัวตนคงอยู่ มีอยู่ และความยึดมั่นในตัวตน แสดงออกมาภายนอก หรือ ทางสังคม ในรูปของความยึดมั่นในแบบแผน พฤติกรรมต่างๆ การทำสืบๆกันมา ระเบียบวิธี ขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิพิธี ตลอดจนสถาบันที่แน่นอนตายตัวว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ โดยไม่ตระหนักรู้ในความหมาย คุณค่า วัตถุประสงค์ และความสัมพันธ์โดยเหตุผล กลายเป็นว่า มนุษย์สร้างสิ่งต่างๆเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อปิดกั้น ปิดล้อมตัวเอง และทำให้แข็งทื่อ ยากแก่การปรับตัว และการที่จะได้รับประโยชน์จากสิ่งทั้งหลายที่ตนเข้าไปสัมพันธ์

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย หน้า ๑๙๗ ๑๙๘

ทำไมเราจึงเรียกความงมงายนี้ว่า สีลัพพตปรามาส? ทั้งนี้เป็นด้วยเหตุผล 2 อย่างคือ ความงมงายต่อสิ่งเหล่านี้มันทำให้บุคคลบัญญัติศีลและวัตรปฏิบัติต่างๆขึ้น ตามความงมงายของตน เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดศีลและวัตรอย่างสุนัข อย่างโค เป็นต้นขึ้นมาในโลกนี้ นี้เป็นความงมงายอยู่ที่ตัวศีลและวัตรที่บัญญัติขึ้นมาด้วยความงมงายอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง ความงมงายชนิดนี้ได้เข้ามาครอบงำข้อปฏิบัติต่างๆที่ถูกต้อง ที่แท้จริงเป็นของถูกต้อง แต่เมื่อความงมงายเข้ามาครอบงำแล้ว บุคคลผู้ประพฤติศีลและวัตรซึ่งมีอยู่อย่างถูกต้องนั่นแหละ ได้ใช้ความงมงายของตนทำให้กลายเป็นศีลและวัตรที่งมงายไป เช่น ให้ทาน หรือ รักษาศีล หรือทำสมาธิก็ตามด้วยความงมงาย ด้วยเข้าใจผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง หวังผลผิด ใช้เหตุผลในสิ่งนั้นๆผิด หรือกระทั่งไม่อยู่ในอำนาจแห่งเหตุผลเสียเลย ทำให้ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือ สะอาดบริสุทธิ์นั้น กลายเป็นข้อปฏิบัติที่สกปรกหม่นหมอง เศร้าหมองไปเพราะอำนาจความงมงายของผู้ปฏิบัติเอง นี้อีกอย่างหนึ่ง จึงเป็น ๒ อย่างด้วยกัน

พุทธทาสภิกขุ คู่มือพ้นทุกข์ฉบับสมบูรณ์ หน้า ๑๗๗

จากการอธิบายของพระเถระทั้งสอง คงแสดงเหตุที่มาและการกระทำที่เรียกว่าสีลัพพตปรามาสได้เป็นอย่างดี

และคงอธิบายถึงเหตุที่ชาวพุทธ รักษาศีล สวดมนต์ ไหว้พระ เพื่อหวังรวย หวังแคล้วคลาด รวมไปถึงการหวัง

เพื่อการเกิดในสวรรค์ เพื่อจะได้วิมาน (คือมีความหมายเป็นกามคุณอย่างยิ่ง)

พุทธทาสภิกขุ คู่มือพ้นทุกข์ฉบับสมบูรณ์ หน้า ๑๗๙

ได้รวมไปถึงอธิบายได้ด้วยว่า การกระทำเหล่านั้น จัดเป็นสีลัพพตปรามาสหรือไม่ เพราะ

เพราะเหตุว่า ศีลและวัตรต่างๆนั้น ท่านไม่ได้บัญญัติขึ้นเพื่อความมุ่งหมายอย่างนั้น ท่านบัญญัติไว้เพื่อขูดเกลาความเห็นแก่ตัว หรือ ขุดเกลากิเลสให้เบาบาง ให้มีความยึดมั่นถือมั่นในตัว หรือ ของตัว น้อยลงต่างหาก เมื่อเปลี่ยนจุดมุ่งหมายให้มากลายเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว ก็จะพอกพูนความเห็นแก่ตัว เอาอะไรๆมาเข้าข้างตัว ทำไปตามอำนาจของกิเลสและตัณหาหรือทิฏฐิเหล่านี้แล้ว มันก็เท่ากับมีมือสกปรกมาลูบคลำศีลและวัตรของบุคคลนั้นที่ควรจะบริสุทธิ์สะอาดนั้นให้กลายเป็นสกปรกไป

พุทธทาสภิกขุ คู่มือพ้นทุกข์ฉบับสมบูรณ์ หน้า ๑๗๙

เพื่อไม่ให้การกระทำของเราเป็นไปในลักษณะของสีลัพพตปรามาส เราจึงต้องมีโยนิโสมนสิการ (การทำในใจโดยแยบคาย,การพิจารณาโดยแยบคาย คือพิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริง โดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ แยกแยะองค์ประกอบ จนมองเห็นตัวสภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ) ต้องรู้จุดมุ่งหมายของการกระทำของเราเอง เพื่อให้ปฏิบัติถูกต้องตามธรรม และสัมพันธ์ กลมกลืนกับธรรมที่มารับช่วงต่อ เนื่องจาก

เมื่อมองในแง่ปรมัตถ์ (มิใช่ในแง่ทิฏฐธัมมกัตถ์ สัมปรายิกัตถ์ ปรัตถะ หรือในแง่สังคม) ศีล สมาธิ ปัญญา ต่างก็มีจุดหมายสุดท้ายเพื่อนิพพานเหมือนกัน แต่เมื่อมองจำกัดเฉพาะตัวแต่ละอย่าง มีขีดขั้นขอบเขตของตนที่ต้องไปเชื่อมต่อกับอย่างอื่น จึงจะให้บรรลุจุดหมายสุดท้ายได้ลำพังอย่างหนึ่งอย่างเดียวหาสำเร็จผลล่วงตลอดไม่ แต่จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดเสียทีเดียวก็ไม่ได้ จึงมีหลักว่า ศีลเพื่อสมาธิ สมาธิเพื่อปัญญา ปัญญาเพื่อวิมุตติ ถ้าปฏิบัติศีลขาดเป้าหมาย ก็อาจกลายเป็นสีลัพพตปรามาส ช่วยส่งเสริมอัตตกิลมถานุโยค ถ้าบำเพ็ญสมาธิโดยไม่คำนึงถึงอรรถ ก็อาจหมกติดอยู่ในฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ส่งเสริมมิจฉาทิฏฐิบางอย่าง หรือส่งเสริมติรัจฉานวิชาบางประเภท ถ้าเจริญปัญญาชนิดไม่เป็นไปเพื่อวิมุตติ ก็เป็นอันคลาดออกนอกมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ไปสู่จุดหมายของพุทธศาสนา อาจหลงอยู่ข้างๆระหว่างทาง หรือติดค้างในมิจฉาทิฏฐิแบบใดแบบหนึ่ง

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม หน้า ๔๔

หากเราเพียงปฏิบัติตามๆกันไปโดยไม่ทราบเหตุผลที่แท้ ก็คงเป็นเรื่องยาก ที่เราจักที่จะได้รับประโยชน์จากศาสนาอย่างแท้จริง

...............

* ความหมายของคำต่างๆค้นได้จากhttp://www.84000.org/

คำสำคัญ (Tags): #สีลัพพตปรามาส
หมายเลขบันทึก: 482506เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2012 19:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท