เปรียบเทียบความคล้ายและความต่างกันระหว่าง ปูติน กับทักษิณ แต่ที่คล้ายกันแน่ๆ คือ ไม่รู้จักพอทั้งคู่


เปรียบเทียบความคล้ายและความต่างกันระหว่าง ปูติน กับทักษิณ แต่ที่คล้ายกันแน่ๆ คือ ไม่รู้จักพอทั้งคู่ (บทเรียนจากความจริง กับดร.จีระ)
 
ช่วงนี้ข่าวการให้สัมภาษณ์ของคุณทักษิณบ่อยขึ้น จับแนวได้ว่า เริ่มคิดว่าตัวเองมีอำนาจแน่นอน แน่นหนาขึ้นเรื่อยๆ คุมน้องสาวได้และคุมสั่งการ ครม.ส่วนใหญ่อยู่ในมือเพราะตั้งมาด้วยตัวเอง ถึงจะอยู่นอกประเทศก็บริหารได้และแสดงบทบาทเป็นผู้นำของไทยได้เต็มตัว

ส่วนคุณปูติน ก็เป็นข่าวมาตั้ง 3 - 4 เดือนแล้วว่าจะลงสมัครประธานาธิบดีสมัยที่ 3 และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผลการเลือกตั้งก็ชนะ ได้เป็นประธานาธิบดีครั้งที่ 3 อีก 6 ปี

หน้าปกของ Economist เล่มใหม่กลับมองว่าชนะได้ แต่จุดจบของคุณปูตินคงไม่สวยนัก ที่ยังชนะได้เพราะ

* โกงการเลือกตั้งอย่างฉลาดเฉลียว

* คู่แข่งยังกระจัดกระจาย ยังจับมือกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสามัคคีกันไม่ได้ใน 6 ปีข้างหน้า ปูตินก็คงจะบริหารด้วยความลำบาก เพราะคนชั้นกลางไม่พอใจ การเมือง เศรษฐกิจไม่ปฏิรูป ประเทศยังพึ่งพาน้ำมันอยู่ และคนรุ่นใหม่ในรัสเซียไปทำงานนอกประเทศ คนชั้นกลางไม่พอใจไม่พอใจ เพราะเศรษฐกิจกระจุกตัวในกลุ่มเล็กๆ

ถ้าเขาคิดจะวางมือหลัง 6 ปี จัดให้มีการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ปูตินก็จะอยู่ได้อย่างผู้ชนะ แต่ถ้าคิดว่าอำนาจของฉัน เลือกตั้งเมื่อไหร่ ฉันก็ชนะ อนาคตก็อาจจะไม่ดีและจบไม่สวยอย่างที่คิดไว้

ถ้าจะเปรียบเทียบความคล้ายกันของคุณทักษิณกับคุณปูติน ก็อาจจะมีข้อสรุปได้หลายด้านดังต่อไปนี้

1. มีฐานเสียงจากระดับล่างคล้ายๆกับคนที่สนับสนุนคุณปูติน มาจากคนรัสเซียธรรมดาสามัญที่ต้องการเห็นรัสเซียมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก มีความมั่นคงทางการเมือง ส่วนคนสนับสนุนคุณทักษิณคือคนในภาคอีสานและภาคเหนือซึ่งเป็นระดับรากหญ้า

2. วิธีการสร้างคะแนนเสียงก็คือ ใช้ระบบสื่อสารหรือบางครั้งเรียกว่า ปลุกระดม (Propaganda) ให้ประชาชนมีความเชื่อว่า ถ้าเลือกฉันแล้วจะได้ประโยชน์จากรัฐบาลด้านต่างๆในรัสเซีย รายได้จากน้ำมันก็มาอุดหนุนคนจน ส่วนในไทยรายได้จากภาษีก็มาช่วยประชานิยม


Vladimir Putin
ภาพจากหนังสือ The Economist



ทักษิณ ชินวัตร


คุณทักษิณและคุณปูตินต้องการมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ช่วงที่ปูตินมีอำนาจ ก็ใช้ระบบศาลรัสเซียฟ้องคดีต่างๆ ต่อคู่แข่งของคุณปูติน เช่น มิคาอิล คาดาคอฟสกี้ ติดคุกทางการเมืองที่ไม่ชอบปูติน ส่วนทักษิณในช่วงที่มีอำนาจก็ลดบทบาทของฝ่ายค้าน ไม่เห็นคุณค่าของสภา ไม่เข้าประชุม เป็นโรคติดต่อถึงน้องสาวในปัจจุบัน ลดบทบาทขององค์กรอิสระ อาจจะเรียกว่าเป็นเผด็จการทางประชาธิปไตยก็คงได้

และสุดท้ายคือ มัวเมาในอำนาจพอๆกัน คือไม่คิดว่า เมื่อวันหนึ่งตัวเองจะต้องตกจากอำนาจจะเป็นอย่างไร คุณปูติน ยังโชคดีกว่าคุณทักษิณเพราะคุมทหารได้คงไม่มีการปฏิวัติ นอกจากปฏิวัติจากกลุ่มคนชั้นกลางหรือแพ้เลือกตั้งและไม่มีแผ่นดินอยู่ คุณทักษิณช่วงที่มีอำนาจก็ใช้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดการปฏิวัติเกิดขึ้นมาแล้ว และในอนาคตก็ไม่มีใครทายได้ คุณทักษิณจึงพยายามคุมทหารให้อยู่ในความดูแลของรัฐบาลทำได้หรือเปล่าต้องดูต่อไป

ส่วนที่ไม่เหมือนกันก็มี

1. คุณปูตินเป็น KGB สายลับหรือสืบราชการลับ เช่น เป็นนักชาตินิยมเต็มตัว มีจุดยืนชัดเจนว่าเกลียดอเมริกา

2. คุณทักษิณเป็นนักธุรกิจเต็มตัว และอยากมีอำนาจการเมืองด้วย คบใครก็ได้ไม่ว่าจะมีจุดยืนอย่างไร ทำเงินให้ฉัน ฉันก็คบหมด แม้กระทั่งประธานาธิบดี Mugabe ใน Zimbabwe

3. คุณปูติน ยังไม่เคยใช้การเมืองเพื่อผลประโยชน์ให้แก่ญาติพี่น้อง ผมยังไม่เคยเห็นคุณปูติน สนับสนุนให้ญาติมาเล่นการเมือง เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางการเมือง ส่วนคุณทักษิณก็เป็นที่รู้กัน มีญาติพี่น้องทั้งตระกูลเล่นการเมืองทั้งกลุ่มเครือญาติ

4. แต่ที่เป็นจุดแตกต่างและน่าสนใจก็คือ คุณปูตินถึงจะเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ก็ยกย่องระบบกษัตริย์ของไทย เคยมาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยต้อนรับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถไปเยือนรัสเซีย ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าคุณปูตินยังให้ความสำคัญกับระบบกษัตริย์ที่ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศและโลก

สำหรับคุณทักษิณ ส่วนตัวมักจะพูดว่าเป็นนักเรียนเตรียมทหารต้องจงรักภักดีต้องปฏิญาณตนต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ลูกน้องของเขาโดยเฉพาะบรรดาพรรคพวกเสื้อแดงก็แสดงการต่อต้านกันเต็มที่

ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดที่อยากจะให้ผู้อ่านได้เปรียบเทียบผู้นำของ 2 ประเทศเพื่อนำไปวิเคราะห์ว่า อนาคตของคนไทยและอนาคตของรัสเซียจะไปทางไหนจะร่วงหรือจะรุ่ง

แต่ที่แน่ๆก็คือ 2 ผู้นำเห็นอำนาจเหมือนยาเสพติดคือไม่มีอำนาจ ฉันก็ไม่มีความหมาย ซึ่งเป็นอันตรายต่อประเทศ เพราะมองว่าตัวฉันสำคัญ ซึ่งถ้าค้นหาตัวเองให้เจอในช่วง 2 - 3 ปี และเริ่มปล่อยวางหลังหมดอำนาจอนาคตของทั้งสองคนก็อาจจะสดใส แต่ถ้ายังบ้าอำนาจคิดว่าจะต้องได้อำนาจอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้จักพอก็ต้องดูกันต่อไปว่า

"จุดจบของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ทั้ง 2 คนจะเป็นอย่างไร?"

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์
เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ
[email protected]
www.gotoknow.org/blog/chiraacademy
แฟกซ์0-2273-0181
หมายเลขบันทึก: 482476เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2012 12:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท