Talent Management ตอน2 เราจะเป็นคนเก่ง คนดีที่องค์กรต้องการได้อย่างไร?


เก่งอย่างเดียวก็ลำบาก Talent ต้องทั้งเก่งและดี

สวัสดีครับ

       Talent Management ตอนนี้เป็นตอนที่สองแล้วครับ ตอนแรกผมได้กล่าวไว้ว่าคนเก่งมีความสำคัญกับองค์กรจริงหรือ และในตอนนี้ผมจะกล่าวว่าแล้วเราจะทำอย่างไรให้เป็นคนเก่งและคนดีที่องค์กรต้องการครับ

       เชื่อแน่ว่าคงจะไม่มีองค์กรไหนที่ไม่อยากได้คนเก่งมีฝีมือเข้ามาทำงาน แต่คนเก่งเพียงอย่างเดียวนั้น อาจไม่ช่วยทำให้งานของตนประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ถ้าปราศจากซึ่งการเป็นคนดีมีคุณธรรม และทั้ง “คนเก่ง” และ “คนดี” นั้นเป็นรูปแบบหรือลักษณะของคนที่แต่ละองค์กรต้องการและแสวงหา ซึ่งจะเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่าพวก “Talent”

         การบริหารงานของแต่ละองค์กรนั้นมักให้ความสำคัญต่อการบริหารกลุ่มคนที่เป็น Talent หรือพวกที่เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง โดยกำหนดมาตรการคัดสรรและเลือกสรรคนดีและคนเก่งเข้ามาทำงาน และความพยายามจัดวางระบบเพื่อรักษาและจูงใจกลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดระบบการฝึกอบรมและพัฒนาความรู้ความสามารถ รวมถึงการจัดระบบการจ่ายค่าตอบแทนทั้งในรูปของตัวเงินและที่ไม่ใช่ตัวเงินให้กับกลุ่มคนดังกล่าว

         จะเห็นได้ว่าผู้ที่ได้รับคัดเลือกว่าเป็นTalent นั้น ย่อมจะได้รับสิทธิ์และประโยชน์ต่าง ๆ จากองค์กร แล้วคุณเองอยากจะเป็นผู้หนึ่งในการได้รับสิทธ์เหล่านี้บ้างหรือไม่? การเป็นคนดีและคนเก่งนั้นไม่ยากเลย เพียงแต่คุณต้องมีความพร้อมและมอบใจที่จะพัฒนาตนเองอย่างจริงจัง ซึ่งผมขอเสนอวิธีการและเทคนิคการสร้างและพัฒนาตนเองให้เป็นทั้งคนเก่ง และคนดี ดังต่อไปนี้

การพัฒนาตนเพื่อการเป็น  คนเก่ง                

          การที่จะเป็นคนเก่งให้ได้นั้นจะต้องเก่งทั้งงานและเก่งทั้งคน การเป็นคน “เก่งงาน” นั้นหมายถึง คุณต้องรู้จักวิธีหรือเทคนิคในการบริหารงานให้เป็น และได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการหรือตามที่หัวหน้างานคาดหวังไว้ ซึ่งคุณสามารถปฏิบัติตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้

สร้างความรักและความเข้าใจในงานของตน คุณรู้จักขอบเขตหน้าที่งานที่รับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน และงานที่คุณทำนั้นคุณมีใจให้กับงานของคุณบ้างหรือไม่ หรือทนอยู่ ทนทำงานนั้น ๆ เพียงเพื่อขอให้ได้รับเงินเดือนในแต่ละเดือน ก่อนอื่นคุณต้องสร้างความรู้สึกรักและชอบในงานที่คุณทำอยู่ อย่าพยายามบอกตนเองว่า “คุณเบื่อ” “คุณไม่รักงานที่ทำ” “งานนี้ไม่ใช่สิ่งที่หวังไว้” “ไม่รู้ นายให้ทำอะไร เซ็งเป็นบ้าเลย” … การที่คุณคิดลบหรือคิดแต่ผลไม่ดีต่องานที่รับผิดชอบนั้น เท่ากับว่าคุณทำร้ายตัวเอง เป็นการสะกดจิตให้คุณไม่ชอบหรือไม่รักงานที่ทำ ซึ่งการเป็นคนเก่งงานได้นั้นจะต้องเริ่มต้นจากการที่คุณใส่หัวใจแห่งความรักในงานที่ทำอยู่ และการศึกษาและทำความเข้าใจในหน้าที่งานที่คุณเองรับผิดชอบ คุณควรสอบถามหัวหน้างานถึงรายละเอียดของตำแหน่งงานที่คุณถือครองอยู่ หรือที่มักจะเรียกว่า Job Description ที่เป็นใบกำหนดหรือพรรณนาถึงขอบเขตหน้าที่งานของตำแหน่งงาน

กำหนดเป้าหมายหรือผลลัพธ์ของงาน เมื่อคุณรู้และเข้าใจถึงขอบเขตหน้าที่งานที่รับผิดชอบแล้ว คุณควรกำหนดเป้าหมายหรือผลลัพธ์ของงานที่คุณทำ ซึ่งหลาย ๆ องค์การได้พยายามสร้างระบบเพื่อกำหนดตัวชี้วัดผลงานหลัก หรือ KPIs : Key Performance Indicators ของแต่ละตำแหน่งงาน และในแต่ละตัว KPIs จะมีการกำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมสามารถวัดและเก็บข้อมูลได้ โดยเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างหัวหน้างานและลูกน้อง และถ้าคุณรู้ว่าตำแหน่งงานหรืองานที่รับผิดชอบอยู่นั้น หัวหน้างานต้องการอะไรจากคุณ ก็จะทำให้คุณกำหนดเป้าหมายได้ง่ายและชัดเจนมากขึ้น แต่หากหัวหน้างานคุณไม่ได้ชี้แจงให้คุณรับทราบถึงเป้าหมายที่ต้องการจากคุณ … . คุณไม่ต้องกลุ้มอกกลุ้มใจ … . ขอให้คุณกำหนดเป้าหมายในการทำงานของตนเองว่าในแต่ละวันคุณต้องทำงานอะไรให้เสร็จบ้าง รวมถึงการตรวจสอบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ เพื่อว่าคุณจะได้หาวิธีการที่จะทำให้เป้าหมายของคุณนั้นบรรลุผลสำเร็จ

พัฒนาความสามารถ หรือ Competency ของตน เพื่อให้คุณสามารถทำงานได้ผลลัพธ์ตามที่หัวหน้างานต้องการหรือตามที่คุณหวังไว้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องพัฒนาและเสริมสร้างความสามารถ หรือ Competency ของคุณว่าคุณมีจุดแข็ง ( Strength) หรือจุดอ่อน ( Weakness ) ที่ส่งผลให้คุณไม่สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จได้นั้นคืออะไร พบว่าหลาย ๆ องค์การพยายามสร้างระบบในการประเมินความสามารถในปัจจุบันของพนักงานเปรียบเทียบกับระดับความสามารถที่คาดหวังของแต่ละตำแหน่งงานเพื่อประเมินหาช่องว่างของความสามารถ ( Competency Gap Assessment) และเมื่อรู้ว่าพนักงานมีความสามารถอะไรที่ไม่เป็นไปตามที่องค์กรคาดหวังไว้ ทั้งหัวหน้างานและฝ่ายบุคคลจะต้องร่วมกันเพื่อกำหนดวิธีการในการพัฒนาความสามารถดังกล่าวให้เพิ่มขึ้น … . แต่สำหรับตัวคุณเองนั้น จะรอให้องค์การทำหน้าที่ในการพัฒนาคุณอย่างเดียวคงไม่ดีแน่ … . คุณควรพัฒนาความรู้ความสามารถของตัวคุณเองด้วย โดยการใส่ใจและสนใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Learning) คุณควรจัดสรรเวลาส่วนหนึ่งในการขวนขวายหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ การเข้าอบรมหรือสัมมนาต่าง ๆ การหาความรู้หรือข้อมูลต่าง ๆ จากเว็ปไซด์ การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้รู้ต่าง ๆ

              จากที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นนั้นเป็นการนำเสนอเทคนิคง่าย ๆ เพื่อพัฒนาให้คุณเป็นคนเก่งงาน คือสามารถบริหารงานที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุผลสำเร็จ ในโลกของการทำงานในปัจจุบันพบว่ามีหลายคนที่ไม่เก่งงาน แต่พวกเค้าเหล่านั้นรู้จักบริหารคนหรือใช้คนเป็นโดยเฉพาะกับคนที่เป็นลูกน้อง พบว่าบุคคลที่ไม่เก่งงานแต่เก่งคนนั้น ก็อาจจะเป็นอีกผู้หนึ่งที่ประสพผลสำเร็จในการทำงานเช่นเดียวกัน … . ผมจึงขอนำเสนอหลักปฏิบัติง่าย ๆ ในการบริหารคน ที่เน้นไปที่การบริหารลูกน้องของคุณเอง ดังต่อไปนี้

เลือกใช้คนให้เป็น  ตามความรู้ความสามารถ งานบางอย่างคุณไม่จำเป็นต้องทำเอง … . จงมอบหมายหรือให้อำนาจแก่ลูกน้องทำแทนคุณ อย่ากลัวว่าลูกน้องจะเก่งกว่าคุณ หรือกลัวว่าพวกเค้าจะรู้งานมากกว่าคุณ แต่จงให้งานแก่ลูกน้องตามกำลังความรู้ความสามารถที่พวกเค้ามี

ให้ความสำคัญของการพัฒนาความรู้ ความสามารถ คุณควรใส่ใจที่จะพัฒนาความสามารถของลูกน้อง ไม่ต้องกลัวว่าลูกน้องจะมีความรู้ความสามารถเหนือคุณ ขอให้ตระหนักไว้ว่า  คนที่เก่งได้นั้น จะต้องเป็นคนที่พัฒนาตนเองให้เก่ง และพัฒนาคนอื่นให้เก่งด้วย  จึงถือว่าเป็นคนที่เก่งจริง

จัดสรรเวลา เพื่อรับฟังปัญหาทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว คุณควรมีเวลาพูดคุยกับลูกน้องของคุณ พวกเค้าอาจจะอยากเข้ามาพูดคุยเพื่อปรึกษาหารือในเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว งานบางอย่างเค้าอาจไม่สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาได้ คุณเองในฐานะที่มีประสบการณ์ในงานมากกว่า หรือในฐานะของหัวหน้างานควรที่จะหาทางออกของปัญหานั้นให้กับลูกน้องของคุณเอง

              สรุปว่าการเป็นคนเก่งนั้น คุณจะต้องสามารถบริหารได้ทั้งงานและลูกน้องไปพร้อม ๆ กัน แต่คนเก่งเพียงอย่างเดียวกัน ก็ไม่อาจทำงานที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุผลสำเร็จได้ และคุณสมบัติข้อหนึ่งที่คุณจำเป็นต้องมีนั้นได้แก่ การเป็น “ คนดี ” ทั้งนี้ผมจะขอนำเสนอเทคนิคและวิธีการปฏิบัติตนให้เป็นคนดีดังต่อไปนี้ครับ

         สำหรับการปฏิบัติตนเพื่อให้เป็น “ คนดี ” เหตุเพราะการเป็นคนเก่งเพียงอย่างเดียวนั้นก็ไม่สามารถทำให้คุณประสพความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ และพบว่ามีหลายคนที่เป็นคนเก่งแต่กลับไม่มีใครยอมรับหรือให้ความช่วยเหลือในการทำงาน … .. แล้วคุณเองล่ะเป็นคนดีที่ทุกคนยอมรับในตัวคุณมากน้อยแค่ไหน โดยขอให้คุณพิจารณาว่าคุณเคยประสบกับภาวการณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้บ้างไหม

ยามลำบาก  หาคนช่วยเป็นไม่มี

           พบว่าเมื่อคุณมีงานด่วนที่ต้องการหาคนช่วยเหลือ มักไม่ค่อยมีใครอยากทำงานให้กับคุณ ไม่มีใครอาสาทำงานดึก ๆ ดื่น ๆ หรือทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือเวลาคุณขอข้อมูลจากใครก็มักจะไม่มีใครอยากส่งข้อมูลให้คุณ ไม่มีใครให้ความร่วมมือในการทำงานกับคุณเลย และในที่สุดก็จะส่งผลต่อเนื่องไปยังผลงานของคุณที่อาจไม่โดนใจหัวหน้างานเอาซะเลย

มีแต่คนซุบซิบนินทา หรือว่าร้าย

           โดยส่วนใหญ่คนที่ไม่มีใครชอบหน้าหรือไม่อยากพูดคุยต่อหน้าด้วยนั้นมักจะเป็นคนที่ได้รับการกล่าวถึงลับหลังหรือพูดง่าย ๆ ว่ามักจะถูกซุบซิบนินทาว่าร้าย คุณจะตกเป็นเป้าสายตาของผู้อื่นที่ไม่ถูกชะตากับคุณ และมักจะจับกลุ่มเวลาคุณไม่อยู่เพื่อพูดถึงคุณในทางที่ไม่สู้ดีนัก แบบชนิดที่ว่าเอาเรื่องคุณไปเมาส์กันสนุกสนาน

โดนซ้ำเติม  ยามเมื่อผิดพลาด

           คุณจะไม่ได้รับกำลังใจยามเมื่อทำผิดพลาด ดีไม่ดีคุณจะโดนตอกย้ำหรือซ้ำเติมเมื่อคุณทำงานพลาด ไม่มีใครเห็นใจหรือให้ความช่วยเหลือแก่คุณเลย พวกที่ไม่ชอบหน้าคุณมักจะชอบเห็นคุณโดนหัวหน้าต่อว่า ซึ่งอาจทำให้คุณหมดกำลังใจหรือเบื่อหน่ายไปกับการทำงานของคุณเอง เหตุเพราะคุณไม่มีเพื่อนหรือคนที่คอยปรับทุกข์ยามเมื่อคุณสิ้นหวังหรือหมดกำลังใจ

ไม่มีใครทักทาย หรือพูดคุยด้วย

           วัน ๆ คุณจะนั่งอยู่คนเดียว ไม่พูดไม่จากับใคร นั่นอาจเนื่องมาจากการที่ไม่มีใครอยากพูดคุยกับคุณด้วย ซึ่งไม่มีใครอยากสบตาหรือคุยเล่นกับคุณ เวลาคุณเดินไปไหนต่อไหนจะรู้สึกเหมือนว่า “ ข้ามาคนเดียว ” หรือ รู้สึกว่า “ โดดเดี่ยวผู้น่ารัก ”

ขาดการยอมรับหรือสนับสนุนในหน้าที่การงาน

           คุณจะไม่เป็นที่ยอมรับต่อสังคมหรือบุคคลรอบข้าง และหากคุณก้าวขึ้นเป็นใหญ่เป็นโต ได้รับการเลื่อนตำแหน่งก็จะไม่มีใครสนับสนุนหรือให้ความเคารพหรือยอมรับในตัวคุณเลย ซึ่งคุณจะเป็นผู้ที่ไม่มีใครศรัทธาในตัวคุณ คอยซ้ำเติมและสมน้ำหน้าคุณหากคุณทำงานผิดพลาด

           ดังนั้นถึงแม้คุณจะเก่งแค่ไหน แต่หากคุณไม่เป็นคนดีแล้วล่ะก็ รับรองได้ว่างานที่คุณทำนั้นย่อมไม่บรรลุผลสำเร็จอย่างแน่นอน ซึ่งการปฏิบัติตนให้เป็นคนดี มีคนรัก เคารพและยอมรับศรัทธาในตัวคุณเองนั้น จะต้องมีพื้นฐานมาจาก

ให้ ความรัก : คุณต้องให้ “ความรัก” แก่ผู้อื่นก่อน เพราะความรักจะนำมาซึ่งความสงสารและความเห็นใจเมื่อเพื่อนของคุณหรือใครก็ตามนั้นกำลังตกทุกข์ได้ยาก แล้วคุณเองจะต้องมอบรักให้กับคนที่รักหรือแสดงความเป็นมิตรกับคุณเท่านั้นหรือไม่ .... ไม่จำเป็นเสมอไปครับ ยิ่งถ้าเป็นคนที่ไม่ชอบหน้าคุณ ชอบคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของคุณ หรือเป็นพวกที่มองคุณในทางลบ ไม่ว่าคุณจะทำหรือพูดอะไร .... พบว่ากลุ่มคนเหล่านี้คุณยิ่งจะต้องมอบความรักให้พวกเค้า คุณไม่ควรโต้ตอบคนที่ไม่ชอบหน้าคุณตามแบบฉบับที่พวกเค้าแสดงออกกับคุณ แต่ในทางตรงกันข้ามคุณยิ่งต้องให้ความช่วยเหลือและเห็นใจที่พวกเค้าแสดงออกด้วยกิริยาหรือน้ำเสียงที่ก้าวร้าว

คิดแต่สิ่งดี : คนดีจะต้องคิดดีหรือมองโลกในทางสร้างสรรค์หรือทางบวก (Positive Thinking) เพราะการมองโลกในทางบวกจะส่งผลให้คุณมีสุขภาพจิตที่ดี จะทำให้คุณเป็นคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ ไม่ว่าคุณกำลังเผชิญกับปัญหาใด ๆ ก็ตาม และหากคุณมีอารมณ์ดีไม่โกรธโมโหง่าย สิ่งนี้เองจะเป็นเสน่ห์ในตัวคุณที่เพื่อน ๆ หรือคนอื่น ๆ อยากเข้ามาหาและพูดคุยกับตัวคุณ และการที่คุณเป็นคนที่ดีนั้นย่อมจะเป็นพื้นฐานให้คุณมีความเข้าใจในสาเหตุของการแสดงพฤติกรรมของแต่ละคนที่จะแตกต่างกันไป เช่นหากลูกค้าโมโหและต่อว่าคุณแบบเสีย ๆ หาย ๆ ถ้าคุณเป็นคนคิดดีแล้วล่ะก็ คุณไม่ควรแสดงพฤติกรรมรุนแรงที่โต้ตอบลูกค้าของคุณ แต่คุณจะต้องเข้าใจพื้นฐานหรือที่มาที่ส่งผลทำให้ลูกค้าแสดงพฤติกรรมเช่นที่ว่านี้ และคุณจะต้องพยายามปรับปรุงตนเองหรือระบบงานเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้ามาต่อว่าคุณได้อีก

เลือกใช้ คำพูด ให้เหมาะสม : คำพูดอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมิตรภาพที่แตกร้าวระหว่างคุณกับคนอื่น ๆ เหตุเพราะคุณเลือกใช้คำพูดไม่เหมาะสม หรือไม่ถูกกาเทศะ แต่คุณจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในคำพูดที่สื่อออกไป โดยการเลือกใช้คำพูดที่เสริมสร้างกำลังใจหรือคำพูดในทางบวก (Positive Wording) ซึ่งเป็นคำพูดที่ยกย่องชมเชย คำพูดที่ให้ความหวังหรือความฝัน คำพูดที่ให้กำลังหรือให้ความช่วยเหลือ .... และในบางสถานการณ์เมื่อคุณไม่สามารถสรรหาคำพูดดี ๆ แล้วล่ะก็ ดิฉันขอแนะนำว่าการที่คุณเงียบ ๆ หรือไม่พูดอะไรออกไปซะเลยจะดีกว่า แบบว่า “ พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง ”

สร้าง สัมพันธภาพ กับผู้อื่น : คนที่เป็นคนดีได้นั้นจะต้องเป็นคนที่มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น ซึ่งจะต้องมีหลักหรือเทคนิคในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีตามมา การสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นนั้นจะทำให้คุณเป็นคนที่แสวงหาหรือต้องการอยากจะรู้จักคนอื่น ๆ อีกทั้งคุณมักจะพยายามหาวิธีการหรือหนทางที่จะรักษาหรือขยายความสัมพันธที่ดีนั้นกับผู้อื่นเสมอ โดยคุณไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้อื่นมาสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคุณก่อนเลย ซึ่งพื้นฐานของการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นนั่นก็คือ การปฏิบัติตนให้เป็น “ผู้ให้” มากกว่า “ผู้รับ” โดยคุณอาจจะต้องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นก่อน ให้ความคิดเห็นหรือให้เวลาเมื่อมีคนอยากเข้ามาพูดคุยหรือปรึกษาหารือกับคุณเอง

พื้นฐานของการปฏิบัติเพื่อเป็นคนดีตามที่ได้กล่าวถึงไปแล้วนั้น จะส่งผลให้คุณได้รับความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ และการยอมรับในตัวคุณ เท่ากับว่าคุณสามารถซื้อใจผู้อื่นไว้ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้อื่นพร้อมที่จะสนับสนุนและช่วยเหลือในหน้าที่การงานของคุณเอง และการได้รับการยอมรับศรัทธาจากคนอื่นๆ จะส่งผลต่อเนื่องในประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานของคุณเอง

          อย่างไรก็ตาม บทความนี้ก็เป็นเพียงแนวคิดที่ค่อนข้างกว้าง ซึ่งหากมีการนำไปปฏิบัติหรืออธิบายเพื่อการนำไปใช้จริง ก็ควรจะต้องมีการลงรายละเอียดเป็นการเฉพาะสำหรับองค์กรแต่ละแห่งด้วยนะครับ พบกันใหม่ตอนหน้า

หมายเลขบันทึก: 482456เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2012 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท