ทำไมหัวใจคนถึงโตเท่ากำปั้น


ถ้าคนรักแผนที่จินตนาการถึงโลกแบบ "รวมศูนย์" คนเกลียดแผนที่ก็มีจินตนาการถึงโลกในแบบ "กระจาย"

อาจารย์ฟุกุโอกะ ชินอิจิ (นักเขียน-นักวิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยาโมเลกุลชาวญี่ปุ่น) เคยกล่าวไว้ว่า โลกนี้มีคนอยู่สองจำพวก พวกแรกเป็นพวกรักแผนที่ (map lover) กับอีกพวกหนึ่งคือพวกเกลียดแผนที่ (map hater) ถ้าผัวเมียหรือแฟนคู่ไหนเป็นคนละจำพวกมาอยู่ด้วยกันก็มักจะมีปัญหาทุกราย ยิ่งถ้าต้องนั่งรถไปไหนด้วยกันก็มีความเสี่ยงสูงที่จะทะเลาะกัน "ทำไมไม่ดูแผนที่ให้ดีก่อน" "ก็รู้อยู่แล้วไม่เห็นต้องดูเลย" "แวะถามที่ปั๊มน้ำมันก่อนเถอะ" "ดูแผนที่ใน navigater ก็ได้ ไม่เห็นต้องถามเลย" "เธอ เงียบไปเลย" ฯลฯ

พวกรักแผนที่มักเป็นคนเจ้าระเบียบ ชอบอะไรที่มีการจัดระบบ จัดกลุ่ม พฤติกรรมที่สังเกตได้ง่ายของคนพวกนี้คือ ถ้าไปถึงห้างสรรพสินค้าจะต้องไปดูที่ป้ายบอกดัชนีและตำแน่งของร้านค้าก่อน ขอให้รู้ตำแหน่งของตัวเองและตำแหน่งของร้านค้าเป้าหมายแล้วถึงจะเริ่มเส้นทางเดินช้อปปิ้งได้ ถ้าเข้าไปดูหน้าเว็บอะไรก็มักต้องเข้าไปหาข้อมูลที่ต้องการจาก site map ก่อน 

ส่วนพวกเกลียดแผนที่จะไม่สนใจป้ายบอกทางหรือแผนผังใด ๆ เดินเข้าไปถึงก็ก้าวฉับ ๆ ๆ ถูกบ้างผิดบ้าง แต่อาศัยประสาทสัมผัสที่หก พาตัวเองไปถึงที่หมายได้เหมือนกัน ถ้าไปครั้งที่สองก็มักจะอาศัยการจำทางได้ เช่น "เลี้ยวซ้ายตรงร้านกล้องแล้วเดินตรงไป อยู่ติดกับร้านเค้กที่อยู่ทางขวามือ"

คนรักแผนที่อาศัยการเข้าใจโลกในภาพรวม จะเห็นภาพรวมได้ก็ต้องมองจากด้านบนลงมาแบบ bird-eye view ไม่อย่างนั้นจะรู้สึกไม่สะดวกใจ ขณะที่คนเกลียดแผนที่ไม่จำเป็นต้องรู้ภาพรวม เขาต้องการรู้เพียงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับหน้า-หลัง ซ้าย-ขวา เท่านี้ก็พอ ง่ายดี

ดูเผิน ๆ เหมือนกับคนรักแผนที่จะเป็นพวกที่ฉลาด แลดูมีหลักการใช่ไหมครับ แต่ถ้าลองปล่อยให้ไปหลงป่าดูก็พอจะรู้ว่า พวกรักแผนที่น่าจะตายก่อน เพราะไม่รู้ว่าตำแหน่งของตัวเองอยู่ตรงไหนของพื้นโลก มัวแต่ใช้เวลาคิดตั้งหลักอยู่นาน จนไม่รู้จะออกเดินไปทางไหนก่อนดี

สมมติว่าเราให้คนรักแผนที่กับคนเกลียดแผนที่แข่งกันต่อจิ๊กซอว์ ความแตกต่างของพฤติกรรมจะยิ่งเห็นชัดเจน พวกรักแผนที่จะใช้ความเป็นคนเจ้าระเบียบ มีหลักการ เลือกชิ้นที่เป็นกรอบแยกออกมาจากกองจิ๊กซอว์ก่อน จากนั้นก็จะเริ่มจัดกลุ่มชิ้นจิ๊กซอว์ที่มีสีเดียวกัน กลุ่มนี้สีส้ม ๆ น่าจะเป็นพระอาทิตย์ เอาไว้ด้วยกันดีกว่า พวกนี้คงเป็นรูปตึก ก็จัดกลุ่มเอาไว้ก่อน โลกของคนรักแผนที่จะค่อย ๆ ถูกสร้างขึ้นโดยการซูมอิน ซูมเอาท์ กลับไปกลับมาระหว่างภาพรวมกับภาพเฉพาะจุด

คนเกลียดแผนที่จะต่อจิ๊กซอว์อย่างไร? ลองจินตนาการถึงเด็กเล็ก ๆ ที่หัดต่อจิ๊กซอว์แบบง่าย ๆ เขาจะไม่สนใจภาพรวม แต่จะหยิบแบบมั่ว ๆ ขึ้นมาชิ้นหนึ่งแล้วพยายามหาชิ้นที่ต่อเข้ากันได้กับชิ้นที่เลือกไว้แต่แรกนั้นจนเจอ 8 ชิ้นที่ล้อมรอบชิ้นนั้น (ถ้าชิ้นแรกอยู่ติดขอบก็ 5 ชิ้น ถ้าอยู่มุมก็ 3 ชิ้น) พอทำเสร็จก็หยิบชิ้นอื่นมาทำแบบเดียวกัน

การทำแบบหลังนี้น่าจะเป็นวิธีการที่ประสิทธิภาพต่ำอย่างยิ่ง แต่เอาเข้าจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปนะครับ หลักการที่สำคัญของการต่อจิ๊กซอว์แบบนี้อยู่ที่การยึด "กติกา" ที่เรียบง่าย ชิ้นหนึ่งต่อไม่ได้ก็ไปเอาอีกชิ้นหนึ่งมา จนกว่าจะเจอชิ้นที่ถูกต้อง เด็กที่หัดต่อจิ๊กซอว์ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าภาพรวมเป็นอย่างไร จิ๊กซอว์ตัวแรกก็ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน รู้แค่ว่าคนข้าง ๆ คือใครก็พอ นี่ก็เป็นวิธีที่เราใช้ทำความเข้าใจโลกหรือสร้างโลกในจินตภาพขึ้นมาได้อีกแบบหนึ่งเหมือนกัน

ถ้าคนรักแผนที่จินตนาการถึงโลกแบบ "รวมศูนย์" คนเกลียดแผนที่ก็มีจินตนาการถึงโลกในแบบ "กระจาย"

วิธีคิดและวิธีทำงานแบบ "กระจาย" ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในโลกของสิ่งมีชีวิต ในร่างกายของคนมีเซลล์อยู่ราว 60 ล้านล้านเซลล์ (ถ้าเทียบหนึ่งเซลล์เท่ากับข้อมูลหนึ่งไบต์ ก็จะได้ 60 เทราไบต์) บรรดาเซลล์พวกนี้ก่อตัวขึ้นมาเป็นร่างกายคน ด้วยการใช้วิธีแบบคนเกลียดแผนที่ทั้งสิ้น ถ้าลองคิดดูว่าเซลล์ของคุณทั้งหมดเริ่มต้นจากเซลล์เดียวเท่านั้น กลยุทธ์นี้ก็น่าจะถือว่าใช้ได้ไม่เลวทีเดียว

ถึงตรงนี้ บางท่านอาจจะโต้แย้งในใจว่า DNA นั่นไงที่เป็นที่เก็บแผนที่ ร่างกายสิ่งมีชีวิตก็สร้างขึ้นมาจากแบบที่กำหนดไว้ใน DNA ไม่ใช่หรือ? เปล่าเลยครับ ต้องอธิบายว่า DNA หรือจีโนม (ซึ่งหมายถึงกระจุกของ DNA ที่บรรจุข้อมูลทั้งหมดของร่างกายสิ่งมีชีวิต) เป็นเพียงที่เก็บแค็ตตาล็อกของข้อมูลที่ใช้สร้างโปรตีนในร่างกายขึ้นมาเท่านั้น เมื่อเซลล์ในร่างกายแบ่งตัวจากหนึ่งเป็นสอง สองเป็นสี่ สี่เป็นแปด ฯลฯ บรรดาเซลล์เหล่านั้นรู้ได้อย่างไรว่าจะไปอยู่ตรงไหน เมื่อไหร่ควรหยุดแบ่งตัว ทำไมหัวใจคนถึงโตเท่ากำปั้น และไม่ยอมโตไปกว่านั้น?

DNA ไม่ได้บอกกล่าวอะไรแก่บรรดาเซลล์เหล่านั้นครับ แต่พวกมันใช้วิธีที่อาจารย์ฟุกุโอกะเรียกว่า "สูดดมกลิ่น" ของกันและกัน (พูดเป็นภาษาวิชาการขึ้นมาอีกหน่อยก็เรียกว่า "สื่อสาร" กับเซลล์ที่อยู่ข้าง ๆ กัน)  เหมือนกับจิ๊กซอว์ที่รู้ตำแหน่งของตัวเองเพราะต่อพอดีกับชิ้นที่อยู่ติดกัน ถ้าเราฟังพวกมันคุยกันได้ก็คงจะได้ยินว่า "เธอจะโตไปเป็นเซลล์ผิวหนังใช่ไหม งั้นฉันจะเป็นเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจนะ" "อ๋อได้เลย เธอจะโตไปเป็นหัวใจใช่ไหม งั้นฉันก็จะเป็นเซลล์ผิวหนังนะ"

คุยกันแบบนี้นาน ๆ ไปเซลล์ผิวหนังบางส่วนก็จะเริ่มไปหยิบแค็ตตาล็อก DNA อีกส่วนหนึ่งมาใช้ ทำให้ตัวเองเติบโตต่อไปกลายเป็นเส้นผม เล็บ ต่อมเหงื่อ หรือเส้นประสาท ฯลฯ กลายเป็นร่างกายคนที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้

การแอบฟังเซลล์คุยกันและดมกลิ่นกัน ถือเป็นหัวข้อวิจัยที่สำคัญมากในแวดวงวิชาการด้านชีววิทยา และยังมีเรื่องให้นักวิทยาศาสตร์ต้องทำความเข้าใจอีกมากมายครับ แต่เท่าที่เรารู้กันในปัจจุบัน สาระสำคัญน่าจะอยู่ประมาณนี้

ธรรมชาติชอบความ "กระจาย" ครับ

ประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์ก็เริ่มจากการอยู่กันแบบกระจัดกระจายในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาในยุคจักรพรรดิจิ๋นซี จักรวรรดิโรมัน หรือจักรวรรดินิยมตะวันตกก็หันมารวมศูนย์อำนาจให้เป็นปึกแผ่น  วิธีคิดของคอมมิวนิสต์หรือแม้กระทั่งนาซีก็เป็นไปในลักษณะนี้ ภาพรวมในสายตาของผู้นำจะชัดมาก ออกแบบประเทศหรืออาณาจักรกันได้หน้าตาเฉย และพยายามควบคุมสั่งการจากศูนย์กลาง แต่ว่าสุดท้ายไม่ค่อยจะสำเร็จ

ต่อมาทั้งโลกก็คลี่คลายไปสู่ความกระจายตัวมากขึ้น เมื่อผู้เล่นปลายแถวต่างอาศัยกลไกตลาดและสิทธิเสรีภาพ ฯลฯ สร้างอำนาจต่อรองขึ้นมา สามารถมีบทบาทในการสร้างสังคมเศรษฐกิจโลกโดยไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับการวางแผนจากข้างบนลงมา บทบาทของรัฐในการพัฒนาประเทศ โดยมากก็เปลี่ยนจากสั่งการหันมาเป็นการเอื้ออำนวยแทน

สำหรับประเทศไทยเรายังมีแค็ตตาล็อกสำคัญที่เรียกว่า "รัฐธรรมนูญ" ที่ฉีกแล้วเขียน เขียนแล้วแก้ แก้แล้วฉีก (หรือเปล่า) ปัญหาหนึ่งคือรัฐธรรมนูญไทยกำหนดอะไรต่ออะไรเข้าไปรวมศูนย์ในนั้นมากเกินไป เกือบจะเป็นสารานุกรมเข้าไปแล้ว เหมือนกับพยายามจะออกแบบประเทศให้ดีมีหลักการ สงสัยว่าพวกที่ร่างคงจะต้องเป็นกลุ่มคนที่รักแผนที่เป็นอย่างมาก

แต่วันนี้สารานุกรมที่ชื่อดังที่สุดคือ "บริเทนนิกา" ฉบับตีพิมพ์ก็ปิดตัวเองไปแล้วหลังจากทำมาต่อเนื่องนานถึง 244 ปี หันไปขายเนื้อหาผ่านเว็บไซต์หรือแอ็ปสำหรับแท็บเล็ตหรือโทรศัพท์มือถือ เพราะต้องแข่งกับวิกิพีเดียหรือกูเกิล ซึ่งพวกหลังนี่ไม่ใช่ใคร เป็นพวกเกลียดแผนที่นั่นเอง

เคยมักมีคำถามว่า จะเชื่อข้อมูลในอินเตอร์เน็ทที่กูเกิลหามาให้ได้อย่างไร วิกิพีเดียหรือก็ให้อาสาสมัครและผู้ใช้ เป็นผู้ช่วยกันเขียนขึ้นมา จะเชื่อได้อย่างไร ถ้าถามอย่างนี้ก็ควรต้องสงสัยเหมือนกันว่า จะเชื่อบริเทนนิกาที่เขียนขึ้นมาโดยคนไม่กี่คนได้อย่างไร กลยุทธ์ของกูเกิลและวิกิพีเดียคือ ความรู้เกิดขึ้นแบบ "กระจาย" แต่เอามาเทียบเคียงกันอยู่เรื่อย ๆ จนสามารถคัดกรองสิ่งที่น่าจะแม่นยำ แยกออกจากสิ่งที่ไม่ค่อยน่าเชื่อถือได้ เคยมีการวิจัยพบว่า บทความของวิกิพีเดียที่ผ่านการปรับแก้มาก จะมีความถูกต้องแม่นยำไม่แพ้ตำราที่ผู้เชี่ยวชาญเขียน และถ้าลองเข้าไปดูจะพบว่าเดี๋ยวนี้วิกิพีเดียให้โหวตท้ายบทความได้ด้วยว่า เรื่องนั้นน่าเชื่อถือแค่ไหน เป็นกลางแค่ไหน สมบูรณ์ไหม และเขียนดีไหม

วิธีการอย่างนี้ก็คล้ายกับเด็กที่ต่อจิ๊กซอว์แบบไม่ต้องเห็นภาพรวมตั้งแต่ต้น ความรู้ชิ้นไหนไม่ดี (ไม่ถูก ต่อไม่ติด) ก็คัดทิ้งไป จนเรารู้ว่าชิ้นไหนดีและถูกต้อง กลยุทธ์นี้พวกบริษัทอินเตอร์เน็ทอย่าง Amazon.com หรือ ebay ใช้มานานแล้ว ลูกค้าของบริษัทเหล่านี้จะเป็นผู้ให้ความเห็นว่าสินค้าไหนดีหรือไม่ดี ผู้ค้ารายไหนใน ebay ไม่ค่อยรับผิดชอบ เขาจะเอามาคุยกัน แบบเดียวกับที่เซลล์ในร่างกายคุยกันเอง เอามาโหวตติดดาวจนเป็นที่รู้กันหมด  องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นใน social media อาศัยการคัดกรองด้วยวิธีนี้

เช่น twitter ที่มีคนติดตามมาก ๆ และถูก list รวมอยู่ในกลุ่มต่าง ๆ กันหลายกลุ่มก็ย่อมมีความน่าเชื่อถือพอสมควร ความรู้ในแวดวง social media นี้ แรก ๆ อาจจะถูกบ้างผิดบ้าง แต่เมื่อผู้ใช้พูดคุยกัน หมั่นโหวตและวิพากษ์วิจารณ์กันและกัน คำตอบที่น่าจะ “ใช่” ก็จะค่อย ๆ พัฒนาตัวเองและปรากฏขึ้นในที่สุด ต่างอย่างสิ้นเชิงกับการสร้างความรู้แบบที่มีการตระเตรียมไว้ให้ล่วงหน้าจากคนบางกลุ่ม

ด้วยจินตนาการที่ต่างกันนี้ พ่อแม่ที่โตมาในยุคที่ปกครองโดยพวกรักแผนที่ จึงเป็นห่วงเมื่อเห็นโลกเปลี่ยนไป ลูกหลานคุยกันเอง สูดดมกลิ่นกันเอง และเริ่มตัดสินใจกันเอง แทนที่จะเชื่อฟังถ้อยคำอันปรารถนาดีจาก "ผู้ที่เห็นภาพรวม"

หมายเลขบันทึก: 482337เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2012 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 02:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท