หัวหน้ากับลูกน้อง เดินอยู่บนเส้นขนานหรือเปล่า


ปัญหาระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องก็ยังคงเป็นปัญหาคลาสสิคที่เกิดขึ้นเป็นปกติในทุกๆ องค์กร หัวหน้าบางคนอาจจะประสบกับปัญหาในการบริหารลูกน้องน้อยกว่าบางคน ด้วยอาจจะได้ประสบพบเจอกับลูกน้องที่ดี และเข้าขากันได้ ปัญหาในการทำงานร่วมกันก็จะน้อยลงไปทันที แต่ถ้าเราเจอกับลูกน้องที่ทำงานเข้าขากันไม่ได้เลย นี่ก็จะเป็นสาเหตุให้ผลงานที่เราต้องการนั้นไม่สามารถออกมาได้อย่างที่เราต้องการ

เคยสงสัยหรือไม่ครับ ว่าทำไมลูกน้องถึงไม่ยอมทำงานให้ หรือ ทำไมหัวหน้าถึงไม่ยอมเข้าใจลูกน้องสักที

คำตอบก็คือ มุมมองและทัศนคติของทั้งสองฝ่ายที่แตกต่างกันราวฟ้าดินนี่แหละครับ ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายยิ่งหาจุดร่วมของความเข้าใจไม่เจอเลย ลองมาดูตัวอย่างมุมมองของลูกน้องกันสักหน่อยนะครับว่าลูกน้องเขาคิดกันอย่างไรบ้าง

มุมมองของลูกน้องต่อหัวหน้า

  • “งานนี้ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ขอร้องว่าอย่าบอกหัวหน้านะ เพราะว่าตอนนี้ฉันยังไม่รู้เลยว่างานนี้จะต้องทำอย่างไร คงต้องคลำทางเอาเองอีกพักใหญ่”
  • “ทำไมหัวหน้าถึงมักบอกว่า วิธีที่เราทำงานนั้นไม่ถูกต้องสักอย่าง แล้วไอ้วิธีที่ถูกมันเป็นยังไง ก็ไม่เห็นเคยจะบอกกันบ้างเลย”
  • “ไปถามนายทีไรว่างานนี้ทำอย่างไร นายก็มักจะตอบเร็วยังกะรถชินคันเซ็น แบบนี้ใครจะไปฟังทัน”
  • “เวลาไปสอบถามปัญหากับหัวหน้าทีไร โดนเทศน์เป็นกัณฑ์ยาวเหยียด ฟังจนเบื่อแล้ว”
  • “ถามไปนายก็ไม่รู้หรอกวิธีการทำงานน่ะ เขารู้แค่ว่าจะด่าลูกน้องอย่างไรให้สะใจ”
  • “สุดท้ายเราก็ต้องทำงานกันแบบมั่วๆ ไป โชคดีงานสำเร็จก็คือว่าเสมอตัว แต่ถ้าโชคไม่ได้ ก็เละเป็นโจ๊ก”
  • ฯลฯ

นี่เป็นเพียงแค่คำบ่นของลูกน้องที่ต่อหัวหน้าที่อาจจะยังไม่เข้าใจลูกน้องของตนเองว่าเป็นอย่างไร คิดอย่างไร

หัวหน้าเองก็ใช่ย่อยครับ ลองดูจากมุมมองของหัวหน้ากันบ้างนะครับ

  • “ถ้าผมต้องคอยบอกคุณทุกเรื่องว่าจะต้องทำงานอย่างไร แล้วผมจะจ้างคุณมาทำไมให้เสียค่าจ้าง”
  • “นี่คุณจะหัดคิดเองบ้างไม่ได้หรืออย่างไร ต้องมาคอยถามซะทุกเรื่อง”
  • “ก็อยากช่วยอยู่หรอกนะ แต่ไม่เห็นหรือไงว่าผมน่ะยุ่งจนแทบจะไม่มีเวลาอยู่แล้ว หัดทำเองซะบ้าง”
  • “ถ้าทำไม่เป็นก็ไม่เป็นไร อยู่เฉยๆ ก็แล้วกัน เดี๋ยวผมทำเอง”
  • “ต้องให้ผมพูดสักกี่ครั้ง คุณถึงจะเข้าใจซะที”
  • “นี่ต้องให้ผมจับมือคุณทำเลยหรือไง”
  • ฯลฯ

สรุปแล้วทั้งสองฝ่ายไม่เคยเข้าใจมุมมองของอีกฝ่ายหนึ่งเลย หัวหน้าก็คิดเอาเองว่า ลูกน้องต้องทำงานเป็น ก็เลยคาดหวังว่าลูกน้องจะต้องสร้างผลงานได้ตามที่ตนต้องการ ส่วนลูกน้องก็คิดว่า เราเพิ่งเข้ามาทำงาน ยังไม่รู้เรื่องอะไรมากมาย ดังนั้นก็คิดว่าหัวหน้าก็คงจะสอน และแนะนำวิธีการทำงานให้เราก่อนที่จะให้เราลงมือทำ

ต่างคนต่างมองกันคนละมุม ก็เลยมีปัญหาในการทำงาน ผลงานไม่ออกกันอีก

ถามว่าแล้วใครที่จะต้องเปลี่ยนก่อน คำตอบแบบฟังธงกันเลยก็คือ “หัวหน้า” ครับ หัวหน้านี่แหละครับที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนเลย เนื่องจากเราต้องการให้ลูกน้องทำงานให้เรา ดังนั้น เราจะต้องทำความเข้าใจลูกน้องของเราก่อน บางครั้งก็ต้องยอมเสียเวลาสอนงาน เพื่อให้เขาทำงานให้เราได้อย่างที่เราต้องการ

นายผมเคยสอนผมว่า “ถ้าคุณสอนเขาแล้วเขาทำไม่ได้ อย่าไปว่าเขาโง่ จงว่าตัวเองต่างหากที่โง่เพราะสอนยังไงถึงทำให้เขาไม่รู้เรื่อง”

หมายเลขบันทึก: 481910เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2012 06:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครูอ้อย เคยว่าตัวเองเสมอว่า...ไม่สามารถสอนพวกเขาได้ เพราะครูอ้อยไร้ความสามารถ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท