สัญญะวิทยา: ความสัมพันธ์แบบประโยค (syntagmatic form): ตอนที่ 1 ตัวอย่างเรื่องการวิเคราะห์ความเรียง


สัญญะวิทยา: ความสัมพันธ์แบบประโยค (syntagmatic form): ตอนที่ 1 ตัวอย่างเรื่องการวิเคราะห์ความเรียง

ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน

                วันนี้ผมจะมาเพิ่มเติมเรื่องความสัมพันธ์แบบประโยคต่อนะครับ ตอนนี้เน้นแต่เรื่องความสัมพันธ์แบบประโยคอย่างเดียวและจะขยายความบางส่วนให้ชัดเจนมากขึ้น

                Saussure ได้เน้นความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสัญญะต่อมีต่อกันมาก ความสัมพันธ์ดังกล่าวปรากฏใน 2 รูปแบบ กล่าวคือ ความสัมพันธ์แบบประโยคและแบบความสัมพันธ์แบบแทนที่  มนุษย์เราไม่ได้ใช้สัญญะอันใดอันหนึ่งเพียงอันเดียว แต่ใช้เป็นกลุ่มของสัญญะ และกลุ่มของสัญญะเราเรียกว่า วาทกรรม (discourse) สิ่งนี้ทำให้นักวิเคราะห์รุ่นหลังๆหันมาสนใจในการวิเคราะห์วาทกรรมแทน การวิเคราะห์สัญญะเดี่ยวๆ อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์วาทกรรมจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการวิเคราะห์สัญญะเดี่ยวๆเหล่านี้เสียก่อน การวิเคราะห์สัญญะเดี่ยวๆที่สำคัญก็คือการวิเคราะห์ความสัมพันธ์แบบประโยค  การวิเคราะห์ดังกล่าวศึกษาได้ที่บล็อกก่อนหน้า โดยสรุปแล้วก็คือการศึกษาโครงสร้างและความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆของมัน การศึกษาเรื่องดังกล่าวทำให้เรารู้ถึงประเพณีและกฎของการรวมกัน (rule of combination) ซึ่งเป็นตัวกำหนดและควบคุมการผลิตและการตีความตัวบท การใช้ความสัมพันธ์ของประโยคแบบหนึ่งมากกว่าอีกแบบหนึ่งส่งผลต่อการผลิตและตีความอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

                ทีนี้ลองหันมาดูความเรียง (Exposition) ความเรียงหรือเรียงความจะประกอบด้วยส่วน 3 ส่วน ก็คือ 1. ประพจน์ 2. หลักฐาน และ 3 การประเมินค่า ความเรียงที่ดีจะประกอบไปด้วย 1. หัวข้อที่นิยามมาอย่างชัดเจน ไม่มีอะไรนอกเหนือจากหัวข้อนั้น 2. บทนำ 3. เนื้อหาที่จะขยายความทุกสิ่งแต่ยังไม่นอกเหนือหัวข้อที่ตั้งมาก 4. สรุปสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด มีคนบางคนกล่าวถึงความเรียงไว้ว่า “อันดับแรกพูดถึงสิ่งที่คุณกำลังจะพูด ต่อมาพูดมัน ต่อมากพูดในสิ่งที่คุณพูดไปแล้ว”

                นักสัญญะวิทยา บางท่านวิพากษ์ว่าการเขียนความเรียงเช่นนี้แหละเป็นการเขียนโดยใช้วิธีการแบบผู้ชายมากกว่าวิธีการแบบผู้หญิง เป็นที่ถือกันว่าวิธีการเขียนแบบผู้ชายจะมีโครงสร้างที่เป็นเส้นตรงสังเกตได้ชัดเจน มีข้อโต้แย้งที่เป็นตรรกะสมเหตุสมผล นำไปสู่ประเด็นหลัก โดยไม่แตกแถวหรือนอกประเด็น วิธีการเขียนที่ใช้วาทกรรมแบบผู้ชายนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม “เอกภาพทางตัวบทแบบไร้ตะเข็บ” (Seamless Textual Unity) การเขียนแบบนี้ได้กระจายไปสู่การเขียนทางวิชาการทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นบทความทางวิทยาศาสตร์ หนังสือวิชาการ วิทยานิพนธ์ และแม้กระทั่งงานเขียนในเชิงวรรณกรรม เช่น สารคดี เรื่องสั้น และนวนิยาย

                การเขียนแบบไร้ตะเข็บนี้นำไปสู่การตีความว่าผู้เขียนผู้แต่งที่นิยมการเขียนแบบนี้คือคนที่ชอบใช้เสียงเพียงเสียงเดียวในตัวบท เพื่อที่จะควบคุมผู้อ่านไปสู่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการ ผู้เขียนต้องการที่จะสร้างโลกซึ่งมีแต่ความแจ่มชัด สมบูรณ์ เป็นระเบียบ เป็นปรนัย เป็นจริง ตนเองเป็นพระเจ้าในโลกดังกล่าวแทนที่โลกของประสบการณ์ประจำวันที่ไหลเรื่อยไปไม่เคยหยุดเลย

หมายเลขบันทึก: 481351เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2012 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2013 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท