สัญญะวิทยา: ความสัมพันธ์แบบประโยค (Syntagmatic form) และความสัมพันธ์แบบแทนที่ (Paradigmatic form)


ความสัมพันธ์แบบประโยค (Syntagmatic form) และความสัมพันธ์แบบแทนที่ (Paradigmatic form)

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน สัญญะศาสตร์หรือสัญญะวิทยานี้มีความสลับซับซ้อนมากนะครับ วันนี้ผมจะมาเล่าให้ท่านทั้งหลายฟังเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสัญญะว่าเป็นอย่างไร

สัญญะศาสตร์หรือสัญญะวิทยาเป็นที่รู้จักกันในนาม การวิเคราะห์เชิงโครงสร้าง (structural analysis) หรือการวิเคราะห์ตัวบท (textual analysis) การวิเคราะห์ดังกล่าว คือ การมุ่งหาหรือค้นหาหน่วยที่เล็กๆหรือหน่วยพื้นฐานในระบบการสื่อความหมาย (semiotic system) และค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยย่อยๆเล็กเหล่านั้นในตัวบทใดตัวบทหนึ่ง ความสัมพันธ์นั้นอาจอยู่ในแง่ของคู่ตรงกันข้าม สหสัมพันธ์ และความสัมพันธ์แบบตรรกะ

การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยที่เป็นหน่วยเล็กเหล่านั้นวิเคราะห์ได้ 2 แบบ คือ ความสัมพันธ์แบบประโยค (Syntagmatic form) และความสัมพันธ์แบบแทนที่ (Paradigmatic form) ความสัมพันธ์แบบประโยคคือความสัมพันธ์ระหว่างซ้ายไปขวา ความสัมพันธ์แบบแทนที่ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ตรงกันข้าม ยกตัวอย่างเช่น                                               

                                 เด็กผู้ชาย               ร้องไห้

                                ผู้ชาย                      ร้องเพลง

                                เด็กผู้หญิง                กิน

เรารู้ว่าเด็กผู้ชายร้องไห้ก็ต่อเมื่อเราอ่านจากซ้ายไปขวา สิ่งนี้เรียกความสัมพันธ์แบบประโยค แต่ทั้งเด็กผู้ชาย ผู้ชาย เด็กผู้หญิง เราสามารถแทนที่ได้ด้วยคำนามอื่นๆ เช่น ช้าง สุนัข และเราสามารถแทน ร้องไห้ ร้องเพลง และกิน ด้วยคำกริยาอื่นๆ เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง สวดมนต์ เป็นต้น

                โดยนัยนี้ ความสามารถแบบประโยคคือความสัมพันธ์ระหว่างตัวหมายถึงซึ่งเกิดพร้อมๆกันกับตัวหมายถึงอื่นๆภายในตัวบท (ซึ่งหมายว่าพบเห็นได้ชัดเจน) ในขณะที่ความสัมพันธ์แบบแทนที่คือความสัมพันธ์ระหว่างตัวหมายถึงที่เกิดขึ้นในลักษณะสหบท (intertextuality) ซึ่งไม่ปรากฏในตัวบท (ซึ่งหมายความว่าไม่สามารถพบเห็นได้)

                Davod Lodge และ Susan Spiggle ได้วิเคราะห์การแต่งตัวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง กำลังสวมเสื้อ T-Shirt, กางเกงยีนส์, และรองเท้าแตะ โดยใช้แนวคิดของความสัมพันธ์แบบประโยคและแบบแทนที่ไว้ดังนี้

1.  หล่อนเลือกสัญญะจากระบบแทนที่ 3 ระบบ (paradigm) เช่น ชุดแต่งส่วนบน ชุดแต่งส่วนล่าง และรองเท้า ระบบแต่ละระบบประกอบด้วยชุดของสิ่งของต่างๆ ซึ่งสามารถเลือกได้ 1 ชิ้นเท่านั้น ชุดของสิ่งของเหล่านี้มีโครงสร้างเหมือนกัน มีหน้าที่เดียวกัน และ/หรือมีคุณลักษณะอย่างเดียวกับสิ่งอื่นๆ พวกมันทั้งหลายมีความเชื่อมต่อกันโดยอาศัยความเหมือน ต่อมาหล่อนก็เลือกชุดแต่งส่วนล่างและรองเท้าโดยนนัยเดียวกัน

2. หล่อนเชื่อมต่อสัญญะที่เลือกไว้แล้ว ผ่านกฎเกณฑ์บางอย่าง เช่น เสื้อ T-shirt ไปด้วยกันได้กับรองเท้าแตะ ไม่ใช่รองเท้าส้นสูง ในการเลือก เธอต้องรับรู้ความเหมือนและความแตกต่างในสัญญะในระบบทั้ง 3 เหล่านั้น อย่างไรก็ตาม หล่อนสามารถเลือกกระโปรงแทนเสื้อ T-shirt ได้ แต่โดยนัยนี้มันก็มีความหมายแตกต่างกันออกไป

     โดยนัยนี้เราจะเห็นว่าแม้กระทั่งระบบการใส่เสื้อผ้าก็มีไวยากรณ์ของมัน เช่นเดียวกับระบบอาหาร ระบบการโฆษณา การเล่นละคร การดูหนัง หรือแม้แต่การอ่านหนังสือ วันหลังผมจะแยกความสัมพันธ์แบบประโยคและแบบแทนที่มานำเสนอต่อไปนะครับ

หมายเลขบันทึก: 481276เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2012 20:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2013 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เขียนพเพิ่มเติมหน่อยครับ ผมกำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่

ผมเขียนไว้ในตอนหลังจากนี้แล้วครับ ลองหาอ่านดูนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท