รวมพล"วิทยาศาสตร์ชาวบ้าน"


จุดนัดพบเรื่องง่าย-ใช้ประโยชน์ได้จริง

ปล่อยให้แต่ล่ะโรงเรียน ต่างมุ่งปลุกปั้นนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อยอยู่นาน เมื่อได้ฤกษ์งาม ยามดี หนนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ขอเปิดบ้านอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ต้อนรับตัวแทนนักเรียนผู้ร่วม “โครงงาน(เชิง)วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า” จากทั่วประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่องาน “กำหนดการประชุมครูแกนนำ และจัดแสดงนิทรรศการโครงงานฯ ความร่วมมือนำร่องโครงงาน(เชิง)วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า (ระยะที่ 2)”

โดยงานนี้ต้องบอกว่าบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก เพราะมีตัวแทนนักเรียนและครูที่ร่วมโครงการกว่าหลายร้อยชีวิตเข้าร่วมกันอย่างคับคั่ง พร้อมกันนั้นกิจกรรมต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในงานก็มากไปด้วยสาระและความบันเทิง อาทิ การบรรยายพิเศษในประเด็นการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียน การเสวนาครูแกนนำและนักเรียนซึ่งต่างร่วมบันทึกความทรงจำระหว่างร่วมโครงการ การแสดงจากนักเรียนแต่ละภูมิภาค และที่ขาดไม่ได้คือการนำเสนอผลงานของนักเรียน และการมอบรางวัลประเมินเกณฑ์มาตรฐาน
 โครงงานฯ ซึ่งที่น่าประทับใจจนต้องนำมาบอกต่อก็คือ หลังจากที่ “ทีมงานกระจายสุข” ได้เดินสำรวจผลงานที่บรรดาน้องๆ ต่างนำมาโชว์นั้น ก็พบว่าแต่ละโครงงานล้วนน่าสนใจ และตอบโจทย์ ความเป็นวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง

เริ่มตั้งแต่ประเด็นที่อินเทรนด์อย่างเรื่องพลังงาน ที่น้องๆโรงเรียนเคนเน็ตแม็คเคนซี อ.เมือง จ.ลำปาง นำเสนอผ่าน โครงงาน“จักรยานเพื่อสุขภาพสู่พลังงานทดแทน” โดยการประดิษฐ์จักรยานเพื่อสุขภาพด้วยวัสดุที่หาง่าย ประหยัด เพื่อใช้รดน้ำในสวนเศรษฐกิจของโรงเรียน ที่มีทั้งแปลงปลูกผัก เลี้ยงปลา เพาะเห็ดนางฟ้า แทนการใช้พลังงานไฟฟ้าแบบที่ผ่านมา ซึ่งทั้งนี้นอกจากจะตอบสนองในเรื่องการประหยัดพลังงานแล้ว ยังได้เรื่องของสุขภาพ เพราะผู้ปั่นต้องปั่นด้วยความเร็วเพื่อให้ได้ปริมาณน้ำและความแรงที่พอดีกับความต้องการ 

ถัดจากเรื่องของพลังงาน มาเป็นเรื่องของสุขภาพ ที่ผนวกรวมกับเรื่องศิลปะอย่างการจัดสวน ของโรงเรียนลับแลพิทยาคม อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ โดยที่นักเรียนของที่นี่ได้ทำกิจกรรมโครงงาน “สวนสมุนไพรเพื่อสุขภาพ” ผ่านการจัดสวนสมุนไพรในโรงเรียนที่รวบรวมสมุนไพรพื้นฐานที่มีสรรพคุณในการรักษาโรค และเป็นยามาจัดรวมเข้าด้วยกัน อาทิ ว่านหางจระเข้ กะเพรา โหระพา มะนาว เหงือกปลาหมอ สะระแหน่ มะกรูด มาเข้าด้วยกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้ประโยชน์แล้วยังเป็น “ต้นแบบ” เพื่อใช้ศึกษาเรื่องสมุนไพรไทย ที่นับวันชั่วโมงของการเรียนหาตัวอย่างจริงๆเพื่อมาศึกษาได้ยากขึ้น เพราะไม่ค่อยจะมีการจัดรวมไว้ให้ ซึ่งการเรียนรู้ของเด็กที่นี่ก็ย่อมสนุกสนานกว่าการท่องจำแค่เพียงสื่อการเรียนเป็นแน่

มาต่อกันที่ความเป็นวิทยาศาสตร์ ที่ตอบสนองความเป็นชุมชนของโรงเรียนคุระบุรี จ.พังงา ที่ทำโรงงาน “สารกำจัดหอยทากจากสมุนไพรธรรมชาติ” ที่เกิดขึ้นได้หลังจากในชุมชนต้องประสบปัญหากับหอยทาก ที่เป็นศัตรูกัดกินพืชผลทางการเกษตร และนั่นเป็นที่มาของการศึกษา ค้นคว้า และทดลอง อันนำมาซึ่ง “รากดองดึง” ซึ่งมีพิษ มาล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปตำให้ละเอียด ก่อนจะคั้นเอาน้ำ เพื่อหยดในหอยทาก ที่อยู่ใกล้ๆผลผลิตนั้น ซึ่งนั้นก็แน่นอนว่า ประสิทธิภาพ ที่น้องๆ โรงเรียนคุระบุรี ค้นพบนั้น ก็สามารถกำจัดศตรูที่ไม่พึงประสงค์ได้ ขณะเดียวกันก็ยังคงความปลอดภัยให้กับคนในชุมชนอยู่

ปิดท้ายตัวอย่างในวันนี้ด้วยปัญหาที่แสนจะธรรมดา ทว่าไม่เคยหายไปจากสถาบันการศึกษา อย่างเรื่องความสะอาด โดยเฉพาะสุขอนามัยที่เกิดขึ้นในห้องน้ำห้องส้วมของโรงเรียนโดยโครงงานตัวอย่างที่ขอพูดถึงในวันนี้ คือ “น้ำยามหัศจรรย์”ของนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองไคร้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีที่มาจากการที่โรงเรียนแห่งนี้มีจำนวนนักเรียนเป็นจำนวนมาก และครอบครัวมีพื้นฐานในการสร้างสุขนิสัยที่แตกต่างกัน นำมาสู่ปัญหาห้องส้วมมีกลิ่นเหม็น ซึ่งนั้นนำมาสู่การค้นคว้าหาน้ำยาดับกลิ่นสุขาอย่างจริงจัง ทั้งน้ำยาที่มีอยู่ในท้องตลาด พืชสมุนไพร ฯลฯ จนกระทั่งพบถึงการนำเอาจุลินทรีย์ (EM) ผสมกับน้ำซาวข้าว กากน้ำตาลหรือน้ำตาลแดง มาผสมกัน และเปรียบเทียบการใช้จนได้น้ำยามหัศจรรย์ที่ได้ผลดีที่สุด


ที่ยกตัวอย่างมานี้ ดูเผินๆอาจจะดูเป็นวิทยาศาสตร์ที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน หากแต่ความเรียบง่ายเช่นนี้กลับตอบสนองความต้องการของชุมชน ในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่แพ้เทคโนโลยีทันสมัยอันใด สมแล้วที่ใครๆเขาให้สมญานาม “โครงงาน (เชิง) วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า” นี้ว่า “วิทยาศาสตร์ชาวบ้าน” และถ้าใครสนใจวิทยาศาสตร์แบบบ้านๆ แต่ใช้งานได้จริง ขอให้ติดตาม ณ ที่นี้ต่อไป เรามีมาให้อัพเดทอยู่เรื่อยๆแน่นอน!!

หมายเลขบันทึก: 480239เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2012 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วิทยาศาสตร์บ้านๆ คนบ้านๆเขาไม่รู้ว่านั้นคือวิทยาศาสตร์ เหมือน r2r บ้านที่ชาวบ้านทำ เป็นงาน r2r อย่างดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท