ลงข่วงเข็นฝ้ายที่เหล่าใหญ่ ฟื้นประเพณีและเล่าขานตำนานผู้ไท :มหกรรมผู้ไทนานาชาติที่เขาวง กาฬสินธุ์ (6)


ลงข่วงเข็นฝ้ายที่เหล่าใหญ่ ฟื้นประเพณีและเล่าขานตำนานผู้ไท

ตอนเย็นวันที่ 8 มี.ค.55 ก่อนเวทีงานสัมมนาผู้ไทนานาชาติ ที่เขาวง กาฬสินธุ์  ระหว่าง 9-11 มี.ค. 55 คนผู้ไทบ้านผม ที่ ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ กาฬสินธุ์ จะมีการซ้อมการลงข่วง เข็นฝ้าย ที่หมู่บ้านด้วยบรรยากาศแบบในภาพ ก่อนไปงานจริง ที่เขาวง ในวันรุ่งขึ้น ให้กับแกนนำญาติพี่น้องผู้ไท จากหลายจังหวัดที่จะมาพักค้างแรมในหมู่บ้านด้วย


     

(ภาพผู้ไทลงข่วงโดยคุณวันชัย)



อาจารย์ธีภาพ โลหิตกุลและเพื่อนๆทีมงานถ่ายทำสารคดี สนใจจะไปค้างพักแรม และชมการลงข่วงเข็นฝ้าย พร้อมพาแลง(อาหารเย็น)ที่หมู่บ้านในครั้งด้วย  รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งครับ พี่น้องผู้ไทบ้านเหล่าใหญ่ ยินดีต้อนรับครับ



 
ภาพชาวผู้ไทดำเมืองแถน หรือเดียนเบียนฟู ทางตอนเหนือของเวียดนาม
ภาพโดยอาจารย์ธีรภาพ โลหิตกุล


อาจารย์ธีรภาพ โลหิตกุล Teeraparb Lohitkun  มีบุญคุณต่อพี่น้องผู้ไทนานาชาติ   นึกถึงอาจารย์ธีรภาพทำให้นึกถึงผลงานสารคดี โลกสลับสี ชุดผู้ไทดำเมืองแถน(เดียนเบียนฟู)  งานนี้ผู้ไทดำ จากประเทศเวียดนามก็มาร่วมงานด้วยครับ
ด้วยความยินดีครับ

 


นอกจากอาจารย์ธีรภาพ โลหิตกุล แล้ว ใครที่เคยชื่นชอบฝีมือการถ่ายภาพของอาจารย์ Adul Tanthakosai ในวันที่ 8-11มี.ค.55งานมหกรรมผู้ไทนานาชาติ ที่เขาวง อาจารย์ Adul Tanthakosai ตกลงจะไปร่วมงานด้วย
รวมทั้งอาจารย์ก็จะนอนค้างแรมในหมู่บ้าน อยู่ถ่ายภาพ การลงข่วง เข็นฝ้ายของสาวผู้ไท บ้านผม ที่บ้านเหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธ์ ในคืนวันที่ 8 มี.ค. 55 ด้วย  
ครานี้แหละผู้สาวผู้ไทยบ้านเหล่าใหญ่ แต่งชุดสาวผู้ไทให้งามๆเด้อ จะได้เจอกับตากล้องชั้นครูของเมืองไทย อย่างอาจารย์ธีรภาพ โลหิตกุล และอาจารย์ Adul Tanthakosai 
สำหรับตากล้องมือใหม่ป้ายแดงอย่างผมอดที่จะตื่นเต้นไม่ได้ นับว่าเป็นบุญวาสนาที่ได้เห็นการทำงานของอาจารย์ใหญ่ทั้งสองในพื้นที่ครับ

 

 

                

ภาพชาวผู้ไทดำนำผลผลิตไปจำหน่ายในตลาดเมืองแถน หรือเดียนเบียนฟู
ทางตอนเหนือของเวียดนาม ภาพโดยอาจารย์ธีรภาพ โลหิตกุล

 


นอกจากนี้ยังมีภาคีวิชาการมาร่วมงานลงข่วงเข็ญฝ้ายครั้งนี้ อีกท่านครับ ดร.นิพล เชื้อเมืองพาน ท่านสนใจจะเดินทางเข้าร่วมงานสัมมนาผู้ไทนานาชาติวันที่ 9-11มี.ค.55 และร่วมชมงานลงข่วงเข็นฝ้าย ของชาวผู้ไท ในคืนวันที่ 8 มี.ค.55ที่บ้านเหล่าใหญ่  ด้วย  ดร.นิพล  เชื้อเมืองพาน เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนครับ

    

รวมทั้งยังมี อ.ธันวา  ใจเที่ยง  อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ นักวิชาผู้เชี่ยวชาญ เรื่อง  ภูมินิเวศภูพาน ก็จะมาร่วมงานลงข่วงเข็ญฝ้ายด้วย  อ.ธันวา  ใจเที่ยง มีความสนใจและมีงานวิจัยเรื่องกลุ่มชาติพันธ์ส่วนน้อยในอืสานตอนบนมากมาย ไม่ว่าผู้ไท ญ้อ บรู อ.ธันวา  ใจเที่ยง เคยเป็นอาจารย์อยู่ม.ราชภัฏนครพนม(ก่อนมาเป็นมหาวิทยาลัยนครพนมในภายหลัง)มาก่อน ท่านเป็นนักวิชาการหนุ่มที่บุกเบิกงานวิชาการชุมชนท้องถิ่นในย่านนี้มา ตั้งแต่ปี 2543  ไม่ว่าจะเป็นตำนานเสียงปืนแตก 7 สิงหา และตำนานบ้านนาจอกหมู่บ้านลุงโฮยุคกอบกู้เอกราชเวียดนามบันทึกประวัติศาสตร์ของสามัญชนอีสาน ชีวประวัติเตียง ศิริขันธ์ และขบวนการเสรีไทยภาคอีสาน “นิเวศวัฒนธรรมชาวนาลุ่มน้ำโขง”  ท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา นักวิชาการอาวุโสเคยกล่าวชื่นชมถึงอาจารย์ธันวา ใจเที่ยง อยู่บ่อยครั้ง  ส่วนผมเองได้อ่านงานของอาจารย์บ่อยครั้งด้วยความชื่นชม



                     

  ภาพสาวผู้ไทหนองสูง มุกดาหาร โดยอาจารย์ Adul Tanthakosai

 

ล่าขานตำนานผู้ไท
หลังกิจกรรมลงข่วงเข็นฝ้าย จะเป็นเวทีการเล่าขานตำนานผู้ไท สู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเองครับ
คนผู้ไทบ้านเหล่าและคนผู้ไทจากจังหวัดต่างๆ จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ล้อมวงเสวนากันครับ

สำหรับข้อมูลเบื้องต้นจากการศึกษาประวัติศาสตร์ตำบลเหล่าใหญ่ ของเยาวชนตำบลเหล่าใหญ่ ได้ให้ข้อมูลประวัติความเป็นมาของ ต.เหล่าใหญ่ ไว้ดังนี้........



“ในพื้นที่ตำบลเหล่าใหญ่มีกลุ่มคนผู้ไทที่อพยพมาจากประเทศจีนตอนใต้  จึงอพยพเรื่อยมาตามลำน้ำโขง    แล้วมาขอพักอยู่กับเจ้าเมืองเวียงจันทร์  ประเทศลาว เจ้าเมืองเวียงจันทร์ให้พักอยู่ที่เมืองบก เมืองวัง 

 

   

ภาพจากเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่


ต่อมาได้อพยพเรื่อยมาตามสายเครือญาติ   ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่แถบเทือกเขาภูพาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย  ในระยะแรกส่วนใหญ่ได้พักอยู่ที่บ้านนาแค (ปัจจุบัน คือ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม) อีกกลุ่มหนึ่งมาพักอยู่ที่ห้วยนาตาเปอะ (บ้านนาตาเปอะ  ตำบลบ้านค้อ  อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหารในปัจจุบัน) บรรพบุรุษของคนผู้ไทในพื้นที่ตำบลเหล่าใหญ่ ตั้งบ้านเรือนในบ้านเหล่าใหญ่ปัจจุบันเมือประมาณปี พ.ศ.2440       ช่วงแรก ได้อพยพมาพักที่บ้านห้างสายคอ (นาบ้าน ในเขตพื้นที่ บ้านเหล่าใหญ่ หมู่ 8  ตำบลเหล่าใหญ่ อำเภอกุฉินารายณ์  จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบัน )  อีกส่วนพักที่บ้านห้างบ้านปุง  (นาฮ้องน้ำซ้างและนาปุง ในเขตพื้นที่ บ้านเหล่าใหญ่ หมู่ 7  ตำบลเหล่าใหญ่ อำเภอกุฉินารายณ์  จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบัน )  ต่อมาได้เกิดโรคระบาดผู้คนตายและป่วยจำนวนมากโดยเฉพาะเด็ก  จึงได้อพยพมารวมตัวกันอยู่ที่บริเวณที่มีป่าเหล่าหนาทึบ ปัจจุบันคือ บ้านเหล่าใหญ่  หมู่ที่ 1 ตำบลเหล่าใหญ่  ซึ่งบริเวณนี้มีเสือและสัตว์ป่าที่ดุร้ายอาศัยอยู่หลายชนิด  อีกกลุ่มมาพักที่ดงเหนือ  เหล่าใหญ่ (บ้านดงเหนือ  ตำบลเหล่าใหญ่ ในปัจจุบัน)  อีกกลุ่มอยู่ดงมะนาว  (บ้านมะนาว  ตำบลเหล่าใหญ่ ในปัจจุบัน)                

 

 

                       

     ภาพคนผู้ไทหนองสูง โดยอาจารย์ Adul Tanthakosai

 

ปัจจุบัน ประชาชนตำบลเหล่าใหญ่  ประมาณ 85 % เป็นคนผู้ไท     แยกตามหมู่บ้านดังนี้   บ้านเหล่าใหญ่ (หมู่ที่ 1, 7, 8 ) บ้านดงเหนือ (หมู่ 2,9) บ้านมะนาว (หมู่ที่ 3, 11,  12 ) และบ้านคำกั้ง (หมู่ที่  4 ,10 )  มีเพียง 2 หมู่บ้านที่เป็นคนอิสานพื้นถิ่น(กลุ่มชาติพันธ์ลาวอิสาน) ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณที่ราบใกล้เชิงเขา   ซึ่งมีภูเขาน้อยใหญ่แถบเทือกเขาภูพาน มีภูโหล่ย (ภูน้ำจั้น ภูถ้ำพระ ภูขี้เสือ)  ภูไม้ป้อ ภูน้อย ภูดิน  ซึ่งเป็นป่าเขาที่ค่อนข้างยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารและพืช  ผักหลายชนิด  ที่นำมารับประทานได้ เช่น  ช่วงฤดูแล้ง  ก็จะมีการขึ้นเขาหาเก็บผักหวาน ดอกกระเจียว  ติดจักจั่น  ช่วงฤดูฝนก็จะมีหน่อไม้ เห็ด ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและสัตว์ป่านานาชนิด  นอกจากนี้  ยังมีภูน้ำจั้นเป็นเนินเขาที่ไม่สูงนักอยู่ในเขตพื้นที่บ้านดงเหนือ  น้ำจั้นเป็นแหล่งน้ำซับที่สำคัญ  มีชื่อกล่าวขานตามภาษาถิ่นอีสานว่า “ น้ำจั้น” น้ำจั้นเป็นน้ำแหล่งน้ำซับที่ไหลออกมาจากซอกหินตลอดปี  ลงสู่ห้วยยางและลำพะยัง  ตามลำดับ  เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใสสะอาดเสมือนเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวเหล่าใหญ่   ตังแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน  เป็นสถานที่ที่ผู้คนกล่าวขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ปาฏิหาริย์ของเจ้าที่ภูมิ สถานยิ่งนัก

 

   

ภาพจากเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่

 


ณ  บริเวณน้ำจั้น  ใกล้ๆ กับร่องน้ำได้มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ คนโบราณเล่าขานว่า เป็นเกล็ดงูทรวง  ซึ่งต่อมามีการค้นพบอย่างเป็นทางการ  โดย พระอาจารย์ศักดิ์ดา  ธัมมรโต  เจ้าอาวาสวัดพุทธบุตร บ้านโพนสวาง  อำเภอเขาวง  และตรวจสอบเบื้องต้นโดย  ดร.วราวุธ  สุธีธร  นักธรณีวิทยา  เมื่อวันที่  5  เมษายน  2541 พบว่าเป็นฟอสซิลปลาโบราณ  หรือปลาเลปิโดเทส  วงศ์เลโอโนทิเด  สกุล   เล็บโดเทส  ยุคเจ  แรสซิก  ตอนปลาย  อายุ  150 ล้านปี  ซึ่งเป็นปลาสายพันธ์ที่ค้นพบใหม่  พบครั้งแรกในประเทศไทยและแห่งเดียวในโลก  ซึ่งถือเป็นแหล่งร่อยรอยทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ  ปัจจุบันเป็นที่น่าสนใจของคนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างต่างประเทศ.....”

 

 

  

 

  

ภาพจากเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่

 

ผู้ไท ภูไท ผู้ไทดำ หรือ ไททรงดำ ลาวโซ่ง ฯลฯ ในทางวิชาการแล้ว ถือว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันครับ นับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไท กลุ่มหนึ่ง ที่ประัติความเป็นมาที่สืบเนื่องยาวนาน ถิ่นฐานดั้งเดิม ของคนผู้ไทตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือของเวียดนาม(เดียนเบียนฟู ไลเจา เกาบังและลาวไก) และ ตอนใต้ของจีน(กวางสี) ด้านที่ติดต่อกับลาว  ต่อมาผู้ไทส่วนหนึ่งอพยพและถูกกวาดมาอยู่ในประเทศไทย 

คนผู้ไทด้วยทั่วไปแล้วผิวขาวครับ แต่ด้วยถิ่นฐานเดิมตั้งถิ่นฐานในลุ่มน้ำดำ(ในเวียดนาม)และนิยมนุ่งห่มเสื้อผ้าสีดำ(ผ้าย้อมคราม) จึงเรียก ไทดำ โดยมิได้มีผิวพรรณดำ แต่อย่างใด

 

   

ภาพจากเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่

 

อ.ธีรภาพ  โลหิตกุล บอกว่าความน่าสนใจของผู้ไทคือ การที่คนผู้ไทยังรักษาขนบวัฒนธรรมประเพณี ของตนเอวไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะการต่างกาย ภาษาพูด และตนตรีศิลปวัฒนธรรม  ศิลปินเพลงลูกทุ่งเชื้อสายผู้ไท ที่เรารู้จักกันดี อาทิ สมัย อ่อนวงศ์ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย รุ่ง สุริยา ฯลฯ

         

 


ครับ วันที่9-11 มีนาคม ศกนี้ พี่น้องไทดำหรือผู้ไทที่เหินห่างไปนาน จะกลับมาพบปะกันอีกครั้ง  ในงานมหกรรมผู้ไทนานาชาติ ครั้งที่ 1 ณ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นงานที่เปี่ยมด้วยมิตรไมตรี และสีสันวัฒนธรรมกลุ่มชาตพันธุ์ ที่น่าสนใจยิ่งนัก
     *รายละเอียด คลิก http://www.phuthai-inter.com/  หรือโทร 085-017-4329      อ.ฐนันทชัย มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ ครับ

หมายเลขบันทึก: 480040เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2012 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 07:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

งานน่าสนใจมากๆ ค่ะท่านเทพฯ

ประเพณีที่หาชมยาก และควรอนุรักษ์ยิ่ง ขอบคุณค่ะ

คุณปูครับIco48 Poo

หากอยู่ใกล้จะไม่ลังเลที่จะชวนมาร่วมงาน  แต่นี่อยู่ไกลเลยจนใจจะเอื้อนเอ่ย
ยินดีครับ

ขอบคุณครับ อาจารย์สำหรับข้อมูลดีดี ผมจะกลับ 8 มี.ค. ตอนกลางคืน อดไปร่วมงานที่เหล่าใหญ่ ที่เหล่าใหญ่มีเพื่อนอยู๋ที่นั่น 2 คน ครับ เป็นมิตรที่มีน้ำใจมาก คนภูไท อยู่ที่ไหนก็มีน้ำใจให้กัน และรู้สึกเป็นเหมือนญาติสนิททุกครั้งที่ได้พูดคุย

   ยินดีครับคุณIco48 วิระศักดิ์ อารมณ์สวะ

  งานผู้ไทนานานาชาติ ที่เขาวงวันที่9-11มี.ค.
พบกันครับคุณวิระศักดิ์ อารมณ์สวะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท