หัวใจดวงยิ่งใหญ่ของชายผู้เป็นพ่อ


หัวอกของผู้เป็นพ่อที่หวังจะพึ่งพาลูกชายแต่กลับกลายต้องเป็นผู้ดูแลจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตคงปวดร้าวและเศร้าใจจนเกินเอ่ยปากเป็นคำพูดใดได้

นายไหร่โผ่หรือไลโพ ชายกลางคนชาวเลตองคุ ไม่มีเอกสารแสดงตนใด ๆ ทั้งสิ้น เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอุ้มผางครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2554 ด้วยอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้าบวม แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคไตระยะสุดท้ายและรับเป็นผู้ป่วยในให้การรักษาทางยา โดยใช้สิทธิในฐานะคนไข้ “บัตรขาว” พออาการทุเลาจึงให้กลับบ้านในวันที่ 5 พฤษภาคม 2554

          วันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ไลโพกลับมาที่โรงพยาบาลอุ้มผางอีกครั้งด้วยอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง และเริ่มไม่รู้สึกตัวเนื่องจากร่างกายไม่สามารถขับของเสียออกมาได้  แพทย์ผู้ให้การรักษาจึงตัดสินใจส่งตัวไปพบกับแพทย์เฉพาะทางโรคไตของโรงพยาบาลแม่สอดอย่างเร่งด่วน โดยมีพ่อของนายไลโพเป็นญาติติดตามไปดูแล ขณะนั่งบนรถส่งต่อจากโรงพยาบาลอุ้มผางเดินทางลงไปบนถนนคดโค้งสู่โรงพยาบาลแม่สอด ไลโพกระวนกระวายผุดลุกผุดนั่งอยู่ตลอดเวลาจนผู้เป็นพ่อมีสีหน้าวิตกกังวลมาก

          อาการของไลโพตอนถึงห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลแม่สอดไม่ค่อยดีนัก นายแพทย์พิสิฐ ลิมปธนโชติ  แพทย์เฉพาะทางโรคไตจึงตัดสินใจทำการเจาะเส้นเลือดที่คอเพื่อฟอกเลือดขับของเสียแทนไต จากนั้นจึงกลับมาทำการฟอกไตที่หน่วยไตเทียมของโรงพยาบาลอุ้มผาง

          ผู้เขียนเริ่มสงสัยว่า ทำไมพ่อของไลโพ จึงไม่มีปัญหาหรือรู้สึกกลัวเวลาต้องเดินทางออกจากอำเภออุ้มผาง แตกต่างจากบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัวอื่น ๆ จึงได้เริ่มทำการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลและพบว่าพ่อของนายไลโพ คือ นายหม่อทูอี ประทีปชิงชัย เป็นบุคคลสัญชาติไทยมีเลขประจำตัว 3-6308-xxxxx-xx-x ส่วนแม่ของไลโพ คือ นางน่อยะทู หญิงชาวกะเหรี่ยงและเสียชีวิตไปแล้ว

          นายหม่อทูอี ประทีปชิงชัยได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อและแจ้งเกิดเกินกำหนดในทะเบียนบ้าน ทร.14 แก่นายไลโพและพี่น้องรวม 4 คน ไว้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2553 แต่ยังไม่ได้รับการเพิ่มชื่อ

          โครงการก่อตั้งคลินิกฎหมายอุ้มผางเพื่อผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ ภายใต้ความร่วมมือของสถาบันวิจัยและเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐกับโรงพยาบาลอุ้มผาง  โดยมี  รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทรเป็นที่ปรึกษาโครงการ จึงช่วยเหลือติดตามคำร้องดังกล่าวและขอความอนุเคราะห์จากนายทะเบียนอำเภออุ้มผาง (นายอำเภอเชวงศักดิ์ ใจคำ)ให้เร่งรัดกระบวนการเพิ่มชื่อของนายไลโพและพี่น้อง

          นายไลโพ ประทีปชิงชัยได้รับการอนุมัติเพิ่มชื่อและรายการบุคคลเข้าทะเบียนบ้าน ทร.14 และ มีเลขประจำตัวประชาชน 5-6308-xxxx-xx-x  ในฐานะบุคคลผู้ได้รับสัญชาติไทยตาม พรบ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7(1) ในวันที่ 26 สิงหาคม 2554

          ภายหลังจากนายไลโพ เป็นบุคคลสัญชาติไทย โรงพยาบาลอุ้มผางได้ดำเนินการลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 28 กันยายน 2554 หลังจากรักษาตัวอยู่นานร่วม 6 เดือน ไลโพและหม่อทูอีขออนุญาตกลับไปทำพิธีตามความเชื่อของตนเอง 2 ครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 นายไลโพกลับจากการเข้าพิธีที่บ้าน พร้อมกับติดโรคอีสุกอีใส และมีสภาวะแพร่เชื้อ กระทั่งเสียชีวิตลงในวันที่ 30 มกราคม 2555

          ตลอดระยะเวลาของการรักษาตัวเป็นคนไข้นอนในโรงพยาบาลอุ้มผาง นายหม่อทูอีเป็นผู้เดียวที่คอยเฝ้าดูแล เพราะนายไลโพยังไม่ได้แต่งงาน บางครั้งผู้เขียนสังเกตเห็นว่าหม่อทูอีรู้สึกเครียดและบ่นว่าอยากกลับบ้าน ผู้ใหญ่บ้านเลตองคุเคยให้ข้อมูลว่านายไลโพเป็นคนขยัน มีที่ดินไร่นาและสวนเป็นจำนวนมาก หัวอกของผู้เป็นพ่อที่หวังจะพึ่งพาลูกชายแต่กลับกลายต้องเป็นผู้ดูแลจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตคงปวดร้าวและเศร้าใจจนเกินเอ่ยปากเป็นคำพูดใดได้

หมายเลขบันทึก: 479452เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2012 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 23:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดังที่คุยกันนะคะแมว เมื่อไลโพเกิด พ.ศ.๒๕๑๑ เขาจึงมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตั้งแต่เกิดโดยผลของมาตรา ๗ (๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม

แต่อย่างไรก็ตาม หากฟังว่า มารดาเป็นกะเหรี่ยงที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่า มีสัญชาติไทย มารดาจก็จะถูกสันนิษฐานโดยมาตรา ๕๗ และ ๕๘ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ว่า มีสถานะเป็น "คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย" อันทำให้ไลโพตกอยู่ภายใต้ข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗ อันทำให้เสียสิทธิในสัญชาติไทยที่มีผล ไลโผจึงตกเป็นคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายนี้มีผล

แต่อย่างไรก็ตาม อีกครั้ง เมื่อมีการยกเลิก ปว.๓๓๗ และนำมาตรา ๗ ทวิ มาใช้ โดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ไลโผก็กลับมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนอีกครั้ง เพราะมาตรา ๑๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ กำหนดให้มาตรา ๗ ทวิ ถูกนำมาใช้แก่คนที่เกิดก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๕ และเมื่อไลโผมีบิดาเป็นคนสัญชาติไทย ไลโผซึ่งเคยตกอยู่ภายใต้ ปว.๓๓๗ ก็ไม่ตกอยู่ภายใต้มาตรา ๗ ทวิ

จึงสรุปได้ว่า ไลโผกลับมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดอีกครั้งตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕

นอกจากนั้น ความเป็นบุตรของบิดานอกสมรสที่มีสัญชาติไทย ก็อาจทำให้ไลโผมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา หากมีการดำเนินการตามมาตรา ๗ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ แต่เมื่อยังไม่มีการดำเนินการเช่นนั้น การอ้างสิทธิดังกล่าวก็คงทำไม่ได้

การเขียนบทความอ่านง่ายๆ ก็น่าจะสรุปข้อกฎหมายแบบอ่านง่ายๆ แต่เขียนง่ายๆ จนเขียนผิด ก็คงไม่ดีนักนะคะ ข้อกฎหมายที่แมวให้มาไม่ถูกต้อง

การที่แมวบอกว่า อำเภออุ้มผางมีการสำรวจแบบของอำเภอเองนั้น ถ้าทำผิดกฎหมายของรัฐสภา ก็ไม่น่าจะดีต่อชาวบ้าน บทเรียนที่เราได้จากแม่อาย แม่สาย แม่ฟ้าหลวง เชียงแสน ก็คงเตือนใจเราได้ดี การช่วยเหลือชาวบ้านนั้นก็ควรจะช่วยแบบที่มีผลยั่งยืน มิใช่การช่วยที่มีผลเพียงชั่วคราว แม้ง่ายดายและเร็วก็อาจนำไปสู่การเพิกถอนในอนาคน

ในที่สุด ก็ขอชมว่า บทความนี้ดีมากให้ความรู้หลายอย่าง ความมีอยู่ของกะเหรี่ยงดั้งเดิมแห่งอุ้มผาง ความไร้สัญชาติของคนสัญชาติไทย ความรักระหว่างพ่อและลูก

รออ่านผลงานของแมวอีกค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท