เรียนรู้จากการทำงาน ประกันคุณภาพการศึกษา (1)


ผมเข้ารับตำแหน่งเข้ามาดูแล การประกันคุณภาพของคณะวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ปี 2554 ถึงวันนี้ (20 กุมภาพันธ์) เกือบครบ 5 เดือนแล้ว จึงอยากจะบันทึกความเข้าใจ และมุมมองของตนเองตอนนี้ไว้ เพื่อจะได้ตรวจเช็คดูความเปลี่ยนไป เมื่อเวลาผ่านไปครบ 1 ปี

ก่อนมาทำงานนี้ ผมไม่ชอบระบบประกันคุณภาพการศึกษา เพราะไม่ชอบ จึงไม่ได้เรียนรู้ และเมื่อไม่เรียนรู้ จึงไม่เห็น "ประโยชน์" ไม่เห็นภาพรวมของระบบงานประกัน จิตใจของผมจึง "กัน" งานประกันฯออกจากชีวิต และคิดเชิงลบมาตลอด.... ผมเชื่อว่า อาจมีเพื่อนคนทำงานในคณะของเรา หลายคนรู้สึกแบบนั้นในตอนนี้... ผมอยากบอกว่าผมเข้าใจดี เพราะผมผ่านมาแล้วด้วยตนเอง

ตอนนี้ผมเริ่มเห็นความสำคัญและภาพรวมของงานประกันคุณภาพการศึกษามากขึ้น ขอสรุปความเข้าใจของตน เผื่อว่ามีคนมาเห็น หากผิดจะได้แก้ให้ถูกต่อไปครับ

1. ทำไมต้องมีระบบประกัน

มีผลวิจัยเปรียบเทียบระหว่างประเทศที่มีระบบการประกันคุณภาพ กับประเทศที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ในหลายๆ ประเทศ เช่น อังกฤษ อเมริกา เยอรมัน  เวียดนาม เป็นต้น พบว่า สิ่งที่เด่นชัดที่สุดคือ

ในประเทศที่ไม่มีระบบการประกันคุณภาพจะมีอัตราความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นช้ามากหรือแทบจะมีเพียง 5% ต่อ 5 – 10 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่นำระบบการประกันคุณภาพไปดำเนินการใช้แล้ว 3 ถึง 5 ปี จะมีอัตราการเกิดนวัตกรรมหรือวิธีการใหม่ๆเร็วขึ้นกว่าเดิม 3 - 5 % ต่อปี

ในประเทศที่ไม่มีระบบการประกันคุณภาพ มักเกิดอาการที่เรียกว่า “หลากหลายความคิดเห็น แต่ไม่เป็นเอกภาพในเชิงพัฒนา” คล้ายๆ กับว่าแต่ละสถานศึกษาก็มีวิธีการดีๆที่จะพัฒนาคุณภาพตนเอง แต่พอมาดูภาพรวมของประเทศ สิ่งต่างๆที่ทำดูเหมือนว่าไม่ได้ช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาประเทศใดๆที่ ชัดเจน เรียกว่า “พัฒนาได้เป็นหย่อมๆ” ที่สนใจก็พัฒนาไป ที่ไม่สนใจก็เลยตามเลย อยู่ไปวันๆ

ดังนั้น การประกันคุณภาพการศึกษา จะเป็นการประกันความเสี่ยงต่อคุณภาพการศึกษา ให้มั่นใจได้ว่าการศึกษาที่จัดให้นั้น มีมาตรฐานสามารถพัฒนาลูกหลานเรา ครู/ผู้บริหารจะมีแนวทางใดที่จะชี้ชัดได้ว่า มีคุณภาพหรือเดินมาได้ถูกทางแล้วหรือไม่ เป็นแนวทางเพื่อให้ผู้จัดการศึกษาพัฒนาตนเองไปได้อย่างมีทิศทาง และยังเป็นมาตรฐานที่ใช้เป็นเข็มทิศเพื่อพัฒนาในภาพรวมได้อีกประการหนึ่ง 

เป็นหลักประกันความเชื่อมั่นของผู้รับบริการ(ผู้เรียน) และผู้รับผลกระทบ(ผู้ปกครอง /ชุมชน/สังคม/ประเทศไทย) ที่จะมั่นใจได้ว่าทั้งรูปแบบการบริหารจัดการของสถานศึกษาและวิธีการจัดการ เรียนการสอนของสถานศึกษาจะมีมาตรฐานและสามารถพัฒนาผู้รับบริการให้มีความรู้ ความสามารถ คุ้มค่ากับที่ได้ส่งให้บุตรหลานไปเรียนและส่งผลต่อการพัฒนาของประเทศชาติ

จึงเป็นเหตุให้เกิด พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ  ปี  พ.ศ. 2542 (ซึ่งเป็นกฎหมายการศึกษาของไทยฉบับแรก) และปรับปรุง ในปี 2545 ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในหมวดที่ ๖ การประกันคุณภาพ ตั้งแต่มาตราที่ 47-51 ซึ่งเนื้อความโดยสรุป คือการกำหนดให้ทุกสถานศึกษามีการประกันคุณภาพภายในทุกปีและการประกันคุณภาพภายนอกอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกห้าปี

2. เป้าหมาย ปัญหา ข้อตกลง สมมติฐาน

“เป้าหมายปลายทาง” ของระบบการศึกษาคือ ทำให้คนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ปัญหาก็คือ ทำอย่างไรคนจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข มี“ข้อตกลง” ร่วมกันว่า จะต้องผลิตให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่ “เก่ง ดี” แล้วจะสามารถทำให้คน “มีความสุข” ได้ ดังนั้นสถานศึกษาจะต้องมุ่งผลิตให้ผู้เรียน “เก่ง และ ดี” โดยเรียกผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ว่า “คุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์” ถึงตรงนี้แล้ว จะเห็นว่ามีการกำหนดสมมติฐานเบื้องต้นแล้วว่า “ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตรมลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์จะสามารถทำให้ตนเองและสังคมมีความสุข) ซึ่งสมมติฐานข้อนี้ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป ในเบื้องต้นนี้จึงให้ถือว่าเป็นเหมือน “ข้อตกลง” ก่อน

ภายใต้ “ข้อตกลง” ดังกล่าว มีสมมติฐานอีกว่า การที่สถาบันการศึกษาจะสามารถผลิตบัณฑิตตรงตามลักษณะ “บัณฑิตที่พึงประสงค์” ได้นั้น จะต้อง 1) มีปรัชญา วิสัยทัศน์ ปณิธาน วัตถุประสงค์ และแผนดำเนินงานที่ดี 2) ต้องมีหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนท (มคอ.) ที่ดี  3) ระหว่างเรียนนิสิตได้ทำกิจกรรมที่ดี 4) ต้องมีครูอาจารย์ที่เก่ง 5) จะต้องให้รู้จักช่วยเหลือสังคม 6) จะต้องส่งเสริมให้รู้รักษ์ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  7) ต้องมีระบบบริหารจัดการที่ดี 8) ต้องมีการจัดการงบประมาณที่ดี 9) ต้องมีระบบประกันคุณภาพ 10) ต้องให้นิสิตดีแบบ 3 ดี 11) สถาบันต้องมีสไตล์หรือเอกลักษณ์ของตนเอง ที่กล่าวมานี้อาจเรียกว่า “องค์ประกอบของสถาบันที่ดี” ซึ่งก็กลายมาเป็น องค์ประกอบของระบบประกันคุณภาพภายในทั้ง 11 ประการ โดยแต่ละองค์ประกอบก็จะมีสมมติฐานย่อยๆ ลงไปอีกเพื่อนิยามคำว่า “ที่ดี” ของแต่ละด้านต่างๆ เรียกว่า “ตัวบ่งชี้”

3. อาจารย์และบุคลากรสายสนับสนุนจำเป็นต้องรู้เรื่องระบบประกันหรือไม่

 หากอาจารย์และบุคลากรทุกคนจะต้องรู้จักระบบประกันฯ อย่างดี ก็นับว่า ระบบประกันฯ คือ “ภาระ” เพิ่มเติมอย่างยิ่ง แต่ก็มีกำหนดใน “สมมติฐานย่อย” (ต่อไปจะเรียกว่าตัวบ่งชี้) เหมือนกัน ที่กำหนดไว้ว่า หน่วยงานจะต้องฝึกอบรมเรื่องการประกันฯ ให้บุคลากร นิสิต และผู้เกี่ยวข้องรู้ แต่ก็ไม่ “แบบทดสอบ” ความสามารถด้านระบบประกันฯ ของแต่ละคน จึงน่าจะอนุมานได้ว่า “รู้ก็ดี ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร” อย่างไรก็ตาม บุคลากรทุกคนจะมีหน้าที่ตามสัญญาปฏิบัติงานของตนๆ อยู่แล้ว ซึ่งรู้จักกันดีว่าเป็น “ภาระงาน” 4 ด้าน ได้แก่ การสอน วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งก็คือ องค์ประกอบของประกันที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับบุคลากรอยู่แล้ว ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า “รู้ประกันฯ ก็ดี ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร แต่ให้รู้หน้าที่ก็แล้วกัน”

4.ทำไมประกันฯ กลายเป็น “ภาระ”

ที่กล่าวว่า “ไม่รู้ประกันฯ ก็ไม่ว่ากัน” แต่ทำไมประกันฯ จึงกลายเป็น “ภาระ” ไปได้ ในประเด็นนี้ ทุกคนมีคำตอบชัดเจนอยู่ในใจแล้ว คือ ได้ทำและปฏิบัติตามตัวบ่งชี้ (ส่วนใหญ่) อย่างดี แต่ไม่มีหลักฐาน ไม่ได้เก็บหลักฐานที่ “เขา” (ผู้ประเมินฯ) ต้องการ พอถึงเวลา “เขา” จะมาตรวจ ก็เลยต้อง “หาหลักฐาน” อันนี้คือ “ภาระ” บางคณะฯ จริงจังขนาดสร้างหลักฐานที่ไม่มีจริง ทำให้ความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อประกันหายไป

5. เรื่องประกันฯ คนทำประกันฯ ต้องรู้

จากการศึกษาเบื้องต้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้ระบบประกัน ประเมินการทำงานของบุคลากรและหน่วยงานได้ตรงความเป็นจริงที่สุด ผู้บริหารที่จะสามารถติดตามงานให้มีประสิทธิภาพ และควบคุมให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ ผู้ที่จะต้องทำประกันฯ จะต้องรู้เรื่องประกันฯ

ผู้ที่จำเป็นต้องรู้เรื่องประกันฯ ให้ดี ได้แก่ ผู้บริหารที่ต้องควบคุม ติดตามงาน อาจารย์ผู้รับผิดชอบให้ดูแลงานประกันของหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายประกัน ฯ บุคคลทั้ง 3 นี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้เรื่องประกันให้ดี ผู้เขียนจึงขอเชิญชวน ในฐานะที่จะเข้ามาเรียนรู้และรับงานประกัน มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มาร่วมกัน บริหารจัดการกิจกรรมต่างๆ ออกแบบวิธีการที่จะจัดเก็บหลักฐานอย่างเป็นระบบ ประมีระบบประเมินโครงการที่สะท้อนความจริง มาร่วมกันคิดหาแนวทางการ “บูรณาการ” กิจกรรมและภารกิจต่างๆ ของแต่ละฝ่ายให้ไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลา และงบประมาณ และที่สำคัญคือ จะช่วยลด “ภาระ” ของบุคลากรได้

จากการศึกษาทางเอกสาร (ไม่มีประสบการณ์การดูแลระบบประกัน) เห็นว่า ระบบประกันฯ เป็นระบบควบคุม ติดตาม และประเมินคุณภาพ ที่มีความสมบูรณ์ และเชื่อมโยงกันอย่างดี โดยมุ่งให้เกิดการทำงานแบบ PDCA ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า วงจรการทำงานแบบนี้จะก่อให้เกิดคุณภาพ หรือที่เรียกว่า “วงจรคุณภาพ”

เพื่อช่วยให้ผู้ทำประกันฯ ง่ายขึ้น ขอนำเสนอแผนผังมโนทัศน์ แสดงองค์ประกอบในแต่ละด้านของ เกณฑ์การประเมิน พร้อมตัวบ่งชี้ความสำเร็จในแต่ละด้าน ซึ่งสำหรับคนทำประกันฯ คงจะเข้าใจได้ไม่ยาก

หมายเลขบันทึก: 479344เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2012 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท