เข้าโรงเรียน (1) โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองแวง


เมื่อวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2555 ผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางไปจังหวัดขอนแก่น เพื่อติดตามสังเกตและเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาครูและระบบการเรียนการสอนของโรงเรียน 2 แห่ง คือ “โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองแวง” และ “โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองใหญ่” ทั้ง 2 โรงเรียนนี้อยู่ในสังกัดของ "เทศบาลนครขอนแก่น" เป็นโรงเรียนที่กำลังอยู่ระหว่างเรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาทั้งครูและระบบการศึกษาให้ดีขึ้น โดยมี “โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา” จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้นแบบ เป็นแรงบันดาลใจ เป็นกำลังใจ และเป็นพี่เลี้ยงที่จับมือคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ตลอดระยะเวลา 2 วัน ที่ได้เข้าไปอยู่ในรั้วโรงเรียนทั้ง 2 แห่งนี้ ผู้เขียนได้ฟังบทสนทนาระหว่างผู้บริหารโรงเรียน ครู กับคณะของเรา ได้เห็นบรรยากาศแวดล้อมของโรงเรียน บรรยากาศการเรียนรู้ของทั้งครูและเด็ก และได้รับรู้เรื่องราวมากมายที่สะท้อนถึงความพยายามในการที่จะปฏิรูประบบการศึกษาของโรงเรียนให้ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กได้เจริญเติบโตงอกงามอย่างมีคุณภาพและมีความสุข... แต่ในที่นี้อยากเล่าเฉพาะฉากความประทับใจที่เกิดขึ้น

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 เวลาก่อนแปดโมงเช้า คณะของเราเดินทางถึงโรงเรียนเทศบาลบ้านหนองแวง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6

ความประทับใจแรกที่เกิดขึ้น คือ ระหว่างที่ผู้เขียนและคนอื่นๆ เดินชมสภาพแวดล้อมอยู่บริเวณถนนหน้าอาคารเรียน เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ ทยอยเดินเข้ามาในโรงเรียน เมื่อเด็กๆ เห็นว่ามีแขกแปลกหน้า ทุกคนที่เดินผ่านเข้ามาใกล้ต่างพากันยกมือไหว้ และกล่าวทักทายด้วยคำว่า “สวัสดีค่ะ –สวัสดีครับ”  ด้วยรอยยิ้มที่เกลื่อนเต็มใบหน้า ดวงตาฉายแววแจ่มใส บ้างก็สงสัย บ้างก็เขินอาย แล้วต่างก็พากันเดินน้อมหลังผ่านพวกเราแยกย้ายกันขึ้นอาคารเรียนไป

ช่วงสายๆ ระหว่างที่เดินสนทนากับ อาจารย์บุญธรรม โบราณมูล ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้เขียนเห็นคุณครูพาเด็กๆ ชั้นอนุบาลลงมาทำกิจกรรมเรียนรู้ที่บริเวณสนามหน้าโรงเรียนหลายกลุ่ม บางกลุ่มครูพานั่งล้อมวงทำกิจกรรมฝึกสมองซ้าย-ขวา พาร้องเพลง บางกลุ่มครูพาเดินเก็บดอกไม้ที่ล่วงหล่นอยู่ใต้ต้นที่สนามหน้าอาคารเรียน เมื่อกลุ่มของเราเดินผ่านเข้าไปใกล้ เด็กผู้ชายตัวเล็กๆ คนหนึ่งหันมาเห็น แล้ววิ่งโผเข้ามาหาได้ยินเสียงเรียก “คุณตา” ผู้เขียนเห็น ผอ.บุญธรรม นั่งลง แล้วอ้าแขนรับเด็กน้อยคนนั้นอุ้มขึ้นมา ผลัดกันหอมแก้ม พลางเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเขาเรียกผมว่า “คุณตาหนวดยาว” เพราะตอนนั้นผมไว้หนวด แต่ตอนนี้เขาเรียกผมว่า “คุณตาพุงโต”...

ช่วงเวลาถัดมา ขณะที่เรายังคงเดินสนทนากันอยู่ เห็นเด็กๆ กลุ่มใหญ่ทยอยเดินจากอาคารเรียนหลังหนึ่งมุ่งหน้าไปสู่อาคารชั้นเดียวที่อยู่ถัดไปใกล้กับรั้วด้านข้างโรงเรียน พวกเรามองตามไป เสียง ผอ.บุญธรรม บอกว่า วันนี้มีชั่วโมง “เข้าห้องสมุด”  และชวนให้พวกเราตามไปดู...

ห้องสมุดของที่นี่เป็นอาคารปูนชั้นเดียวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าและด้านหลังตัวอาคารมีระเบียงไม้ยื่นออกไป ขนาดพื้นที่กว้างขวาง บรรยากาศโล่งสบาย บนหลังคาและบริเวณพื้นที่รอบๆ ระเบียงอุดมไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิดที่ช่วยกันแสดงแดดไว้ ภายในห้องสมุดมีโต๊ะ-เก้าอี้ของบรรณารักษณ์ตั้งอยู่ 1 ชุด ตรงทางเข้า มีโต๊ะ 1 ตัว และเก้าอี้ 4 ตัว 1 ชุด สำหรับนั่งอ่านหนังสือ ชั้นวางหนังสือตั้งเรียงรายอยู่ชิดผนังห้อง เปิดพื้นที่ตรงกลางอาคารไว้กว้างๆ โล่งๆ กิจกรรมเข้าห้องสมุด จะมีทุกวันอังคารและพฤหัสบดี ครั้งละครึ่งชัวโมง เพื่อให้เด็กฝึกค้นคว้าและเรียนรู้ “อย่างที่ชอบ”

เมื่อพวกเราเดินไปถึงสิ่งที่เห็นคือ ครูและเด็กนักเรียนนั่งล้อมวงอยู่กับพื้นเป็นกลุ่มๆ ทั้งที่ระเบียงด้านหน้า ด้านหลัง และในอาคารห้องสมุด ในแต่ละวงมีครูหนึ่งคนแต่จำนวนนักเรียนไม่เท่ากันแล้วแต่ความสนใจ (มีตั้งแต่ 1 คนจนถึง 10 กว่าคน น่าจะมีประมาณ 8 -10 วง บางวงอยู่ใกล้กันมากจนไม่แน่ใจว่าเป็นวงเดียวกันหรือคนละวง) กลุ่มเด็กเล็กมีครูอ่านนิทานให้ฟัง เด็ก ๆ ล้อมวงฟังอย่างตั้งใจสายตาพุ่งไปที่ใบหน้าของครูสลับกับรูปภาพในหนังสือที่ครูถืออ่าน บางกลุ่มเด็กนอนเอกเขนกฟังอย่างสบายใจ บางกลุ่มเด็กฝึกอ่านออกเสียงให้ครูฟัง ให้เพื่อนฟัง บางกลุ่มเด็กๆ สอนให้เพื่อนอ่าน บางกลุ่มครูใช้อุปกรณ์-ของเล่นช่วยในการฝึกอ่าน และทุกกลุ่มล้วนอ่านออกเสียงทั้งหมด ห้องสมุดของที่นี่ในยามนี้ จึงเต็มไปด้วยเสียงดังระเบ็งเซ็งแซ่ ฟังไม่ได้ศัพท์ของเด็กๆ จากแต่ละวง บรรยากาศในห้องสมุดของที่นี่ช่างห่างไกลจากความคุ้นชินกับคำว่า “ห้องสมุด” ในประสบการณ์ของผู้เขียนมาก สิ่งที่ผู้เขียนเห็นตลอดการสังเกตกิจกรรมเข้าห้องสมุด คือ ในท่ามกลางความไร้ระเบียบและเต็มไปด้วยเสียงดังเซ็งแซ่ แต่เด็กๆ กลับมีสมาธิจดจ่ออยู่กับกิจกรรมในกลุ่มที่เขาเลือก สิ่งที่เกิดขึ้นในวงสามารถตรึงพวกเขาไว้ได้จนหมดเวลา ...ผอ.บุญธรรม บอกว่า กิจกรรมนี้ทำให้เด็กๆ อยากเข้าห้องสมุดมากขึ้น เมื่อก่อนนี้ห้องสมุดเป็นเหมือนอาคารที่ปิดตาย เพราะระเบียบข้อบังคับเยอะมากจนเด็กไม่อยากเข้า

ช่วงเวลาพักกลางวัน ได้มีโอกาสสนทนากับครูหลายๆ คนของที่นี่ ระหว่างยืนคุยกันอยู่ มีเด็กคนหนึ่งวิ่งเข้ามากอดครูและครูก็กอดตอบ พูดคุยกันแบบ “เสียงในฟิล์ม” อย่างสนิทสนมซักพักก็วิ่งจากไป คุณครูบอกว่าตั้งชื่อให้เขาว่า “ปอยฝ้าย” เมื่อก่อนเป็นเด็กเกเรไม่ค่อยมาโรงเรียน แต่งตัวสกปรก ครูก็ไม่กอดเขา เขาก็ไม่กล้ากอดครู แต่เมื่อโรงเรียนเริ่มพัฒนาปรับเปลี่ยนทั้งครูและเด็กตามแนว “จิตศึกษา” ได้ซักระยะหนึ่ง ก็เห็นผลการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นชัดเจนกับ “ปอยฝ้าย” เขาอยากมาโรงเรียนทุกวัน มีเหตุผล ฟังครูมากขึ้น กล้าแสดงออก กล้าเข้าหาครู เดี๋ยวนี้กลายเป็นที่รักของครูทุกคน เขาชอบเข้ามากอดครูและบอกว่า “ครูเจอพ่อแม่ผมบอกด้วยนะครับว่า ตอนนี้ผมตั้งใจเรียนแล้ว”  เรื่องราวของ “ปอยฝ้าย” เป็นเรื่องเล่าในวง ลปรร.ของครูที่นี่หลายครั้งเกี่ยวกับพัฒนาการที่ดีขึ้นของเขา ความเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อยที่ค่อยๆ เกิดขึ้นกับเขาที่นำมาเล่าสู่กันฟัง เป็นเหมือนพลังใจที่ทำให้ครูที่นี่มีความมุ่งมั่นพยายามที่จะพัฒนาตนเองและวิธีการสอนให้ดียิ่งๆ เพื่อเด็กอีกหลายคนๆ ได้มีความสุขจากการมาโรงเรียน 

ผอ.บุญธรรม ก็พูดถึง “ปอยฝ้าย” รวมถึงเด็กคนอื่นๆ อีกหลายคนที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นให้พวกเราฟัง และบอกว่า “เด็กเปลี่ยนเพราะความรักจากครูที่ให้กับเขา”

ปลาทูแม่กลอง

16 กุมภาพันธ์ 2555

หมายเลขบันทึก: 478910เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2012 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีใจที่ได้อ่านบันทึกเรื่องราวดีๆ จากกัลยาณมิตรอีกครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท