ฝึก+อบรม


ประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการฝึกอบรม

สวัสดีครับ

     ผ่านวันวาเลนไทน์มาแล้วสองวัน คนโสดคงโล่งอกเพราะผ่านวันที่ไม่อยากให้ถึงไปซะที และก็มีคนที่สมหวัง ผิดหวังปนกันไป ผมเองก็หงุดหงิดเพราะต้องเข้าบ้านก่อนสี่ทุ่ม ไม่งั้นเดี๋ยวโดนจับ ไม่ใช่หรอกครับ ที่จริงคือผมต้องการพักผ่อนต่างหาก เพราะเมื่อวานผมมีคอร์สบรรยายเรื่อง "การพัฒนาศักยภาพทางความคิด" ให้กับข้าราชการสำนักงานศาลปกครอง แถวแจ้งวัฒนะ

     สังเกตมั้ยครับ ผมใช้คำว่า "บรรยาย" ไม่ได้ใช้คำว่า "อบรม" เหมือนในอดีตที่ผ่านมา สาเหตุคือ ในระหว่างที่กำลังเดินทางไปสำนักงานศาลปกครอง ซึ่งผมต้องเผชิญกับสภาพการจราจรอันเลวร้ายในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ขณะที่รถไม่สามารถเคลื่อนตัวได้ผมก็คิดถึงสาระที่จะใช้ในการบรรยาย คิดไปคิดมา ก็เกิดหลอดไฟดวงใหญ่ขึ้นอยู่เหนือหัว หมายถึง คิดอะไรออกนั่นเอง

     ประเด็นที่ผมคิดออก ซึ่งเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องกับที่ผมเคยได้เขียนบันทึกไปแล้วคือความหมายของคำว่า "ฝึกอบรม" ที่ผมได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นกระบวนการที่ฝึกฝนให้ผู้เข้ารับการอบรมกลุ่มเป้าหมายความสามารถในการกระทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในลักษณะที่สามารถไปปฏิบัติงานได้ มิใช่เพียงแค่การฟังวิทยากรบรรยายแล้วกลับบ้านเท่านั้น ซึ่งประเด็นที่ผมคิดได้เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ กระบวนการฝึกอบรม เราจะต้องแยกคำสองคำออกจากกันคือว่า "ฝึก" กับคำว่า "อบรม"

     "ฝึก" หมายถึง ทำให้ผู้ถูกฝึกมีความสามารถในการทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างคล่องแคล่ว เชี่ยวชาญ หากพูดกันง่าย ๆ ก็คือ ทำให้เ่ก่งนั่นเอง เช่น การฝึกใช้เครื่องจักรในการทำงาน การฝึกหัดขับรถ การฝึกพิมพ์งาน การฝึกใช้โปรแกรมเพาเวอร์พอยต์ การฝึกเป็นพิธีกร เป็นต้น

     "อบรม" หมายถึง การทำให้คนปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พูดกันง่าย ๆ คือทำให้เป็นคนดีนั่นเอง ในที่นี้จะหมายถึง กระบวนการทำให้คนสามารถนำความรู้ ความสามารถที่ได้รับการฝึกฝนไปใช้ในทางที่เหมาะสม ถูกต้อง ตามกาลเทศะ

     ดังนั้น ความหมายโดยรวมของกระบวนการฝึกอบรม ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความสามารถในการทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่จะต้องทำให้เกิดความเข้าใจในการนำไปความสามารถนั้นไปใช้อย่างถูกต้อง เหมาะสมด้วย เช่น การฝึกอบรมวิชาการป้องกันตัว นอกจากการฝึกทักษะการใช้อวัยวะในร่างกายเป็นอาวุธแล้ว จะต้องฝึกสมาธิ สติ เพื่อให้นำทักษะการต่อสู้ไปใช้อย่างถูกต้อง มิใช่เพื่อรังแกหรือข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่า การฝึกอบรมทักษะการปฏิบัติงานก็เพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนางาน มิใช่นำไปใช้อวดอ้างสรรพคุณความรู้ของตนเองให้เหนือกว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ

     หากท่านใช้คำว่า "ฝึกอบรม" ในกระบวนการพัฒนาบุคลากรแล้ว ก็จะต้องมีขั้นตอนหรือกิจกรรมในการพัฒนาความเก่งและพัฒนาจิตใจควบคู่กันไปด้วย

ขอบคุณครับ

อ.กฤติพงศ์ เดชส่งจรัส Go2Getoutcome

หมายเลขบันทึก: 478863เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2012 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท