ยกเลิกระบบวิทยฐานะครูปัจจุบัน สรรค์หาระบบใหม่ที่ทำให้ใจครูนิ่งอยู่กับการสอน กันดีไหม


วิทยฐานะครู

จากการทดสอบของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ  ที่พบว่าคะแนนผลการสอบวิชาหลัก ส่วนใหญ่  ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์   ดังรายละเอียด ที่มีผู้สรุปไว้ ใน http://kunnatee.athittaya.com/?p=709  ดังนี้

ค่าสถิติผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน  O-NET (Ordinary National Educational Test) ม.3 ย้อนหลัง 3 ปี พบว่าวิชาหลักนักเรียนได้คะแนนต่ำ โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ ที่ต่ำลงเรื่อยๆ โดยมีคะแนนเฉลี่ยไม่ถึง 50% โดยปีการศึกษา 2551สอบ 5 วิชา ภาษาไทย 41.09 คะแนน ผู้เข้าสอบ 797,584 คน, สังคมศึกษาฯ 41.42 คะแนน ผู้เข้าสอบ 797,688 คน, ภาษาอังกฤษ 32.42 คะแนน ผู้เข้าสอบ 798,093 คน, คณิตศาสตร์ 32.66 คะแนน ผู้เข้าสอบ 798,093 คน, วิทยาศาสตร์ 39.44 คะแนน ผู้เข้าสอบ 797,688 คน

ส่วนค่าสถิติผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน  O-NET ม.6 ระดับชาติเปรียบเทียบย้อนหลัง 3 ปี พบว่าต่ำลงเช่นกันโดยเฉพาะในวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ โดยปีการศึกษา 2551 สอบ 8 วิชาวิชาละ 100 คะแนน ภาษาไทย 46.50 คะแนน ผู้เข้าสอบ 338,224 คน, สังคมศึกษา 34.72 คะแนน ผู้เข้าสอบ 339,586 คน, ภาษาอังกฤษ 30.68 คะแนน ผู้เข้าสอบ 339,268 คน , คณิตศาสตร์ 36.08 คะแนน ผู้เข้าสอบ 339,459 คน, วิทยาศาสตร์ 33.70 คะแนน ผู้เข้าสอบ 337,996 คน, สุขศึกษาฯ 56.79 คะแนน ผู้เข้าสอบ 337,093 คน, ศิลปะ 43.22 ผู้เข้าสอบ 337,093 คน, การงานอาชีพ 40.02 คะแนน ผู้เข้าสอบ 337,093 คน

แค่วิชาภาษาไทย ที่มีการฟังพูดอ่านเขียนกันทุกวันเวลา ก็ยังต่ำ ส่วนสำคัญที่ทำให้ต่ำเป็นเพราะเป็นข้อสอบที่ไม่ธรรมดา  เป็นภาษาไทยที่ต้องคิด วิเคราะห์จึงจะตอบข้อสอบได้ถูก  ข้อสอบที่ใช้สอบทุกวิชาก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือ เป็นข้อสอบคิดวิเคราะห์  ที่ต้องอาศัยความรู้จริงในสิ่งที่เรียน และเกี่ยวข้อง  ที่ต้องนำมาใช้ในการคิด และตอบข้อสอบ 

การตอบข้อสอบได้ ทำให้คะแนนการสอบ ONET สูงขึ้น ๆ  มีปัจจัยสนับสนุนหลายส่วน ที่สำคัญสูงสุด ก็คือ ครู  และผู้ที่สนับสนุนส่งเสริมให้ครูสอนดี มีคุณภาพ นักเรียน ความรู้จริงในสิ่งที่เรียน และเกี่ยวข้อง แล้วทำข้อสอบได้คะแนนสูงและครูเองมีขวัญและกำลัง ได้ทั้งเกียรติ และเพิ่ม  เงินเพิ่มจากการทำงานในหน้าที่  

หลักการสำคัญในการสนับสนุนครูให้สอน หรือ ปัจจุบันจะเรียกกันว่าจัดการเรียนรู้ได้ดี ก็คือให้ครูมีจิตมีใจที่นิ่งอยู่กับนักเรียน   ตามหลักการนักเรียนเป็นสำคัญ  หรือ (Child Center)  ซึ่งผมขอแปลว่าให้เข้ากับสาระที่กำลังพูดถึงก็คือ  ความพยายามที่จะให้ศิษย์ทุกคนรู้จริงในสิ่งที่สอน และเกี่ยวข้อง  นำมาใช้ในการคิดและตอบข้อสอบได้ ไม่ว่าจะออกข้อสอบมาอย่างไร

ปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้ครูสอนยาก มีอะไรบ้าง

- สอนทั้งวัน มีเลาว่างก็เป็นเวลาหัวแตก หรือว่างไม่ต่อเนื่องกัน

- นักเรียนต่อห้องมาก  โดยเฉพาะในระดับชั้นมัธยม มี  40-50 คน                

- ขาดครูเฉพาะวิชา  ขาดสื่ออุปกรณ์  ในโรงเรียนประถมขนาดเล็ก

- ต้องทำงานเพื่อเพิ่มวิทยฐานะเป็นครูปฏิบัติการ ครูชำนาญการ  ครูชำนาญการพิเศษ  ครูเชี่ยวชาญ ที่มีเงินประจำตำแหน่ง  ด้วยการ ถ่ายภาพ ทำแฟ้มสะสมงาน             ทำวิจัย ทำสื่อการสอน เขียนรายงาน   ทำแล้วเสนอ ถ้าไม่ผ่านก็ทำใหม่ ส่งใหม่จนผ่าน  หรือไม่ก็หมดแรงที่จะทำผลงานที่ยากแสนเข็ญต่อไป  การทำผลงานทางวิชาการของครู ทำให้ครูต้องใช้เวลาไปกับความก้าวหน้าของตัวเองไม่น้อย

มีผลงานวิจัย เรื่อง  การวิจัยแบบผสมเพื่อศึกษาผลกระทบของการเลื่อนวิทยฐานะที่มีต่อการปฏิบัติงานของครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (http://db.onec.go.th/thaied/index.php?q=thaied_results&-table=thaied_results&-action=browse&-cursor=74&-skip=60&-limit=30&-mode=list&-recordid=thaied_results%3Fid%3D8779)

ที่พบว่า  

  1. ครูมีภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เสียสุขภาพและมีเวลาในการจัดการเรียนการสอนน้อยลง
  2. ในด้านการพัฒนาผู้เรียนการเลื่อนวิทยฐานะไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่านักเรียนจะต้องมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ดีขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ปัจจัยด้านตัวของผู้เรียน นโยบายของทางโรงเรียน เป็นต้น แต่ครูที่ได้เลื่อนวิทยฐานะส่วนใหญ่ก็มีความพยายามที่จะพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เช่น สอนเสริม การพัฒนาสื่อการเรียนการสอน การประเมินผลตามสภาพจริง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาแก่ผู้เรียนให้มากที่สุด
  3. ครูที่ดำรงตำแหน่ง วิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ (คศ.4) มีการปฏิบัติงานในด้านการพัฒนาตนเอง ด้านการพัฒนาผู้เรียน และด้านการพัฒนาวิชาชีพครู สูงกว่าครูที่ดำรงตำแหน่งวิทยฐานะครูชำนาญ (คศ.2) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ครูที่ดำรงตำแหน่งวิทยฐานะครูชำนาญพิเศษ (คศ.3) และครูที่ดำรงตำแหน่งวิทยฐานะครูชำนาญ (คศ.2) มีการปฏิบัติงานต่างกันเฉพาะด้านการพัฒนาตนเอง ส่วนครูที่ดำรงตำแหน่งวิทยฐานะครูชำนาญพิเศษ (คศ.3) และครูที่ดำรงตำแหน่งวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ (คศ.4) มีการปฏิบัติงานไม่แตกต่างกันในทุกด้าน

 

ผลงานทางวิชาการที่จะเสนอขอเลื่อนวิทยฐานะ  เช่น

รายงานการพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์ รายวิชาภาษาไทย    

รายงานการการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ เรื่องเศษส่วนโดยใช้บทเรียนสำเร็จรูป

การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร

            (ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่  http://fws.cc/bantramoong/index.php)

ยกตัวอย่างมาพอเป็นแนวคิดสำหรับบางท่านที่ยังไม่ทราบ ทั้งสามเรื่องผ่านการอนุมัติให้เลื่อนวิทยฐานะแล้วหรือยัง  ไม่ได้บอกไว้ครับ   ดู ๆ  แล้วก็ไม่ยาก  แต่จะผ่านการพิจารณาเป็นผลงานทางวิชาการ ได้เกียรติได้เงินเพิ่ม ยากแสนสาหัส  จนบางคนต้องไปว่าจ้างเป็นเงินนับแสน เพราะถ้าได้ก็คุ้มค่าการลงทุน และถ้าถูกจับได้ ก็หมดอนาคตการเป็นครู  มีคนเคยผ่านเพราะว่าจ้าง และถูกจับได้มาแล้วครับ

องค์ประกอบของการผ่าน ไม่ได้มีเพียงผลงานทางวิชาการที่ว่า  ยังมีส่วนประกอบอีกมากมาย ที่ต้องมีหลักฐาน ต้องเขียน ตรวจ ต้องมีที่ปรึกษา ต้องอดตาหลับขับตานอน ชนิดที่เป็นสำคัญมากว่านักเรียนเป็นสำคัญไปเลย ในช่วงที่เรียกว่าทำผลงานทางวิชาการเพื่อกำหนดตำแหน่ง ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยที่กล่าวมาในข้อ  1  ข้างต้น ที่ว่า  ครูมีภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เสียสุขภาพและมีเวลาในการจัดการเรียนการสอนน้อยลง เพราะ  เหตุผลสารพัด ที่ผมได้จากสดับตรับฟังมา  เช่น

  1. เพิ่มความขยันเป็นพิเศษ
  2. ไปหาคนเก่ง คนที่รู้มากกว่าให้ช่วยสอน หรือ คนเก่งมาช่วยสอน อบรม และเรียกเก็บเงิน กลายเป็นธุรกิจทางวิชาการ ทั้งคนจากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับครูในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค  ที่ครูต้องฟักเงินจ่าย และไม่จ่าย
  3. วิ่งเต้น หาผู้ใหญ่  หากรรมการอ่านผลงาน เพื่อให้ช่วยเหลือ และมีค่าตอบแทนให้
  4. จ้างให้คนเก่งทำให้

              ฯลฯ

ไปดูอีกมุมของระบบการบริหารโรงเรียนปัจจุบัน  โดยเฉพาะในโรงเรียนมัธยมจะประกอบด้วยผู้อำนวยการ  รองผู้อำนวยการ  หัวหน้ากลุ่มสาระ  หัวหน้างานห้องสมุด หัวหน้างานแนะแนว  หัวหน้า  หัวหน้างานวัดผล ฯลฯ  หัวหน้าเหล่านี้ รวมทั้งผู้อำนวยการต้องทำผลงานทางวิชาการจึงจะมีเงินประจำตำแหน่ง  เช่น ครูชำนาญการพิเศษ  จะได้เงินประจำตำแหน่ง 5600+5600  บาท  ในใบแจ้งรับเงินเดือน จะระบุว่า 5600 บาทแรก เป็นเงินประจำตำแหน่ง  อีก 5600  บาทหลังเป็นเงินตอบแทน เงินตอบแทนนี้จะได้เฉพาะคนที่ทำผลงานทางวิชาการ     ผู้ที่เป็นหัวหน้าทั้งหลาย    มีงาน มีหน้าที่ ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ  แถมไม่มีอำนาจให้คุณ ให้โทษแก่สมาชิกในกลุ่มงานเดียวกัน  เว้นเสียแต่ว่าผู้อำนวยการจะให้อำนาจ ซึ่งอาจจะมีบ้างไม่มีบ้างขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการแต่ละคน   

เงินเดือนเพิ่มใครๆ ก็ต้องการ  ไม่ทำไม่ได้  ทำงานเพื่อเด็กอย่างเดียวเหี่ยวเงินเพิ่มไปตลอดชีวิต  จึงต้องทำผลงานทางวิชาการเป็นหลัก และเป็นผลให้ “ครูมีภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เสียสุขภาพและมีเวลาในการจัดการเรียนการสอนน้อยลง”  ตามผลงานการวิจัยที่กล่าวมา

การเป็นหัวหน้าที่ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง อาจได้ดีตรงที่ได้สองขั้นบ่อยๆ คอยทำงานให้เข้าตาผู้อำนวยการ  หากเป็นงานวิชาการ โดยเฉพาะ หัวหน้ากลุ่มสาระ ซึ่งมีอยู่ เก้ากลุ่มสาระ  ก็ไม่ง่ายที่จะได้สองขั้น  ทุกคนที่เข้าเกณฑ์จึงไปทุ่มเทกับการทำผลงานทางวิชาการ  หัวหน้ากลุ่มสาระกลายเป็นของขม  สำหรับผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ที่สะสมมาด้วยตัวเอง  ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะการเข้าสู่ตำแหน่งหัวหน้างานเหล่านี้ ไม่มีการอบรมในเชิงการบริหารคนบริหารงาน  ยกเว้นระดับผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการที่มีกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่ง

สภาพที่มักพบเห็น ก็คือ คนเก่ง คนที่ได้รับเงินประตำแหน่งแล้ว  จะไม่อยากเป็นอีก ตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มสาระจึงถูกหมุนเวียนเปลี่ยนกันไป  หัวหน้ากลุ่มสาระมีความสำคัญ เพราะหัวหน้ากลุ่มสาระ เป็นผู้บริหารระดับกลางของโรงเรียน  เป็นกรรมการวิชาการของโรงเรียน  ที่เป็นทั้งครูผู้สอน และ เป็นผู้นำในการจัดการเรียนรู้  เป็นผู้ที่ดูแลช่วยเพื่อนครูในกลุ่มสาระ  เป็นผู้ประสานนโยบายของโรงเรียนไปสู่การปฏิบัติ   และเป็นผู้ที่ไม่ได้ค่าตอบแทนอะไรเลย ถ้าไม่ทำผลงานทางวิชาการ   

ข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่คำถามอะไรได้บ้าง

  1. สมมุติว่าผมเป็นหัวหน้ากลุ่มสาระ  ทำผลงานทางวิชาการมาแล้ว ก็ไม่ผ่าน ผมไม่มีเวลาที่จะมาพิถีพิถัน ในขณะเดียวกัน เพื่อน ๆ และรุ่นน้องเขามีเวลามากกว่า หลายคนเขาก็ได้เลื่อนตำแหน่ง มีเงินประจำตำแหน่งไปแล้ว   แล้วผมจะมีกำลังใจที่จะทำไปสักกี่น้ำ   เอาละผมทนได้เสียสละได้ แล้วคนอื่น จะเป็นเหมือนผมหรือเปล่า  สักกี่คน  แล้วจะเกิดความขัดแย้ง แตกความสามัคคีในกรณีอย่างนี้กันหรือไม่
  2. ทำไมไม่ให้เงินตอบแทนแก่ ผู้ทำหน้าที่หัวหน้าทั้งหลายบ้าง
  3. หน่วยงานที่ดูแลส่งเสริมครู  ได้ทำอะไรใหม่ ๆ ให้ครูได้เกียรติได้เงินเพิ่มขึ้นบ้างหรือไม่
  4. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ให้ความสำคัญกับผลงานวิจัยของ   นายอัฐพล อินต๊ะเสนา    แล้วหรือยัง อย่างไร มีผลอย่างไร
  5. บทบาทหน้าที่ของครูตามระบบโครงสร้างการบริหารของโรงเรียน สอดรับกับตำแหน่งทางวิชาการ หรือ วิทยฐานะที่ส่งผลต่อความรู้จริงของนักเรียน แล้วส่งผลต่อการทำข้อสอบ O-NET ได้ หรือไม่   ถ้ายังไม่ ทำอย่างไรให้จึงจะให้ไปกันได้
  6. เพราะตำแหน่งทางวิชาการหรือไม่  ที่เป็นส่วนหนึ่งทำให้ O-NET แทบไม่ถึง 50% ในแทบทุกวิชาหลัก 

                    ฯลฯ

 หากพิจารณาถึงสาระที่กล่าวมา  “ยกเลิกระบบวิทยฐานะครูปัจจุบัน  สรรค์หาระบบใหม่  กันดีไหม” 

ถ้าเลิกแล้วจะทำอย่างไรดี  ตามแนวคิด และแนวทาง ของผม        

1. ยึดนักเรียนเป็นสำคัญเหมือนเดิม                                                                                            

2. ส่งเสริมความเป็นมืออาชีพการบริหารการเรียนรู้                                                          

3. ดูความเข็มแข็งที่ความเป็นทีมและความเป็นปัจจุบัน                                                  

4. ดูที่ความขยันและผลงานจากการปรับปรุงงานในหน้าที่                                                    

5. มุ่งที่การทำงานเป็นระบบ

 

1.   ยึดนักเรียนเป็นสำคัญเหมือนเดิม          

1.1 ยึดนักเรียนเป็นสำคัญในที่นี้แปลว่า ครูจะได้ดี มีเงินประจำตำแหน่ง  เช่น  5600 บาท จะต้องมีผลงานปรากฏที่นักเรียนของทั้งโรงเรียน และของแต่ละคนที่จะได้รับเงินประจำตำแหน่งสูงขึ้น    เช่น  O-NET   จากระดับชาติ และ LAS (Local Assessment System) จากระดับท้องถิ่นสูงขึ้น  ปริมาณชิ้นงาน หรือ มีผลงานจากโครงงานของนักเรียนสูงขึ้น   จำนวนชิ้นงานที่มีคุณภาพมากขึ้นตามเกณฑ์ระดับชาติ  และระดับโรงเรียนที่กำหนดสูงขึ้น  การให้เงินประจำตำแหน่ง ครูไม่ต้องขอ เป็นหน้าที่ของโรงเรียน และสำนักงานเขตพื้นที่ ที่จะดำเนินการให้ตามเกณฑ์ที่กำหนด

 1.2 ผู้ที่ทำหน้าที่หัวหน้าในโรงเรียนทุกตำแหน่ง นับตั้งแต่ผู้อำนวยการ  พร้อมกับรองผู้อำนวยการ หัวหน้า และรองหัวหน้าอันดับ   เช่น 1 2 3  4    มีเงินตอบแทนให้ เช่น  ผู้อำนวยการ 5600 รองผู้อำนวยการ  3600  รองผู้อำนวยการอันดับ 1 2 3 4  -2100 1000   1500   1000  ตามลำดับ    หัวหน้าทุกตำแหน่ง  3600  รอง  2100  1000   1500   1000  ตามลำดับ          เหตุผลที่มีอันดับให้ ก็เพื่อให้ได้เงินตอบแทนกันอย่างทั่วถึง           

2. ส่งเสริมความเป็นมืออาชีพการบริหารการเรียนรู้

    ในโรงเรียนประกอบด้วยบุคลากรทั้งที่เป็นครู และบุคลากรอื่นที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ  เช่น  การเงิน  เจ้าหน้าที่ธุรการ ต้องได้รับการพัฒนาให้สามารถทำงานที่ส่งผลดีต่อคุณภาพผู้เรียนให้ได้ทั้งทางตรงตามหน้าที่ และทางอ้อม  ที่อยู่ในกรอบของการดูแล ช่วยเหลือ และพัฒนาผู้เรียน  ทุกปี หรือ ทุก 1-2 ปี  ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งครู ต้องได้รับการพัฒนาที่เน้นในการบริหารคนที่ส่งผลต่อการจัดการการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ นำไปสู่การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ONET และ  LAS  ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสนับสนุน ต้องได้รับการการพัฒนาที่เน้นในการจัดการเรียนรู้ ให้ถึงระดับที่สามารถสอนได้ สามารถเพิ่มรายได้จากเงินประจำตำแหน่งครูได้  หากต้องการ  ทั้งนี้โดยใช้งบประมาณของรัฐ   ผลจากรับการพัฒนานี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการ รองหัวหน้างาน  ไปจนถึงหัวหน้าในตำแหน่งต่างๆ  และผู้อำนวยการโรงเรียน

3. ดูความเข็มแข็งที่ความเป็นทีมและความเป็นปัจจุบัน 

         การพิจาณาความดีความชอบใด ๆ  ที่จะได้รับเงินตอบแทน เช่น เงินเดือนขึ้นประจำปี  โบนัส พิจารณาจากความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ หรือ สนับสนุนการจัดการเรียนรู้ ของกลุ่มสาระ ฝ่าย งาน และของของโรงเรียนโดยรวม   ที่ส่งผลต่อความสำเร็จของผู้เรียน     และตามด้วยความสำเร็จรายบุคคล ตามหลักเกณฑ์ในระดับชาติ ระดับเขตพื้นที่ และ ระดับโรงเรียน   ผลจากรับการได้รับความดีความชอบนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการ รองหัวหน้างาน  ไปจนถึงหัวหน้าในตำแหน่งต่างๆ  และผู้อำนวยการโรงเรียน

4. ดูที่ความขยันและผลงานจากการปรับปรุงงานในหน้าที่    

       ความอยู่ดีมีสุขของบุคคล ครอบครัว ชมชน และประเทศชาติอยู่ที่ความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน  การคิด ปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ในการคิดปรับปรุงอาจทำได้ทั้งโดยกระบวนการวิจัยที่ลึกซึ้งตามทฤษฎี หรือ ไม่มีทฤษฎีอะไร เพียงแต่ใช้สามัญสำนึก (common sense) ซึ่งมีมาก่อนทฤษฎีการวิจัย ก็สามารถปรับปรุงได้ ขอให้เพียงแต่มีจิตสำนึกที่จะปรับอยู่อย่างต่อเนื่อง  มีผลงานการปรับปรุงเป็นที่ยอมรับ  ซึ่งการยอมรับอาจใช้ หรือ ไม่มีการใช้กระบวนการวิจัยที่ลึกซึ้ง  ในสมัยโบราณของไทย มีการใช้คาถาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่คนทั่วไปคิดว่าเป็นไปไม่ได้ หากจะใช้คาถาในยุคปัจจุบันจึงต้องท่อง และทำตามคาถา “ขยันและปรับปรุง ๆ ๆ ๆ”

     อย่างไรก็ดี การวิจัยเชิงลึก รวมทั้งบทความและข้อเขียนทางวิชาการก็ต้องสนับสนุนส่งเสริมให้ครูทำ และสามารถทำได้ทันทีหลังจากการบรรจุเป็นครู หากผลงานดี มีการยอมรับตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะได้รับการตอบแทน เป็นเงินหลักแสน หรือ หลักหมื่น  หรืออะไรอื่น ก็อยู่ที่เกณฑ์ ที่กำหนด  ซึ่งคนรุ่นใหม่ ที่ไฟยังแรงก็จะได้รับขวัญกำลังใจไปตั้งแต่วัยหนุ่มสาว  ผลงานจากความขยันนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการ รองหัวหน้างาน  ไปจนถึงหัวหน้าในตำแหน่งต่างๆ  และผู้อำนวยการโรงเรียน

 5. มุ่งที่การทำงานเป็นระบบ

    คำว่าระบบ หรือ วิธีการเชิงระบบ หรือ system approach ถ้าคลิ๊กอ่านจากเว็บไซต์ที่มีผู้เขียนไว้ จะมีส่วนประกอบ ที่พูดถึง คือ Objective - Goal - Input Process - Output - Impact - Feedback   

ในส่วนของ Process ในระบบ ก็มีหลายทฤษฎี ที่รู้จักกันมานนานได้ แก่ กระบวนการของ  Lehman  กระบวนการของ Deming   และกระบวนการอื่น ๆ อีกมากมาย  ผมเองได้เสนอกระบวนการสำหรับใช้ในโรงเรียนไว้  โดยตั้งชื่อไว้ว่า Chat’s cycle ซึ่งมีวงจรของกระบวนการ ดังนี้

1. การศึกษาและวางแผน (Study and Plan =S&P)

ขอให้ทำความเข้าใจคำว่า study ให้ดี คำนี้ตาม Talking Dictionary plus organizer แปลว่า การศึกษา การวิจัย รายการศึกษา รายการวิจัย สาขาวิชา วิทยานิพนธ์ จุดอ่อนของการวางแผนการสอน หรือวางแผนงานโครงการต่างๆ ทางการศึกษาที่มักพบเห็นก็คือความหย่อนของการ study ไม่ได้ศึกษาค้นคว้าให้ได้องค์ความรู้ใหม่ๆ มาใช้ในการวางแผน แผนที่วาง ก็จะเป็นแผนที่เขียนแล้ววางโดยไม่ได้นำมาใช้จริงๆ เพราะไม่มีอะไรใหม่ การวางแผนที่ดี จึงต้องเป็นแผนที่ถูกต้องเสียตั้งแต่ต้น เป็นแผนที่เข้าหลักการประกันคุณภาพ ที่ต้องทำอะไรให้ถูกต้องเสียตั้งแต่ต้น หรือเข้าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เรียกว่า มีภูมิคุ้มกัน และการใช้ความรู้ในการทำงาน เพื่อป้องกันความผิดพลาด

ปกติเราจะใช้ กระบวนการ P-D-C-A ขอเติม S หรือ Study ไว้หน้า P เป็น S&P อีกคำเพื่อเป็นหลักคิดให้การวางแผนใดๆ ให้ถูกต้อง ตั้งแต่เริ่มต้น

2. ลงมือปฏิบัติ และเรียนรู้ (Do and Learn =D&L)

การวางแผนที่ถูกต้องเป็นปฐมเหตุของคุณภาพทั้งหมด เมื่อลงมือปฏิบัติตามแผนก็จะบังเกิดผล อย่างไรก็ดี ในมิติของแผนการใดๆ ในโรงเรียน โดยเฉพาะแผนการจัดการเรียนรู้ ต้องอาศัยความเป็นครูมืออาชีพ ครูที่สามารถนำแผนการจัดการเรียนรู้มาพลิ้วให้เหมาะสมกับสภาพผู้เรียนแต่ละคน หรือแต่ละกลุ่มความสามารถที่แตกต่างกัน การจัดการเรียนรู้ที่คละความสามารถ เป็นจำนวนมากเช่น 40-50 คน เป็นความยากลำบากของครู ที่กำลังรอคอย อาศัยนักการบริหารการศึกษา รัฐบาล ที่ดูแลเอาใจใส่ หาทางลดจำนวนนักเรียนต่อห้อง ในขณะที่ยังลดจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนไม่ได้ ก็ให้ถือเป็นความท้าทายในการสอน ท้าทายความสามารถในการวางวางแผนการจัดการเรียนรู้ทั้งในระดับโรงเรียนเรียน และห้องเรียนให้ถูกต้อง ถ้าแผนถูกต้อง ปฏิบัติได้ถูกต้อง นักเรียนก็จะรู้จริง รู้ลึกฯ การเรียนรู้ของผู้เรียน และครูก็จะเกิดขึ้นพร้อมกันไป เติม Learn ไว้ท้าย Do ก็เพื่อให้ตระหนักว่าการลงมือปฏิบัติในสิ่งที่วางแผนมาอย่างถูกต้องแล้วก็จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ เมื่อปฏิบัติแล้ว ขอให้ถามตนเองว่า ได้เรียนรู้อะไรที่เป็นจุดอ่อน จุดแข็งบ้าง จะได้จดจำเอาไว้ใช้ หรือ เอาไว้ผนวกกับ ขั้นตอนถัดไป ที่ไม่จำกัดเฉพาะแผนการจัดการเรียนรู้เท่านั้น

3. ตรวจสอบ และดู (Check and See =Ch&S)

Check หรือการตรวจสอบผล ผลที่ต้องการจากการตรวจสอบผล เช่น ผลงาน นักเรียน หรือผลการประเมินใดๆ ก็คือการมองเห็นผลงานเชิงประจักษ์ เห็นด้วยสายตา ทั้งของตนเอง และผู้เกี่ยวข้อง ที่เติม See ไว้ท้ายขั้นตอน Check ก็เพื่อต้องการให้ตระหนัก และเข้าใจว่า ผลจากการตรวจ ต้องสามารถอธิบายได้ พิสูจน์ได้ด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ ซึ่งได้แก่ 1) ผลที่เกิดขึ้นก่อนการปฏิบัติ เช่น เอกสาร สื่อ ที่ผลิตขึ้นใช้ 2) ผลที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติ เช่น ปฏิกิริยาของนักเรียนที่กำลังเรียนตามแผน 3) ผลการทดสอบย่อยๆ 4) การแสดงออกถึงความรู้ความสามารถขณะนำเสนอผลงาน 5) การตอบคำถามของครู ตลอดจนผลกระทบด้านบวกด้านลบอื่นๆ :ซึ่งผลเหล่านี้ต้องดูได้ มองเห็นได้ หากเป็นผลงานของทีมงาน ทุกคนในทีมต้องมีโอกาสดูผลที่เกิดขึ้นเหล่านี้ร่วมกัน เพื่อชื่นชมร่วมกัน นำใช้ต่อไปร่วมกัน หรือ ปรับปรุงให้ดีขึ้นร่วมกัน

4. นำไปใช้ต่อไป และพัฒนา (Implement and Develop= I&D)

การวางแผนที่ถูกต้อง ทั้งแผนปฏิบัติการ และแผนการประเมินผล เมื่อนำไปใช้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะแผนการจัดการเรียนรู้ ที่ใช้อย่างเหมาะสมกับผู้เรียน ด้วยแผนเดียวใช้กับนักเรียนหลายคน หรือ แผนเฉพาะกลุ่มความสามรถ หรือแผนรายบุคคล ก็สามารถมั่นใจได้ว่า ผลจาการการตรวจสอบ หรือ ประเมินจะออกมาเป็นที่พึงพอใจ สามารถนำไปใช้ได้ต่อไป ไม่ใช้คำว่า Action ซึ่งแปลว่า การกำหนดไว้เป็นมาตรฐานเพื่อถือปฏิบัติหากผลเป็นที่น่าพึงพอใจ และปรับปรุงแก้ไข ถ้ายังไม่ประสบความสำเร็จ ไว้ในขั้นตอนนี้ เพราะถ้า แผนถูกต้องตั้งแต่ต้น ด้วยพลังการศึกษาค้นคว้ามาอย่างดีแล้ว ผลก็ต้องมีแนวโน้มว่าจะออกมาดี หลังจากตรวจสอบผล สรุปให้ตนเองเห็นผลเชิงประจักษ์กับสายตามาแล้ว เมื่อจะใช้แผนในโอกาสต่อไปจึงสามารถ implement ได้เลย implement แปลว่า การปฏิบัติตามพันธะ หรือ การปฏิบัติตามที่เคยปฏิบัติ หรือ ทดลองปฏิบัติจนปรากฏผลมาเป็นอย่างดีแล้ว อย่างไรก็ดี ที่เคยปฏิบัติมาก็อาจมีความไม่สมบูรณ์อยู่บ้าง หรือ เวลาผ่านไป ก็อาจจะมีปัญหาใหม่ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น เมื่อจะใช้ต่อไป หรือ implement ก็ขอให้ปรับปรุง หรือ develop ด้วยการศึกษา และ วางแผน หรือ S&P ในวงจรต่อไป

          ระบบที่กล่าวมาตอนต้นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ระบบโครงสร้างองค์กร ซึ่งจะเห็นได้จากผังการบริหารโรงเรียน ที่มีผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ คณะกรรมการสถานศึกษา หัวหน้ากลุ่มสาระ หัวหน้าฝ่าย หัวหน้างาน ที่โยงใยให้เห็นลำดับการบังคับบัญชา (ดูความหมายคำนี้ที่นี่ http://www.training.moodyinfo.com/index.php/iso-article/232-2009-11-07-01-02-04.html) ที่ทำให้การทำงานร่วมกันเป็นระบบ ของการร่วมงาน และร่วมมือกัน และหากทุกคนทำงานด้วยกระบวนการที่เป็นระบบ ภายใต้ระบบการบังคับบัญชา  ก็จะได้มาซึ่งความพึงพอใจในการทำงานและผู้รับผลจากการทำงาน หรือ เรียกว่าคุณภาพงาน  ถ้าโรงเรียนมีความเป็นระบบดังกล่าว อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ก็คาดหวังว่า จะช่วยผลักดันให้นักเรียน รู้จริง รู้ลึก รู้กว้าง เชื่อมโยงได้ สร้างองค์ความรู้ ชิ้นงาน ผลงานได้อย่างสร้างสรรค์ นำเสนอ ตอบสนองทุกสถานการณ์ ได้อย่างมั่นใจ นำไปใช้ประโยชน์ตน และส่วนรวมได้ ตามศักยภาพของแต่ละคน

ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะส่งผลให้ O-NET  LAS  ตลอดจนผลการสอบที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับอื่น ๆ เพิ่มขึ้น

ที่กล่าวมาเพียงพอหรือยังครับที่จะยกเลิกระบบวิทยฐานะครูปัจจุบัน สรรค์หาระบบใหม่ที่ทำให้ใจครูนิ่งอยู่กับการสอน   ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามแนวคิดและแนวทางที่ผมเสนอไว้

คำสำคัญ (Tags): #วิทยฐานะครู
หมายเลขบันทึก: 478462เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ

                วิทยฐานะสาระเรื่อง

                ความสิ้นเปลืองทิ้งห่างทางการสอน

                เอกสารผูกพันเกิดสั่นคลอน

                ผู้เรียนอ่อนต้องรับกรรมช้ำใจแทน

มีผู้ไปแสดงความคิดเห็นไว้ใน เฟซบุ๊คของผม ลองอ่านดูนะครับ

"Peter Evans

It is really pleasing to see such a nice sensible document in which I agree with almost every word. There is still light at the end of the tunnel. I just hope every teacher in Thailand has a good chance to study this document and do some deep thinking on how they should handle their next class.

And hopefully they will change their approach to preparing children for the ONET exams coming up. (I hope for the sake of the children)"

อีกเรื่องครับ  ครูวิทยาศาสตร์  ฟิสิกส์  เคมี  ชีววิทยา ทำวิทยฐานะได้ยากมาก  ครู การงานอาชีพกับครูพละศึกษาทำไมได้ง่ายจัง

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท