ชีวิตที่พอเพียง : ๑๔๙๑. เที่ยวพิพิธภัณฑ์ Peranakanที่สิงคโปร์



          ผมเป็นนักเที่ยวพิพิธภัณฑ์    ดังนั้นเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๕ ม.ค. ๕๕ ผมจึงได้เที่ยวพิพิธภัณฑ์ ถึง ๒ แห่งในเวลา ๓ ชั่วโมง    ในบันทึกนี้จะเล่าการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ “ลูกครึ่ง” หรือPeranakan Museumที่สิงคโปร์

           ลูกครึ่งในที่นี้ หมายถึงลูกครึ่งจีนกับคนพื้นเมืองในคาบสมุทรมลายู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่องแคบมะละกา   คนเหล่านี้ค่อยๆ สั่งสมความมั่งคั่งบทบาทเกียรติยศศักดิ์ศรีและศิลปวัฒนธรรมประจำกลุ่ม จนเป็นที่ยอมรับในสังคม   อ่านเรื่องราวของเปอรานากันได้ที่นี่

          เมื่อกลับมาค้นในเน็ตจึงพบเรื่องราวของเครื่องถ้วยเปอรานากันในภาคภาษาไทย ที่นี่และละครเรื่อง บ้าบ๋า ย่าหยา รักยิ่งใหญ่จากใจดวงน้อย

          ผมไปถึงหลังเวลาเปิดคือ ๙.๐๐ น. นิดหน่อย    บริเวณนั้นยังมีรถน้อย และผมอาจจะเป็นคนแรกที่เข้าชมก็ได้    ความประทับใจแรกคือความสะอาด เป็นระเบียบ และทันสมัย   ที่เคาน์เตอร์ขายตั๋วเมื่อเขาเห็นหน้าผมก็ถามว่าซีเนียร์ใช่ไหม คนสิงคโปร์หรือเปล่า    ในฐานะคนต่างชาติสูงอายุผมจ่ายค่าเข้าชมครึ่งเดียวคือ ๓ เหรียญ   พร้อมทั้งมอบมิวเซียมไกด์ (ให้ความรู้โดยสังเขปดีมาก) ซองของขวัญวันตรุษจีน กระดาษแสตมป์สะสมตรานูนสัญลักษณ์ ที่เอามาใช้เป็นที่คั่นหนังสือได้ ๒ แผ่น เป็นรูปเครื่องแต่งกายคน เปอรานากัน กับรูปวงกลม อย่างละแผ่น

          ผมเดินไปเข้าห้องน้ำก่อน ก็ยิ่งประทับใจในความสะอาด และเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน

          ก่อนกลับมีชายวัยกลางคนมาขอให้ผมกรอกความเห็นจากการมาเยี่ยมชม พร้อมทั้งมอบจดหมายข่าว the peranakan issue 4 2011 ช่วยให้ผมทราบเมื่อกลับมาอ่านเอกสารนี้ที่บ้าน ว่าเขามี The Peranakan Associationและมีสาขาของสมาคมนี้ที่ภูเก็ต

          ในจดหมายข่าวนี้ บทความเด่นประจำฉบับชื่อ Good Girl, Bad Girl : Baba Peter Lee takes a humorous, historical jaunt through the world of Peranakan mothers  บอกว่าคนเปอรานากันย่อมมีเลือดทาสอยู่คนละเล็กละน้อยเสมอ   เพราะในสมัยก่อนโน้นชาวจีนออกนอกประเทศได้เฉพาะชาย   จึงมาได้ภรรยาที่เป็นคนท้องถิ่น และจำนวนมากเป็นหญิงที่ถูกขายเป็นทาส  

          ผมได้ความรู้เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเปอรานากันมากมาย    ประทับใจในพิธีแต่งงาน ที่ใช้เวลาถึง ๑๒ วัน   ตอนผมไปแต่งงานลูกสาวที่ไฮเดอราบัด อินเดีย    เขาบอกว่าตามปกติพิธีต้องใช้เวลา ๗ วัน   แต่ครอบครัวของว่าที่ลูกเขยเป็นคนสมัยใหม่ จึงย่อลงเหลือเพียง ๓ วัน ยังตกใจ (เล่าไว้ที่ , , )   มารู้ว่า เปอรานากันมีพิธีแต่งงาน ๑๒ วัน ก็คิดว่าเขาทำให้พิธีศักดิ์สิทธิ์   เพื่อให้อยู่กันยืด   เดี๋ยวนี้การแต่งงานคลายความศักดิ์สิทธิ์ลงไปมาก   ชีวิตแต่งงานที่อยู่กันไม่ยืดมีมากขึ้นอย่างน่าตกใจ   

          ความประทับใจอีกอย่างหนึ่งคือชีวิตของลูกสะใภ้เปอรานากัน   เขามีโคลงภาษาท้องถิ่นที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ อ่านแล้วนึกถึงสุภาษิตสอนหญิงของเรา   ซึ่งเวลานี้คงจะมีคนกล่าวหาว่าเป็นการกดขี่ต่อเพศหญิง ผมถ่ายรูปโคลงนี้เอามาลงไว้ด้วย

          ที่จริงครอบครัวผมก็เป็นลูกครึ่งจีนกับคนท้องถิ่นเหมือนกัน   แต่เป็นคนท้องถิ่นจริงๆ ไม่มีวัฒนธรรมจำเพาะ   ชีวิตไม่มีสีสัน ไม่มีฐานะทางสังคมแบบเปอรานากัน   รวมทั้งลูกครึ่งจีนในประเทศไทยเราผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม กลายเป็นคนไทยไปเลย   ไม่แยกหรือสร้างวัฒนธรรมเฉพาะตัวขึ้นมาแบบเปอรานากันแถบช่องแคบมะละกา

          ไปชมกลับมาไตร่ตรองว่า นี่คือพิพิธภัณฑ์ที่เน้นเรื่องราวของคนใหญ่คนโตหรือมั่งคั่ง    ไม่มีเรื่องราวของชาวบ้านทั่วไปที่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ    ไม่แสดงชีวิตจริงของคนส่วนใหญ่   กล่าวอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าพิพิธภัณฑ์นี้ไม่ดีนะครับ    ดี แต่มีข้อจำกัดที่โลกทัศน์ของผู้จัดทำ ที่ต้องการสร้างเรื่องราวการยอมรับคนเปอรานากันในสังคม

วิจารณ์ พานิช
๑๕ ม.ค. ๕๕
สิงคโปร์

 

 โคลงสอนสะใภ้


 

 แฟชั่นสาวเปอรานากัน เรียกชื่อสาวเหล่านี้ว่า Nongya


 

 โต๊ะอาหารและเครื่องถ้วยชามเศรษฐีเปอรานากัน


 

 โต๊ะจัดอาหาร


 

 ครัว


 

 สมบัติติดตัวของเจ้าสาวแสดงฐานะของพ่อแม่เจ้าสาว


 

เตียงนอนคู่กับเตียงนอนเดี่ยวตั้งคู่กันในห้องหอ


 

 พิธีแห่ขันหมากเปอรานากัน


 

 เครื่องเคลือบอันงดงาม


 

 การแต่งกายของเปอรานากันสมัยก่อน


 

 Kebaya


 

Baju


 

 

หมายเลขบันทึก: 478208เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2012 08:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 00:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน คุณหมอครับ

ความจริงสิ่งเหล่านี้บ้านเรามีมาก แต่ยังขาดการจัดการ การประชาสัมพันธ์ คงใช้หลัก KM ของคุณหมอช่วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท