ความรับผิดชอบ (ทำไมฝรั่งเจริญกว่าไทย ๒๗)


The power of a man is inversely proportional to the number of pens in his shirt pocket.

ความรับผิดชอบ (ทำไมฝรั่งเจริญกว่าไทย  ๒๗)

 

มีภาษิตฝรั่งอันหนึ่งที่ผมชอบมากคือ... The power of a man is inversely proportional to the number of pens in his shirt pocket. .....ซึ่งผมว่ามันสะท้อนความจริงในสังคมฝรั่งได้มากทีเดียว (usa)

 

ของไทยเรานั้นตรงกันข้ามเลยก็ว่าได้ กล่าวคือ ใครเหน็บปากกามากเท่าไหร่ก็แสดงว่ามีอำนาจมากเท่านั้น เพราะในระบบไทยเรานั้น การอนุมัติทุกเรื่องต้องขึ้นถึง “นายใหญ่” หมดทั้งสิ้น นายใหญ่ต้องเซ็นอนุมัติหมดทุกเรื่อง

 

ไม่เชื่อลองไปแอบฟังผู้บริหารชั้นสูงเขาคุยกันสิครับ

 

ก.      พี่..เป็นไงมั่งครับ หมู่นี้หายหน้าไปเลยนะ ไม่มาร่วมสนุกกับน้องๆเลย

ข.      หมู่นี้พี่ยุ่งและเหนื่อยมากเลยน้องเอ๋ย ... วันนี้มีแฟ้มมาให้เซ็นสิบกว่าแฟ้ม

ค.      โห..พี่น่าเห็นใจนะ คนเป็นใหญ่เป็นโตก็ต้องเหนื่อยแบบนี้แหละพี่

ง.       เอ้า..เรามาฉลองกันหน่อย กับตำแหน่งใหม่ที่พี่เราได้รับ เอ้า ...กรึ๊บ

 

ระบบไทยเรานั้นเป็นระบบรวบอำนาจ เนื่องเพราะเป็นระบบ “อิงอำนาจ” นั่นเอง ส่วนของฝรั่งนั้นมีความเป็นปัจเจกสูงมาก (individualism)  นำสู่การ “กระจายอำนาจ”  แบบปิรามิด ....ดังนั้นยอดอำนาจ (นายใหญ่) จึงมีฐานที่มั่นคง (ฐานใหญ่) และมีงานน้อยมาก (ยอดแหลม) ทำให้นายใหญ่มีเวลาเหลือมาก เพื่อเอามาคิดการบริหารเพื่อปรับปรุงองค์กรให้ดียิ่งขึ้น

 

ส่วนของไทยเรามันปิรามิดกลับหัว นายใหญ่เซ็นหมดทุกเรื่อง แม้เรื่องจิปาถะ ค่าเดินทาง เบี้ยเลี้ยง ที่พัก  เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ลากิจ ป่วย พักร้อน ฯลฯ  ที่ต้องให้นายใหญ่เซ็นหมดก็เพื่อแสดงอำนาจบาตรใหญ่ของนายใหญ่ให้เป็นที่ประจักษ์ทั่วไปนั่นเอง...จนไม่มีเวลาเหลือเอามาคิดในการบริหารองค์กร ส่วนเวลาที่เหลือจากการเซ็นอยู่บ้างก็ต้องเอาไปประจบนายเหนือหัวที่ใหญ่ขึ้นๆไป

 

ส่วนของฝรั่งนั้น งาน “รูตีน”  (routine)  ส่วนใหญ่ “เสมียน” เป็นคนเซ็นหมด !!!

 

ตอนผมทำงานในองค์กรวิจัยชั้นสูงแห่งหนึ่งของเมืองฝรั่ง ..เวลาผมเดินทางไปนำเสนอผลงานวิจัย คนเซ็นอนุมัติค่าเดินทางคือ เสมียน  จากนั้นเสมียนคนเดิมก็ติดต่อเครื่องบิน จองที่พัก และ เช่ารถให้หมด   แต่ไทยเรา ผมต้องทำเรื่องผ่านไปสิบกว่าต่อ ก่อนที่ “นายใหญ่” จะเซ็นอนุมัติ

 

ผมสังเกตว่าในระบบฝรั่งนั้น อะไรที่อยู่ในขอบข่ายของกฎระเบียบ เสมียนสามารถเซ็นได้หมด แต่ถ้ามันนอกระเบียบ ต้องส่งให้นายใหญ่พินิจ ส่วนไทยเราแม้ตามระเบียบอยู่แล้วก็ต้องให้นายใหญ่ลงนาม

 

 

การให้คนระดับล่างมีความรับผิดชอบในการ “เซ็นอนุมัติ” นั้นเป็นการฝึกคนให้คิด ให้รับผิดชอบในการกระทำของตน ทำให้คนมีคุณภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามประสบการณ์ที่ผ่านไป

 

แต่ของไทยเรารวบอำนาจไว้หมด จนคนระดับล่าง ไม่ได้ฝึกฝนการบริหาร และความรับผิดชอบ ได้แต่เซ็นผ่านกันไปหลายๆชั้นทำนองว่า “เรียน..นาย...เพื่อโปรดพิจารณา”     ซึ่งเป็นระบบที่“สุดแล้วแต่นายจะเห็นชอบ”  

 

คงพอเข้าใจนะครับว่าทำไมภาษิตฝรั่งข้างต้นที่ว่า  “อำนาจของบุคคลแปรผกผันกับจำนวนปากกาที่เขาเหน็บกระเป๋าเสื้อ”

 

คนพกปากกามาก (เซ็นมาก) มีอำนาจน้อย ส่วนคนพกปากกาน้อย (เซ็นน้อย) กลับมีอำนาจมาก

 

...คนถางทาง (๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 478195เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2012 03:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท