ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย ภูมิหลังทางภูมิปัญญา-รูปแบบทางศิลปกรรม


ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย ภูมิหลังทางภูมิปัญญา-รูปแบบทางศิลปกรรม

ศ.ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์

โปราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน

ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย เป็นชื่อที่ ศ.ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี กรมศิลปากร อาจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงเป็นผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ทางด้านเขมรศึกษาที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ใช้เรียกงานศิลปกรรมแบบเขมรที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งแต่เดิมนั้นมักใช้ชื่อว่า ศิลปะเขมร ศิลปะลพบุรี เป็นต้น โดยท่านอาจารย์ให้ความเห็นว่า

“ศิลปกรรมที่กล่าวถึงนี้เป็นศิลปกรรมที่เจริญควบคู่กับศิลปะเขมรในประเทศกัมพูชาซึ่งแม้ส่วนใหญ่จะได้รับความบันดาลใจจากดินแดนแห่งนี้ แต่บ่อยครั้งก็ได้แสดงความเป็นตัวของตัวเอง ที่มั่นคงแตกต่างไปจากต้นแบบและบางครั้งก็ส่งอิทธิพลย้อนกลับไปให้แก่ศิลปกรรมในประเทศกัมพูชาอีกด้วย ด้วยเหตุนี้การที่กำหนดให้ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับศิลปะเขมรในประเทศกัมพูชากับทั้งการกำหนดอายุเวลาเดียวกันนั้นเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการพิจารณาทบทวนอีกครั้ง และดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเท่าใดนัก”

การเรียกชื่อศิลปะเขมร ศิลปะลพบุรี หรือศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทยนี้ ปัจจุบัน ยังมีการเรียกชื่อสลับกันไปมา แล้วแต่ว่าใครจะถนัดใช้อย่างไหน ไม่กำหนดตายตัว แม้แต่ในมหาวิทยาลัยศิลปากรเองก็เรียกไม่เหมือนกัน เอาเป็นว่า ปล่อยให้เป็นภาระของนักวิขาการเขาจัดการเถิดอย่าไปปวดหัวกับเขาเลย ผมในฐานะของนักวิชาเกิน ขอเล่าถึงหนังสือเล่มนี้ดีกว่า (ขอเตือนว่า ไม่ควรเอาเรื่องชื่อเรียกศิลปะนี้ไปถาม ศ.ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ และ ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม พร้อมกันนะ)

หนังสือ ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย ภูมิหลังทางภูมิปัญญา-รูปแบบทางศิลปกรรม แบ่งออกเป็น ๒ ภาค ประกอบด้วย

ภาคที่ ๑ พื้นฐานอารยธรรมเขมรในประเทศกัมพูชาและอารยธรรมร่วมแบบเขมรในประเทศไทย เป็นการเล่าความหมายของคำว่า “ขอม” และ “เขมร” ประวัติศาสตร์อาณาจักรเขมรในกัมพูชาและแคว้นที่ได้รับอิทธิพลเขมรในประเทศไทยแบบสังเขป รวมถึงกาตั้งชุมชนภายใต้วัฒนธรรมร่วมแบบเขมรในประเทศไทย

ภาคที่ ๒ การจำแนกศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย การให้นิยามของศิลปะลพบุรีและศิลปะเขมร การกำหนดอายุและรูปแบบของศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย รวมถึงตามรางเปรียบเทียบ

ในหนังสือเล่มนี้ ศ.ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ได้ทำการกำหนดรูปแบบและอายุของศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทยเสียใหม่ ซึ่งผมดูแล้วก็นับว่ามีความใกล้เคียงกันกับที่กำหนดในศิลปเขมร กล่าวคือศิลปะเขมรได้กำหนดตัวเลขของช่วง พ.ศ. ไว้อย่างชัดเจน แต่ ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศ เป็นการกำหนดช่วงปีกว้าง ๆ เอาไว้ อาจจะช้ากว่านิดหน่อย ตามระยะเวลาการเดินทางของวัฒนธรรม ในที่นี้จะขอแสดงตามที่หนังสือกำหนดไว้ดังนี้

๑. ศิลปะสมัยเขมรก่อนราชวงศ์มหินธรปุระ ราวครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ราวต้นพุทธศตวรรษ ๑๗

๑.๑ ศิลปะร่วมแบบพนมดา ราวครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ ๑๒

๑.๒ ศิลปะร่วมแบบถาลาบริวัต ราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๒

๑.๓ ศิลปะร่วมแบบสมโบร์ไพรกุก ราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๒

๑.๔ ศิลปะร่วมแบบไพรกเมง ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ราวครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ ๑๓

๑.๕ ศิลปะร่วมแบบกำพงพระ ราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔

๑.๖ ศิลปะร่วมแบบกุเลน ราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๕

๑.๗ ศิลปะร่วมแบบพะโค ราวครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ ๑๕

๑.๘ ศิลปะร่วมแบบบาแค็ง ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕

๑.๙ ศิลปะร่วมแบบเกาะแกร์ ราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๕

๑.๑๐ ศิลปะร่วมแบบแปรรูป ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖

๑.๑๑ ศิลปะร่วมแบบบันทายศรี ราวครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ ๑๖

๑.๑๒ ศิลปะร่วมแบบประตูพระราชวังหลวง (คลังหรือเกรียง-ผู้เขียน) ราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๖

๒. ศิลปะร่วมแบบเขมรสมัยราชวงศ์มหินธรปุระ ราวครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๘

๒.๑ ศิลปะร่วมแบบบาปวน ราวครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ ๑๗

๒.๒ ศิลปะร่วมแบบนครวัด ราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘

๒.๓ ศิลปะร่วมแบบบายน ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘

เมื่อพูดถึง ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย ศ.ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ จึงได้ให้แบบงานศิลปกรรมที่พบในประเทศไทยเพื่อเป็นตัวอย่างไว้ด้วย จึงง่ายต่อการจดจำ รวมถึงเหตุผลที่กำหนดให้งานศิลปกรรมนั้น ๆ ว่าเพราะเหตุใดจึงอยู่ในรูปแบบศิลปะในสมัยใด การอธิบายไม่ยืดยาว กระชับ พร้อมภาพประกอบท้ายเล่ม แต่ภาพมีน้อย และเล่มที่ผมอ่านนั้น (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๓๗) เป็นภาพขาวดำ จึงมองไม่เห็นลายละเอียดมากนัก หนังสือเหมาะใช้อ่านนอกเวลาสำหรับนักศึกษา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ท่องเที่ยว หรือบุคคลทั่วไปที่เริ่มต้นหันมาสนใจเขมรศึกษาครับ

ผมเชื่อมั่นว่า เมื่ออ่านแล้ว อคติ มายาคติ หรือ ชาตินิยมบ้าคลั่งที่อยู่ในใจใครหลายคนจะลดน้อยถอยลงจะละลายหายไป มีความชั่งใจและมีขอมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ไม่ถูกผู้ไม่หวังดีชักจูงหรือปลุกระดมใช้เป็นเครื่องมือได้ง่าย ๆ เพราะวัฒนธรรมแต่ละประเทศล้วนถ่ายทอดซึ่งกันและกันทั้งสิ้น และเข้าใจว่า ในอดีต ไม่มีพรมแดน วัฒนธรรมไม่มีพรมแดน มรดกทางวัฒนธรรมไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง ของชาติใดชาติหนึ่ง แต่มรดกทางวัฒนธรรมเป็นของพวกเราทุกคนทุกชาติไป

ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย ภูมิหลังทางภูมิปัญญา-รูปแบบทางศิลปกรรม นับว่าเป็นหนังสือสามัญประจำบ้านที่พวก “บ้า” เขมรควรมีไว้

วาทิน ศานติ์ สันติ

๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

ห้องสมุด มหาสวิทยาลัยรามคำแหง

หมายเลขบันทึก: 478149เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2012 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2016 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท