รากเหง้าแห่งศิลปะไทย


รากเหง้าแห่งศิลปะไทย

พิริยะ ไกรฤกษ์

ประวัติศาสตร์ศิลปะ

โครงการหนังสือชุดลักษณะไทย

จัดพิมพ์โดย King Power

ที่มา : http://www.artgazine.com

โลกแห่งศาสตร์ประวัติศาสตร์ศิลปะ สำหรับประเทศไทยแบ่งออกเป็น ๒ กระแส ใหญ่ ๆ คือ

กระแสหลัก คือ สำนักศิลปากร ที่เริ่มมีการศึกษาอย่างจริงจังโดยพระบิดาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ประเทศไทย คือศาสตราจารย์ หม่อมจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล หลาย ๆ ท่านอาจารย์ก็ได้ขยายความจาก พระบิดาคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระบาดำรงราชานุภาพ จากหนังสือ ตำนานพุทธเจดีย์ และหลวงบริบาลบริภัณฑ์ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดย์ ปิแอร์ ดูปองต์ และศาสตราจารย์จอง บวสเชอร์ริเย่ การแบ่งยุคประวัติศาสตร์ศิลปะของฝ่ายนี้จะแบ่งไปตามยุคการปกครองของเมืองหลวง คือ ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรีหรือเขมร ล้านนา สุโขทัย อู่ทอง อยุธยา รัตนโกสินทร์ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและการเข้าใจ และอาจแยกย่อยไปตามวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งหลาย ๆ มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอาจารย์ที่จบไปจากมหาวิทยาลัยศิลปากรนำตำราและทฤษฎีต่าง ๆ จากฝ่ายนี้ไปใช้สอน

กระแสรอง หรือ ไม่ตามกระแสหลัก ของรองศาสตราจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่ง อ.พิริยะ ได้ทำการจัดลำดับ การกำหนดอายุ และการแบ่งกลุ่มศิลปะใหม่ให้สอดคล้องกับคติ ลัทธิ ประเพณี ความเชื่อตามแต่ละชุมชน อีกทั้ง อ.พิริยะ ไม่เชื่อหลักฐานบางชนิดที่ฝ่ายกระแสหลักใช้ เช่น ศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหง แนวทางการศึกษาจึงเปลี่ยนไปจากฝ่ายศิลปากร แต่ตำราแล้วแนวคิดของ อ.พิริยะ อาจไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร แต่ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ใช้ศึกษาเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ศิลปะได้ และมีการนิยมใช้ตำราของ อ.พิริยะ ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่นกัน

หนังสือรากเหง้าแห่งศิลปะไทยได้จำแนกพุทธศิลป์ และ พราหมณ์ศิลป์ ในประเทศไทย ดังนี้

๑. พุทธศิลป์ในลัทธิศราวยาน (ราวต้นพุทธสตวรรษที่ ๑๑ – ต้น ๑๔) ประกอบด้วย นิกายมหาสังฆีกะ นิกายสัมมิตียะ นิกายมูลสรรวาสติสารท นิกานเถรวาท

๒. พุทธศิลป์ในลัทธิมหายาน (ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – กลาง ๑๕) ประกอบด้วย นิกายสุขาวดี

๓. พุทธศิลป์ในลัทธิตันตระยาน (ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ต้น ๑๙) ประกอบด้วย กลุ่มจรรยาตันตระ กลุ่มโยคะตันตระ กลุ่มอนุตระ – โยคะตันตระ

๔. พุทธศิลป์ในนิกายเถรวาท (ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ต้น ๒๐) ประกอบด้วย อริยารหันตปักขะ กัมโพชสงฆ์ปักขะ

๕. พุทธสิลป์ในนิกายเถรวาทคณะมหาวิหาร (ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ครึ่วหลัง ๒๑)

๖. พุทธศิลป์ในสยามนิกาย (ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ต้น ๒๕)

๗. พุทธศิลป์ในธรรมยุตกนิกาย (ครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ปัจจุบัน)

พราหมณ์ศิลป์

๑. ศิลปะที่สร้างขึ้นใน ๖ ลัทธิภักติทรรศนะ (ก่อนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔) ประกอบด้วย ลัทธิไวษณพ (นิกายภัควัต นิกายปาจราตระ) ลัทธิไศวะ (นิกายปาศุปัต) ลัทธิเสาระ ลัทธิคณะปัตยะ ลัทธิเกามาระ

๒. ศิลปะที่สร้างขึ้นใน ๓ ลัทธิหลัก (หลังกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔) คือ ลัทธิไวษณพ ลัทธิไศวะ และลัทธิศากตะ

หนังสือเล่มนี้มีความดีมหาศาล กล่าวคือ เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะที่ประเทศไทยในยุคแรกเริ่มถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ บอกเล่า เรื่องราว ความเป็นมา ตำนาน คัมภีร์ ประกอบอย่างละเอียด อธิบายประติมาณนิรมาณ (ประติมาณวิทยา) อย่างละเอียด อย่างที่ไม่มีหนังสือเล่มไหนอธิบายไว้ มีรูปสีถ่ายจากของจริง ลายเส้นประกอบจำนวนมากมาย มีคำอธิบายใต้รูป บอกถึงแหล่งที่มา กำหนดอายุและช่วงสมัยประกอบชัดเจน เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยหนึ่ง ก็จะมีการอธิบายประวัติศาสตร์ความเป็นมาของยุคนั้น ๆ ไว้ด้วย ดังนั้น อ่านเล่มเดียวจึงได้ครับทั้ง ประวัติศาสตร์ ศิลปะ ตำนาน และการวิเคราะห์ เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา เรียนรู้เพิ่มเติมอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ยังมีอภิทานศัพท์รวมถึงภาพประกอบ ให้ผู้เริ่มศึกษาได้เข้าใจคำศัพท์ทางวิชาการ ไว้ท้ายเล่ม ดัชนีค้นคำเพื่อสะดวกแก่การค้นหา และแน่นอน ระบบการอ้างอิงที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างน้อย สองรอบ บอกตามตรงว่า จำเนื้อความได้น้อยมาก เพราะเป็นหนังสือที่มีคำศัพท์เยอะ ลายละเอียดก็แยะ อ่านหน้าลืมหลัง อ่านหลังลืมหน้า ถึงจะมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะยู่บ้าง แต่ก็สับสนกับหนังสือเล่มนี้ เพราะผมนั้นอ่านหนังสือประวัติศาสตร์กระแสหลักมาก และเอนเอียงเข้าหากระแสหลักมากเช่นกัน เมื่ออ่านแรก ๆ บางบท บางทฤษฎีของหนังสือเล่มนี้จะรู้สึกขัดใจ บางอันแตกต่างจากฝ่ายศิลปากรโดยสิ้นเชิง ความรู้จึงตีกันในหัววุ่นวายสิ้นดี หลัง ๆ ผมปรับกระบวนเสียใหม่ อ่านหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่อง ๆ ไป ไม่อ่านทีเดียวทั้งเล่ม และใช้วิธีการเปรียบเทียบ ซึ่งก็ได้ผล ทำให้เกิดความคิดที่แปลกแยก และทำให้เกิดการอยากศึกษาในเรื่องราวนั้น ๆ มากขึ้นว่า ทฤษฎีไหนเป็นจริงมากที่สุด เมื่อรู้เรื่องนั้น ๆ แล้วก็พักไว้ อยากอ่านเมื่อไหร่ หรือยากรู้เรื่องสมัยใดก็หยิบมาอ่าน

หนังสือหลาย ๆ เล่มที่มาจากค่ายศิลปากร ก็นิยม อ้างอิงหนังสือของ อ.พิริยะ เช่นหนังสือของ อ.สันติ เล็กสุขุม และบางเล่มก็ใช้ทฤษีของ อ.พิริยะเป็ยตัวตั้ง แล้วเขียนบทความและทฤษฎีของตนเองเพื่อล้มทับ เช่น ทฤษีที่ว่าด้วย “พระพุทธรูปพระทับเหนือพนัสบดี” โดย อ.พิริยะกล่าวว่า สร้างตามคติของนิกายสุขาวดี กล่าวคือ พระอมิตภะและบริวารเสด็จลงมารับดวงวิญญาณ มีครุฑเป็นสัตว์พาหนะ แต่ฝ่ายศิลปากรว่า พระพุทธรูปพระทับเหนือพนัสบดีนั้น เป็นการแสดงถึงอำนาจของพุทธเหนือพราหมณ์ สัตว์พาหนะคือ การรวมกันของสัตว์พาหนะของเทพเจ้าฮินดู คือ โค หงส์ ครุฑ

ผมได้มีโอกาสสนทนากับนักโบราณคดีประจำพิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนครท่านหนึ่ง ท่านให้คำแนะนำว่า เมื่ออ่านแล้วนำมาเปรียบเทียบกับองค์ความรู้ที่มี หากมีเรื่องใดในหนังสือที่มีความเห็นต่าง ก็ให้ทำการค้นคว้าวิจัยด้วยตนเอง หรือถามผู้รู้หลายท่าน เราจะเชื่อเรื่องนั้น ๆ ได้ เพราะไม่มีทฤษีใดที่จะเป็นจริงได้ตลอดกาล หากมีหลักฐานใหม่สนับสนุน ทฤษฏีที่ว่าจริงที่สุดก็สามารถเปลี่ยนได้ทุกเมื่อ

ผมรักหนังสือของ อ.พิริยะ ไกรฤกษ์เล่มนี้ และขอแนะนำให้คนไทย โดยเฉพาะคนที่ชื่อชอบประวัติศาสตร์ศิลปะแนวทางศิลปากรอ่าน ท่านจำได้มุมมองทางประวัติศาสตร์ศิลปะในอีกหนึ่งมุม ซึ่งอาจทำให้ท่านสร้างมุมมองขึ้นมาใหม่แบบเฉพาะของท่านเองก็เป็นได้

วาทิน ศานติ์ สันติ

๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

ห้องสมุด มหาวิทยาลัยรามคำแหง

หมายเลขบันทึก: 478055เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2012 18:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กันยายน 2016 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท