หลักการดีๆ ใช่ว่าจะใช้ได้เสมอไป....(การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของหลักการต่างๆ)


การที่จะดูว่าหลักการต่างๆที่ดูดีเหลือเกิน จะเป็นจริงได้ดังที่เค้านำเสนอหรือไม่นั้น เราก็ต้องวิเคราะห์หาสมมติฐานที่สำคัญที่ทำให้หลักการนั้นๆเกิดขึ้นได้จริงเสียก่อน

ช่วงนี้ผมเห็นหลายๆคน ยกเอาหลักการต่างๆมาพูดคุยกัน ว่าประเทศเราตอนนี้ควรจะดำเนินไปตามหลักการแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งฟังดูแล้วก็น่าเชื่อถือมากครับ แต่ว่า... ผมถูกสอนมาให้ไม่เชื่อไว้ก่อน ให้คิดเสียก่อนว่าอะไรที่อยู่เบื้องหลังหลักการนั้นๆ

 

ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มคนเบื้องหลังหลักการนั้นๆนะครับ สิ่งนั้นคนธรรมดาอย่างผมคงไม่สามารถทำความเข้าใจลึกซึ้งไปถึงตรงนั้นได้ แต่สิ่งที่ผมมักจะคิดและค้นหาก่อนก็คือ...

 

...อะไรที่เป็นพื้นฐานที่ทำให้หลักการนั้นๆเป็นจริงได้...”

พื้นฐานที่ผมพูดถึง เรียกกันในภาษาที่เราอาจจะไม่คุ้นนัก เค้าเรียกว่าเป็น 'สมมติฐาน' ซึ่งก็คือพื้นฐานที่หลักการนั้นถูกวางอยู่ ตัวอย่างง่ายๆก็ลองนึกถึงอุณภูมิของน้ำเดือด ที่เราจำกันมาว่า น้ำเดือดที่อุณภูมิ 100 องศาเซลเซียส แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น น้ำจะเดือดที่อุณภูมิ 100 องศาเซลเซียสได้นี่ เราต้องต้มน้ำบนพื้นที่มีความสูงเท่ากับระดับน้ำทะเล ถ้าเราไปต้มน้ำที่ภูเขาสูง น้ำจะเดือดที่อุณหภูมิต่ำกว่า 100 องศาครับ

 

สมมติฐานของน้ำเดือดที่ 100 องศานี้ ก็คือเรื่องของความกดอากาศ หรือแรงดันของอากาศนั่นเอง ซึ่งบางครั้งเราพูดกันด้วยหลักการว่าน้ำเดือดที่ 100 องศา แต่เราไม่ค่อยได้พูดต่อกันว่า ต้องมีความกดอากาศเท่าไรน้ำจึงจะเดือดที่อุณหภูมิเท่านี้ได้

 

เพราะฉะนั้น การที่จะดูว่าหลักการต่างๆที่ดูดีเหลือเกิน จะเป็นจริงได้ดังที่เค้านำเสนอหรือไม่นั้น เราก็ต้องวิเคราะห์หาสมมติฐานที่สำคัญที่ทำให้หลักการนั้นๆเกิดขึ้นได้จริงเสียก่อน อย่างเรื่องการแข่งขันเสรี เรื่องตลาดการค้าเสรี ที่เราชอบเอามาพูดถึงกัน ก่อนจะเกิดได้จริงนั้นมันมีสมมติฐานที่อยู่เบื้องหลังตั้งเยอะแยะ เอาแค่ สมมติฐานที่ว่า ผู้ค้าทุกคนต้องมีความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรเท่าเทียมกัน แค่นี้ในโลกความเป็นจริงก็เป็นไปได้ยากแล้วครับ คนเราเกิดมารวยจนต่างกัน บางคนมีที่ดินทำกินอยู่แล้ว เปิดร้านก็ไม่ต้องเอาค่าใช้จ่ายตรงนี้มาคิด ในขณะที่บางคนต้องไปเช่าพื้นที่เค้ามาเปิดร้าน แค่นี้ค่าต้นทุนก็ต่างกันลิบแล้วล่ะครับ

 

หลักการสำคัญของประชาธิปไตยก็เหมือนกัน ที่เราเถียงกันจะเป็นจะตาย แถมฆ่ากันจนตายไปจริงๆ ลองดูกันสิเบื้องหลังแล้วมีสมมติฐานอะไรอยู่ก่อนที่จะเกิดขึ้นบ้าง แล้วสมมติฐานเหล่านั้นใกล้เคียงความเป็นจริงบ้างหรือยัง ถ้าไม่เป็นจริงแล้วละก็ หลักการดีๆเหล่านั้นก็เกิดขึ้นจริงได้ยากครับ

 

หลักการหลายๆหลักการที่นำเสนอมาให้ผมได้ยินในช่วงนี้ เหมือนกับจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อ ทุกๆคนเป็นคนดี มีศีลธรรม มีจิตใจที่ไม่คิดจะคดโกง ซึ่งในโลกความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย คนเรามีความแตกต่างกันมาก เอาง่ายๆนะครับ ในทางทฤษฎีของฝรั่ง มีการจำแนกคนออกเป็นคนประเภท X กับ คนประเภท Y โดยคนประเภท X คือคนที่เกลียดคร้าน ไม่ชอบทำงาน ต้องใช้การควบคุม ส่วนคนประเภท Y เป็นคนที่มีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองอยู่แล้ว ทำงานได้โดยไม่ต้องมาคอยควบคุม ไม่ต้องมาคอยจ้ำจี้จำไช

 

เอาแค่ตัวอย่างง่ายๆที่แบ่งคนเป็นสองชนิดนี้ก็เห็นแล้วว่าหลักการต่างๆที่ฟังดูดี อาจจะใช้ไม่ได้จริงก็ได้ เพราะความเป็นจริงที่มีอยู่บนโลก ไม่ได้เป็นไปดังสมมติฐานที่เป็นพื้นฐานของหลักการดังกล่าวเลย เราต้องพยายามวิเคราะห์ดูก่อนว่า หลักการนั้นๆตั้งอยู่บนสมมติฐานอะไรบ้าง

 

เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งเชื่ออะไรง่ายๆนะครับ ลองลบหลู่ดูก่อนก็ได้ โดยการหามาว่าสมมติฐานที่อยู่เบื้องหลังคืออะไร แล้วมันเป็นจริงตามนั้นไม่ครับ ถ้ามันเป็นจริงได้ แล้วค่อยเชื่อก็ยังไม่สายนะครับ...

หมายเลขบันทึก: 477948เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2012 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2012 01:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมนึกถึงหลักของกาลามสูตร...ที่ว่าอย่าเพิ่งเชื่อ แม้กระทั่งผู้พูดเป็นครูอาจารย์ครับ

ขอบคุณครับ

ค่า..สมมติ..เมื่อตั้งสมการ..ค่าคงที่..เป็น..๐...(ครูมา..จ้ำจี้..จ้ำไช..สอน..ตอนเด็กๆอ้ะ...)ความคิด..ของมนุษย์..เปรียบเหมือนการตั้งค่า สมการ..ก็เท่านั้น...ค่าคงที่..ก็คือ..๐...เชื่อหรือไม่เชื่อ..ก็คือ..สิทธิ..ส่วนบุคคล..ด้วยเหตุ..ที่ถูก..สอน..ให้เชื่อ..ตามๆกันมา..(..หนึ่งใน..กาลามสูตร...พิศูจน์ได้หรือเปล่า..จึงเชื่อ)....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท