SET50 Index Futures


ตราสารอนุพันธ์ ที่มีการซื้อขายในประเทศไทย

ก่อนจะแนะนำถึง SET50 Index Futures นั้น ผู้เขียนขอแนะนำถึงหลักการเบื้อต้นของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นให้แก่ผู้อ่าน จะได้มีความเข้าใจในรายละเอียดมากขึ้น เพราะเรื่องของ Futures และ Options นั้นมีกรรมวิธีคล้าย ๆ กัน แต่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันอยู่หลายจุด

สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) เป็นสัญญาที่ถูกจัดทำขึ้นระหว่างคู่สัญญา 2 ฝ่าย ที่ตกลงกันในวันนี้ เพื่อที่จะทำการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าหรือตราสารทางการเงินในอนาคต โดยที่มูลค่าของสัญญานั้น จะมีมูลค่าขึ้นอยู่กับมูลค่าของสินค้าหรือตราสารทางการเงินที่เปลี่ยนแปลง

สิ่งที่สำคัญสำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า คือ การลงทุนหรือเก็งกำไรในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า จะมีผลของการลงทุนเป็นแบบ Zero Sum Game คือ เป็นการที่ทั้งฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายสัญญานั้นจะมีกำไรและขาดทุนรวมกันเป็น ศูนย์ เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ได้รับผลกำไร อีกฝ่ายก็จะขาดทุนในจำนวนที่เท่ากับฝ่ายผู้ได้รับกำไรได้รับ

สิ่งที่สำคัญสำหรับการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นคือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะต้องมีองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้ ผู้ขาย (Seller) เป็นผู้ที่จัดทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าขึ้มาขายให้แก่ผู้ซื้อ (Buyer) โดยสัญญานั้นจะเป็นการตกลงกันเพื่อซื้อหรือขายสินค้าอ้างอิง (Underlying Asset) ตามจำนวน (Quantity) ระยะเวลาที่ตกลงกันว่าจะทำการซื้อหรือขายสินค้า (Maturity or Delivery Date) และราคา (Futures Price)

การตกลงซื้อหรือขายล่วงหน้านั้น ผู้ซื้อและผู้ขายจะมีภาระผูกพันที่ต้องซื้อขายตามที่ตกลงกัน กำไรหรือขาดทุนของผู้ซื้อและผู้ขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นขึ้นอยู่กับราคาของสินทรัพย์อ้างอิงที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้ซื้อจะได้กำไรเมื่อราคาของสินทรัพย์อ้างอิงนั้นเพิ่มขึ้น และผู้ขายจะได้กำไรเมื่อราคาของสินทรัพย์อ้างอิงนั้นลดลง

ลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า คือ สัญญาไม่จำเป็นต้องรอจนครบกำหนดอายุของสัญญาจึงสามารถทำการซื้อขายได้ แต่สามารถกระทำการสิ้นสุดสัญญาได้ทุกเมื่อ เมื่อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าออกไป

SET50 Index Futures เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับดัชนี SET 50 โดยมีการตกลงกันว่า จะซื้อหรือขาย SET 50 Index ณ ราคาหนึ่งในอนาคต แต่ SET50 Index เป็นดัชนี ผู้ซื้อและผู้ขายจึงไม่สามาถส่งมอบสินทรัพย์เช่นเดียวกับการซื้อหรือขายสินทรัพย์หรือตราสารทางการเงินอื่น ๆ ดังนั้นการส่งมอบสินทรัพย์ตามสัญญาแบบนี้จึงเป็นเพียงการคำนวณกำไรหรือขาดทุน และชดใช้กันเป็นเงินสดแทนเท่านั้น

ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์สามารถใช้ SET50 Index Futures เพื่อการป้องกันความเสี่ยงในการลงทุนได้ คือ เมื่อผู้ลงทุนได้ทำการลงทุนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีหุ้นสามัญถือครอบครองไว้จำนวนหนึ่ง แต่กลัวว่าราคาหุ้นจะปรับลดลงในอนาคต จะทำให้เกิดการขาดทุนจากการลงทุน ผู้ลงทุนจึงสามารถขาย SET50 Index Futures ออกไปเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง เพราะเมื่อราคาหุ้นสามัญในตลาดลดลง จะทำให้ผู้ลงทุนเกิดการขาดทุน แต่ผู้ลงทุนก็จะได้รับผลกำไรจากการลงทุนใน SET50 Index Futures ชดเชยการขาดทุนดังกล่าว

ในทางกลับกันหากผู้ลงทุนคาดว่าดัชนี SET50 จะมีมูลค่ามากขึ้น ผู้ลงุทนจะทำการซื้อ SET50 Index Futures และหากการลงทุนดังกล่าวเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ผู้ลงทุนก็จะได้รับผลกำไรจากการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทนี้ ดังนั้นการซื้อ SET50 Index Futures จึงเป็นการลงทุนเพื่อการป้องกันการเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์ เพราะผุ้ลงทุนอาจต้องการที่จะซื้อหุ้นสามัญในอนาคต แต่กลัวว่าราคาจะเปลี่ยนแปลงไป จะทำการซื้อ SET50 Index Futures เพื่อการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว

การที่ผู้ลงทุนจะต้องการทำการป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์โดยใช้ SET50 Index Futures นั้น ผู้ลงทุนทุกคนควรที่จะต้องทำการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของ SET50 Index Futures ก่อนว่ามีคุณลักษณะเช่นใด

SET50 Index Futures นั้นเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับดัชนี SET50 โดยสัญญาจะมีการตกลงกันว่า จะซื้อหรือขาย SET50 Index ณ ราคาหนึ่งในอนาคต โดยที่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้นสามารถเลือกลงทุนใน SET50 Index Futures เพิ่มเติม เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ในตลาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะหากราคาหลักทรัพย์ที่ผู้ลงทุนเลือกลงทุนอยู่นั้นเกิดราคาลดลง ผู้ลงทุนที่ลงทุนเพิ่มเติมใน SET50 Index Futures นั้นจะได้รับผลกำไรชดเชยจากการลงทุนเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นการทดแทน หรือที่เราสามารถเรียกได้ว่าเป็นการป้องกันความเสี่ยงนั่นเอง

สาเหตุที่ตลาดอนุพันธ์ได้เลือกนำเอา SET50 Index มาเป็นเครื่องมือในการซื้อขายล่วงหน้านี้เพราะ SET50 Index นั้นเป็นดัชนีที่มีลักษณะคล้ายกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) แต่เป็นการคัดเลือกหลักทรัพย์จำนวน 50 บริษัทมาทำการคำนวณหาค่าดัชนีแทน โดยการที่จะได้มาซึ่งดัชนีนั้นจะต้องทำการคัดเลือกจากหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวน 200 ลำดับแรกที่มีการซื้อขายจำนวนสูงสุดเฉลี่ยต่อวันย้อนหลัง 12 เดือน และไม่ได้อยู่ระหว่างการสั่งการพักซื้อขาย (SP) นานเกินกว่า 7 วัน และหลักทรัพย์ดังกล่าวจะต้องจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยจะทำการพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ที่จะนำมาคำนวณเป็นค่าดัชนีดังกล่าวทุก ๆ 6 เดือน (ปีละ 2 ครั้ง)

ดังนั้น SET50 Index จึงเป็นค่าดัชนีที่ถือได้ว่าเป็นตัวแทนที่ดีสำหรับการลงทุนทั้งตลาด เพราะถ้าหากตลาดหลักทรัพย์อยู่ในภาวะที่ไม่ดี ค่าของดัชนีนี้ก็จะมีค่าลดลง และในทางกลับกัน ถ้าตลาดหลักทรัพย์อยู่ในภาวะที่ดี ค่าของดัชนีนี้ก็จะมีค่าสูงขึ้นเช่นกัน

ดังนั้นถ้าผู้ลงทุนได้ทำการลงทุนอยู่ซื้อหุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์ แต่คาดการณ์ว่าราคาหุ้นสามัญนั้นอาจจะมีราคาลดลงในอนาคต ผู้ลงทุนจึงสามารถขาย SET50 Index Futures ออกไปเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง เพราะเมื่อราคาหุ้นสามัญในตลาดลดลง ผู้ลงทุนจะเกิดการขาดทุน แต่ผู้ลงทุนก็จะได้รับผลกำไรจากการขาย SET50 Index Futures ชดเชยการขาดทุน (Short Position)

ศัพท์เทคนิคต่าง ๆ ที่ใช้การการกำหนดการซื้อขาย SET50 Index Futures มีรายละเอียดดังนี้

ตัวคูณดัชนี (Multiplier) เป็นราคาที่ใช้ในการคำนวณเมื่อค่าดัชนี SET50 เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยได้กำหนดไว้ว่า SET50 Index 1 จุด มีค่าเท่ากับ 1,000 บาท ดังนั้น ถ้าผู้ลงทุนขาย SET50 Index Futures ที่ราคา 530 จุด ก็แสดงว่าสัญญาดังกล่าวนั้นจะมีมูลค่า 520 x 1,000 = 520,000 บาท

ช่วงห่างของราคาขั้นต่ำ (Tick Size) เป็นการกำหนดการเสนอราคาของดัชนี โดยการเสนอราคาซื้อหรือขายในแต่ละครั้งจะต้องเสนอในหน่ยทศนิยมหนึ่งตำแหน่ง เช่น ซื้อ SET50 Index Futures ที่ 522.00 หรือ 522.10 หรือ 522.20 เป็นต้น แต่ไม่สามารถกำหนดถึงทศนิยมตำแหน่งที่สองได้ เช่น 520.01 หรือ 520.02

ช่วงของการเปลี่ยนแปลงสูงสุดในแต่ละวัน (Price Limit) เป็นการกำหนดราคาซื้อขาย Futures โดยจะสามารถเสนอซื้อขาย เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ไม่เกิน 30% ของราคาที่สำนักหักบัญชีประกาศไว้ในวันก่อนหน้าวันทำการปัจจุบัน เช่น ราคาของ SET50 Index Futures ที่สำนักหักบัญชีได้ประกาศใช้เมื่อวานนี้มีค่าเท่ากับ 500 จุด ดังนั้นการเคลืนอไหวของราคาในวันนี้จะเปลี่ยนแปลงได้สูงสุดไม่เกินกว่า 350 จุด ถึง 650 จุด (บวกและลบด้วย 30%)

Circuit Breaker เป็นการหยุดการซื้อหรือขายเมื่อตลาดหลักทรัพย์หยุดทำการซื้อขาย โดยจะมี Circuit Breaker ครั้งที่ 1 จะทำงานเมื่อราคาของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลง 10% และตลาดหลักทรัพย์หยุดการซื้อขาย จะเปิดให้มีการซื้อขายเมื่อตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการซื้อขายต่อไป สำหรับ Circuit Breaker ครั้งที่ 2 จะทำงานเมื่อตลาดหลักทรัพย์มีค่าดัชนีลดลง 20% และหยุดการซื้อขาย โดยจะเปิดให้มีการซื้อขายอีกครั้งเมื่อตลาดหลักทรัพย์เปิดให้มีการซื้อขายต่อไป และตลาดหลักทรัพย์จะให้ซื้อขายต่อไป แต่ราคาจะต้องไม่ต่ำกว่า 30%

นอกจากนี้การหยุดการซื้อขายของ SET50 Index Futures จะกระทำเมื่อตลาดหลักทรัพย์หยุดทุกครั้ง เช่น การหยุดทำการของตลาดหลักทรัพย์เมื่อเกิดเหตุการณ์ขัดข้องทางเทคนิคเป็นต้น

เดือนที่สัญญาสิ้นอายุ (Maturity) สัญญา SET50 Index Futures นั้นจะมีรอบการครบกำหนดชำระราคาคือ ทุกสิ้นเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคม ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลนิยม โดยปกติแล้วการครบกำหนดตามสัญญาของ Futures Contract ระบบไตรมาสโดยทั่วไปนั้นจะมีรอบกำหนดระยะเวลาใหญ่ ๆ 2 แบบ คือ แบบ January Quarterly Cycle ซึ่งจะมีระยะเวลาครบรอบกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดทุกเดือน มกราคม เมษายน กรกฎาคม และตุลาคม และแบบ March Quarterly Cycle คือครบกำหนดทุกสิ้นเดือน มีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคม

ศัพท์เทคนิคต่าง ๆ ที่ใช้การการกำหนดการซื้อขาย SET50 Index Futures มีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้

Series Name ของ SET50 Index Futures นั้นเป็นการกำหนดตัวอักษรย่อ เพื่อให้เกิดความง่ายต่อการเข้าใจในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายของนักลงทุน โดยจะมีการกำหนด Series Name เป็นสามส่วนคือ ส่วนที่ 1 จะระบุชนิดของสิ้นค้าที่จะทำการซื้อหรือขาย เช่น SET50 Index Futures จะถูกกำหนดเป็น S50 เป็นต้น

สำหรับส่วนที่สองของ Series Name นั้นจะระบุถึงเดือนที่สัญญาจะครบกำหนดตามสัญญา ใช้ตัวอักษร 1 ตัวแทนชื่อเดือนต่าง ๆ โดยมีวิธีการกำหนดชื่อเดือนตามหลักสากล ดังนี้

เดือน     

มกราคม                ใช้อักษรย่อ            F

กุมภาพันธ์                                         G

มีนาคม                                             H

เมษายน                                            J

พฤษภาคม                                        K

มิถุนายน                                          M

กรกฎาคม                                         N

สิงหาคม                                           Q

กันยายน                                           U

ตุลาคม                                             V

พฤศจิกายน                                        X

ธันวาคม                                            Z

สำหรับส่วนที่ 3 ของ Series Name เป็นการระบุถึงปีของการสิ้นสุดสัญญา เช่น 07 คือปี ค.ศ. 2007 เป็นต้น

ดังนั้นการกำหนด Series Name เช่น S50M07 แสดงให้เห็นว่าคำสั่งการซื้อหรือการขาย SET50 Index Futures ในครั้งนี้เป็นสัญญาของ เดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2007 หรือ S50H08 ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นสัญญา SET50 Index Futures ของเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2008 เป็นต้น

วันซื้อขายวันสุดท้าย (Last Trading Day) คือ วันทำการของตลาดหลักทรัพย์ก่อนหน้าวันทำการวันสุดท้ายของเดือน เช่น เดือนมีนาคม 2549 วันทำการวันสุดท้ายของเดือนคือวันที่ 31 มีนาคม 2549 ดังนั้น Last Trading Day คือวันที่สามารถทำการซื้อขายวันสุดท้ายของเดือนได้ก็คือ วันที่ 30 มีนาคม 2549

การจำกัดสถานะของสัญญา (Position Limit) เป็นจำนวนสัญญาที่ผู้ลงทุนสามารถถือครองได้ โดยทาง SET50 Index Futures กำหนดให้ผู้ลงทุนนั้นจะสามารถถือครองสัญญาที่กำลังจะหมดสถานะลงในแต่ละเดือนไม่เกินกว่า 10,000 สัญญา และสถานะสุทธิของทุกเดือนรวมกันไม่เกินกว่า 10,000 สัญญา เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

การส่งมอบเงินสด (Cash Settlement) การซื้อขาย SET50 Index Futures เป็นการซื้อหรือขายดัชนี SET50 จึงทำให้การส่งมอบสินค้านั้นไม่สามารถทำได้จริง ดังนั้นการส่งมอบจึงเป็นแค่เพียงการชำระราคาส่วนต่างด้วยเงินสดเท่านั้น

Daily Settlement Price (ราคาที่ใช้ชำระราคาประจำวัน) เป็นราคาที่ตลาดอนุพันธ์จะกำหนดทุกสิ้นวัน เพื่อทำการคำนวณผลกำไรหรือขาดทุนจากการลงทุนในตราสารอนุพันธ์นี้

Final Settlement Price (ราคาที่ใช้ชำระราคาวันสุดท้าย) เป็นราคาที่ใช้คำนวณกำไรขาดทุนในวันสุดท้ายของสัญญา หรือวันครบกำหนดชำระตามสัญญา โดยสามารถคำนวณได้จากค่าเฉลี่ยของ SET50 Index ในช่วง 30 นาทีสุดท้ายของการซื้อขาย ในวันซื้อขายวันสุดท้ายตามสัญญา ซึ่งการคำนวณค่าเฉลี่ยนั้นจะใช้ทศนิยมสองหลักของ SET50 Index รายนาที เพื่อเป็นการป้องกันการสร้างราคา หรือการปั่นหุ้น

สำหรับขั้นตอนการซื้อขาย SET50 Index Futures นั้น มีลักษณะการซื้อขายเช่นเดียวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ แต่มีสิ่งอื่น ๆ เล็กน้อยที่เพิ่มเติมเข้ามาในระบบทำให้การซื้อและขาย SET50 Index Futures แตกต่างไปจากการซื้อหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์

การซื้อขาย SET50 Index Futures มีขั้นตอนดังนี้ คือ การสั่งซื้อและขายทุกครั้งจะต้องผ่านนายหน้าหรือที่เราเรียกกันว่า Broker โดยที่ผู้สั่งซื้อหรือขายนั้นจะต้องทำการวางเงินประกันขั้นต้นก่อนการซื้อขาย โดยที่จะมีการตรวจสอบสถานะทางบัญชีกันทุกวัน (Daily Mark-to-Market) ถ้าวันใดก็ตามผู้ลงทุนมีสถานะขาดทุนและเงินประกันต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด จะถูกเรียกวางเงินประกันเพิ่มจนเท่ากับเงินประกันเริ่มแรก และวันใดก็ตามที่มีสถานะกำไรก็จะสามารถถอนเงินออกไปใช้ได้ตามจำนวนกำไรที่เพิ่มขึ้นนั้น

การลงทุนใน SET50 Index Futures นั้นเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้นผู้ลงทุนใน SET50 Index Futures จึงควรที่จะศึกษาข้อมุลในการลงทุนให้ละเอียดก่อนการลงทุน เพราะการลงทุนในตราสารอนุพันธ์นั้นเป็นการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนน้อย ผลตอบแทนสูง แต่หากเกิดการสูญเสียขึ้น จะเกิดผลขาดทุนจำนวนมหาศาลเช่นเดียวกัน

ผู้ลงทุนใน SET50 Index Futures จึงควรใช้เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือในการประกันความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์มากกว่าการลงทุนเพื่อเก็งกำไร เพราะการลงทุนใน SET50 Index Futures แต่อย่างเดียวนั้น ผู้ลงทุนจะไม่สามารถทำการป้องกันความเสี่ยงใด ๆ ได้เลย เพราะ SET50 Index Futures เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันความเสี่ยงโดยเฉพาะ

ดังนั้นถ้าผู้ลงทุนโดยทั่วไปที่ลงทุนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และไม่มีเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงใด ๆ หากหลักทรัพย์ที่ลงทุนอยู่นั้นเกิดมีราคาลดลง หรือสภาวะของตลาดหลักทรัพย์เกิดมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น จนทำให้ราคาหลักทรัพย์ที่ลงทุนอยู่นั้นลดลง ผู้ลงทุนก็จะขาดทุนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

แต่ถ้าผู้ลงทุนสามารถลงทุนใน SET50 Index Futures เพื่อการป้องกันความเสี่ยงได้เพิ่มเติมจากการลงทุนที่มีอยู่เดิม คือ ถ้าผู้ลงทุนเกิดความไม่แน่ใจในการลงทุนว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ จะเป็นอย่างไรในอีก 3 เดือนข้างหน้า และผู้ลงทุนได้ทำการลงทุนอยู่ในหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ที่ใช้ในการคำนวณค่าดัชนี SET50 แต่กลัวว่าหากหลักทรัพย์ที่ลงทุนอยู่นั้นจะมีราคาลดลง จะเกิดผลขาดทุนจากการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนจึงอาจทำการป้องกันความเสี่ยงได้โดยการ ขาย SET50 Index Futures

เมื่อสถานการณ์ในตลาดหลักทรัพย์เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ คือหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์มีราคาลดลง ผู้ลงทุนจะเกิดผลขาดทุนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ แต่จะได้รับกำไรจากการลงทุนใน SET50 Index Futures เป็นการทดแทน

ดังนั้นกลยุทธ์ในการลงทุนใน SET50 Index Futures คือ หากผู้ลงทุนคาดว่าสถานการณ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะทำให้ราคาหลักทรัพย์ลดลง ค่าดัชนี SET50 มีค่าลดลง ผู้ลงทุนจะทำการขาย SET50 Index Futures และในทางกับกัน หากผู้ลงทุนคาดการณ์ว่าตลาดหลักทรัพย์จะเดินหน้าต่อไปอย่างดี ราคาหลักทรัพย์จะสูงกว่านี้ ดัชนี SET50 จะสูงกว่าที่เป็นอยู่ ผู้ลงทุนจะทำการ ซื้อ SET50 Index Futures

ขั้นตอนของการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ขั้นตอนของการซื้อหรือขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะต้องเริ่มต้นที่ ผู้ลงทุนต้องทำการเปิดบัญชีกับ Broker โดยมีการวางเงินประกันขั้นต้น (Initial Margin) ตามจำนวนที่ Broker กำหนด ดังนั้นปริมาณการซื้อขายของผู้ลงทุนแต่ละคนนั้นจะมีจำนวนมากหรือจำนวนน้อยนั้นขึ้นอยู่กับหลักประกันที่ได้วางไว้ โดยการซื้อและขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกครั้งจะต้องมีการสั่งคำสั่งในการซื้อขายผ่าน Broker ของตลาดอนุพันธ์ ที่ได้รับการจดทะเบียนจาก บมจ. ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) หรือ TFEX (Thailand Futures Exchange PLC)

ในคำสั่งการซื้อและขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นจะต้องระบุสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้ เช่น ระบุ “จะซื้อ” หรือ “จะขาย” เพื่อเป็นการแสดงถึงความต้องการของผู้สั่งว่าจะต้องการซื้อในอนาคต หรือ ขายในอนาคต นอกจากนี้สิ่งอื่น ๆ ที่จะต้องระบุในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า จะต้องมีการระบุว่า เป็นสัญญา SET50 Index Futures ของเดือนใด มีราคาที่กำหนดในการซื้อหรือขายเท่าใด มีจำนวนที่จะซื้อหรือจะขายกี่สัญญา และจะต้องระบุถึงประเภทของคำสั่งซื้อขาย เช่น FOK FAK ฯลฯ

ประเภทของคำสั่งซื้อขายในตลาดอนุพันธ์จะมีคำสั่งในการสั่งซื้อขายที่หลากหลายมากกว่าการสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ เพราะจะมีหลายคำสั่งเช่น Limit Order, Market Order, Fill of Kill (FOK), Fill and Kill (FAK) บางครั้งเรียกว่า Immediately of Cancel (IOC), Hidden Order (หรือ Published Volume), Good Till Date, Good Till Cancel, Combination Order, Stop Order และ Stop Limit Order

โดยคำสั่งดังกล่าวที่กล่าวมานั้น บางคำสั่งเป็นคำสั่งที่ผู้ลงทุนทั่วไปคุ้นเคยกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว แต่บางคำสั่งซึ่งมีเฉพาะการลงทุนในตลาดอนุพันธ์นั้น ผู้ลงทุนอาจยังไม่มีความคุ้นเคยในการใช้คำสั่งต่าง ๆ เหล่านี้มากเท่าที่ควร ผู้เขียนจึงขออนุญาตอธิบายถึงความหมายและการใช้อย่างละเอียดของแต่ละคำสั่งในโอกาสต่อ ๆ ไป

การสั่งซื้อหรือขายสัญญา SET50 Index Futures นั้นเมื่อผู้ลงทุนได้ทำการซื้อหรือขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวแล้ว สิ่งที่ผู้ลงทุนจะต้องกระทำคือ การวางเงินประกันขั้นต้น (Initial Margin) และทางบริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด (TCH หรือ Thailand Clearing House Co., Ltd) จะเป็นผู้ประกาศ “ราคาที่ใช้ชำระราคาประจำวัน” (Daily Settlement Price) ของแต่ละวัน เพื่อที่ Broker จะได้นำราคาดังกล่าวไปใช้ในการคำนวณราคา ว่าสถานะของผู้ลงทุนนั้นมีสถานะกำไรหรือขาดทุน ซึ่งเรียกว่าการทำ Mark-to-Market การทำการคำนวณกำไรขาดทุนนี้จะมีการทำกันทุกสิ้นวัน

หากการทำ Daily Marked to Market แล้ว ผู้ลงทุนมีสถานะกำไร ทาง Broker ก็จะทำการโอนเงินเข้าบัญชีให้แก่ผู้ลงทุน แต่ถ้าหากผู้ลงทุนมีสถานะขาดทุนทาง Broker ก็จะหักเงินออกจากบัญชี และเมื่อใดก็ตามที่บัญชีมีจำนวนเงินน้อยกว่าอัตราเงินประกันขั้นต่ำ (Maintenance Margin) ผู้ลงทุนจะถูก Broker เรียกเก็บเงินประกันเพิ่ม เช่น หากสมมติให้การซื้อขาย SET50 Index Futures มีการกำหนดหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) 35,000 บาท และมีการกำหนดหลักประกันขั้นต่ำ (Maintenance Margin) 25,000 บาท ทุกวันหลังจากตลาดปิดทำการจะมีการกำหนดราคาที่ใช้ชำระราคาประจำวัน เมื่อทำการคำนวณแล้วหากปรากฎว่าสถานะของผู้ลงทุนนั้นเกิดการขาดทุน เงินประกันที่วางไว้เริ่มแรกจะถูกหักออก แต่เมื่อเงินประกันขั้นต้นถูกหักออกไปทุกวัน จนมาถึงระดับที่ต่ำกว่าหลักประกันขั้นต่ำ ผู้ลงทุนจะถูกเรียกให้ทำการเพิ่มหลักประกันจนเท่ากับหลักประกันขั้นต้น

เช่น หากสถานะทางบัญชีของผู้ลงทุนลดลงเหลือต่ำกว่า 25,000 บาท ในวันใด เช่นวันอังคารที่ 9 พฤษภาคม 2549 ผู้ลงทุนมีสถานะทางบัญชี ณ สิ้นวันเท่ากับ 24,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าหลักประกันขั้นต่ำ ผู้ลงทุนจะต้องถูกเรียกวางหลักประกันเพิ่มจำนวน 11,000 บาท เพื่อให้สถานะทางบัญชีกลับมาเท่ากับหลักประกันขั้นต้นอีกครั้งหนึ่ง

การคำนวณราคาซื้อขาย และสถานะทางบัญชี นั้นผู้เขียนจะขออธิบายโดยใช้ตัวอย่างแบบง่าย ๆ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มีความเข้าใจในการลงทุนใน SET50 Index Futures นี้มากขึ้น สมมติให้ ปัจจุบันเป็นวันที่ 1 กันยายน 2549 ผู้ลงทุนต้องการซื้อ SET50 Index Futures ที่จะมีอายุครบกำหนดในเดือนธันวาคม 2549 จำนวน 1 สัญญา ที่ราคา 530.00 จุด

ถ้า Broker ได้กำหนดให้การลงทุนในครั้งนี้มีอัตราเงินประกันขั้นต้น (Initial Margin) 50,000 บาท และมีอัตราเงินประกันขั้นต่ำ (Maintenance Margin) 35,000 บาทต่อ 1 สัญญา โดยในวันที่ 1 กันยายน 49 ถ้าผู้ลงทุนต้องการที่จะลงทุนใน SET50 Index Futures ผู้ลงทุนจะต้องวางหลักประกันขั้นต้นจำนวน 50,000 บาทในวันที่เริ่มลงทุน

หากวันที่ 1 กันยายน 2549 ตลาดมีค่าดัชนี SET50 ตอนปิดตลาดเท่ากับ 532.00 จุด ผู้ลงทุนจะได้กำไร 2.00 จุด หาก 1 จุดของค่าดัชนี SET50 มีค่าเท่ากับ 1,000 บาท ผู้ลงทุนจะมีกำไรเท่ากับ (532 – 530) x 1,000 = 2,000 บาท ทำให้เงินในบัญชีมีจำนวน 50,000 + 2,000 = 52,000 บาท

หากวันที่ 2 กันยายน 49 ค่าดัชนี SET50 ปิดที่ 525.00 จุด จะทำให้การลงทุนใน SET50 Index Futures ขาดทุน 7.00 จุด หรือมีมูลค่าเป็นจำนวนเงินเท่ากับ (525 – 532) x 1,000 = - 7,000 บาท ทำให้เงินในบัญชีมีจำนวน 52,000 – 7,000 = 45,000 บาท

สถานะทางบัญชีของวันที่ 2 กันยายน 2549 นั้น ถึงแม้ว่าจะเกิดการขาดทุนขึ้น 7,000 บาท ทำให้มูลค่าของเงินในบัญชีคงเหลือเพียง 45,000 บาท แต่ผู้ลงทุนก็ยังไม่มีความจำเป็นที่จะนำเงินมาลงทุนเพิ่ม เพราะการกำหนดค่าเงินประกันขั้นต่ำนั้นได้กำหนดไว้ 35,000 บาท แต่สถานะของวันนี้ยังคงมีสูงกว่าเงินประกันขั้นต่ำ (Maintenance Margin)

หากวันที่ 3 กันยายน 2549 ค่าดัชนี SET50 ปิดที่ 514.00 จุด จะทำให้การลงทุนใน SET50 Index Futures มีสถานะขาดทุนเพิ่มอีก 11.00 จุด หรือขาดทุนเพิ่มอีกเป็นมูลค่าเท่ากับ (514 – 525) x 1,000 = - 11,000 บาท จะทำให้เงินในบัญชีมีมูลค่าเหลือ 45,000 – 11,000 = 34,000 บาท

สถานะทางบัญชีของวันที่ 3 กันยายน 2549 นั้นมีสถานะทางบัญชีเท่ากับ 34,000 บาท ซึ่งต่ำกว่ามูลค่าของเงินประกันขั้นต่ำที่กำหนดไว้ 35,000 บาท ดังนั้นผู้ลงทุนจะถูกเรียกเก็บเงินประกันเพิ่มอีกจำนวน 50,000 – 34,000 = 16,000 บาท เพื่อให้กลับมามีสถานะตามเดิม

การลงทุนใน SET50 Index Futures นั้นผู้ลงทุนจะต้องถูกตรวจสอบสถานะทุกวัน คือ หากวันใดที่ขาดทุน เงินในบัญชีประกันจะถูกหักออก และหากวันใดที่กำไรก็จะได้รับเงินเพิ่มในบัญชีเช่นเดียวกัน แต่หากผู้ลงทุนต้องการที่จะยุติสถานะของตนก่อนวันครบกำหนดตามระยะเวลา ผู้ลงทุนนั้นก็จะสามารถทำการปิดสถานะของตนเองได้ คือ ถ้าผู้ลงทุนมีสถานะซื้ออยู่ ผู้ลงทุนนั้นก็จะปิดสถานะของตนเองได้โดยการขาย SET50 Index Futures หรือถ้าผู้ลงทุนมีสถานะขายอยู่ ผู้ลงทุนนั้นก็จะปิดสถานะของตนเองได้โดยการซื้อ SET50 Index Futures ทั้งนี้ผู้ลงทุนที่จะปิดสถานะของตนเองตามกรณีนี้ได้นั้น สัญญา SET50 Index Futures จะต้องเป็นสัญญาของเดือนเดียวกัน จึงจะสามารถปิดสัญญาได้โดยไม่ต้องรอให้สัญญาครบกำหนด

ดังนั้นหากผู้ลงทุนจะลงทุนใน SET50 Index Futures เพื่อเป็นการลงทุนเพิ่มเติมหรือเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง ผู้ลงทุนจะต้องทำการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ก่อนการลงทุนให้มาก ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในด้านปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ฯลฯ ปัจจัยทางด้านการเมือง ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดอนุพันธ์ เช่น ภัยจากธรรมชาติ ฯลฯ

อ้างอิง

  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554 ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล
หมายเลขบันทึก: 477366เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2012 12:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท