จิตรลดา DJ-sun
นางสาว จิตรลดา จิตรลดา DJ-sun ซันนุ

ความคิดในก้อนเมฆ


ความคิดในก้อนเมฆ

             จากสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เผชิญในตลอด 1 เทอมที่ผ่านมา  เกี่ยวกับการสอนวิชาคณิตศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น คือ นักเรียนบางส่วนติดการลอกงานจากเพื่อนๆ มาส่งครู ไม่ว่าจะเป็นงานการบ้าน  หรืองานแบบฝึกหัดในห้องเรียน " ขอแค่ให้ฉันมีส่งครูเพื่อไม่โดนหักคะแนนเป็นพอ  แต่ฉันจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ  ฉันจะทำได้หรือทำไม่ได้ตัวฉันไม่สน"  เหล่านี้นี่คือความคิดของเด็กๆ

             แต่สำหรับคนที่เป็นครูแล้ว  การที่นักเรียนลอกงานมาส่งเพียงเพื่อหวังคะแนน  กับครูมอบงานให้ทำแต่ฉันทำไม่ได้เพราะยังไม่เข้าใจ แล้วเว้นไว้มาส่ง  หรือเข้าใจยังไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็เพียรพยามยามทำมาก่อน แล้วรอให้ครูเฉลยและอธิบายให้นั้นเป็นการดีกว่าลอกมาส่งเสียอีก  ทุกท่านที่เป็นครูด้วยกันคงเข้าใจเหตุผลดีใช่ไหมคะ? เพราะอะไร?  ก็เพราะครูจะได้วัดผลในความเข้าใจของนักเรียนได้  แต่ถ้านักเรียนส่งงานเราทั้งห้อง แถมข้อนี้ถูกหมด  ข้อนั้นผิดหมด เหมือนกันเปี๊ยบเลยทั้งห้องเรียน  ก็ทำให้ครูผู้สอนวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่ได้  มิหนำซ้ำกว่าจะรู้ว่านักเรียนในห้องนั้นมีคนบวก ลบ เลขไม่ได้ ถึง 5 คน ก็เกือบจะซ่อมไม่ทันเสียแล้ว  ข้าพเจ้าจึงคิดหาวิธีที่จะรู้ในความเข้าใจของนักเรียนโดยการให้เขาแสดงวิธีคิด ในก้อนเมฆที่ข้าพเจ้ากำหนดไว้ข้างๆ โจทย์ จากนั้นให้นำคำตอบที่ได้ในก้อนเมฆมาเขียนลงในช่องคำตอบที่อยู่ข้างนอก  ด้วยวิธีดังกล่าวจึงทำให้ข้าพเจ้าพบอะไรหลายๆ อย่างในตัวนักเรียน  ได้แก่  ในเรื่องของการบวกจำนวนเต็มบวกด้วยจำนวนเต็มบวก หรือการบวกจำนวนเต็มบวกด้วยจำนวนเต็มลบ  หรือการลบจำนวนเต็มบวกด้วยจำนวนเต็มลบ  หรือการลบจำนวนเต็มลบด้วยจำนวนเต็มลบ นั้น  มีหลักการในการหาคำตอบคือ 

* ถ้าเป็นจำนวนชนิดเดียวกัน  ให้นำตัวเลขมาบวกกัน แล้วใส่เครื่องหมายเหมือนเดิม

แต่ *ถ้าเป็นจำนวนที่ต่างชนิดกัน ให้นำตัวเลขมาลบกัน แล้วใส่เครื่องหมายเหมือนตัวเลขที่มากกว่า

ซึ่งหลักในการทำดังกล่าวนั้น  ทำให้ข้าพเจ้าพบว่า

1. ในขั้นตอนของการแสดงวิธีทำ นักเรียนมักจะลืมเขียนเครื่องหมายลบ และเครื่องหมายบวกไว้หน้าจำนวน เพื่อบ่งบอกว่าเป็นจำนวนเต็มลบ หรือเต็มบวก

2. นักเรียนไม่สามรถวิเคราะห์ได้ว่า โจทย์แบบใดที่เรียกว่าเป็นจำนวนชนิดเดียวกัน หรือเป็นจำนวนต่างชนิดกัน

3. นักเรียนโดยส่วนมาก ไม่มีความรอบคอบ เนื่องจากคิดหาคำตอบในก้อนเมฆถูก เช่นผลลัพธ์ต้องตอบเป็นจำนวนเต็มลบ  แต่เมื่อนำคำตอบในก้อนเมฆมาเขียนในช่องคำตอบ กลับลืมเขียนเครื่องหมายลบ จึงเป็นเหตุให้คำตอบผิดไปอย่างน่าเสียดาย  แต่เมื่อข้าพเจ้าให้นักเรียนแสดงวิธีคิดในก้อนเมฆ ข้าพเจ้าจึงไม่ให้คะแนนข้อนั้นของเขาเป็น "0" แม้ว่าคำตอบจะผิดแต่ข้าพเจ้าถือว่าขั้นแสดงวิธีทำถูกก็จะให้คะแนนในส่วนนั้นไปแทน

4. นักเรียนบางคนแสดงวิธีคิดผิด แต่ตอบถูก ซึ่งกรณีนี้ทำให้ข้าพเจ้าตัดสินว่าแอบมองเพื่อนที่อยู่ข้างๆ นั่นเอง

        ด้วยกับความคิดในก้อนเมฆของนักเรียน  ทำให้ข้าพเจ้าทราบว่ามีนักเรียนมากน้อยแค่ไหนที่ทำไม่ได้เลยจริงๆ  ข้าพเจ้าจึงเรียกเขามาสอนซ่อมเสริมให้ในตอนพักกลางวันหลังจากทานข้าวเรียบร้อยแล้ว  เมื่ออธิบายเสร็จข้าพเจ้าก็จะให้เขาทำแบบทดสอบฉบับพิเศษประมาณ 5 ข้อเพื่อวัดความเข้าใจอีกครั้ง  ซึ่งทำให้สามารถซ่อมเสริมข้อบกพร่องของเขาได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 477275เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2012 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รับสลามค่ะ ยินดีที่ได้รู้จักกันนะคะ ต้องขอขอบคุณเทคโนโลยีที่ทำให้เราได้พบมุสลิมด้วยกันอย่างไม่รู้จบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท