เทางามสัมพันธ์ : (เปิดเรื่อง) ปฐมบทการก่อเกิดเทางามสัมพันธ์


ภายหลังการแยกตัวสู่การเติบโตเป็น “มหาวิทยาลัย” แต่กลับเป็นที่ฉงนว่าสถานะทางการบริหารจบแล้ว แต่ “ความรัก ความผูกพัน” ของผู้คนในสาย “พัฒนานิสิต” กลับไม่เหือดหายและสูญสลายไปตามบริบทการบริหาร

เทา-งามสัมพันธ์”  เกิดจากความผูกพันทางใจของคณะผู้บริหารและบุคลากรจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ก่อเกิดจากต้นน้ำอันเป็นสายธารเดียวกัน คือ “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ”  (มศว)  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผูกพันของผู้คนในสายกิจการนิสิตนั้นมีความกลมเกลียว รักใคร่ เป็นปึกแผ่น แน่นแฟ้นและเป็นหนึ่งเดียว เสมือนสายน้ำที่ตัดไม่ขาด มีกิจกรรมสานสัมพันธ์กันสืบมาตั้งแต่กีฬา ๘ วิทยาเขตและศิลปวัฒนธรรม 8 วิทยาเขต 

 

กระทั่งในที่สุด เมื่อพลวัตเหลือเพียง ๕ สถาบัน  แต่ละแห่งได้เติบโตไปตามวิถีของตนเอง  แต่ยังคงไว้ซึ่งสายสัมพันธ์ที่เป็นเสมือนสายธารที่ไม่เคยหยุดไหล  จนในที่สุดก็ก่อเกิดเป็นงาน “เทา-งามสัมพันธ์”  โดยเริ่มจากกีฬาและศิลปวัฒนธรรมของการพัฒนานิสิต  พัฒนาสู่การลงนามความร่วมมือครอบคลุมด้านอื่นๆ อาทิ วิชาการ วิจัย บริการวิชาการ  แต่สุดท้ายใน “วิถีแห่งเทา-งามสัมพันธ์”  ก็ได้หวนกลับมาคงอยู่แต่เฉพาะความเป็นหนึ่งเดียวของฝ่ายพัฒนานิสิต  ด้วยการขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างไม่หยุดยั้ง  ราวกับสายธารความผูกพันของผู้คนไม่เคยเหือดหายและหลุดไหล  กระทั่งหยัดยืนมาสู่กิจกรรมบูรณาการที่เน้นการเรียนรู้ชุมชนควบคู่ไปกับการบริการสังคมเฉกเช่นปัจจุบัน...

 

 

ปฐมบทสายธารความผูกพันในนาม “เทา-งาม สัมพันธ์”

 

ภายหลังมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  (มศว)  ได้รับการยกฐานะจากวิทยาลัยวิชาการศึกษาในปี ๒๕๑๗ โดยประกอบด้วยวิทยาเขตทั้งสิ้น ๘ วิทยาเขต คือ ประสานมิตร ปทุมวัน บางเขน พลศึกษา บางแสน พิษณุโลก มหาสารคามและสงขลา ซึ่งในอดีตมีกิจกรรมเชื่อมร้อยสายสัมพันธ์ในเครือพัฒนานิสิตอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมออยู่บ่อยๆ อาทิ  การปิดภาคเรียนปลายของแต่ละปี  จะมีการสัมมนาผู้นำนิสิตร่วมกัน  มีค่ายของผู้นำร่วมกัน  หรือแม้แต่กิจกรรมหลักๆ ที่ถือเป็น “ประเพณี” ที่ทุกภาคฝ่ายขยับเข้ามามีส่วนร่วมอย่างคึกคักก็คือการแข่งขันกีฬา ๘ วิทยาเขต และงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย ๘ วิทยาเขต

เมื่อครั้งที่ผมยังเป็นนิสิต “มศว มหาสารคาม” นั้น  ผมมีโอกาสสัมผัสกิจกรรมเหล่านี้บ่อยครั้ง เป็นต้นว่า  การสัมมนาผู้นำนิสิต ซึ่งยุคสมัยหนึ่งเคยมีการจัดทำวารสารร่วมกัน เคยร่วมกันยกฐานะความเป็นสโมสรนิสิตคณะ  เคยร่วมสะท้อนแนวคิดของการไม่เห็นด้วยกับการยุบเลิกวิทยาเขตบางวิทยาเขต 

 

 

ส่วนกีฬา ๘ วิทยาเขตนั้น   ผมประจักษ์ชัดแจ้งว่าเป็นมหกรรมแห่งสัมพันธภาพอย่างแท้จริง  ถึงแม้จะมีการแข่งขันเพื่อคัดตัวนักกีฬาจากวิทยาเขตต่างๆ  เพื่อเป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยก็ตาม  แต่ก็ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่เกิน “มิตรภาพและสายสัมพันธ์” ของผู้คน  เพราะหลายชนิดกีฬาก็นำนิสิตแต่ละสถาบันคละเข้าเป็นทีมเดียวกันอยู่ดี  มิหนำซ้ำในเวทีเหล่านั้น  ในบางปีก็มีการสัมมนาผู้นำนิสิตและแสดงศิลปวัฒนธรรมแทรกแซมอยู่อย่างสนิทแน่นและเป็น “หนึ่งเดียว”

ขณะที่งานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย ๘ วิทยาเขต ได้กลายเป็นเสมือน “สายธารประวัติศาสตร์”  ที่บ่งบอกศักยภาพของความเป็นชาว “เทา-แดง”  อย่างยิ่งใหญ่  เพราะแต่ละปีแต่ละสถาบันจะนำพาการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมของภูมิภาคต่างๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างมหัศจรรย์  จนกลายเป็นต้นกำเนิดของโครงการบางโครงการในระดับประเทศ

 

 

แต่ก็เป็นที่น่าเสียดาย  ในวิถีของความเปลี่ยนแปลงอันเป็นสัจธรรมนั้น  งานกีฬา ๘ วิทยาเขตที่เริ่มในปี (๒๕๑๔) ได้ปรับเปลี่ยนเป็นกีฬา ๕ วิทยาเขต และเหลือเพียง ๓ วิทยาเขตตามลำดับ กระทั่งหลังการแข่งขันในปี ๒๕๓๗ กีฬาดังกล่าวก็ยุติลง  เฉกเช่นกับการเดินทางของงานศิลปวัฒนธรรม ๘ วิทยาเขตที่ก่อเกิดในปี ๒๕๒๐ ก็ได้ยุติบทบาทลงในปี ๒๕๓๒ ด้วยเช่นกัน

กระนั้นก็เป็นที่น่าสังเกตว่า  ภายหลังการแยกตัวสู่การเติบโตเป็น “มหาวิทยาลัย” แต่กลับเป็นที่ฉงนว่าสถานะทางการบริหารจบแล้ว แต่ “ความรัก ความผูกพัน” ของผู้คนในสาย “พัฒนานิสิต” กลับไม่เหือดหายและสูญสลายไปตามบริบทการบริหาร 

ถึงแม้กิจกรรมอันเป็น “ขนบ” หรือ “ประเพณี” จากกีฬา ศิลปะและวัฒนธรรม หรือแม้แต่การสัมมนาผู้นำนิสิตจะยุบตัวไปก็จริง  แต่มิติแห่งความผูกพันที่เป็นเสมือน “สายธาร” กลับยังคงไหลเรื่อยอย่างไม่รู้จบ  และดูเหมือนจะไหลหลากแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  จนเป็นแรงผลักให้บุคลากรด้านการพัฒนานิสิตหันกลับมาถามทักถึงความผูกพันนั้นร่วมกันอีกครั้ง

 

 

ปี ๒๕๓๘  บุคลากรฝ่ายกิจการนิสิตของ “มศว” ผู้เป็นต้นน้ำแห่งสายสัมพันธ์  โดย ดร.สมสุข ธีระพิจิตร (รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต)  ได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องออกแบบกิจกรรมแห่งความสัมพันธ์กันอีกครั้ง ด้วยการนำไปเรียนปรึกษากับอธิการบดี (ศาสตราจารย์ ดร.พจน์ สะเพียรชัย)  จนได้รับไฟเขียวสู่แนวคิดเรื่อง “กีฬาเพื่อนเก่า”  ถัดจากนั้นคณะทำงานที่นำโดย อ.อมรพงศ์ สุธรรมรักษ์ (ผู้ช่วยอธิการบดี มศว) พร้อมทีมงานก็เดินสายสู่มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อชวนเชิญให้กลับมาร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมอันเป็น “สายธารความผูกพัน” ร่วมกัน และในช่วงที่เดินสายหารือกันนั้นก็ก่อเกิดวาทกรรมแห่งกิจกรรมนี้หลายชื่อ เช่น “เพื่อนเก่า,GREY GAME,เพื่อนเก่าเทา-งามสัมพันธ์”

จนในที่สุดก็มาลงตัวที่วาทกรรมที่ว่า “เทา-งามสัมพันธ์”  ซึ่งยังคงคำว่า “เทา” อันเป็นสีแห่งรกรากและสายเลือดเดียวกันไว้อย่างหนักแน่น  ส่วนคำว่า “งาม” นั้น  ก็สื่อความหมายของความเจริญงอกงามของแต่ละสถาบัน หรือแม้แต่ความเจริญงอกงามของความรัก ความผูกพันและสายสัมพันธ์อันเป็นหนึ่งเดียวของผู้คน 

 

 

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้  เทา-งามสัมพันธ์ ครั้งที่ ๑ จึงก่อเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘-๓๑ ตุลาคม ๒๕๓๘ ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้ (วิทยาเขตสงขลา)  ประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆ คือ การแข่งขันกีฬาและการแสดงศิลปะและวัฒนธรรม  อาทิ ฟุตบอล  วอลเลย์บอล  เปตอง บริดจ์  ขณะที่ด้านศิลปวัฒนธรรมนั้น  ก็มีกิจกรรมหลากหลายชนิด  เช่น  ระบำเบญจสามัคคี  การแต่งตัวประจำภาค  การแสดงหนังตะลุง เป็นต้น

 

หมายเหตุ :

เรื่องเล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่เขียนขึ้น
เนื่องในวาระ ๑๕ ปีเทา-งามสัมพันธ์

 

หมายเลขบันทึก: 477149เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2012 08:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท