สรุปการสานเสวนา “การทำและใช้ EM Ball ที่จะได้ผลดีอย่างแท้จริงและข้อพึงระวัง”


วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔  ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ

 

                นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม นำการเสวนาเรื่อง “การทำและใช้ EM Ball ที่จะได้ผลดีอย่างแท้จริงและข้อพึงระวัง” มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลที่เกิดประโยชน์  และสร้างให้เกิดกัลยาณมิตรในการพูดคุยไม่ให้เกิดความขัดแย้งจากการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์  เกิดการสังเคราะห์ข้อมูลและองค์ความรู้ให้แก่สังคมไทยร่วมกัน  มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นักวิชาการ, ผู้ผลิต, ผู้ใช้, ปราชญ์ชาวบ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องสำคัญในการเสวนาดังนี้

 

                แนวคิดและการก่อเกิด EM Ball

มูลนิธิเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (คิวเซ) ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ EM Ball และการนำไปใช้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นมานานแล้วจากแนวคิดของ ดร.เทรูโอะ ฮิหงะ แห่งมหาวิทยาลัยริวกิว  โดย EM ย่อมาจาก Effective Microorganism มีทั้งแบบก้อน (EM Ball) และแบบน้ำ (EM Liquid)  แนวคิดนี้เริ่มเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยภายหลังจากการที่มีการใช้สารเคมีในการเกษตรเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหากับดินและน้ำและส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร  จึงได้หาแนวทางในการจัดการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักการทำงานของจุลินทรีย์ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ชนิด คือ  ชนิดก่อโรค  ชนิดมีประโยชน์  และชนิดไม่เกิดประโยชน์และโทษ (กลาง)  หลักการสำคัญของ EM คือไม่ใช่การบำบัดน้ำเสียโดยตรง แต่ใช้หลักการนำจุลินทรีย์ชนิดมีประโยชน์ไปแย่งอาหารจากจุลินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่เป็นสาเหตุของน้ำเน่าเสีย โดยได้มีการส่งเสริมให้ใช้ในเกษตรกรรมและประมงมาแล้วกว่า ๑๕ ปี  มีองค์กรสนับสนุนให้นำไปใช้อย่างแพร่หลาย  เริ่มจากใช้น้ำจุลินทรีย์เพื่อปรับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ที่มีน้ำเน่าเสียเป็นเวลานาน  และได้พัฒนาจากชนิดน้ำให้เป็นแบบก้อนลูกบอลล์  เนื่องจากเมื่อใช้แบบน้ำได้ระยะหนึ่งพบว่า ไม่สามารถปรับสภาพน้ำเสียที่ลึกลงไปบริเวณก้นน้ำได้ จึงได้แปรสภาพการผลิตให้เป็นแบบก้อน  ซึ่งภายหลังจากการนำไปใช้พบว่ามีการเพิ่มอ๊อกซิเจน (O2) และลดก๊าซมีเทนในน้ำได้เป็นอย่างดี

 

เรียนรู้ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การปฏิบัติ

ภายหลังจากที่มีการแพร่หลายของกลุ่มเกษตรกรรมธรรมชาติ และปัญหามลภาวะจากการใช้สารเคมีจำนวนมาก ทำให้มีกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านที่สนใจในการใช้วิถีธรรมชาติเพื่อดำรงชีวิตมากขึ้น  ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชลบุรี ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่เริ่มสนใจการใช้วิถีธรรมชาติ เนื่องจากมีการใช้สารเคมีในพื้นที่อย่างแพร่หลาย ทำให้มีสารพิษตกค้างและส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน เกิดความเสียหายอย่างมาก  จึงได้เรียนรู้วิธีการผลิตจากกสิกรรมธรรมชาติและนำมาใช้ในพื้นที่ชุมชนเกาะจันทร์ และชาวบ้านผลิต EM Ball กันเอง ใช้การพึ่งพาธรรมชาติให้มากที่สุด โดยใช้ข้าวเหนียวเป็นหัวเชื้อสร้างจุลินทรีย์จากดินในป่าไผ่ และสังเกตลักษณะภายนอกของเชื้อจุลินทรีย์ว่าสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ หากมีสีขาวก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้  นอกจากนี้มีการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้ที่มีอยู่ในชุมชน เช่น มะนาว มะม่วง มะกรูด เพื่อใช้รักษาโรคผิวหนัง น้ำกัดเท้า เป็นต้น  จากการผลิตและใช้ในพื้นที่มาระยะหนึ่ง พบว่าพื้นที่ที่ใช้ EM Ball น้ำจะมีลักษณะใสสะอาด และผลผลิตทางการเกษตรจะดีกว่าพื้นที่ที่ไม่ใช้  เป็นผลจากการใช้ธรรมชาติดูแลซึ่งกันและกัน  ทำให้สามารถควบคุมผลผลิต น้ำ และสภาพอากาศได้

ขณะเดียวกัน ชาวชุมชนหลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร ก็ประสบปัญหาน้ำเสียใกล้แหล่งชุมชนที่ระบายออกมาทุกวัน ทำให้ต้องหาวิธีการปรับปรุงคุณภาพน้ำ  จึงได้เรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาธรรมชาติ และเรียนรู้การทำ “ดังโงะ” เป็นชื่อเรียก EM Ball ในภาษาญี่ปุ่น โดยใช้เปลือกของสัปปะรดเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้อย่างดี  หรืออาจใช้เปลือกผลไม้ที่มีสารเคมีน้อยที่สุดนำมาหมักกับน้ำเชื้อจุลินทรีย์ ต้องมีการล้างทำความสะอาด และไม่ควรนำผักมาใช้เพราะมีสารเคมีอยู่มากและไม่เหมาะสม  ในการผลิต EM Ball มีกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างออกไปบ้าง แต่ก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน  คือ ใช้ดินเหนียว รำหยาบ แป้งข้าวเหนียวที่มีเชื้อจุลินทรีย์อยู่ มาคลุกเคล้าและเก็บอยู่ในอุณหภูมิห้อง  กระบวนการผลิตต้องมีระยะเวลาในการเพาะเชื้อที่พอเหมาะ ห้ามตากแดด ประมาณ ๑๕ วันถึง ๑ เดือน  นำไปใช้ปรับสภาพน้ำเสียให้ดีขึ้นได้  สิ่งที่ต้องระวังคือเพลี้ยแป้งและเพลี้ยกระโดด ที่อาจส่งผลต่อการทำให้เกิดการเน่าเสีย หลังจากที่ผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์แล้ว ก็สามารถนำไปใช้ทำน้ำยาซักผ้าน้ำยาสระผมได้อีกด้วย  ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านผลิตใช้กันในครัวเรือนเท่านั้น  แต่ก็มีชุมชนบ้านไร่ จ.อุบลราชธานี นำสูตรนี้ไปใช้ในพื้นที่ได้ผลดีเช่นกัน  ประเด็นสำคัญของการทำให้คุณภาพ EM มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คือ ระยะเวลาการเพาะเชื้อที่พอเหมาะพอควร และใช้ให้เหมาะสมกับสภาพน้ำด้วย  มีตัวอย่างพื้นที่ที่นำไปใช้และได้ผลดี เช่น ชุมชนวัดกลางเคยมีขยะและน้ำเน่าเสียจำนวนมาก หลังจากได้มีการนำจุลินทรีย์มาใช้ก็ทำให้ปัญหาน้ำเน่าเสียลดลงได้ หรือบางพื้นที่ใช้ระบบน้ำหยดเพื่อบำบัดน้ำเสียได้ผลอย่างดีเช่นกัน

                อีกพื้นที่หนึ่งที่มีตัวอย่างการใช้ EM Ball ได้ผลดี คือ ชุมชนบางบัว กรุงเทพฯ เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ตลอดแนวคลองบางบัวซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมต่อมาจากคลองรังสิต ไหลผ่านไปคลองลาดพร้าว และเชื่อมต่อไปคลองแสนแสบต่อไป  ชุมชนบางบัวมีการเรียนรู้และผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อบรรเทาน้ำเน่าเสียในคลองมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่เห็นผลชัดเจนในพื้นที่ตนเอง เพราะลักษณะน้ำในคลองไหลอยู่ตลอดเวลา จึงต้องไปใช้ในบริเวณน้ำนิ่ง  เช่นเดียวกับชุมชนร่วมใจพัฒนาเหนือ (คลองบางบัวเหนือ) เขตสายไหม ได้ทดลองทำและใช้ด้วยตัวเองผ่านการเรียนรู้จากอาจารย์ผู้รู้ต่างๆ  โดยวิธีการผลิตใช้การหมักเปลือกผลไม้ เช่น ส้ม สัปปะรด เป็นต้น  อัตราส่วนเปลือกส้มต่อกากน้ำตาลต่อน้ำเป็น ๓:๑:๑๒  หมักในถังทึบแสงประมาณ ๔๕ วันถึง ๓ เดือน  และการนำไปใช้ให้เอาน้ำหมัก ๑ ลิตรผสมน้ำ ๒๐ ลิตรนำไปเทราดหรือรดในบริเวณที่มีน้ำเน่าเสีย พบว่ากลิ่นน้ำขยะเน่าเสียไม่มี  ซึ่งจากการใช้มาระยะหนึ่งมีข้อสังเกตว่า การใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ต้องใช้บริเวณน้ำนิ่งไม่ลึกมาก  แต่การใช้ EM Ball ใช้สำหรับน้ำนิ่งและลึกเท่านั้น  นอกจากนี้ยังมีผลการนำไปใช้กับสัตว์ เช่น สุกร  โดยนำน้ำผสมน้ำหมักให้สุกรดื่ม พบว่ากลิ่นมูลสุกรมีน้อยลงอีกด้วย

นอกจากการผลิตและใช้ภายในกลุ่มชาวบ้านหรือชุมชนต่างๆ แล้ว หน่วยงานอย่างการเคหะแห่งชาติได้นำแนวคิดนี้มาใช้กับโครงการบ้านเอื้ออาทร  เนื่องจากการทำระบบบำบัดน้ำเสียโดยทั่วไปต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงได้หาทางเลือกอื่นเพื่อบำบัดน้ำเสียในชุมชน  โดยได้ร่วมมือกับมูลนิธิเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (คิวเซ) นำ EM ทั้งแบบก้อนและแบบน้ำมาใช้  ซึ่งพบว่าค่า BOD ใกล้เคียงกับค่าที่เกณฑ์มาตรฐานรับรอง  นอกจากนี้ชุมชนได้มีการแปรรูป EM แบบน้ำ ผลิตเป็นน้ำยาต่างๆ ในครัวเรือนอีกด้วย   เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้งาน การเคหะแห่งชาติได้ให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นศึกษาวิจัยการใช้ EM  ซึ่งผลการวิจัยพบว่า หากใช้ในอัตราส่วนน้ำ EM ๑ ลิตรต่อน้ำเปล่า ๘๐๐ ลิตร สามารถลดกลิ่นน้ำเน่าเสียลงได้ และน้ำใสขึ้น แต่ค่า BOD ไม่เปลี่ยนแปลง  ซึ่งได้มีการนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ เช่น ลพบุรี อุทัยธานี สามารถช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสียลงได้เช่นกัน  หรือในชุมชนวัดตึก กรุงเทพมหานคร ซึ่งประสบปัญหาน้ำเน่าเสียจากขยะในบริเวณรอบๆ ชุมชน ได้ทดลองใช้ EM พบว่านอกจากจะลดกลิ่นน้ำเน่าเสียได้แล้ว ยังสามารถลดการเจริญเติบโตของยุงได้อีกด้วย

ความคิดเห็นของชาวบ้านต่อข้อถกเถียงเกี่ยวกับการนำ EM Ball ไปใช้ก็คือ ชาวบ้านอยากรู้ว่า “การนำไปใช้จริง” กับ “ผลการทดลองทางวิชาการ” ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ตรงกันหรือไม่ ?  เพราะจากที่ทดสอบและทดลองด้วยตัวเอง ก็ยังไม่เห็นว่าเกิดผลเสียอย่างไร  จึงอยากให้มีหน่วยงานทดสอบหรือทดลองว่า EM สามารถบำบัดน้ำเสียได้จริงหรือไม่ ?

 

มุมมองนักวิชาการ: จากทฤษฎีสู่ปฏิบัติจริง

                ในมุมของนักวิชาการได้เสนอข้อคิดเห็นหลากหลาย  เริ่มจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่กล่าวถึงว่า ต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องเท้ในระบบที่จะใช้จุลินทรีย์ในการแก้ปัญหา  ตัวอย่างเช่น ในอดีตพบปัญหาน้ำเสียจากโรงงานแป้งมัน จึงต้องการลดค่า COD, BOD และกระตุ้นการเกิดก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปใช้ประโยชน์  ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษาวิจัยจนสามารถควบคุมระบบบำบัดให้สร้างก๊าซชีวภาพได้   การที่จะใช้จุลินทรีย์ให้เป็นประโยชน์ในการบำบัดน้ำเสียจากภาวะน้ำท่วมขังในปัจุบันนั้น ต้องคำนึงถึงเป้าหมายที่ต้องการใช้ เช่น น้ำท่วมขังในที่จำกัด ในห้องน้ำ น้ำขังใต้ถุนบ้าน และต้องทราบ ชนิด ปริมาณ และสัดส่วน จุลินทรีย์ ที่จะนำไปใช้ให้ได้ผล  

ที่ผ่านมา การพยายามใช้จุลินทรีย์แก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย มีหลายหน่วยงานที่พัฒนาการผลิต EM Ball และจุลินทรีย์เดี่ยวบำบัดน้ำเสีย  เช่น องค์การเภสัชกรรม กรมพัฒนาที่ดิน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (DASTA) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นต้น  ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้มีการนำไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ ในวงกว้างในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา  ทางสำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์จึงได้จัดประชุมหน่วยงานของรัฐฯ ที่มีการผลิต EM และจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย เพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน และดูแลให้มีคำแนะนำการใช้ที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพตามความต้องการของหน่วยงานที่แนะนำการใช้

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานในการผลิต EM หรือ EM Ball  และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับข้อดีข้อเสียในการใช้ EM และจุลินทรีย์สำหรับบำบัดน้ำท่วมขังในพื้นที่กว้าง ยังไม่ชัดเจน

บางทัศนะได้ตั้งข้อสังเกตว่า EM Ball อาจมีจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ปนเปื้อนอยู่ได้  ในการผลิตต้องทำด้วยความระมัดระวัง และต้องป้องกันร่างกายจากการสัมผัส  นอกจากนี้ การนำจุลินทรีย์จาก EM หรือ EM ball ใส่ลงในน้ำ อาจทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพตามธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงได้ และอาจส่งผลเสียในระยะยาว

 

สรุปส่งท้าย

ขณะนี้ มีหลายหน่วยงานพยายามเข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูผลจากภัยพิบัติน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ  ซึ่งสิ่งที่ต้องทำในลำดับแรกๆ คือการบรรเทาน้ำเน่าเสีย  เพื่อให้พื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติ   ซึ่งยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการใช้ EM Ball ว่าสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ ?  และยังขาดการประสานงานเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานรัฐ นักวิชาการ และภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างชัดเจน   จึงมีข้อเสนอให้กระทรวงวิทยาศาสตร์เป็นหน่วยงานเชื่อมประสานในด้านข้อมูล ทั้งที่ได้จากภูมิปัญญาชาวบ้านและหน่วยงานที่มีการผลิตและใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย และที่ได้จากนักวิชาการ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่แท้จริง

ถึงแม้ขณะนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปของการนำ EM Ball ไปใช้ ว่าเกิดประโยชน์ได้จริงหรือไม่ ?  แต่ประเด็นนี้ได้นำไปสู่แนวทางแรกเริ่ม ในการจัดการกับข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่จำนวนมากแต่ยังขาดการจัดการอย่างเหมาะสม และการเชื่อมโยงข้อมูลความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้อย่างผิดๆ  เพราะผลเสียที่ได้รับ อาจหมายถึงความเชื่อมั่นของคนในสังคมลดลง และอาจแผ่ขยายนำไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมาก็เป็นได้

ปัญหาความไม่สมดุลในการใช้ทรัพยากรทั้งหลาย นำไปสู่ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย และส่งผลเสียต่อการดำรงชีวิตของคนจำนวนมาก   ปัญหาการจัดการผังเมืองที่มีการรุกล้ำพื้นที่น้ำท่วมผ่าน (Flood Way) นำไปสู่หายนะของประเทศครั้งใหญ่  ผลที่ตามมาก็คือ การเกิดน้ำเน่าเสียเป็นวงกว้าง   ดังนั้น ประชาชนส่วนหนึ่งใช้ EM Ball เป็นทางเลือกในการพัฒนาคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น  แต่จะได้ประโยชน์จริงหรือไม่นั้น ต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการเก็บข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์  และเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ

  

วรนาฏ  เวนุอาธร     เรียบเรียง/สังเคราะห์

ดร.กัญญวิมว์  กีรติกร     ตรวจทาน/แก้ไข

หมายเลขบันทึก: 476393เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2012 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณค่ะ จากประสบการณ์ที่อยากแบ่งปันด้วย คือ การใช้น้ำ EM ให้ผลดีในการบำบัดจุลินทรีย์ในโถส้วมที่บ้านซึ่งเลิกใช้น้ำยาเคมีมานานแล้ว และแหล่งน้ำขังในคูหลังบ้านของเพื่อนค่ะ..

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท