ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาท ( 2 )


การรับผิดทางแพ่งของเจ้าหน้าที่ฐานกระทำละเมิด

                ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๒๐ บัญญัติว่า“ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

          แต่สำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ตามบทบาทภารกิจของงานในหน้าที่นั้น หากเกิดความเสียหายแก่ประชาชน หรือราชการ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย คือ พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙   ทั้งนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่นั้นต้องไม่ได้เกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ของเจ้าหน้าที่  การที่มีกฎหมายในลักษณะให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ ดังกล่าวนั้น เนื่องจากในการปฏิบัติหน้าที่ราชการบางกรณีอาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดหรือเป็นเหตุสุดวิสัย แล้วส่งผลให้ประชาชนผู้เกี่ยวข้องได้รับความเสียหายได้ เช่นผู้มีหน้าที่ขับรถยนต์ราชการมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรือแพทย์พยาบาลผู้ให้การตรวจรักษาดูแลผู้ป่วยมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อร่างกายผู้ป่วย เป็นต้น  พรบ.ความรับผิดทางละเมิดฯ จึงบัญญัติคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สำหรับผลจากการกระทำละเมิดไว้ดังนี้

          มาตรา ๕ วรรคหนึ่ง “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้”

          แต่หากเจ้าหน้าที่กระทำการนอกเหนือหรือไม่ได้ปฏิบัติงานในหน้าที่ปกติของตน เช่นมีหน้าที่เป็นพนักงานบันทึกข้อมูลแต่ไปทำหน้าที่ช่วยจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วย โดยไม่ได้รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจให้กระทำได้ หากเกิดอันตรายเสียหายแก่ผู้ป่วย ย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว ตามมาตรา ๖ บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการนั้นเป็นการเฉพาะตัว ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง แต่จะฟ้องหน่วยงานรัฐไม่ได้”

          เห็นได้ว่าหากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อื่นนอกเหนือหน้าที่ของตนตามที่กฎ ระเบียบกำหนดไว้แล้ว รัฐไม่คุ้มครอง แต่ถ้าได้ปฏิบัติงานในหน้าที่โดยชอบแล้ว เมื่อเกิดความผิดพลาดทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายหรือทำให้รัฐเองเสียหายก็ตาม หน่วยงานของรัฐจะต้องเป็นฝ่ายเข้ารับผิดชดใช้ค่าเสียหายแทนเจ้าหน้าที่  แต่ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นเนื่องมาจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่หรือไม่ หากเป็นดังนั้น รัฐมีสิทธิกลับมาไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายที่รัฐจ่ายไป คืนจากเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิด ตามความที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงายของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง”

             พิจารณาจากกรณีตัวอย่างในฉบับที่แล้ว “นางสาวนุ้ย ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ 7 โรงพยาบาลชุมชน ได้ปฏิบัติงานเวรเช้า เวลาประมาณ 11.30 น. เพื่อนร่วมงานได้บอกว่ายา Ampicilin สำหรับฉีดให้ผู้ป่วยเวลาเที่ยงไม่พอหนึ่งคน นางสาวนุ้ย จึงได้ไปขอยืมยา Ampicilin จากตึกผู้ป่วยข้างเคียง โดยหยิบขวดยาผิด เป็นยา Chloramphenical  ซึ่งลักษณะสีของขวดยา Chloramphenical จะเหมือนกับขวดยา Ampicilin  นางสาวนุ้ย นำไปฉีดให้ผู้ป่วยแล้ว ผู้ป่วยมีอาการขมคอมากและปวดมาก บริเวณที่ฉีดมีอาการแดง มีผื่นขึ้นบริเวณที่ฉีด แต่คนไข้ไม่ได้รับอันตรายรุนแรงและไม่ติดใจเอาความหรือเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ

               หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนกลายเป็นว่า ผู้ป่วยผู้ได้รับความเสียหายเกิดเรียกร้องค่าเสียหายและค่าสินไหม เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนอนรักษาที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้น และต้องเสียเวลารักษาตัวเพิ่มขึ้นทำให้ขาดรายได้เนื่องจากไม่สามารถกลับไปทำงานได้ตามกำหนด ค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนเหล่านี้ตาม พรบ.ความรับผิดทางละเมิดฯ ผู้เสียหายเรียกร้องให้รัฐ คือกระทรวงสาธารณสุขชดใช้ได้ โดยไม่มีสิทธิฟ้องร้องแก่นางสาวนุ้ย  ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขมีสิทธิไล่เบี้ยค่าเสียหายที่จ่ายให้ผู้เสียหายไป คืนจากนางสาวนุ้ย เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดหากผลการสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า การกระทำของนางสาวนุ้ยเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  ซึ่งในกรณีนี้หากพิจารณาจากการปฏิบัติหน้าที่ของนางสาวนุ้ยที่ไม่ตรวจสอบดูชื่อยาให้ละเอียดรอบคอบเพียงพอ โดยเพียงแต่ตรวจดูลักษณะสีของขวดยาเท่านั้น ซึ่งในการเตรียมยาฉีดให้ผู้ป่วยตามหลักวิชาการ นางสาวนุ้ยควรตรวจสอบดูชื่อยาในฉลากยาก่อนนำไปให้ผู้ป่วย ถือเป็นการไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอแก่การที่ตนเป็นพยาบาลวิชาชีพผู้มีความชำนาญในการปฏิบัติงานพยาบาล ในทางวินัยวินิจฉัยแล้วว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาท  แต่ในการรับผิดทางละเมิดต้องพิจารณาต่อไปว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงด้วยหรือไม่  ฉบับหน้าจะนำเสนอการพิจารณาว่าการกระทำของนางสาวนุ้ย ตามกรณีศึกษานั้นเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่

                   อย่างไรก็ตาม พรบ.ความรับผิดทางละเมิดฯ นั้น ให้ความคุ้มครองในเรื่องค่าเสียหายและค่าสินไหมที่เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่เท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ไม่มีเจตนากระทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐหรือประชาชน ไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้คุ้มครองในเรื่องการกระทำความผิดทางอาญาอันเนื่องจากการกระทำโดยประมาทของเจ้าหน้าที่ผู้นั้น ดังนั้นแม้ไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายและค่าสินไหมที่เกิดขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ยังต้องรับผิดทางอาญา และวินัย ในฐานกระทำโดยประมาท ตามที่กล่าวแล้วนั้น

 

เอกสารอ้างอิง

  1. ประมวลกฎหมายอาญา
  2. ประมวลกฎหมายแพ่ง
  3. คู่มือการดำเนินการทางวินัยและความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ กลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
  4. จุลสารวินัย ฉบับที่ 3 / 2549 กลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
หมายเลขบันทึก: 476373เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2012 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท