สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย


ผู้เขียนคงเป็นคนส่วนน้อยมากๆ ที่ไม่เป็นทั้งสองพวก พวก 1% นั้นไม่เอาด้วยอยู่แล้วแน่นอน แต่พวก ๙๙% ที่จงรักภักดีนั้น ก็เห็นว่า...สุดโต่งเกินไป

ช่วงเวลานี้ (พฤษภาคม พศ. ๒๕๕๑) ได้เกิดวิกฤตการณ์สถาบันกษัตริย์จากหลากหลายทิศทาง เช่น การแสดงออกในลักษณะต่างๆของนักการเมืองบางคน การปราศรัย  การไม่ลุกขึ้นยืนถวายบังคมพระบรมฉายาลักษณ์ในโรงภาพยนตร์ รวมถึงบทความในและนอกอินเทอร์เน็ตที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามกฎหมายอย่างโจ่งแจ้ง

 

ดูเหมือนว่าอุบัติการณ์เหล่านี้ไม่ใช่ความบังเอิญ หากแต่เป็นการวางแผนอย่างเป็นระบบ มียุทธศาสตร์เพื่อลวงพรางสร้างภาพให้เห็นว่ามีฐานเสียงมากหลายที่ระดมกันเข้ามาทุกทาง ทั้งที่คนพวกนี้ไม่น่ามีเกิน 1% พวก 99% ที่เหลือคือพวก “จงรักภักดี”

 

ผู้เขียนคงเป็นคนส่วนน้อยมากๆ ที่ไม่เป็นทั้งสองพวก พวก 1% นั้นไม่เอาด้วยอยู่แล้วแน่นอน  แต่พวก ๙๙% ที่จงรักภักดีนั้น หลายท่านก็เห็นว่าจงรักภักดีแบบสุดโต่งเกินไป กล่าวคือยกยอปอปั้นสถาบันกษัตริย์ไปเสียหมดทุกเรื่องซึ่งการจงรักภักดีแบบสุดโต่งนี้แหละจะเป็นผลร้ายต่อสถาบันกษัตริย์มากที่สุด เพราะหากวังกระทำอะไรที่ผิดพลาดออกมา (เนื่องจากอาจตัดสินพระทัยพลาดไป และหรือไม่ผ่านการคัดกรอง หรือ ทัดทาน จากเหล่าเสนาอำมาตย์ที่ใกล้ชิดพระองค์) ก็จะเป็นเป้าให้ฝ่ายตรงข้ามเขาเอาไปโจมตี ขยายผลสร้างความเกลียดชังสถาบันกษัตริย์ได้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ  จาก  1 กลายเป็น 2 4 8  16 32 64 ได้ในไม่นานวัน

 

แม่ทัพนายกอง เสนาอำมาตย์ทั้งหลายในอดีต ยังกล้าคัดค้านทัดทานโองการของพระมหากษัตริย์อยู่เนืองๆ แม้กลางสนามรบที่อาจทรงใช้กฎอาญาศึกสั่งตัดหัวได้ทันทีก็ตาม  เช่น ในสนามรบแห่งสมเด็จพระนเรศวร แต่ปัจจุบันนี้กลับไม่เห็นมีใครกล้าทัดทานอะไรเลย มีแต่สนองพระราชดำริ พระราชดำรัส พระราชเสาวนีย์ กันหมด

 

สังคมในอดีตนั้น ยามใดบ้านเมืองใดอ่อนแอลง (เพราะปกครองโดยกษัตริย์ที่อ่อนแอ) มักจะถูกบ้านเมืองข้างเคียงเข้าปล้นตีแย่งชิงเมือง กวาดต้อนผู้คนเข้าไปไว้ในขอบขัณฑสีมาแห่งตน แม้แต่เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทร์ยังเข้าตีไทย  ไม่เว้นแม้พระยาละแวกแห่งเขมร  

 

ดังนั้นกษัตริย์จึงต้องสร้างบ้านแปงเมืองให้แข็งแรง ต้องกะเกณฑ์ไพร่พลเข้ามาเป็นแรงงาน เพื่อสร้างความแข็งแรงให้เมือง เช่น ก่อกำแพงเมือง สร้างป้อมปราการ ขุดคูเมือง เอาไว้รับมือข้าศึก สร้างเรือรบ หล่อปืนใหญ่ปืนเล็ก ตีมีดหอกดาบ เลี้ยงช้างศึก ม้าศึก รวมทั้งฝึกปรือการรบการอาวุธไว้ให้พร้อมสรรพ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องการแรงงานจำนวนมหาศาล

 

พวกมีแนวคิดล้มล้างฯ คิดไปได้แต่เพียงตื้นๆ หาว่ากษัตริย์เกณฑ์เอาไพร่พลเข้าไปรับใช้เพื่อปรนเปรอความสุขให้ตนและเหล่าศักดินาอำมาตย์ทั้งหลาย บนความทุกข์ยากของไพร่ฟ้าประชาราษฏ์

 

อคติอันหยาบหนาของ “ปัญญาชน” พวกนี้ ทำให้มองไม่ออกว่าแท้จริงแล้วที่เกณฑ์ไปก็เพื่อเตรียมศึกป้องกันประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็หมายถึงเพื่อป้องกันสวัสดิภาพแห่งไพร่ฟ้าประชาราษฎ์นั่นเอง เพราะถ้าแพ้เขาก็ถูกฆ่าหมดทั้งไพร่ทั้งฟ้า  และจะถูกกวาดต้อนกันหมดสิ้นทั้งแผ่นดิน

 

หลักฐานสำคัญที่บอกเราว่ากษัตริย์ไทยไม่ได้เกณฑ์แรงงานไพร่ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนเห็นได้จากพระราชวังนั้นมีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับมาตรฐานโลก ตั้งแต่อยุธยามาจนรัตนโกสินทร์  เช่นวังของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็มีลักษณะเป็นเพียงบ้านไม้หลังเล็กๆเท่านั้นเอง (คือวังจันทรเกษม ที่ยังอยู่จนทุกวันนี้) ซึ่งหากพระประสงค์จะให้ใหญ่โตสักเพียงใดก็ย่อมได้ เพราะมีไพร่พลมาก และทรงมีราชอำนาจสูงที่สุดในยุคนั้น

 

ต่างจากพวกฝรั่งที่วังใหญ่กว่าวัดมาก เช่น แวร์ซาย บัคกิงแฮม แม้แต่ปราสาทเจ้านายชั้นล่างๆ พวก ดยุค เอิร์ล ต่างใหญ่โตมาก แม้วังจีน ญี่ปุ่น ญวณ ก็ใหญ่โตมโหฬาร เช่นกัน

 

แนวคิดด่าวิจารณ์เจ้านาย ศักดินา นี้ ดูเหมือนจะเริ่มมาจาก จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้ซึ่งผมเองก็นิยมท่านผู้นี้อยู่มากในเรื่องความเป็นนักวิชาการของท่าน  ....แต่ประเด็นศักดินานี้ผมค้าน “จิตร” เต็มที่

 

ผมว่า..ท่านจิตรมีอคติกับศักดินามากเกินไป โดยอิทธิพลจากพวกคอมมิวนิสต์  อคตินี้มันใหญ่มากจนปิดบังตาเสียมืดบอด จนมองไม่เห็น “บริบทสังคม” ในอดีต ว่ามันวิวัฒนาการมาแบบนั้น มันต้องมีกษัตริย์ ต้องมีศักดินา ไม่งั้นสังคมล่ม ล้าหลัง ไม่เจริญ มันไม่มีทางเลี่ยงเป็นอย่างอื่น

 

จิตรเป็นคนมีสมองดีและมีความมุ่งมั่นศึกษาประวัติศาสตร์มากยิ่ง เสียดายแต่ว่า..อคติมาบังจนทำให้ท่านมุ่งแต่จับผิดเจ้าและศักดินาเสียเป็นส่วนใหญ่

 

ท่านจิตรเอาคำกลอนเล็กๆ เช่น “ค่ำเช้าเฝ้าสีสอ เข้าแต่หอล่อกามา” มาขยายผลเสียจนคนเกลียดศักดินากันทั่วเมือง และยกให้จิตรเป็น “ศักดินา” ทางความคิดฝ่ายซ้าย โดยไม่มีใคร “กล้า” วิจารณ์

 

ซึ่งประเด็นเข้าหอล่อกามานั้น ถ้าจะวิเคราะห์อย่างเข้าข้างเจ้า ก็ไม่ยากเลย เช่น วิเคราะห์ว่า พวกอำมาตย์ทั้งหลาย ใครเลยจะไม่อยากเป็นพ่อตาพระเจ้าอยู่หัว มีลูกสาวสวยพอดูได้ก็เอาเข้ามาถวายให้เป็นเจ้าจอมหม่อมห้าม (โดยเฉพาะอำมาตย์เหล่านี้ก็มีภรรยาและลูกหลายคนพอจะ spare ได้อยู่หรอก)  และเจ้าอยู่หัวคนใดเลยจะกล้าปฏิเสธบรรณาการนี้ ถ้าปฏิเสธก็หมายความว่าหยามน้ำหน้าอำมาตย์นั้นๆให้เสียเกียรติยศ เท่ากับเป็นการสร้างศัตรู และลดความจงรักภักดี จะเสียงานเมืองและงานสงครามในภายหน้า

 

...อีกทั้งใช่จะมีแต่ศึกนอก ศึกในแย่งราชบังลังภ์กันเองก็มี ถ้าอำมาตย์เหล่านี้น้อยใจ เอาใจออกไปเข้ากับอีกฝ่ายจะมิถูกแย่งชิงบังลังภ์ไปเสียดอกหรือ  ก็เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ก็จำเป็นต้อง”เข้าหอ” ให้บ่อย เพราะรับเธอเข้ามาแล้ว จะปล่อยให้เปลี่ยวเหงา ก็เท่ากับทำร้ายเธอ เพราะวัยสาวเช่นนั้นก็คงมีความต้องการทางเพศมากพอควร คิดไปแล้วก็ให้สงสารกษัตริย์โบราณ ถ้ามีสนมสัก 50  คน แค่ทำหน้าที่คืนละองค์โดยไม่ขาด สนมหนึ่งองค์ก็จะต้องรอไปตั้ง 7 วันกว่าจะทรงได้รับโปรดในรอบต่อไป แล้วพระองค์ก็ทรงชราแล้ว จะทรงมีพระวรกายกระทำทุกคืนหรือ ดูไปมันน่าเบื่อมากกว่าน่าภิรมย์เสียอีก น่าสงสารพระองค์เสียมากกว่าที่ต้อง “เข้าหอล่อกามา” เพื่อทำหน้าที่ประคองบ้านเมืองให้อยู่รอด

 

สำหรับไทยเราถือได้ว่าเป็นสถาบันกษัตริย์ดีมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานโลก น่าจ้ดได้เป็นอันดับที่ดีที่สุดของโลกด้วยซ้ำไป

 

ปัจจุบันนี้ แม้ว่าในเชิงทฤษฎีเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีสถาบันกษัตริย์ แต่ในเชิงปฏิบัติผมว่ายังจำเป็น เนื่องเพราะลักษณะนิสัยประจำชนเผ่าไทยที่มีลักษณะพิเศษกว่าชาติอื่น เหตุผลประกอบดังนี้

  1. คนไทยจำนวนมากเกิน 80% ยังต้องการสถาบันให้อยู่คู่บ้านเมืองต่อไป ตามหลักการประชาธิปไตยก็ควรต้องดำรงสถาบันไว้
  2. สถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทุกหมู่เหล่าให้แน่นแฟ้น ซึ่งเป็นคำพูดที่ดูเหมือนจะเฝือเสียแล้ว แต่อย่าเพิ่งเฝือกับสิ่งสำคัญยิ่งนี้เสียก่อน ลองหวนคิดถึงเหตุการณ์ในอดีตระหว่างพลเอกสุจินดากับพลตรีจำลอง ถ้าเราไม่มีในหลวงที่ทรงไกล่เกลี่ย คราวนั้นไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งอาจลุกลามใหญ่โตจนวิกฤตก็เป็นได้  แล้วยังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ก็ทรงพยุงชาติให้พ้นวิกฤตมาได้
  3. เป็นอำนาจที่ช่วยคานอำนาจนักการเมืองได้ โดยเฉพาะนักการเมืองไทยยังไม่มีคุณภาพสูงพอ อย่างน้อยการเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระเจ้าอยู่หัวว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ก็คงช่วยทำให้พวกเขาละอายใจลงได้บ้าง
  4. เป็นศักดิ์ศรีแห่งแผ่นดิน โดยเฉพาะกรณีการติดต่อกับต่างประเทศ เช่น ทูตานุทูตเข้าเฝ้าถวายสาส์นตราตั้ง พิธีการดูศักสิทธิ์และมีศักดิ์ศรีมาก
  5. ยังมีอารยประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์อีกหลายประเทศ เช่น แสกนดิเนเวีย ญี่ปุ่น เบลเยี่ยม เสปน อาหรับ  ทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้ดีเป็นพิเศษ ส่วนประเทศที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์ก็มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแต่ประการใด

 

แต่สิ่งที่อยากเห็นได้มีการปรับเปลี่ยนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ให้สมสมัยคือ

  1. ควรเปิดให้พสกนิกรพูดถึงพระมหากษัตริย์ได้ ไม่ควรกำหนดกฎหมายห้ามพูดหรือแสดงออกที่เข้มงวดเกินไป  กฎหมายที่เข้มเกินไปจะเป็นผลร้ายต่อสถาบันฯด้วยซ้ำ แม้ในหลวงเองก็ทรงเคยตรัสว่าพระองค์ทรงรู้สึกอึดอัดกับกฎหมายนี้ แต่พวกร่างกฎหมายก็ยังพากันไปยัดเยียดความอึดอัดให้พระองค์เรื่อยมา เรื่องนี้ปล่อยไปตามจารีตประเพณีดีกว่า ถ้าใครเขาอยากละเมิดพระองค์ท่านเขาก็คงได้รับการสนองตอบจากสังคมตามจารีตเอง เช่น ผู้ที่ไม่ยืนในโรงหนังก็คงทราบดีอยู่แก่ตัวแล้ว
  2. การหมอบคลานเวลาเข้าเฝ้า ควรยกเลิก โดยให้เป็นการยืนโค้งคำนับ แล้วยืน หรือ นั่งบนเก้าอี้ เพื่อรับกระแสพระราชดำรัส ซึ่งเรื่องการหมอบคลานนี้ทราบว่า ล้นเกล้า ร ๕ ทรงให้เลิกแล้ว ให้ใช้การโค้งคำนับแทนแล้ว แต่ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้กลับเอาการหมอบคลานมาใช้ใหม่ เข้าใจว่าเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองโดยอ้อมของสฤษดิ์เอง การกำหนดพิธีการเช่นนี้ รังแต่จะทำให้เกิดความห่างเหินกับพสกนิกร ...ในอดีตอาจจำเป็นเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นที่น่ายำเกรงในพระราชอำนาจ เพื่อประโยชน์ในการสงคราม แต่บัดนี้หมดเงื่อนไขนั้นแล้ว
  3. ควรมีการปฏิรูปสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เนื่องจากทราบว่ามีการนำทรัพย์สินนี้ไปลงทุนทางธุรกิจมาก เช่น ปูนซีเมนต์ไทย ธนาคารพาณิชย์ หากบริหารจัดการแบบไม่โปร่งใสรังแต่จะมัวหมองเบื้องยุคลบาท ควรกำหนดให้แน่ชัดไปเลยว่าจะนำทรัพย์สินนี้ไปลงทุนในลักษณะใด บริษัทด้งกล่าวจะต้องมีกรอบนโยบายสาธารณะอย่าไร  ถ้ามีกำไรจากทรัพย์สินนี้จะเข้าสำนักพระราชวังร้อยละเท่าใด จะเสียภาษีเท่าใด เนื่องจากปริมาณทรัพย์สินฯนี้สูงมาก (บทความหนึ่งในอินเตอร์เน็ตให้ข้อมูลว่ามีมากถึง 17 ล้านล้านบาท .แม้เป็นมูลค่าในปี 2523 ซึ่งมากกว่า gdp ประเทศไทยเสียอีก)  หากบริหารจัดการให้ดีจะเป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจชาติได้มาก และยังจะเป็นการเสริมพระบารมีแห่งพระมหากษัตริย์ไทยได้มากอีกโสดหนึ่งด้วย แต่หากบริหารไม่ดีก็จะเกิดช่องโหว่ให้พวกที่คิดล้มล้างราชบัลลังภ์นำไปขยายยอดได้อีกมาก

 

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ผู้เขียนพยามยามมองเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบันตามภววิสัย โดยเล็งเห็นพระคุณของสถาบันกษัตริย์ ศักดินาและบรรพชนไทยในอดีตที่ได้สละเลือดเนื้อชีวิตรักษาแผ่นดินไทยไว้ให้เรายืน มีความสุขตามอัตภาพจนทุกวันนี้

 

สถาบันกษัตริย์จะมีอยู่หรือหมดไปในอนาคตมิอาจรู้ได้ เพราะอนาคตย่อมวิวัฒน์ไปตามกาลสมัยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่หวังว่าเราจะวิวัฒน์ไปตามเหตุปัจจัยที่บ่มเพาะด้วยปัญญามวลรวมของคนไทยทั้งชาติที่สะสมกันมานานนับพันปีภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งบุรพกษัตริย์ไทยทั้งหลายในอดีต มิใช่โดยโมหะจริต มิจฉาทิฐิ และผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลใด

 

... คนถางทาง   (ผู้รับกระบี่และปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน และผู้ทำการสวนสนามสาบานตนต่อหน้าพระพักตร์และธงไชยเฉลิมพลมาสี่ครั้ง)

หมายเลขบันทึก: 476292เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2012 06:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อืมมม....... น่าเห็นใจกษัตริย์ไทย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท