สืบเนื่องจากมาตรา 112


แม้ในเรื่องนี้ผมจะเห็นพ้องกับอ.สุลักษณ์ แต่ผมก็มองเห็นข้อไม่ดีของการให้อิสระในการวิจารณ์สถาบันอีกประการหนึ่งที่คนอื่นอาจมองไม่ออก

สืบเนื่องจากมาตรา 112

 

คิดอยู่นานว่าจะเขียนเรื่องนี้ดีไหม เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหวที่อาจทำให้โดนแบนเหมือนตอนที่โดนจาก OK-Nation (ทั้งที่เราเขียนเชิงบวกแท้ๆ แต่เขาตีความว่าเป็นเชิงลบไปฉิบ)

 

แต่ขึ้นชื่อว่า “คนถางทาง” แล้วไม่ถาง ก็ถือว่าไม่ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์

 

ก่อนอื่นขอออกตัวว่าผมเป็นคนนินยมสถาบันกษัติรย์ แต่ไม่ใช่นิยมแบบฉาบฉวย ยกยอปอปั้น คือผมนิยมสไตล์อจ. สุลักษณ์ ศิวลักษณ์  ว่าไปแล้วจุดยื่นเรื่องม.  ๑๑๒ ของผมก็คล้อยตามอ.สุลักษณ์ ทีว่าให้มีการปรับประเด็นการฟ้องร้องว่า ต้องมีคณะกรรมการกลางเป็นผู้พิจารณาว่าจะฟ้องหรือไม่ (เอาเป็นคณะองคมนตรียังได้)  ไม่ใช่ว่าใครก็ฟ้องร้อง ”แทนพระองค์” ได้  ซึ่งบ่อยครั้งส่งผลเสียต่อสถาบันกษัติรย์ด้วยซ้ำไปเพราะคนฟ้องนั้นมักฟ้องแบบใช้สถาบันเป็นเครื่องมือทางการเมือง (โดยที่ผู้ฟ้องอาจไม่ได้จงรักภักดีหรือเผลอๆอาจมุ่งร้ายต่อสถาบันด้วยซ้ำไป)  ซึ่งแม้ในหลวงเองก็เคยทรงพระดำรัสในวันคล้ายวันพระราชสมภพว่า ทรงไม่สบายพระทัยในการฟ้องร้อง เพราะทรงถูกวิจารณ์มาก (ทั้งที่ไม่ได้ทรงฟ้องเองสักหน่อยแต่คนอื่นฟ้องแบบว่าใช้สถาบันเป็นเครื่องมือ)

 

ผมมองอะไรแบบเป็นกลางเสมอ แม้ในเรื่องนี้ผมจะเห็นพ้องกับอ.สุลักษณ์ แต่ผมก็มองเห็นข้อไม่ดีของการให้อิสระในการวิจารณ์สถาบันอีกประการหนึ่งที่คนอื่นอาจมองไม่ออก (เพราะว่าใจอาจไม่เป็นกลางพอที่จะมองอะไรให้รอบด้าน ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง)  

 

ผมมองว่า สถาบันจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชนได้ดีนั้นต้องดูเหมือน “ศักดิ์สิทธิ์” แบบ “เทวราชา” ซึ่งพวกหัวก้าวหน้าเขาคงหาว่าเป็นของเร่อร่าล้าสมัย แต่ความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นหลักจิตวิทยาชนชาติที่สำคัญเพื่อการอยู่รอดทีเดียว และว่าไปแล้วสอดคล้องกับลักษณะนิสัยของคนไทยส่วนใหญ่มาก (คือนิยมของศักดิ์สิทธิ์)

 

แต่พอเราเปิดช่องให้วิจารณ์ได้ ความศักดิ์สิทธิ์ก็จะลดลง ระดับแห่งการเป็นศูนย์รวมจิตใจเพื่อแก้ปัญหาในยามวิกฤตก็จะลดลงด้วย

 

ประเด็นนี้เราคนไทยควรช่วยกันคิด และวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ไม่ควรตามก้นฝรั่งแบบตดก็ว่าหอม แต่ก็ไม่ควรอนุรักษ์ของเดิมจนทำให้ตาบอด จุดสมดุลที่ดีที่สุดของชาติไทยเราอยู่ตรงไหน เรื่องนี้ต้องมองประวัติศาสตร์ให้รอบ ศึกษาลักษณะสังคมไทยให้แตก แล้วเล็งอนาคตที่เราอยากไปให้ชัด (ไม่พร่าแบบที่ผ่านมา)  พร้อมคำนึงถึงอุปสรรคขวากหนามที่จะต้องแก้ไข (ซึ่งสถาบันกษัตริย์สามารถช่วยได้มากในประเด็นสุดท้ายนี้)

 

...คนถางทาง (๒๖ มกราคม ๒๕๕๕)

หมายเลขบันทึก: 476291เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2012 06:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท