จดหมายเปิดผนึกถึงประธานคณะกรรมการ กยน. (คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ) เรื่อง ส่งผลการสานเสวนา “การปฏิรูปการจัดการน้ำในประเทศไทย”


วันที่  8  ธันวาคม  2554

          

                ด้วยมูลนิธิหัวใจอาสาได้ตระหนักว่า เรื่องการจัดการน้ำและการจัดการภัยพิบัติ เป็นเรื่องใหญ่ กว้างขวาง ยาก สลับซับซ้อน  มีทั้งประเด็นเชิงวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ และประเด็นเชิงรายละเอียดและการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องมากมาย   หากได้มีการรับฟัง หารือ และประมวลข้อคิดเห็นจากหลายๆ แหล่ง หลายๆ กลุ่มคน หลายๆ พื้นที่ หลายๆ ภาคส่วนน่าจะเป็นประโยชน์   จึงได้จัดให้มีการ “สานเสวนา” (Dialogue) ในเรื่องดังกล่าว  ภายใต้หัวข้อ “การปฏิรูปการจัดการน้ำในประเทศไทย”  โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องการจัดการน้ำและการจัดการภัยพิบัติ และผู้บริหารองค์กรที่มีขีดความสามารถ       ในการนำหลักการ แนวทาง ข้อคิด ฯลฯ ไปสู่การปฏิบัติ รวม 15 คน  เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554

                สรุปผลการสานเสวนาจำนวน  5 หน้า กับเอกสารประกอบการเสวนาที่ผู้เข้าร่วมการสานเสวนาได้มอบให้ไว้ในรูป บทความ เอกสารนำเสนอในการบรรยาย และเอกสารการวิจัย อีกจำนวนมากพอสมควร ปรากฏตามที่แนบ  ซึ่งมูลนิธิฯ เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยต่อคณะกรรมการ กยน. และต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง  จึงขอส่งเอกสารทั้งหมด เสนอต่อคณะกรรมการ กยน. ผ่านท่านเลขาธิการ สศช. (ในฐานะที่เป็นกรรมการและเลขานุการร่วมของ กยน.) มาพร้อมนี้

                อนึ่ง มูลนิธิฯ ใคร่ขอถือโอกาสนี้เสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า  ข้อที่ควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษโดยคณะกรรมการ กยน. และรัฐบาล (รวมถึงหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง) ในเรื่องการจัดการน้ำและการจัดการภัยพิบัติ น่าจะประกอบด้วย :-

                1.  การคิดเชิงระบบ (Systems thinking )  นั่นคือพิจารณาเรื่องการจัดการน้ำให้เห็นความเป็นระบบ ตั้งแต่ระบบย่อยๆ ในระดับท้องถิ่น  ไปจนถึงระบบขนาดกลางหรือระดับลุ่มน้ำ  ระบบขนาดใหญ่คือทั้งประเทศ  และระบบใหญ่มากคือการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันในระดับข้ามชาติหรือนานาชาติ   และเพื่อให้การคิดเชิงระบบนี้เป็นจริง และนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างดีที่สุด จึงน่าจะมีกลไกระดับชาติ เช่น คณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งมีหน่วยเลขานุการที่มีความสามารถสนับสนุน  เป็นผู้มีหน้าที่พิจารณา วางแผน กำหนดยุทธศาสตร์และแผนงาน โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบรับไปปฏิบัติ กำกับดูแลและประเมินผลการปฏิบัติ  จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการจัดการความรู้ นำไปสู่การพิจารณาทบทวนและวางแผนใหม่  ทำดังนี้ให้เป็นวงจรต่อเนื่องข้ามรัฐบาล เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและการสั่งสมภูมิปัญญาและความรู้ความชำนาญให้สูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป  โดยวิธีนี้เชื่อว่าประเทศไทยและสังคมไทยจะสามารถจัดการน้ำและจัดการภัยพิบัติได้ดีขึ้นเรื่อยๆ  นำมาซึ่งความมั่นคงปลอดภัยและความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของปวงชนชาวไทย ตามปณิธานที่กำหนดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9, 10 และ 11 ได้ดียิ่งๆ ขึ้นไปด้วย

                2.  การมีส่วนร่วม “ตัดสินใจ” ของประชาชน (Participatory decision making)   สืบเนื่องจากหลักการและวิธีคิดในข้อ 1.  และเพื่อให้สอดรับกับเจตนารมณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เรียกว่า “Deliberative Democracy”  หรือ “ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ”  จึงเป็นการสมควรที่คณะกรรมการ กยน. (ควรรวมถึงคณะกรรมการ กยอ.ด้วย) ที่จะจัดการให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกพื้นที่และทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณา “ตัดสินใจ” เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ ฯลฯ  เกี่ยวกับการจัดการน้ำและการจัดการภัยพิบัติ  โดยเฉพาะในส่วนที่ กลุ่ม พื้นที่ หรือภาคส่วน นั้นๆ มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญ ไม่ว่าจะในเชิงบวกหรือในเชิงลบ   โดยการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและทั่วถึงเช่นนี้ จะช่วยให้รัฐบาล คณะกรรมการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สามารถสรุปข้อพิจารณาและกำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ ฯลฯ ได้อย่างบูรณาการและอย่างสมบูรณ์มากที่สุด โดยได้รับความเห็นชอบหรือเห็นด้วยและความพึงพอใจร่วมกันของประชาชนมากที่สุด  ทั้งยังเป็นการป้องกันความขัดแย้งในสังคมไม่ให้เกิดขึ้น และหากเกิดความขัดแย้งขึ้นก็จะสามารถคลี่คลายแก้ไขความขัดแย้งนั้นๆ ได้โดยไม่ยากอีกด้วย

                3.  การจัดการน้ำให้ครบทุกมิติและให้เชื่อมโยงกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำให้ครบถ้วน ไปพร้อมๆ กัน  นั่นคือการกำหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ ฯลฯ ในเรื่องการจัดการน้ำ  ควรให้ครบถ้วนสมบูรณ์และบูรณาการ ตั้งแต่การจัดการน้ำท่วม การจัดการน้ำแล้ง การจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การจัดการน้ำเพื่อครัวเรือน การจัดการน้ำเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรม การจัดการน้ำให้มีคุณภาพ การจัดการน้ำให้ถูกจังหวะเวลาและสถานที่  ขณะเดียวกัน ก็ต้องจัดการน้ำโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการภัยพิบัติ  ที่ควรประกอบด้วย   (1) การป้องกันระยะไกลมาก   (2) การป้องกันระยะไกล   (3) การป้องกันระยะปานกลาง   (4) การป้องกันระยะใกล้   (5) การเตรียมความพร้อม (Preparedness)   (6) การเผชิญเหตุ (เมื่อภัยพิบัติมาถึง)   (7) การจัดการโดยพึ่งตัวเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในท้องถิ่นที่ประสบภัย   (8) การจัดการการรับความช่วยเหลือจากบุคคลและหน่วยงานภายนอกทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม (องค์กรสาธารณประโยชน์ มูลนิธิ สมาคม เอ็นจีโอ ฯลฯ) ภาคประชาชน (ชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ ประชาชนทั่วไป  ฯลฯ ) ตลอดจนจากองค์กรหรือรัฐบาลต่างประเทศ  ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย มีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง  เป็นธรรม และเหมาะสมตามความเห็นร่วมกันของประชาคมในท้องถิ่นนั้นๆ   (9) การจัดการการรับการเยียวยาจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนองค์กรนอกภาครัฐ  ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย มีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และเป็นธรรม   (10) การบูรณะฟื้นฟูภายหลังภัยพิบัติ   (11) การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือ  “จัดการความรู้” (Knowledge management)  เพื่อความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นและกว้างขวางยิ่งขึ้นในหมู่ประชาชน  รวมถึงการที่จะสามารถคิดค้นสร้างสรรค์ “นวัตกรรม” เกี่ยวกับการจัดการน้ำและการจัดการภัยพิบัติ  เพื่อให้ท้องถิ่นและสังคมสั่งสมความรู้ความเข้าใจและความสามารถที่ดียิ่งๆ ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป

                4.  มาตรการจัดการน้ำให้ได้ครบทุกวัตถุประสงค์และที่สำคัญมากเป็นลำดับต้นๆ น่าจะประกอบด้วย

                                4.1  การดูแลรักษา ปรับปรุง  หรือจัดสร้าง “แหล่งกักเก็บน้ำ” ที่มีความเหมาะสมทั้งด้าน ขนาด แหล่งที่อยู่ การใช้ประโยชน์ คุณลักษณะ วิธีบริหารจัดการดูแลรักษา ฯลฯ  ซึ่งแหล่งกักเก็บน้ำดังกล่าวควรมีตั้งแต่ ขนาด “จิ๋ว” (บ่อน้ำในไร่นา ฯลฯ)  ขนาด “เล็ก” (สระน้ำของหมู่บ้านหรือตำบล ฯลฯ)  “ขนาดกลาง” (หนองน้ำหรือบึงหรืออ่างเก็บน้ำสำหรับเมืองใหญ่หรือจังหวัดหรือเขตอุตสาหกรรม ฯลฯ)  “ขนาดใหญ่” (บึงธรรมชาติ บึงสร้างใหม่หรือ “แก้มลิง” ขนาดใหญ่ เขื่อนขนาดเล็กที่ใช้ประโยชน์ข้ามจังหวัดได้ ฯลฯ)  และ “ขนาดใหญ่มาก” (เขื่อนขนาดใหญ่ “แก้มลิง” ขนาดใหญ่มาก ฯลฯ) 

                                4.2  การดูแลรักษา ปรับปรุง หรือจัดสร้าง ทางเดินของน้ำผ่านช่องทางต่างๆ  รวมถึงห้วยบนภูเขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำ แม่น้ำขนาดต่างๆ ลำคลองขนาดต่างๆ เส้นทางผันน้ำ (รวมถึง Floodway อุโมงค์ยักษ์ คลองประดิษฐ์ ฯลฯ) ตลอดจนคูคลองในเรือกสวนไร่นา  ซึ่งในส่วนที่อยู่ใกล้และมีผลได้ผลเสียต่อประชาชนในท้องถิ่น ควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการดูแล รักษา ปรับปรุง และหรือพัฒนาสร้างใหม่ให้ดีขึ้น  โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

                ซึ่งมาตรการทั้งสองนี้ ควรทำให้กว้างขวางกระจายไปทั่วประเทศ และใช้ “วิกฤต” มหาอุทกภัยครั้งนี้ เป็น “โอกาส” กระตุ้นและส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ และทุกภาคส่วน ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการ”จัดการน้ำ” และ “จัดภัยพิบัติ”  ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ต่อสังคมไทยและประชาชนไทย  ไม่เฉพาะในเรื่องการจัดการน้ำและการจัดการภัยพิบัติ แต่จะเป็นประโยชน์ขยายรวมไปถึงการจัดการด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านคุณธรรมจริยธรรม ด้านการเป็นสังคมเรียนรู้ (Learning society) และอื่นๆ

                มูลนิธิฯ ตระหนักดีกว่า ความเห็นข้างต้นอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายคงมีความคิดทำนองนี้อยู่แล้ว  แต่ก็ใคร่ขอเสนอมาเป็นการตอกย้ำลำดับความสำคัญ  และเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการตามแต่จะเห็นสมควร

หมายเลขบันทึก: 476257เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2012 20:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณค่ะ อยากเห็นการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมจากแนวคิดข้างต้น ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท