ทุกข์...ตามหลักวิทยาศาสตร์


โดยนัยยะนี้ความสุข ก็คือ ความทุกข์จำแลงนั่นเอง ดังนั้น ศาสนาพุทธจึงสอนให้เราฝึกจิตให้ “เหนือทุกข์เหนือสุข”

ทุกข์...ตามหลักวิทยาศาสตร์

 

 

 

หลักการศาสนาพุทธนั้นตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า ชีวิตคือทุกข์  ทำให้ใครต่อหลายคน (โดยเฉพาะพวกฝรั่ง) ไม่เข้าใจหาว่าเป็นพวกมองโลกในแง่ร้าย (pessimistic)   ก็เลยสมาทานเป็นชาวพุทธไม่ไหว

 

แม้แต่ชาวพุทธเราเองก็เถิด ท่านแน่ใจแล้วหรือว่าท่านเข้าใจคำว่า “ทุกข์” ดีแล้ว

 

ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ ของ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)  ท่านให้นิยามไว้ว่า

ทุกข์ 1. สภาพที่ทนอยู่ได้ยาก, สภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้ เพราะถูกบีบคั้นด้วยความเกิดขึ้นและความดับสลาย เนื่องจากต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ไม่ขึ้นต่อตัวมัน  2. สภาพที่ทนได้ยาก, ความรู้สึกไม่สบาย ได้เก่ ทุกขเวทนา, ถ้ามาคู่กับโทมนัส (ในเวทนา ๕)  ทุกข์หมายถึงความไม่สบายกายไม่สบายใจ คือทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ

 

นิยามของทุกข์ที่ว่าคือ “สภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้ เพราะถูกบีบคั้น” นั้น ผมเห็นว่าน่านำมาเป็นนิยามหลัก หรือ นิยามเดียวของคำว่าทุกข์ไปเลย ยิ่งจะทำให้ศาสนาพุทธเป็น “วิทยาศาสตร์” ยิ่งขึ้นไปใหญ่ จะเป็นทียอมรับของนักวิทยาศาสตร์ในวงกว้าง

 

ตามหลักวิทยาศาสตร์ พอมีแรงบีบคั้นกระทำต่อวัสดุใด ก็จะเกิดความเค้น (stress) และความเครียด (strain) (หรือการยืดหดบิดเบี้ยวนั่นเอง)

 

ซึ่งหลักการนี้สามารถประยุกต์ต่อจิตใจก็ได้เช่นกัน เพราะจิตใจเราถูกแรงแห่งการยึดมั่นถือมั่นมันบีบคั้น มันก็ต้องเกิดการบิดเบี้ยว เจ็บปวด (บางคนอาจตะแบงว่าบีบเบาๆ เหมือนเป็นการนวดจิตไปซะอีก 55)   แรงรัก โลภ โกรธ หลง ดีใจ เสียใจ หัวเราะ ร้องไห้  พวกนี้บีบคั้นทั้งนั้น บางอันเป็นแรงกด แรงดึง แรงดัน แรงบิด แรงกระแทก แต่ต่างก็ทำให้จิตเราบิดเบี้ยวไปจากสภาพ นิพพาน ซึ่งเป็นสภาพที่ไร้แรงบีบคั้น หรือ หมดทุกข์ พ้นทุกข์ นั่นเอง  ....นิยามหนึ่งของทุกข์ ที่ว่า มันคือ “ สภาพที่ทนอยู่ได้ยาก”  ก็เพราะมันโดนแรงเหล่านี้กระทำนั่นเอง

 

อย่าว่าแต่เรื่องของการบีบคั้นทางใจ แม่วัตถุที่วางอยู่เฉยก็ถูกรแรงภายในบีบคั้นกระทำตลอดเวลา เช่น  อตอมธาตุทุกชนิดในโลกนี้ล้วนถูกแรงบีบคั้นมหาศาล จากแรงยึดโยงของโปรตอนและอีเล็กตรอนที่วิ่งวนรอบ  เป็นสภาพที่ “ทนอยู่ได้ยาก” ดังนั้นพวกมันจึงต้องเสื่อมลงเรื่อยๆ  (เรียกว่ามี half-life ไงล่ะ ตามที่เรียนมาจากหนังสือวิทยาศาสตร์ หรือ จะเรียกว่า อนิจจังก็ย่อมได้)

 

 

อตอมก็มีความ “ยึดมั่น” เหมือนกันนะ  คือ โปรตอนยึดกับอีเล็กตรอน  อตอมจึงมีความทุกข์เหมือนกับจิตใจคนที่ยึดมั่นในกิเลสตัณหานั่นแล

 

 

 

ร่างกายเรานี้โดนแรงบีบคั้นทั้งเชิงรูปธรรมและนามธรรม  เพราะโมเลกุลของร่างกายเราก็ถูกบีบให้เสื่อม ส่วนจิตของเราก็โดนแรงยึดมั่นในกิเลสตัณหาอุปาทานต่างๆ บีบคั้นรอบด้านตลอดเวลาเช่นกัน  แม้แต่นอนหลับยังตามไปบีบให้ฝัน

 

เมื่อร่างกายเราแก่เจ็บตาย นั้นทุกข์แน่ๆ เพราะมีแรงกระทำให้เสื่อมไป  (อีกทั้งใจเราก็ไปยึดกับสภาพที่เสื่อมไปนั้นด้วย ก็ยิ่งทุกข์กันเข้าไปใหญ่...โดนสองต่อ)  ส่วนเกิดและเติบโตนี่สิ เข้าใจยากสักหน่อยว่าเป็นทุกข์อย่างไร แต่ลองนึกให้ดีเถิดจะเห็นว่าทั้งเกิดและโตนั้น ก็หนีไม่พ้น “แรงกระทำ” ทั้งสิ้น ก็หนีไม่พ้นความเป็นทุกข์ตามนิยามนี้ พอใจไปยึดในการเกิดการโตนั้น ก็ยิ่ง”ทุกข์”ซ้ำสองเข้าไปอีก

 

ความสุขนั้นเกิดจากแรงกระทำชนิดหนึ่ง แม้เป็นแรงบวกที่ทำให้จิตพองฟู แต่ก็ยังถือว่าจิต”ถูกแรงกระทำ” อยู่ดี  โดยนัยยะนี้ความสุข ก็คือ ความทุกข์จำแลงนั่นเอง ดังนั้น ศาสนาพุทธจึงสอนให้เราฝึกจิตให้  “เหนือทุกข์เหนือสุข”  ก็จะไม่ถูกแรงกระทำ ก็อาจเรียกว่าสภาวะ “จิตว่าง”

 

ผมเห็นว่าถ้าเราอธิบายทุกข์กันแบบนี้ จะทำให้พวกฝรั่งไม่สามารถมาโจมตีเราได้อีกกว่าเป็นพวก “มองโลกในแง่ร้าย”  เพราะแบบนี้มันก็เหมือนหลักวิทยาศาสตร์ที่ฝรั่งนิยมกันหนักหนานั่นเอง

 

...คนถางทาง (๒๒ มค ๒๕๕๕)

 

 

หมายเลขบันทึก: 475958เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2012 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 20:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยู่อย่างเหนือทุกข์เหนือสุขอย่างนั้นหรือ คงต้องไปบวชชีอ่ะนะ เช้าออกจากบ้านอารมณ์ดียิ้มแย้มแจ่มใส เบิกบานใจเสียยิ่งนัก

พอถึงที่ รร. สักพัก ก็กลายร่างเป็นนางยักษ์ทันที เด็กสมัยนี้ทำไมมันสอนยากสอนเย็น ที่บ่นก็เมื่อวานนี้ ดญ. ตบตีกันช่วงพักทานข้าว

สอบถาม ได้ความว่า " แย่งแฟนกัน" แล้วอย่างนี้ จะมีโอกาส ทำสภาวะจิตว่างไหมเนี่ย.... แต่พออ่านธรรมะแล้ว ทำตามคำสอน พพจ. สมองเคลียร์ หลับสบายไปได้ ว่าแต่บันทึกนี้ พออ่านๆไป ก็คล้ายๆ กับ อุเบกขา เหมือนกันนะคะ ขอบคุณที่มีอะไรดีๆ มาให้อ่าน สอนได้ดีมาก เป็นประโยชน์ มีคุณค่าต่อจิตใจมากๆ (มาเม้นท์อีกรอบอยากให้มีคนอ่านและนำไปปฏิบัติเยอะๆ:)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท