ชีวิตที่พอเพียง : 102. เรียน วปอ.


         ปี ๒๕๓๕ ผมมาเรียน วปอ. รุ่น ๓๕๕     คือมี ปรอ. รุ่น ๕ มาเรียนร่วมด้วย      ส่วน วปอ. เป็นรุ่น ๓๕    เป็นอีกครั้งหนึ่งในชีวิตที่ผมเกิด culture shock     คือรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกจากกลุ่ม     รู้สึกว่าวัฒนธรรมของกลุ่มไม่ใช่แบบที่เรายึดถือ     คือมันดูสูงส่งชอบกล     ในขณะที่ผมชอบสภาพที่มันง่ายๆ ไม่เน้นพิธีรีตอง     แต่เพื่อนๆ ในรุ่นเขาคงไม่รู้สึกอย่างนั้น     เพราะท่าทางผมมันก็ดูโก้ไม่หยอกเหมือนกัน

        วปอ. ย่อมาจาก วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร      ข้าราชการใฝ่ฝันอยากได้เข้าเรียนกันทุกคน     เพราะถือว่าเป็นครีมของข้าราชการเท่านั้นที่จะได้เข้าเรียน     โก้และได้เพื่อนได้ความรู้มาก     ที่ผมได้มากที่สุดคือความรู้      ได้จากการฟังคำบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นจากการปฏิบัติจริงๆ     และได้จากการเดินทางไปศึกษาสภาพจริงของประเทศทั่วประเทศครบทุกจังหวัด    

       ที่จริงภาพของ วปอ. ในสายตาของพวกนักวิชาการไม่ดีนัก    เขาล้อว่าเป็น วิทยาลัยปัญญาอ่อน     เคยมีรุ่นน้องที่เป็นอาจารย์ถามผมว่าไปเรียนแล้วผมได้อะไร     ผมก็ตอบตามข้างบน     แต่ความประทับใจที่ได้มันมีเกร็ดเยอะครับ

       ตอนหลังมี วปอ. อีกแบบหนึ่ง     ที่ชาวบ้านภาคอีสานกับที่พิจิตรเขาเข้าเรียนกัน     ย่อมาจาก วิทยากรกระบวนการเพื่อการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง     เขาเรียกว่า วปอ. ภาคประชาชน     เป็นการเรียนรู้เพื่อซึมซับวิถีชีวิตแบบพอเพียงของชาวบ้าน

       ผมสังเกตว่าเพื่อนนักศึกษา วปอ. เขาเน้นการมาหา connection เพื่อช่วยเหลือกันในการทำงานราชการ     หรือในด้านธุรกิจ     เห็นได้ชัดว่าข้าราชการระดับนี้ (รองอธิบดี  อธิบดี  รองปลัดกระทรวง  นายพล  ฯลฯ) ต้องมีวิธีรักษาเก้าอี้ไว้ อย่าให้มีใครมาเลื่อยขา  หรือแย่งเก้าอี้ไป      จนมีการพูดโจ๊กเรื่องนี้กันบ่อยๆ     การมี connection ก็ช่วยความมั่นคงของตำแหน่งราชการได้    

       ผมเห็นคุณค่าของการเป็นข้าราชการมหาวิทยาลัยก็ตอนนี้     เห็นท่าทางของเพื่อนๆ วปอ. แล้วก็บอกตัวเองว่าเราโชคดี     ที่ไม่มีตำแหน่งให้ต้องปกป้องดินแดนไม่ให้มีใครมาแย่งไป      ไม่ต้องคอยไปเอาอกเอาใจนาย ภรรยานาย พ่อตัว พ่อตา แม่ตัว แม่ยายนาย     แต่คิดอีกทีอาจไม่เป็นอย่างที่เราเข้าใจ     เขาอาจจะอยู่ในวัฒนธรรมนี้มาจนชิน และที่เติบโตในตำแหน่งขนาดนี้    นอกจากความสามารถในการทำงานแล้ว     เขาคงจะได้พัฒนาความสามารถทางสังคม ในสังคมราชการไทย     จนทำได้เป็นอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้ความพยายาม     คือไม่เป็นเรื่องลำบากสำหรับเขา     ผมว่าวิธีมองสังคมราชการไทยแบบหลังน่าจะถูกต้องกว่า  

          ผมประทับใจตอนไปทัศนศึกษาที่นิวยอร์ค     ไปดูระบบเก็บน้ำเสีย และบำบัดน้ำเสียของนครนิวยอร์ค ซึ่งเป็นระบบมหึมา      ไม่เคยคิดว่าจะต้องใหญ่โตซับซ้อนปานนั้น   

         อีกสิ่งหนึ่งที่ได้ คือเข้าใจระบบป้องกันประเทศ ระบบสงครามมากขึ้น      จากการฟังการบรรยาย และการไปดูงานทั้งใน และนอกประเทศ    เห็นทั้งภาพที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนของระบบป้องกันประเทศของไทย      ที่จริงทางทหารเขาก็พยายามปรับกระบวนทัศน์ใหม่     ว่าความมั่นคงของประเทศในยุคใหม่ไม่ใช่การปกป้องหรือต่อสู้แบบทำสงครามอาวุธ     แต่จะเป็นการต่อสู้ทางเศรษฐกิจ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือความรู้      แต่ผมมองว่ามุมมองของเขายังลอกมาจากฝรั่งมากไป     ไม่ใช่มาจากการคิดใคร่ครวญโดยคนไทยกันเอง                     

        ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักศึกษา วปอ. ตอนผมเรียนประมาณล้านบาท     มีทริปไปต่างประเทศ ๓ ครั้ง     ตอนทริปยาว แยกย้ายกันไป ๘ สาย     ผมไปสาย ๓ อเมริกา แคนาดา เม็กซิโก     ที่เลือกสายนี้เพราะอยากไปเยี่ยมลูกสาวที่เพิ่งได้รับทุนเล่าเรียนหลวง ไปเรียนชั้นหลัง ม. ๖ เพื่อเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย ที่ Philips Exeter Academy รัฐคอนเน็คติกัต     ผมถามตัวเองตลอดมา ว่าใช้เงินภาษีชาวบ้านไปล้านบาทเพื่อเรียน วปอ.     แล้วผมได้เอาความรู้มาใช้ประโยชน์คุ้มค่าไหม     ตอบยากนะครับ คำถามนี้     ผมคิดว่าถ้าเราไปตอนอายุไม่มากนัก สัก ๔๐ ปี จะมีเวลาใช้ความรู้ที่ได้ มาทำประโยชน์แก่บ้านเมืองได้มากกว่า     เพื่อนบางคนเรียน วปอ. จบมาไม่กี่ปีก็เกษียณอายุราชการ     บางคนยังทำราชการก็จริง แต่ "ตำแหน่งประจำ"     ซึ่งหมายความว่าไม่มีงานให้ทำ     สำหรับผมยังทำงานให้สังคมแบบเต็มเวลา มาจนบัดนี้ก็ ๑๔ ปีให้หลังแล้ว     ก็น่าจะได้ใช้ความรู้ที่ได้มาประกอบในการคิดไตร่ตรองการงานไม่มากก็น้อย

วิจารณ์ พานิช
๒๓ กค. ๔๙    

หมายเลขบันทึก: 47523เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2006 08:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ผมก็จบ วปอ.เหมือนกันกับอาจารย์ครับ(รุ่นที่2) แต่คนละมุมครับ วปอ.ที่ผมเข้าไปเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติเลยกับชุมชนกับผู้รู้ และปราชญ์ชาวบ้านเพื่อค้นหา คำใหญ่คำโต คือ การพึ่งตนเอง ครับ ความหมายของ วปอ.ที่ผมเข้าไปร่วมเรียนรู้ คือ "วิทยากรกระบวนการเพื่อการพึงพาตัวเอง และพึ่งพากันเอง" เป็นวิทยาลัยป้องกันอาณาจักรของชาวบ้านครับ ไม่แน่ใจว่าจะต่างจาก วปอ.ของอาจารย์อย่างไรบ้างครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท