คูณ : ดอกไม้ประจำชาติ


เหตุที่เลือก ดอกราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้ประจำชาติเพราะมีความเหมาะสมในหลายๆ ด้าน คือ เป็นดอกไม้จากต้นไม้ที่ถูกเสนอให้เป็นต้นไม้ประจำชาติเมื่อครั้งที่กรมป่าไม้เสนอไว้ เป็นต้นไม้ที่มีอายุยืน ทนทาน ปลูกขึ้นได้ดีทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักแพร่หลาย

ดอกไม้...ประจำชาติไทย

ปี พ.ศ.2494 โดยรัฐบาลมีมติให้ถือวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติ (arbour day) มีการชักชวนให้ปลูกต้นไม้ที่มีประโยชน์ชนิดต่างๆ มากมาย ในขณะเดียวกันก็ได้มีการเสนอว่า ต้นราชพฤกษ์ น่าจะถือเป็นต้นไม้ประจำชาติ กระทั่งในปี พ.ศ.2506 มีการประชุมเพื่อกำหนดสัญลักษณ์ต้นไม้และสัตว์ประจำชาติเป็นครั้งแรก โดยกรมป่าไม้ได้เสนอให้ ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูณ ไม้มงคลที่มีประโยชน์และรู้จักกันอย่างแพร่หลายเป็นต้นไม้ประจำชาติ สำหรับสัตว์ประจำชาติก็คือ ช้างเผือก สัตว์ที่มีคุณค่าเกี่ยวข้องกับประเพณีไทยและประวัติศาสตร์ไทยมายาวนาน การเสนอครั้งนั้นไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ดังนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมาสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยจึงมีหลากหลาย ตั้งแต่สถานที่สำคัญๆ สัตว์ ดอกไม้ ที่คนไทยคุ้นเคยและพบเห็นบ่อย เช่น พระปรางค์วัดอรุณฯ เรือสุพรรณหงส์ ดอกบัว ดอกมะลิ ดอกพุทธรักษา แมวไทย เช่นเดียวกับ ต้นราชพฤกษ์ และ ช้างเผือก ยังคงถูกยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติตลอดมา

ปี พ.ศ.2530 มีการส่งเสริมให้ปลูกต้นราชพฤกษ์อีกครั้ง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ โดยมีการส่งเสริมให้ปลูกต้นราชพฤกษ์ทั่วประเทศจำนวน 99,999 ต้น ทุกวันนี้จึงมีต้นราชพฤกษ์อยู่มากมายทั่วประเทศไทย ปี พ.ศ.2544 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ได้นำเรื่องดังกล่าวกลับมาเสนออีกครั้ง และมีข้อสรุปเสนอให้มีการกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติ 3 สิ่งคือ ดอกไม้ สัตว์และสถาปัตยกรรม และการพิจารณาที่ผ่านมาเสนอให้กำหนดดอกไม้ประจำชาติคือ ดอกราชพฤกษ์ สัตว์ประจำชาติ คือ ช้างไทย และสถาปัตยกรรมประจำชาติคือ ศาลาไทย   เหตุที่เลือก ดอกราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้ประจำชาติเพราะมีความเหมาะสมในหลายๆ ด้าน คือ เป็นดอกไม้จากต้นไม้ที่ถูกเสนอให้เป็นต้นไม้ประจำชาติเมื่อครั้งที่กรมป่าไม้เสนอไว้ เป็นต้นไม้ที่มีอายุยืน ทนทาน ปลูกขึ้นได้ดีทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักแพร่หลาย มีชื่อเรียกหลายชื่อต่างกันในแต่ละภาค เช่น ลมแล้ง คูน อ้อดิบ ราชพฤกษ์เป็นไม้มงคลใช้ประโยชน์ในพิธีสำคัญๆ เช่น ลงหลักเมือง ลงเสาเอก ทำคฑาจอมพลและยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร ในช่วงฤดูร้อนราชพฤกษ์จะออกดอกสะพรั่งทั้งต้น ช่อดอกมีรูปทรงสวยงาม สีเหลืองอร่ามเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ รวมทั้งเป็นสีเดียวกับวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นอกจากนี้ความงามของช่อดอก และความหมายที่ดียังถูกจำลองแบบประดับไว้บนอินทรธนูของข้าราชการพลเรือนอีกด้วย

ลักษณะทั่วไป

ราชพฤกษ์เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นมีความสูงประมาณ 12-15 เมตร ผิวเปลือกสีขาวปนเทา ผิวเรียบมีรอยเส้นรอบต้นและรอยปมอยู่บริเวณที่เกิดของกิ่ง

อยู่เป็นบางจุดของลำต้น ใบเป็นใบประกอบมีใบย่อยเป็นคู่ออกจากก้านสบ ใบย่อยมีประมาณ 4-8 คู่ ใบรี รูปไข่ โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ มีสีเขียว ขนาดใบกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตรยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อตามก้านใบ ช่อยห้อยลงล่างเวลาออกดอกใบจะร่วง ดอกมีสีเหลืองภายในดอกจะมองเห็นเป็นเส้นประมาณ 8-10 อัน คือ เกสรตัวผู้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดอกประมาณ 4 เซนติเมตร ผลมีลักษณะเป็นฝักยาวกลม ทรงกระบอก ปลายแหลมสั้น มีสีเขียวเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ ผิวเปลือกแข็งเรียบ ภายในฝักจะมีชั้นกั้นเป็นช่อง ๆ แต่ละช่องประกอบด้วยเมล็ด มีลักษณะแบน ในแต่ละช่องจะมี 1 เมล็ด และมีสารสีดำนุ่มหุ้มเมล็ดอยู่ด้วย ขนาดความยาวของฝักประมาณ 30-50 เซนติเมตร มีเส้นรอบวงประมาณ  5-7  เซนติเมตร

ไม้มงคล

คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นราชพฤกษ์ไว้ประจำบ้านจะช่วยให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรีเพราะคนไทยส่วนใหญ่ยอมรับว่าต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีคุณค่าสูงและยังเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทยอีกด้วยนอกจากนี้คนไทยโบราณเชื่ออีกว่าใบของต้นราชพฤกษ์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะในพิธีทางไสยศาสตร์ให้ใบทำน้ำพุทธมนต์สะเดาะเคราะห์ได้ผลดีดังนั้นจึงถือว่าต้นราชพฤกษ์เป็นไม้มงคลเพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นราชพฤกษ์ทางทิศตะวัตตกเฉียงใต้ ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์ เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันเสาร์ ถ้าจะให้เป็นมงคลยิ่งขึ้น ผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือและเป็นผู้ประกอบคุณงามความดีก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก  นิยมปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน ขนาดหลุมปลูก 50 x 50 x 50 ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 2 ผสมดินปลูกถ้าปลูกประดับบริเวณบ้านหรืออาคารควรปลูกให้มีระยะห่างที่เหมาะสมเพราะราชพฤกษ์เป็นไม้ที่มีทรงพุ่มใหญ่พอสมควร

การดูแลรักษา

แสง ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง น้ำ ต้องการปริมาณน้ำน้อย ควรให้น้ำ 7-10 วัน/ครั้ง อายุประมาณ 4 ปี สามารถทนต่อสภาพธรรมชาติได้ ดิน ชอบดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย ดินร่วนเหนียว ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2-3 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 3-4 ครั้ง การขยายพันธ์ การตอน การเพาะเมล็ด วิธีที่นิยมและได้ผลดี คือ การเพาะเมล็ด โรค ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะเป็นไม้ที่ทนทานต่อสภาพธรรมชาติพอสมควร ศัตรู หนอนเจาะลำต้น (Stem boring caterpillars) อาการ ลำต้นหรือยอดเป็นรู เป็นรอยเจาะทำให้กิ่งหักงอ การป้องกัน รักษาความสะอาดบริเวณแปลงปลูก หรือกำจัดแมลงพาหะ ใช้ยาเช่นเดียวกับการกำจัด  การกำจัด ใช้ยาไดเมทโธเอท หรือ เมโธมิล อัตราและคำแนะนำระบุไว้ตามฉลาก

เอกสารอ้างอิง พืชพรรณไม้มงคล ส.พลายน้อย บริษัท รวมสาส์น (1977) จำกัด

เดลินิวส์วาไรตี้ พงษ์พรรณ บุญเลิศ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2544

ไม้ต้นประดับดอก ชุดคู่มือคนรักต้นไม้ วชิรพงศ์ หวลบุตตา สำนักพิมพ์บ้านและสวน

http://www.maipradabonline.com/maimongkol/rachapouk.htm

http://thimachai.com/?p=171

หมายเลขบันทึก: 474213เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2012 08:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท