อาการข้างเคียงของยาฉีดอินซูลิน


ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว

อาการข้างเคียงจากยาฉีดอินซูลิน

          ตามที่ได้ทำสัญญาใจไว้กับท่านอาจารย์วัลลาว่าจะเขียนเรื่องเล่าอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 เรื่อง  แต่หลังจากกลับจากการเยี่ยมชม GotoGnow.org แล้วก็ยังไม่มีเวลา (เหมือนกับสาเหตุที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เขียนบันทึกจากการสำรวจของอาจารย์จันทวรรณ)  เนื่องจากตัวเองเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วมก็เลยต้องรับแขก  ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี , ผู้นำฝ่ายค้าน , รมช.กระทรวงสาธารณสุข , รองอธิบดี , ผู้ตรวจราชการกระทรวง และ ฯลฯ วุ่นวายน่าดู

          แต่สัญญาต้องเป็นสัญญาวันนี้จะขอเล่าเรื่องที่ยังจำได้  เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นไม่นาน  วันที่  19  กันยายน 2554 ได้รับรายงานอุบัติการณ์จากระบบบริหารความเสี่ยงของโรงพยาบาล ซึ่งส่งมาทาง Intranet ข้อความดังนี้ " pt HN ..... case pul TB มา DOT ที่ รพ.ท่าศาลาทุกวัน  รับยา HT/DM มียาฉีด DM pt วันนี้ pt ไม่ยอมฉีดยา DM ให้ข้อมูลว่าตั้งแต่เริ่มฉีดยา DM แล้วทำให้หย่อนสมรรถภาพทางเพศ(นกเขาไม่ขัน)เป็นมา 4-5 วัน วันนี้ไม่ยอมฉีดยา DM " 

         ตามระบบของโรงพยาบาลกรณีผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการใช้ยา  จะเป็นความเสี่ยงของห้องยาที่จะต้องจัดการและป้องกันปัญหา  ดิฉันประเมินความรู้ของตนเองไม่เคยมีรายงานอาการข้างเคียงแบบนี้มาก่อน  แต่ก็กลัวว่าตัวเองจะเรียนจบมานานแล้ว  จึงไปหาข้อมูลเพิ่มเติมก็ไม่พบรายงาน  แต่หลักในการทำงานของชาวโรงพยาบาลท่าศาลา ก็คือ "ถ้าผู้ป่วยบอกอะไรจะต้องเชื่อและให้การช่วยเหลือ"  ดิฉันจึงได้ไปค้นหา OPD CARD ของผู้ป่วยมาทบทวน  พบว่าเป็นผู้ป่วยอายุ 71 ปี ดิฉันก็คิดใจอยู่ในใจ " โอ้..แม่เจ้า 71 ปีแล้ว  คุณลุงยังอยากจะขันอยู่อีกเหรอ"  ประวัติผู้ป่วยเป็น HT&DM  9 ปี+TB 5 เดือน ผู้ป่วยมารับยา DOT TB ที่โรงพยาบาลท่าศาลาทุกวัน ตามนโยบาย DOT โดยเจ้าหน้าที่ของเครือข่ายท่าศาลา-นบพิตำ ซึ่งโรงพยาบาลท่าศาลาดูแล  ความสนิทสนมกับ MR.TB  (น้องวิเชียร )คุณลุงจึงได้บอกปัญหาหัวใจให้น้องเชียรรู้  คุณลุงเริ่มฉีดอินซูลินเมื่อ 14 กค.2554 เมื่อน้ำตาล 475 mg/dl  คุณลุงก็คงฉีดบ้างไม่ฉีดบ้าง เพราะน้ำตาลไม่เคยต่ำกว่า 200 เลย ทีมก็ได้ส่งพบทั้งโภชนากร , เภสัชกร อยู่หลายครั้งแต่ก็คงแก้ไขไม่ถูกจุด

          ดิฉันก็มีคำถามในใจว่าทำไมคุณลุงถึงให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวนัก  จึงไปเจ๊าะแจ๊ะกับพี่แดง (ทีมเยี่ยมบ้าน) คุยกับพี่แดงบอกว่าเคยไปเยี่ยมบ้านคุณลุงแล้ว  คุณลุงมีภรรยาที่ยังดูสวย อายุน้อยกว่าคุณลุงเป็น 10 ปี และไม่มีโรคเรื้อรัง  ดิฉันก็เลยถึงบางอ้อ 

          ในทีมดูแลผู้ป่วยก็เลยมาคิดกันว่าจะแก้ไขปัญหาให้คุณลุงอย่างไรกันดี  ก็มาลงเอยกันที่ " ยาบำรุง "  เลยให้น้องเชียรเอา MTV ให้คุณลุงกินวันละ 1 เม็ด  ดิฉันก็ไม่ทราบว่าคุณลุงนกเขาขันดีหรือไม่  แต่คุณลุงก็ยอมฉีดยาโดยดีแลกกับการกิน MTV วันละ 1 เม็ด และเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ดิฉันได้เป็นค่าน้ำตาลของคุณลุง น้อยกว่า 200 นั่นคือ 193 mg/dl

          วันนี้คุณลุงหายขาดจากวัณโรคแล้ว  ส่วนโรคเบาหวานแม้ว่าจะยังควบคุมได้ไม่ดีนัก  แต่พวกเราก็ดีใจที่สามารถแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตให้กับคุณลุงได้  บางครั้งบางคราการที่เราสามารค้นหาสิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจคนไข้ได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ต้องใช้ยาให้มากมาย  เพราะว่า " ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว " จริง ๆ

          บทเรียนที่ได้รับจากคุณลุงทำให้ดิฉันต้องมานั่งคุยกับน้อง ๆ เภสัชกร  ในการสร้างความคุ้นเคยและประเมินความพร้อมของผู้ป่วยก่อนสอนให้ผู้ป่วยหัดฉีดยาด้วยตนเอง  เนื่องจากที่ผ่านมามักจะเรียกผู้ป่วยเข้าห้องให้คำปรึกษาด้านยา แล้วก็เอาปากกา เข็ม ยาฉีดขึ้นมาแล้วก็สอน...สอน...สอน  โดยไม่ได้สนใจว่าผู้ป่วยรู้สึกอย่างไร เช่น กลัว...เข็ม หรือ อาย...ที่จะต้องเปิดพุงให้คนที่ไม่เคยรู้จักดู  ซึ่งถ้าใจของผู้ป่วยไม่พร้อม ก็ย่อมจะคิดไปต่าง ๆ นานาได้  ความร่วมมือในการใช้ยาก็จะน้อยลง

           ดิฉันคิดว่าสำหรับคุณลุงแล้ว MTV คงแทน ไวอากร้า ได้ ฮา........

                นุชนาฎ  ตัสโต

หมายเลขบันทึก: 474158เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2012 18:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กรณีนี้ให้ข้อคิดแก่คนทำงานได้ดีมากเลย และนาฏเขียนบันทึกได้น่าอ่าน นึกเห็นภาพเลย เข้าใจง่าย และมีอารมณ์สนุกแฝงอยู่ด้วย

ขอบพระคุณคะอาจารย์ นาฎนะพยายามฝึกฝนในการเขียน เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท