ปฏิบัติการหย่านมแม่..แงแง


เป็นทั้งเสียงร้องของลูก และของแม่ กับการเติบโตอีกขั้นหนึ่งของลูกน้อยที่กำลังจะก้าวพ้นวัยทารก

เฏกินนมแม่ตั้งแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบันนี้วัย 16 สู่ 17 เดือน หลังจากอายุสี่วันแรกในโรงพยาบาล ที่แม่มือใหม่มะงุมมะหงาหรากับการให้นมลูก อุ้มก็ไม่เป็น น้ำนมก็ไม่ไหล หัวนมก็บอด ลูกก็ร้อง เครียดทั้งแม่ ทั้งยาย ทั้งพ่อ ทั้งลูก จนต้องพึ่งนมผสมบ้างในช่วงเวลาที่อยู่โรงพยาบาล แต่ด้วยความอึด และไม่ยอมแพ้ ซึ่งแม่ขอแนะนำให้คุณแม่ทุกคนอย่ายอมแพ้เป็นอันขาดกับสัปดาห์แรกของการให้นมลูก เพราะหากแม่จิตใจไม่เข้มแข็งแล้ว นั่นหมายถึงลูกของคุณต้องดื่มนมผสมตั้งแต่เริ่มลืมตาดูโลก ไม่จนกระทั่งหย่านมเลยทีเดียว

คำแนะนำจากอาจารย์จันว่าน้ำนมไม่ไหล ห้ามออกจากโรงพยาลเด็ดขาด อยู่โรงพยาบาลให้พยาบาลแนะนำจนกว่าจะลงตัวดีที่สุด เป็นสิ่งที่จริงและถูกต้องมากที่เดียว เพราะหากตัดสินใจออกจากโรงพยบาลทั้ง ๆ ที่น้ำนมยังไม่ไหล และให้นมผสมลูกไปพร้อม ๆ กับรอน้ำนมมานั้น มีความเสี่ยงสูงที่ลูกจะได้ดื่มนมผสม (ที่แม่อ่านส่วนผสมจากฉลากแล้วนั้น ต้องตกใจ เมื่อหนึ่งในส่วนผสมคือน้ำมันดอกทานตะวัน และสารอาหาร ๆ ที่ไม่ใช่นม แต่เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตเท่านั้น)

หลังจากบีบเค้น และให้ลูกดูดบ่อย และดูดนาน จนลงตัว และเข้าใจวิธีการให้นมในระดับหนึ่งเฏจึงได้ดื่มนมแม่ทุกวัน จากเต้าบ้าง จากขวดที่ปั๊มเก็บไว้บ้าง จนกระทั่งหนึ่งเดือนผ่านไป อุปสรรคขัดขวางการให้นมยังไม่หมด เมื่อแม่มีอาการเต้านมอักเสบ จากการที่มีน้ำนมเหลืออยู่ภายใน หรือลูกดูดไม่หมด ซึ่งส่วนหางนมนี้ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยไขมันที่จำเป็นต่อการพัฒนาการของสมอง (ดังนั้นจึงควรให้ลูกดูดจนรู้สึกว่าน้ำนมเหลืออยู่ในเต้านมน้อยที่สุด) ไขมันที่หลงเหลืออยู่ภายในเต้านมนี้เองที่ไปอุดตันที่ท่อน้ำนมจนทำให้เกิดอาการเต้านมคัด ตึง และเจ็บ แสนทรมาน ลูกก็ดูดไม่ออก อ่านวิธีการนวดเต้านมจากฉลากข้างเครื่องปั๊มนม ทำตามทุกขั้นตอนก็แล้วแต่ก็ไม่ได้ผล แม่ตัดสินใจไปปรึกษาศูนย์ฯ นมแม่ ตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ จึงได้รู้ว่า วิธีการนวดเต้านม และการประคบร้อนที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร

เขียนมาถึงตรงนี้ คุณแม่มือใหม่ส่วนใหญ่ จะห่างจากการหาความรู้เรื่องการให้นมที่ถูกต้อง เพราะมั่นใจว่ามีคุณยาย ผู้มีประสบการณ์คอยดูแลอยู่ใกล้ ผู้เขียนก็แปลกใจว่าในสมัยก่อน ไม่มีเครื่องปั๊ม ไม่มีองค์ความรู้ที่เข้าถึงง่ายเช่นปัจจุบัน คุณย่า คุณยายกลับเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แบบที่พบปัญหาน้อยมาก เรื่องการนวด และการประคบเต้านมนั้น คนเฒ่าคนแก่รอบตัวนั้นไม่มีใครรู้เลย จนกระทั่งกลับจากศูนย์ฯนมแม่ จึงได้กลับมาสอนคุณยาย เผื่อมีคนรู้จักถามจะได้อธิบายเป็นวิทยาทานกันต่อไป โดยผู้เขียนไม่ขออธิบายในส่วนของบันทึกนี้ อยากให้ผู้ที่มีปัญหาเข้าไปพบปรึกษาที่ศูนย์นมแม่จะดีที่สุด

จบจากเต้านมอักเสบ ก็เจอหัวนมแตก เลือดออก ปั๊มนมที เลือดกระฉูดเข้าเครื่องปั๊ม ฟังดูน่ากลัว แต่ใครไม่เป็นแม่นี่ จินตนาการไม่ออกจริง ๆ ถึงประสบการความเจ็บถึงใจนี้

จนถึงขณะนี้การให้นมกลายเป็นเรื่องง่าย ไม่ว่าท่าไหน ๆ ก็ดูดนมกันได้จะตีลังกา คุดคู้เหมือนลูกหมู หรือท่านอน ท่านั่ง ท่ายืน ฯลฯ กลายเป็นเรื่องขำขันสำหรับคนใกล้ตัวที่เฏสามารถหาท่าทางพิสดารในการกินนมแม่ได้เสมอ

ลูกโตขึ้นหน่อย เริ่มรู้ความมากขึ้น ก็เริ่มกัดหัวนม ซึ่งอันนี้ก็เป็นสงครามย่อย ๆ ที่ต้องใช้วิธีทางการทูตและทางการทหารอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง จนสามารถคลี่คลายปัญหาไปได้ แต่ปัญหาทั้งหมดนั้นก็มาถึงวันสิ้นสุด และอาจยากและเหนื่อย (ใจ) กว่าปัญหาใด ๆ ทั้งหมด เมื่อลูกโตพอที่จะหย่านมแม่

ทั้งลูกทั้งแม่ ต่างอาลัยอาวรณ์ และเริ่มรู้สึกเหมือนว่าจะถูกแยกออกจากกัน ต้องอาศัยกำลังใจที่เข้มแข็ง และการวางแผนที่ค่อนข้างชัดเจนและแน่นอน

สำหรับเฏนั้น เลิกดูดขวดตั้งแต่ย่างเข้าเดือนที่แปด และง้อนมผสมน้อยมาก 6 เดือนแรกของเฏ 98% จึงเป็นนมแม่ และตั้งแต่เดือนที่ 8 มาก็เริ่มนมสด หรือนมโค โดยการดื่มจากแก้วหรือหลอดดูด ประกอบกับนมแม่ที่ยังเป็นกระแสหลัก

ปฏิบัติการหย่านมเริ่มต้นเมื่อเฏเริ่มอายุ 1 ขวบเต็ม กับปัญหา night terror ที่มีหลายปัญหาซับซ้อนพันกันตุงนัง แม่จึงเริ่มอย่านมมื้อดึกของเฏ ใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์ (หลายคนใช้เวลาเพียงไม่กี่วันในการหย่านมทุกมื้อ) แต่สำหรับแม่นั้นอยากให้เป็นไปอย่างช้า ๆ โดยไม่กระทบความรู้สึกของทั้งลูกและแม่มากนัก รวมทั้งแม่ก็มีเวลามากพอเพราะไม่ต้องออกทำงานนอกบ้านที่จะต้องเร่งรัดจนเกินไป) เฏสามารถเลิกนมมื้อดึก และการหลับคาเต้านมในเวลากลางคืนได้ และสุขภาพฟันก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อผนวกกับการแปรงฟันที่ถูกต้อง (เรื่องวิธีการแปรงฟันที่ถูกต้องนั้นก็ควรปรึกษาหมอฟันเช่นกัน การใช้ผ้าอ้อมเช็ดตามแบบคุณยายนั้นใช้ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่การวางรากฐานการรักษาความสะอาดที่ถูกวิธีให้กับลูกนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ดังนั้นผนวกผ้าอ้อมพันมือแม่ กับการฝึกลูกใช้แปรงสีฟัน ในท่าทางการแปรงฟันที่ถูกต้องนั้นจะดีที่สุด)

เดือนกว่า ๆ ต่อมาแม่เริ่มงดนมมื้อกลางวันก่อนนอน เพื่อให้เฏเลิกหลับคาเต้านมในเวลากลางวัน ซึ่งก็ได้ผลดี สองสัปดาห์ผ่านไป เฏสามารถนอนหลับเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งการดูดนมอีก เหลือเพียงนมมื้อหลังอาหาร และมื้อตื่นนอน และมื้อว่าง ๆ แล้วแต่ลูกต้องการ

นมเมื่อตื่นนอนนั้นก่อนหน้านี้เฏจะดูประมาณหกโมงเช้า ร่นมาเป็นตีห้า และปัจจุบันกลายเป็นตีสี่กว่า ๆ ซึ่งเมื่อดูดอิ่มก็นอนหลับต่อ ถือเป็นกุศโลบายของแม่ที่ตื่นสาย เพราะต้องทำงานกลางคืน แต่เมื่อเฏเริ่มรู้สึกตัวเร็วขึ้น ๆ ทำให้เริ่มไม่ต่างอะไรกับนมมื้อดึก เพราะส่งผลต่อสุขภาพฟัน และเฏก็เริ่มงอแง ประกอบกับเราเปลี่ยนสถานที่นอนบ่อย กิจวัตรก่อนเข้านอนจึงเปลี่ยนแปลงไม่สม่ำเสมอ ทำให้เฏอ้อนที่จะกินนมเมื่อตื่นมากขึ้น แม่จึงตัดสินใจหย่านมทั้งหมด ทั้งมื้อเช้า และกลางวัน

ขณะนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการหย่านมโดยสิ้นเชิงของเฏ เฏกินอาหารได้มากขึ้น ไม่รู้สึกสูญเสียมากนัก (ซึ่งตรงข้ามกับแม่) ในส่วนของเฏน่าจะประสบผลสำเร็จไปด้วยดี หากแม่มีกำลังใจที่เข้มแข็ง และไม่ใจอ่อนให้เฏกินนมเสียก่อน เพราะน้ำนมที่คัดตึง และความรู้สึกสบายระหว่างการให้นม สายสัมพันธ์เล็ก ๆ นี้ ไม่ให้ลูกกินนมตัวเอง ไม่เข้าใจจริง ๆ 

หมายเลขบันทึก: 473648เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2012 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"หยดน้ำนมแม่นั้นกลั่นจากอก

แม่ฟูมฟักเลี้ยงลูกผูกจิตมั่น

ยามลูกหิวป้อนให้ลูกทุกวี่วัน

ดูดดื่มพลันทันจิจไม่ผิดใจ

รสกล่อมกล่อมพร้อมคุณค่าอาหารเสริม

ไม่ต้องเติมหรือตัดธาตุไหนไหน

ภูมิต้านทานมีครบสบฤทัย

เชื่อมสายใยแม่ลูกผูกสัมพันธ์....

เขียนเมื่อปี 2525 ณ.รพปากพะยูน

ขอมอบแด่น้องเกตในปีใหม่นี้

ขอบคุณค่ะบัง เป็นปีที่เกตเกิดตอนนี้ก็ครบรอบ 30 ปีพอดิบพอดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท