โคลงสี่สุภาพ สอนตน (ปัญจพิธกามคุณ)


๐  สิ่งใดในแหล่งหล้า               ล้วนภินท์
พังพ่ายกลับคืนดิน                   ดั่งนี้
ความดีสิถวิล                            เวียนก่อ ไว้แฮ
พุทธองค์ตรัสชี้                        ชักช้าอยู่ไย



๐  อาลัยเป็นเหตุให้                  ถวิลหา
มวลกิเลสวิสภาค์                      พรั่งพร้อม
หลงโลกแห่งมายา                   ยึดมั่น จริงแฮ
จึ่งทุกข์มารุมล้อม                    เร่าร้อนรุมทรวง



๐  ห่วงใดจักเทียบได้                 ด้วยบุตร
ดังเชือกคอยยื้อยุด                    สยบเจ้า
รักอุรสรักประดุจ                        ดั่งเนตร ตนแล
เหน็ดเหนื่อยทุกค่ำเช้า              ชุบเลี้ยงบุตรธิดา



๐  ภริยาดั่งเชือกร้าย                  รึงหัตถ์
คอยหน่วงคอยรึงรัด                   รติไว้
นิราศห่างประหวัด                      ประหวั่นจิต จริงนา
เกรงแม่บ่สัตย์ไซร้                      สุดแท้ทรมาน



๐  ศฤงคารคอยเข้าควบ              คุมบา -ทาแฮ
กุมจิตเสาะแสวงหา                      ห่อนรู้
บ่่พอเพราะโลภา                          พันธนะ จิตแล
ปุถุชนทุกผู้                                  ไป่พ้นพันธน์การ

 

๐  บ่วงมารคอยรัดร้อย               รึงจิต
รูปรสกลิ่นเสียงพิษ                     ผัสสะร้าย
ปัญจพิธกามคุณฤทธิ์                ร้ายยิ่ง
ท่านจึ่งอุปมาคล้าย                    อริผู้ผจญ

 

๐  ชน ใดที่ล่วงพ้น                   พัวพัน
ชน ย่ีอมสบสุขสันต์                  สร่างเศร้า
ชน ใดใคร่ใฝ่ฝัน                      ฝังจิต
ชน ทุกข์ทุกค่ำเช้า                   เฉกได้พรรณนา

 

๐  ตัณหาช่างโหดร้าย             รุนแรง
ดุจอัคคนีไร้แสง                        ส่องไซร้
มีแล้วมักเปลี่ยนแปลง               ไปสู่ แสวงแฮ
ยึดมั่นกุมกอดไว้                       วัฏฏะนี้ยาวนาน

 

๐  อยากผ่านอยากหลุดพ้น        พันธนา
แต่กิเลสแลตัณหา                      ห่ำหั้น
บุญเพรงสั่งสมมา                       มีไม่ มากแฮ
จึ่งโศกสุดแสนกลั้น                    กล่าวนี้เรียมเอง

 

๐  บรรเลงโคลงสี่ไว้                   หวังสอน ตนเฮย
ยามกิเลสราญรอน                     รุกล้ำ
หวังสติคิดไถ่ถอน                      ตนจาก หล่มแฮ
ดีกว่าถูกขย้ำ                              ขยาดแล้วสังสาร

 

๐  กาลที่เวียนว่ายเวิ้ง                วัฏฏะ
นานเนิ่นเกินกว่าจะ                    ทราบไซร้
ผ่านนรก เปรต อสุระ                 เดรัจ- ฉานนา
ดีเกิดเป็นมนุษย์ได้                    เพราะด้วยกุศลกรรมฯ

 

     ราคะ โทสะ โมหะ ท่านเปรียบว่าเป็นเหมือนไฟ ดังที่ตรัส "อาทิตตปริยายสูตร" สอนชฎิลสามพี่น้อง ว่า ราคคฺคิ โทสคฺคิ โมหคฺคิ ไฟคือ ราคะ โทสะ โมหะ แต่เป็นไฟไร้แสงที่เผาลนจิตใจให้เร่าร้อน  ราคะ ก็คือความกำหนัด ยินดี สิ่งที่น่ากำหนัดยินดี ก็คือปัญจพิธกามคุณ และราคะเมื่อจะเทียบกับตัณหา ก็เปรียบเหมือนกับกามตัณหา เพราะฉะนั้น จึงบอกว่า " ดุจอัคคนีไร้แสง ....... ส่องไซร้"

ขอบคุณคุณครูภาทิพ และครูอาจารย์ทั้งหลายที่แนะนำสั่งสอน 

พระมหาวินัย ๑๘.๐๓ น. ๒ ม.ค.๕๕

หมายเลขบันทึก: 473467เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2012 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ขอพระพุทธํรัตน์กำจัดทุกข์ 
  • ขอพระธรรมนำสุขทุกสมัย 
  • ขอพระสงฆรัตน์กำจัดภัย 
  • ขอพระไตรรัตน์นำสุขจำเริญ เทอญ

 

ขอบคุณอาจารย์ที่มาให้กำลังใจด้วยบทกลอนเพราะๆ อาจารย์สบายดีมั้ย นานแล้วที่ไม่ได้ไปเยี่ยมเยียน  ขออวยพรย้อนหลัง ปีใหม่ก็ขอให้อาจารย์มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง.

คุณยายเอารูปภาพหลวงตา มาให้  ถือว่าเป็นทัสสนานุตตริยะเป็นมงคลอย่างยิ่ง ขอขอบคุณคุณยายด้วย ขอให้มีความสุข สุขภาพร่างกายแข็งแรง.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท