ชีวิตที่พอเพียง : 1463B. เรียนรู้เรื่องวิธีคิดทำงานใหญ่ให้แก่โลก


โลกเราเต็มไปด้วยพลัง หรือศักยภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามที่ปิดกั้นพลังหรือศักยภาพนั้น ในการออกมาสร้างความวัฒนาถาวรให้แก่โลก

ชีวิตที่พอเพียง  : 1463B. เรียนรู้เรื่องวิธีคิดทำงานใหญ่ให้แก่โลก

ผมเพิ่งอ่านหนังสือ The Grandest Challenge : Taking Life-Saving Science from Lab to Village จบวันนี้   ยิ่งอ่านก็ยิ่งได้สัมผัสจิตใจที่บริสุทธิ์หวังสร้างโลกที่ผู้คนอยู่กันอย่างมีความสุข มีการพัฒนาเต็มศักยภาพ   ช่องว่างระหว่างประเทศจนกับประเทศรวยลดลง    ผ่านการทำงานวิจัยสร้างความรู้หรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อสภาพสังคมในประเทศยากจน   โดยคนในประเทศยากจนลงมือสร้างสรรค์เอง

ที่จริงโลกเราเต็มไปด้วยพลัง หรือศักยภาพ   แต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามที่ปิดกั้นพลังหรือศักยภาพนั้น ในการออกมาสร้างความวัฒนาถาวรให้แก่โลก  

ประเทศที่พัฒนาแล้วคลำถูกทาง พบวิธีจัดระบบในการใช้พลังนั้น   ประเทศกำลังพัฒนายังเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม   ผู้เขียนทั้งสองคือ Abdallah Daar และ Peter Singer เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา   คือ Dr. Daar มาจาก Tanzania และ Dr. Singer มาจากประเทศฮังการี เคยเรียนและทำงานในหลายประเทศ เวลานี้อยู่ในแคนาดา    เขียนหนังสือเพื่อชี้ให้เห็นพลังของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ (The Science of Discovery)    และชี้ให้เห็นว่า การค้นพบเท่านั้นไม่เพียงพอ   ต้องการการนำไปใช้ประโยชน์ (The Science of Implementation) ด้วย   

ตรงส่วนของขั้นตอนการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาหรือบรรลุความท้าทายใหญ่ๆ ของโลกนี้แหละที่ต้องการความร่วมมือกันหลายขั้นตอนหลายภาคส่วน ทั้งภาคการกุศลหรือความช่วยเหลือจากประเทศรวยหรือมูลนิธิที่มีเงินมาก  ทั้งภาควิชาการ ซึ่งควรจะมีนักวิชาการในพื้นที่นั้นๆ เองเป็นผู้นำ   และภาคธุรกิจรวมทั้งภาคการเงิน ที่มีกลไกนำเอาสิ่งค้นพบที่ได้ผล มีคุณภาพประสิทธิภาพดี  ออกไปสู่ตลาดอันกว้างขวาง    เพื่อให้คนในประเทศยากจนได้รับประโยชน์ในราคาไม่แพง

หนังสือเล่มนี้ระบุอุปสรรคขัดขวางไว้อย่างละเอียดเป็นรูปธรรมมาก   แต่ระบุด้วยท่าทีว่าจะต้องหาวิธีเอาชนะหรือก้าวข้ามอุปสรรคนั้น   โดยตัวเขาเองได้ลงมือทำมากว่าสิบปี   ในบทสุดท้ายได้ให้ข้อมูลความก้าวหน้าที่บรรลุแล้ว และที่มั่นใจว่าจะบรรลุได้ในอนาคตอันใกล้   รวมทั้งความท้าทายที่จะต้องอดทนฟันฝ่าหวังผลระยะยาว  

องค์ประกอบสำคัญระดับเป็นหัวใจของความสำเร็จคือ ความเชื่อถือซึ่งกันและกัน (trust) ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ   โดยเฉพาะระหว่างภาควิทยาศาสตร์กับภาคธุรกิจ   ต้องไม่ปฏิเสธบทบาทของธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ ในการทำให้ความรู้ที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาหลักๆ ของสังคม (ซึ่งในที่นี้คือปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ)  หรือเทคโนโลยีที่ใช้ได้ผล แปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการ ที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงและได้รับประโยชน์   

หลักสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือความช่วยเหลือต้องเพื่อให้ประเทศยากจนช่วยตัวเองได้    ตัวอย่างที่น่าชื่นชมคือ Grand Challenges Canada   ที่เขามีเป้าหมาย “ช่วยให้ช่วยตัวเองได้” อย่างชัดเจน   โดยมีวิธีทำงานที่น่าชื่นชมมาก คือมีการเลือกเป้าหมายสำคัญทีละเป้าหมาย  เมื่อมีกำลังเพิ่มก็เพิ่มเป้าหมาย   ดังตัวอย่างเป้าหมาย Point-Of-Care Diagnostics ในประเทศยากจน   Saving Lives at Birth เป็นต้น

ความจริงที่น่าสนใจคือ เมื่อมีการทำงานเพื่อเป้าหมายหรือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่มีคุณค่าสูง   และมีวิธีทำงานที่น่าเชื่อถือ   ก็จะมีกองทุน มูลนิธิ ภาครัฐ หรือบุคคล เข้ามาร่วมสนับสนุนในหลากหลายรูปแบบ   เป็นงานที่ท้าทายและให้คุณค่าแก่ชีวิตอย่างยิ่ง

วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 473171เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2012 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบสวัสดีปีใหม่และขอบพระคุณค่ะท่านอาจารย์หมอ

สุดยอดครับ..ขออนุญาตบอกต่อนะครับ..

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์และสวัสดีปีใหม่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท