เรื่องดีที่ มวล. : Retreat สำนักวิชา (๒)


เตือนเรื่องการได้ยินแต่เสียง อาจพลาด ต้องฟังให้รอบด้าน อย่าฟังแต่คนเสียงดังหรือคนที่กระจายเสียง ต้องรู้ข้อเท็จจริง

ตอนที่

วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๔

เช้านี้ดิฉันตื่นขึ้นมาตั้งแต่ตีสี่กว่าๆ นอนต่อไม่หลับเลยลุกขึ้นมาพิมพ์บันทึกเกี่ยวกับกิจกรรมเมื่อวาน เรานัดออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายตั้งแต่ ๐๖ น. ลมพัดแรงมาก คนที่อยู่ในห้องพักนึกว่าฝนตก บนท้องฟ้ามีก้อนเมฆสีเทาๆ อยู่มาก แต่ในที่สุดก็โดนลมพัดไปเหลือแต่ท้องฟ้าใสๆ

พวกเราบางคนก็ขี่จักรยาน บางคนออกเดิน ทะยอยมารวมกลุ่มกันที่สนามหญ้า ออกกำลังกายแบบยืดเหยียดกันหลายท่า ถ่ายภาพ ฯลฯ จนได้เวลาประมาณ ๐๗ น.กว่าก็รับประทานอาหารเช้า บางคนไปอาบน้ำก่อน บางคนก็ไปอาบน้ำหลังกินอาหารเช้า

 

ออกกำลังกาย ยามเช้า

หมอฝน สกาวเดือน นำแสงกุล มาถึงก่อนเวลา ๐๙ น. ตระเตรียมอุปกรณ์มาพร้อมและซักซ้อมกับผู้ช่วย (แหม่ม รัตนากร บุญกลาง) เรียบร้อย ประมาณ ๐๙ น. พวกเราเกือบทั้งหมดพร้อมกันที่ห้องประชุม แต่ยังรออีก ๒ คนที่ยังจัดการภารกิจของตนเองไม่เสร็จ หมอฝนเลยให้ทำกิจกรรม “ท่องสูตรคูณ” เฮฮากันหลายรอบเพราะท่องไม่ผ่านสูตรคูณแม่สอง คนคู่ที่มาสายโดนเพื่อนถามว่าอยากให้ลงโทษอย่างไร เจ้าตัวขอเต้นไก่ย่าง อีกคนขอเดินเป็ด

ต่อจากนั้นเราให้แต่ละคนเลือกหัวใจไปคนละ ๑ ดวง (แต่ละดวงมีคำติดไว้) แล้วให้หาคู่ให้เจอ จับคู่กัน นึกย้อนถึงกิจกรรม "ผลส้ม" เมื่อวาน พูดคุย แลกเปลี่ยน ซักถามเพื่อนแล้วเขียนบอกว่าคู่ของตนเป็นส่วนใดของส้ม (สามารถทำสิ่งดีๆ อะไรให้แก่สำนักวิชาได้บ้าง) เมื่อหมดเวลาที่กำหนดให้คือ ๕ นาที ก็ให้เล่าสิ่งนั้นให้ที่ประชุมฟัง คู่แรกปล่อยให้เล่าไปเอง คู่ถัดไปจึงจำกัดเวลา และต่อมามีการเคาะสัญญานเสียงบอกหมดเวลาด้วย

 

บอกเล่าว่าคู่ของตนเป็นส่วนใดของผลส้ม

จากกิจกรรมนี้ บางคนบอกว่าได้รู้จักกันลึกขึ้น ได้เห็นโครงสร้าง ได้รู้ว่าแต่ละคนแตกต่างหลากหลาย ถ้ามารวมกันจะรวมเป็นผลส้มที่สมบูรณ์ได้ ได้รู้จักตัวเอง รู้จักเพื่อน... มองกระจกผ่านส้ม เห็นตัวเองและเห็นคนอื่นด้วย เห็นไปถึงจิตใจ...

หมอฝนชวนคุยว่าจังหวะที่เริ่มจับเวลา ใครมองเห็นอะไร... สิ่งที่หมอฝนอยากให้เราได้เรียนรู้คือการที่ค่อยๆ step เอาเข้ากรอบ จะไปได้ง่ายขึ้นกว่าการทำเลยทันที ในขณะที่พวกเราบอกว่าตอนที่ยังไม่จับเวลามองเห็นความดีของเพื่อนเยอะ ตั้งใจจะอ่านตามที่เขียน แต่พอจับเวลา จะต้องสรุปวิธีคิด บางคนบอกว่าจะเรียนรู้ใครสักคนต้องใช้เวลาในการศึกษา คนเราไม่ใช่มีแต่มุมดี อีกมุมหนึ่งก็อาจสำคัญ... อย่าตัดสินใครด้วยเวลาสั้นๆ... เป็นต้น

หมอฝนสมมติสถานการณ์ว่าตนเองกำลังชกคนอื่นอยู่ แต่ส่งเสียงบอกว่าถูกคนอื่นแกล้ง เพื่อเตือนเรื่องการได้ยินแต่เสียง อาจพลาด ต้องฟังให้รอบด้าน อย่าฟังแต่คนเสียงดังหรือคนที่กระจายเสียง ต้องรู้ข้อเท็จจริง

พักกินอาหารว่างกันเมื่อเวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. ถัดไปเราแบ่งเป็นทีมกู้ภัย ๓ กลุ่มย่อย ทำกิจกรรม “ดาวกู้โลก” ที่ผลออกมาต่างกันคือมีกลุ่มหนึ่งที่ดาวขาดแคลน กลุ่มที่สองมีดาวใช้แบบพอดีๆ กลุ่มที่สามมีดาวเหลือเฟือ หมอฝนมีคำถามว่ารู้สึกอย่างไรกับดาวที่เหลืออยู่ในมือ และถามวิธีคิดของแต่ละกลุ่ม

 

ทีมกู้ภัย ใช้ดาวกู้โลก

เราได้เรียนรู้เรื่องทีมกู้ภัยที่มีศักยภาพไม่เท่ากัน มีการวางแผนหรือไม่ อย่างไร การวางแผนมีผลต่อการตัดสินใจ การที่วางแผนไม่ช่วยในบางสถานการณ์ไม่ผิด การวางแผนก็มีโอกาสผิดพลาด ในการทำงานจริงสำคัญอยู่ที่ว่าได้สรุปบทเรียนหรือเปล่า สรุปแล้วมีการนำเอามาใช้หรือเปล่า เชื่อมโยงไปถึงเมื่อทำอะไรแล้วไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ รู้สึกท้อ มีการดูแลใจตนเองหรือเปล่า ไม่จมไปกับความทุกข์/ความเสียใจ

หมอฝนให้ข้อคิดว่าอย่าจมกับทั้งด้านดีและด้านลบ ต้องถอยออกมามอง ไม่ตกไปในร่องเดิมๆ คนรอบข้างสำคัญ การเป็นกัลยาณมิตรให้เพื่อนแล้วเติบโตขึ้นได้ พร้อมทั้งขยายความว่ากัลยาณมิตรเป็นอย่างไร บางคนอาจคอยช่วยปลอบใจ บางคนชี้ให้เราไปถูกทาง จึงอยากให้เปิดใจกว้าง และพร้อมที่จะเป็นกัลยาณมิตรให้เพื่อน

จากกิจกรรม “ดาวกู้โลก” หมอฝนสรุปว่ากลุ่มของพวกเราออกมาในแนวมีจิตเมตตา มีการพูดคุยในกลุ่ม มีการแบ่งปันในกลุ่มดี ฝากกว่าในการทำงาน อยากให้มีบรรยากาศดีๆ

จบกิจกรรมตอนเที่ยง ถึงเวลาอาหารกลางวันพอดี

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 472583เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2011 19:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท