เบื้องหลังวิกฤติหนี้ยุโรป+ทางออก [EN]


สำนักข่าว BBC ตีพิมพ์เรื่อง 'What really caused the euro zone crisis (BBC)' = "(จริงๆแล้ว) อะไรอยู่เบื้องหลังวิกฤติกลุ่ม (เงิน) ยูโรโซน", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ 

  • [ crisis ] > [ ไคร้ - สิส - s] > http://www.thefreedictionary.com/crisis > noun = วิกฤติ; คำนี้มาจากภาษากรีก ศัพท์เดิม = to seperate, judge = แบ่งแยก ตัดสิน (ผิดถูก ดีชั่ว ฯลฯ)
ภาษาอังกฤษ > คลิกที่ลิ้งค์เพื่อฟังเสียงเจ้าของภาษา + ออกเสียงตาม 3 รอบ; แถบแต้มสี = ให้ย้ำเสียงหนัก (accent) ซึ่งส่วนใหญ่คำนานเน้นพยางค์หน้า, กริยาเน้นพยางค์หลัง, พยัญชนะท้ายคำออกเสียง "-ะ" สั้นและเบา
.
 
 การรวมกลุ่มเงินยูโรทำในปี 1997/2540, มีการห้ามขาดดุลการคลัง (รัฐใช้เงินมากกว่ารายรับ) เกิน 3%, ชาติแรกที่ละเมิดข้อตกลงนี้ คือ เยอรมนี... ตามมาด้วยฝรั่งเศส และชาติอื่น รวมแล้ว คือ สเปน 9, ฝรั่งเศส 6, เยอรมนี 5, อิตาลี 3 (หน่วยปีงบประมาณ)

กรีซมีหนี้มากตั้งแต่ก่อนเข้ากลุ่มเงินยูโร แต่ตกแต่งตัวเลขให้ดูดีเกินจริง... หลังเข้าก็ตกแต่งตัวเลขต่อ ทำให้ดูเหมือนขาดดุลน้อยกว่าจริง

ธรรมดาของโลกการเงิน คือ คนเครดิตดีจะกู้ได้ด้วยดอกเบี้ยถูกกว่าคนเครดิตไม่ดี เนื่องจากความเสี่ยงน้อยกว่า... การออกพันธบัตรรัฐบาลหรือการกู้หนี้ของรัฐก็คล้ายกัน

หลังปี 2008/2551 ประเทศยุโรปใต้มีหนี้ภาครัฐสูงมาก ต้องจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรเพิ่ม คือ อิตาลี 6+%, สเปน 5+% (ถ้าถึง 7% จะทำให้ประเทศเสี่ยงล้มละลายสูงมาก) สูงกว่าฝรั่งเศส 3+%, เยอรมนี 2+%

ช่วงแรกที่มีการรวมกลุ่มเงินยูโร... ทุกประเทศในกลุ่มดูจะมีเครดิตดี กู้เงินในรูปเงินยูโรกันสนุก ดอกเบี้ยต่ำ ทว่า... ภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ ประชากรวัยเด็กลดลง-วัยทำงานลดลง-สูงอายุมากขึ้น ทำให้มีคน(วัยทำงาน)จ่ายภาษีน้อยลง คนรับสวัสดิการ(สูงอายุ)มากขึ้น

การรวมกลุ่มเงินยูโรทำให้ประเทศร่ำรวยในยุโรปกลาง-เหนือ โดยเฉพาะเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ มีค่าเงินถูกลง ส่งสินค้าออกได้มากขึ้น โดยเฉพาะส่งไปขายยุโรปใต้แบบปลอดภาษีมากขึ้น มีคนเข้าไปเที่ยวมากขึ้น (ค่าใช้จ่ายถูกลง)

ตรงกันข้าม, ประเทศล้าหลัง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ชายขอบ (รอบนอก) ยุโรป เช่น ไอร์แลนด์ ฯลฯ และยุโรปใต้ เช่น โปรตุเกส สเปน กรีซ อิตาลี ฯลฯ มีค่าเงินสูงขึ้นเกินจริง ส่งสินค้าออกได้น้อยลง ขาดดุลการค้า, นำเข้าสินค้าจากยุโรปกลาง-ใต้แบบปลอดภาษีมากขึ้น

ยุโรปใต้สูญเสียนักท่องเที่ยวไปให้ประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้เงินยูโร โดยเฉพาะตุรกีจะมีค่าเงินต่ำกว่า เข้าไปเที่ยวได้ประหยัดกว่า เช่น โรงแรมระดับเดียวกันกับกรีซราคาต่ำกว่ากัน 2.5-3 เท่า ฯลฯ

 [ BBC ]

ภาพกราฟ (1): ดุลการค้าหลังรวมกลุ่มเงินยูโร, เยอรมนีได้เปรียบดุลการค้า ฝรั่งเศสขาดดุลการค้าเล็กน้อย ประเทศยุโรปใต้ (อิตาลี สเปน) ขาดดุลการค้ารุนแรง [ BBC ]

ตรงนี้ทำให้สำนักวิเคราะห์ Stratfor พยากรณ์ว่า อีก 100 ปีข้างหน้า... กรีซจะสิ้นชาติ ตุรกีจะเป็นมหาอำนาจคล้ายอาณาจักรออตโตมันน์ที่ครอบครองอาณาเขตจากอาฟริกาตอนบน (ซะฮารา) ไปจนถึงเอเชียกลาง เช่น เติร์กเมนิสถาน ฯลฯ และยึดอาณาเขตรัสเซียทางใต้ได้

 [ RFERL ]

ภาพแผนที่ (2): อิรักมีชนกลุ่มใหญ่เป็นชาวอาหรับ ทว่า... แตกกันโดยนิกายในศาสนาอิสลามเป็น 2 กลุ่ม (ซุนนี + ชิไอท์) และชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ท (เคิร์ทเป็นชนกลุ่มน้อย ชายขอบ 3 ประเทศ อยู่ระหว่างอิรัก-ตุรกี-อิหร่าน) ทำให้มีกลุ่มอิทธิพล 3 กลุ่มในอิรักได้แก่ [ RFERL ]

  • (1). อาหรับ-ซุนนี (นิกายนี้เป็นนิกายใหญ่ พบทั่วโลก)
  • (2). อาหรับ-ชิไอท์ (นิกายนี้พบมากในอิหร่าน-อิรักด้านติดกับอิหร่าน และอีกไม่กี่ประเทศในโลก) 
  • (3). เคิร์ด 

ตรงนี้เช่นกัน... ดูจะทำให้โลกตะวันตกสนับสนุนกบฏชาวเคิร์ด ซึ่งอยู่ชายขอบ (รอบนอก) ระหว่างตุรกี-อิรัก-อิหร่านแบบ "บ่ฮู้บ่หัน (ไม่รู้ไม่เห็น)", ให้บริษัทน้ำมันไปรับสัมปทานกับชาวเคิร์ดโดยตรง ซึ่งจะทำให้ฝ่ายเคิร์ดมีเงิน เข้มแข็งขึ้น และอาจแยกประเทศได้ในอนาคต (นัยว่า ต่อไปอาจทำตุรกี-อิหร่าน ปั่นป่วนได้ไม่มากก็น้อย)

กลับมาที่ยุโรป... เมื่อยุโรปใต้ขาดดุลการค้ามาก ภาคเอกชนมีหนี้สูง... ภาครัฐก็กู้เงินเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศเจ้าของหนี้ใหญ่ไม่ใช่ใครที่ไหน ทว่า... เป็นเยอรมนี (และฝรั่งเศสรองลงไป)

ถ้ายุโรปใต้ไม่ล้ม... เยอรมนีจะรวย 2 เด้ง คือ ภาคเอกชนได้เปรียบดุลการค้ายุโรปใต้ ภาครัฐให้รัฐบาลยุโรปใต้กู้ดอกเบี้ยสูงขึ้นเรื่อยๆ คล้ายกับยึดครองยุโรปใต้ได้ทางเศรษฐกิจทีเดียว

กลไกสำคัญที่ทำให้ประเทศหนี้สูงพอจะแข่งขันกับนานาชาติได้ คือ การลดค่าเงิน เช่น ที่ไทยทำตอน IMF ซึ่งทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง สินค้าส่งออกราคาถูกลง-ส่งออกได้มากขึ้น, นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น เนื่องจากเงินสกุลอื่นแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวถูกลง ฯลฯ

ตรงนี้ประเทศยุโรปใต้ เช่น กรีซ ฯลฯ จะทำไม่ได้ ยกเว้นจะลาออกจากกลุ่มยูโร ซึ่งเยอรมนีที่ได้เปรียบจากการรวมกลุ่มค่าเงินขู่ว่า ถ้าลาออกจะไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย (วิธีที่ดีสำหรับกรีซ คือ รับความช่วยเหลือไปก่อน พอเอาตัวรอดได้ ไม่ถึงกับล้มละลาย... ให้รีบลาออกทันที)

การลดค่าเงินมีผลสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ค่าแรงจะลดลง ทำให้แข่งขันกับนานาชาติได้ ทว่า... เยอรมนีฉลาดในเรื่องการทำค่าแรงให้ต่ำกว่าค่าแรงในยุโรปใต้ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติ

 [ BBC ]

ภาพกราฟ (3): ค่าแรงในเยอรมนีเกือบไม่เพิ่มเลยในช่วง 12 ปี ต่างจากประเทศอื่นๆในกลุ่มยูโรโซน [ BBC ]

กลไกที่เป็นไปได้ คือ มีการนำเข้าแรงงานต่างชาติแบบถูกกฎหมาย (อังกฤษก็ทำคล้ายๆกัน) โดยเฉพาะตุรกีซึ่งมีคนพูดเยอรมันได้มาก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่เพิ่มค่าแรง, และควบคุมเงินเฟ้อให้ต่ำจากการเป็นผู้ผลิตประสิทธิภาพสูงคู่ คือ ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรได้แทบทุกระดับ

คนเยอรมันมีการศึกษา-ฝีมือทางช่างสูงมาก เนื่องจากมีระบบให้นักศึกษาฝึกงานในโรงงานอย่างเป็นระบบมากว่า 100 ปี ทำให้คนเยอรมันมีรายได้สูงกว่าแรงงานต่างชาติจากการทำงานวิชาชีพต่างๆ หรือเป็นแรงงานฝีมือ

ทางออกของประเทศยุโรปใต้ตอนนี้ คือ รับความช่วยเหลือพร้อมกับลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งจะทำให้คนตกงานมากขึ้น เช่น สเปนตอนนี้มีคนตกงาน 20%

อัตราการว่างงานเกิน 10% ถือว่า เสี่ยงการเมืองป่วน เช่น จลาจล ฯลฯ สูงในเขตเมือง, ที่คนสเปนยังพออยู่ได้ เพราะมีภาคการเกษตร และเศรษฐกิจแบบพออยู่พอกินระดับท้องถิ่นสูงกว่ากรีซ ฯลฯ

ภาพรวมของวิกฤติหนี้ยุโรปตอนนี้ คือ ประเทศยุโรปกลาง-เหนือที่ได้เปรียบจากการรวมกลุ่ม โดยเฉพาะเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ มีแนวโน้มจะลุ้นให้กลุ่มเงินยูโรอยู่ต่อ ไม่แตก เพื่อให้ได้เปรียบดุลการค้ายุโรปใต้ และขยายอิทธิพลไปครอบครองธุรกิจทั่วยุโรปมากขึ้น

ทางเลือกทางรอดของประเทศยุโรปใต้ที่น่าจะดีตอนนี้ คือ ยอมเจ็บหน่อย รับความช่วยเหลือไปก่อน แปรรูปรัฐวิสาหกิจ-สัมปทาน ให้ทีมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งคนเก่งๆ ไปบริหาร ลดคอรัปชั่นให้น้อยลง นำเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อหนี้ลดลง... จะต้องขายหุ้นส่วนใหญ่คืนให้รัฐบาลประเทศเดิมอย่างน้อย 1/2

ประเทศยุโรปกลาง-เหนือที่ก้าวหน้ากว่า ควรให้ความช่วยเหลือยุโรปใต้ทางการศึกษา ทั้งระดับการศึกษาพื้นฐาน และให้โอกาสทางการศึกษา เพื่ดให้ผลิตสาขาขาดแคลนเพิ่ม 3 เท่า โดยเฉพาะหมอฟัน วิศวกร/สถาปนิก/ช่างอาชีวะสาขาขาดแคลน หมอ นักบัญชี นักบิน พยาบาล ฝังเข็ม (ไทยก็ควรผลิตเพิ่มเช่นกัน)

เมื่อวิกฤติบรรเทาเบาบางลงไปแล้ว... ประเทศยุโรปใต้ควรรีบซื้อรัฐวิสาหกิจ-สัมปทานคืนอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง เลิกใช้เงินยูโร ลดค่าเงิน เพื่อให้แข่งขันกับนานาชาติได้ หรือไม่ก็ใช้เงินยูโรอีกชุดหนึ่ง ซึ่งอาจใช้ชื่อ เช่น ยูโหล่ ยูรอยด์ ฯลฯ และกำหนดค่าให้ถูกกว่าเงินยูโร เช่น มีค่า = 1/2 ของเงินยูโร ฯลฯ

ยุโรปมีปัญหาคนต่างด้าวเถื่อนสูง ทั้งจากอาฟริกา และจีน... Bloomberg Business ฉบับภาษาไทย (Issue 43: ธค.53;54-60) รายงานว่า

คนจีนลอบเข้าอิตาลีโดยใช้พาสส์ปอร์ตท่องเที่ยว รวมกลุ่มเป็นโรงงานผลิตสินค้าได้ถูกและเร็วกว่าคนอิตาลี เช่น เมืองปราต้ามีประชากร 188,000 คน มีแรงงานจีนเถื่อน 40,000 คน ฯลฯ

เมื่อทางการอิตาลีจะเนรเทศกลับ... จีนไม่ยอมรับกลับ อ้างว่า ไม่มีหลักฐาน

ลาวกับกัมพูชามีปัญหานี้เช่นกัน คือ คนเวียดนามเข้าไปทำงานแล้วไม่ออกนับแสนๆ คน ลาวเป็นประเทศเล็ก... จะพูดก็คล้ายน้ำท่วมปาก (กลัวเวียดนามถล่ม), ส่วนกัมพูชาก็มีรัฐบาลที่เวียดนามหนุนหลังอยู่เช่นกัน

ประเทศที่มีแรงงานไร้ชาติสูงจะเสี่ยงปัญหาสังคมเรื้อรัง คล้ายกับกรณีคนเนปาลอพยพไปภูฏาน เมื่อทางภูฏานขับไล่ กลับไปเนปาล... ทางเนปาลก็ไม่รับ กลายเป็นผู้ลี้ภัยถาวร

ประสบการณ์จากยุโรปสอนเราว่า การขึ้นค่าแรงสูงเกินจริงมีแนวโน้มจะส่งผลเสีย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติลดลง ดังที่เกิดกับประเทศยุโรปใต้มาแล้ว

ช่วงนี้เป็นเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่... กราบเรียน เรียนสวัสดีปีใหม่กับท่านผู้อ่านทุกๆ ท่านมา ณ ที่นี้ครับ

> ติดตามบล็อกของเราได้ที่นี่ > [ Exteen ][ Twitter ]
  • Thank > Reuters > Source.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 24 ธค.54. ยินดีให้ท่านนำบทความทั้งหมดไปใช้ได้ > CC: BY-NC-ND.
หมายเลขบันทึก: 472263เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2011 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท