เวทีขับเคลื่อนการลด ละ เลิก เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ตำบลแสนทอง


จากการสำรวจสภาวะสุขภาพที่พบว่าคนน่านมีการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อยู่ในระดับที่สูง ประกอบกับข้อมูลสถานะสุขภาพคนน่านที่พบว่าคนน่านมีการป่วยและตายจากโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ความดัน โรคไตวาย อยู่ในอันดับแรกๆ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงนำไปสู่การขับเคลื่อนการลดปัจจัยเสี่ยงและพฤติกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักตัวหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคดังกล่าว

ที่ผ่านมาจังหวัดน่านได้ขับเคลื่อนการลดละเลิกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ตั้งแต่ระดับพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด โดยเริ่มจากการรณรงค์จัดกิจกรรมงานบุญ งานประเพณีปลอดเหล้า เช่น แข่งเรือปลอดเหล้า งานศพปลอดเหล้า งานกีฬาปลอดเหล้า งานวัดปลอดเหล้า งานบวชปลอดเหล้า เป็นต้น

ตำบลแสนทอง อำเภอท่าวังผา ก็มีสภาพปัญหาการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ และที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการลดละเลิกในระดับหมู่บ้าน ตามสภาพบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่ยังไม่มีการขับเคลื่อนร่วมกันในระดับตำบล ดังนั้นองค์การบริหารส่วนตำบลแสนทอง นำโดยนายเผชิญ เนตรวีระ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และนายชัยรัตน์ กอกฟั่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแสนทอง จึงได้ริเริ่มการขับเคลื่อนการลดละเลิกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในระดับตำบลขึ้น โดยใช้งบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบล โดยได้จัดเวทีขับเคลื่อนการลดละเลิกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในระดับตำบลขึ้น ในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลแสนทอง โดยเชิญเอาแกนนำแต่ละหมู่บ้านประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกอบต. แม่บ้าน พ่อบ้าน เยาวชน ผู้สูงอายุ เจ้าของร้านค้าขายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หมู่บ้านละประมาณ ๑๐ คน มาร่วมเสวนาหาทางออกร่วมกันในการลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลง โดยมุ่งเน้น “การลดนักดื่มหน้าใหม่ การขายอย่างรับผิดชอบ การดื่มอย่างรับผิดชอบ และลดการดื่มในงานบุญประเพณีต่างๆ”

งานนี้นายธัญญา วิเศษสุข สาธารณสุขอำเภอท่าวังผา ได้ลงมาเปิดประเด็นจุดประกายการขับเคลื่อนงานด้วยตนเอง โดยชี้ให้เห็นสภาพปัญหาจริงที่พบในพื้นที่ที่เป็นผลกระทบโดยตรงจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทั้งอุบัติเหตุ โรคต่างๆ ปัญหาทางครอบครัว ปัญหาทางสังคม

ในกระบวนการของเวทีได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยรายหมู่บ้านเพื่อให้แกนนำแต่ละหมู่บ้านได้วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในหมู่บ้านว่า มีกลุ่มไหนบ้างที่ดื่ม ดื่มประเภทไหน ในงานใด มักดื่มในสถานที่ใด มีปัญหาหรือผลกระทบจากการดื่มต่อคนในชุมชนอย่างไรบ้าง แล้วที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างไรบ้างในการลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และจะมีแนวทางหรือมาตรการในการลดการดื่มอย่างไร

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทำให้ได้เห็นพฤติกรรมการดื่มและปัญหาต่างๆ อย่างหลากหลาย แต่ก็มีต้นทุนดีดีที่หลายพื้นที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น งานศพปลอดเหล้า งานกีฬาปลอดเหล้า งดเหล้าเข้าพรรษา เป็นต้น และที่น่าชื่นชมอย่างมากคือ บ้านห้วยม่วง ได้มีการดำเนินการงดขายเหล้าตลอดช่วงพรรษาที่ผ่านมา


จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้มีการกำหนดร่างแนวทางและมาตรการในการลดละเลิกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ร่วมกันในระดับตำบล ซึ่งก็มีหลากหลายแนวทาง หลากหลายมาตรการ ที่ผ่านการถกคิดร่วมกัน

จากนี้ร่างแนวทางและมาตรการเหล่านี้ก็แกนนำชุมชนก็จะนำไปประชาคมในระดับหมู่บ้านอีกครั้งเพื่อให้คนในชุมชนได้ร่วมกันถกคิดปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม แล้วนำมาสรุปเป็นมาตรการของตำบล เพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง

การจุดประกายการลดละเลิกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้เริ่มเห็นเค้าลางของความร่วมมือกันอย่างจริงจังของคนในชุมชนแล้ว อยู่ที่แกนนำจะนำไปสานต่อและขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างไรเท่านั้น

 

หมายเลขบันทึก: 472002เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2011 03:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 08:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ...

พัทลุงก็มีงานประเพณีปลอดดหล้า ทั้งสงกรานต์ ลอยกระทง แห่พระ ล้วนปลอดเหล้า

เราจะจะสร้าง"เมืองลุงน่าอยู่"ร่วมกัน

คนรุ่นใหม่ ไม่สนใจ แอลกอฮอล์ ยาเสพติดค่ะ

เครื่อ่งมือที่สำคัญในการสร้างชุมชนให้น่าอยู่

คือ  มาตรการทางสังคม ที่เขาคิดกันขึ้นมา

เพื่อใช้ในชุมชนของเขาเองค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท