การทำนา


“มันดีขนาดนั้นเลยหรือ” ผมนึกในใจหลังจากฟังดร.นอร์แมน อัพฮอฟฟ์ นักคิดและนักวิชาการด้านการพัฒนาชนบทชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนลบรรยายเรื่องระบบการเพิ่มผลผลิตข้าวจบ

ดร.นอร์แมนเล่าถึงระบบการปลูกข้าวที่ใช้น้ำน้อยกว่าปกติครึ่งหนึ่งแต่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวโดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงหรือเมล็ดพันธุ์ข้าวจีเอ็มโอ หลังจากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับดร.นอร์แมนอีกหลายครั้ง ผมเริ่มเชื่อเหมือนเขาว่าบางทีนี่อาจเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญของโลก เป็นการปฎิวัติระบบการผลิตข้าวที่มีเครือข่ายของชาวนาชาวไร่เป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญ

ภาพ: The New York times

ในระหว่างที่ผมได้มีโอกาสไปเป็นนักวิจัยแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลเป็นเวลาหนึ่งปี หนึ่งในวิกฤติการณ์โลกที่มีการถกเถียงกันมากคือปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร (Food security) เนื่องจากจำนวนประชากรมนุษย์ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกสำคัญหลายแห่งของโลกประสบกับภัยธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงจนทำให้ผลผลิตลดลงและเกิดภาวะขาดแคลนอาหารในหลายภูมิภาค บางประเทศเกิดความวุ่นวายถึงขั้นจลาจล การเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตรจึงเป็นความท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตร แต่ทั้งนี้ที่ผ่านมานับตั้งแต่การปฎิวัติเขียว (Green Revolution)  มาตรการในการเพิ่มผลผลิตมักเน้นแต่เฉพาะด้านการพัฒนาสายพันธุ์ และมุ่งให้เกษตรกรพึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอกโดยเฉพาะปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง รวมทั้งระบบชลประทาน ซึ่งแม้จะสามารถเพิ่มผลผลิตได้มหาศาลก็จริงแต่ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆตามมามากมาย และก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ดีขึ้นเท่าใดนัก

การปฏิวัติระบบการผลิตข้าวที่ดร.นอร์แมนพูดถึงคือระบบการเพิ่มผลผลิตข้าว หรือ System of Rice Intensification (S.R.I.) ซึ่งเป็นระบบการปลูกข้าวที่ได้รับการพัฒนาขึ้นครั้งแรกโดยนักพัฒนาชุมชน และกลุ่มเกษตรกรในประเทศมาดากัสการ์ ดร.นอร์แมนเชื่อว่าระบบการปลูกข้าวแบบนี้จะสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของคนกว่าครึ่งโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้ด้วย เขาเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการส่งเสริมระบบการเพิ่มผลผลิตข้าวดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักและมีการนำไปทดลองปฏิบัติไปทั่วโลกโดยเฉพาะในหมู่เกษตรกรรายย่อยที่มีฐานะยากจน เมื่อได้ยินเขาบรรยายเรื่องนี้เป็นครั้งแรกผมแปลกใจมากที่ไม่เคยทราบเกี่ยวกับระบบปลูกข้าวแบบนี้มาก่อนและอยากศึกษาให้เข้าใจมากขึ้นจึงหาโอกาสนั่งคุยกับดร.นอร์แมนอย่างจริงจัง

เขาสรุปหลักการ S.R.I. ให้ฟังว่า “ระบบการเพิ่มผลผลิตข้าวแบบนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาจากวิธีการทำนาแบบดั้งเดิมที่ตกทอดกันมาหลายชั่วคนครับ แต่เป็นระบบการปลูกข้าวที่ใช้น้ำน้อยและสามารถเพิ่มผลผลิตได้โดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีขั้นสูง หัวใจสำคัญของ S.R.I. อยู่ที่การเข้าใจถึงศักยภาพโดยธรรมชาติของต้นข้าวแต่ละต้น ระบบนี้จึงปฏิรูปการจัดการต้นกล้าและสภาพแวดล้อมเพื่อพัฒนาระบบรากของต้นข้าวให้แข็งแรงและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ เมื่อจัดการสภาพแวดล้อมทุกอย่างได้ลงตัว ผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดๆคือผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าและยังลดการใช้น้ำและปุ๋ยลงได้เกือบครึ่งหนึ่ง”

ดร.นอร์แมนในวัยใกล้ 70 ยังคงแข็งแรง กระฉับกระเฉง อารมณ์ดี เขาเล่าว่าตอนเด็กๆ เขาเติบโตขึ้นมาท่ามกลางฟาร์มโคนมในชนบทของรัฐวิสคอนซินทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา เขาจึงผูกพันกับวิถีชีวิตชนบทเป็นพิเศษ ในด้านการงานเขาเข้าสู่แวดวงวิชาการตั้งแต่หนุ่มๆ โดยจบปริญญาโทด้าน Public Affairs จากมหาวิทยาลัย Princeton และปริญาเอกด้านรัฐศาสตร์จาก UC Berkeleyในปีพ.ศ. 2513 เขาสอนที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลมาเกือบ 40 ปีและเป็นศาสตาจารย์ด้านรัฐศาสตร์และการพัฒนาชนบทที่มีผลงานวิจัยมากมายในด้านเกษตรกรรม การพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม และการอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศกำลังพัฒนา ดร.นอร์แมนดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เกษตรกรรมและการพัฒนานานาชาติของคอร์แนล (CIIFAD) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาความอดอยากและการพัฒนาชนบททั่วโลกตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533-2548

ด้วยตำแหน่งดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ดร.นอร์แมนได้รู้จักกับ S.R.I. เป็นครั้งแรกราวปลายปีพ.ศ. 2536 ตอนนั้นเขาได้รับการติดต่อจากรัฐบาลมาดากัสการ์ให้เป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาชนบทเพื่อลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าเขตร้อนจากการทำไร่เลื่อนลอยที่กำลังเกิดขึ้นอย่างหนัก เขาลงพื้นที่ไปคลุกคลีกับชาวบ้านและพบว่าทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนคือการพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวนาชาวไร่ให้ดีขึ้นเสียก่อน ทางเลือกหนึ่งก็คือการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและลดต้นทุนในการผลิตเพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรต้องขยายพื้นที่โดยการถางป่าต่อไปเรื่อยๆ  ระหว่างนั้นเองที่เขาได้ยินว่ามีบาทหลวงชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งร่วมกับองค์กรพัฒนาชนบทและชาวบ้านได้พัฒนาวิธีปลูกข้าวแบบใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าวิธีปกติหลายเท่าตัว

“พวกนั้นบอกผมว่าปกติชาวนาที่นั่นปลูกข้าวได้แค่เฮกแตร์ละแค่ตันสองตันแต่กลุ่มนั้นสามารถเกี่ยวข้าวได้เฮกแตร์ละตั้ง 5-15 ตัน บอกตรงๆว่าตอนนั้นผมไม่อยากจะเชื่อเท่าไหร่เลย นึกในใจว่าต้องโดนหลอกแน่ๆ คงเห็นว่าผมเป็นฝรั่งคงจะไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ผมบอกว่าเอาแค่ปลูกแล้วได้เฮกแตร์ละ 3-4 ตันผมก็ว่าหรูแล้ว ก็เลยตัดสินใจให้ทีมงานลองทำแปลงทดลองด้วยวิธีดังกล่าวอยู่สามปี”

เขาอธิบายว่าข้อแตกต่างที่สำคัญของวิธีนี้ก็คือการย้ายต้นกล้าตั้งแต่ยังเล็กมากๆและใช้ต้นกล้าแค่หลุมละต้น โดยปลูกอย่างทะนุถนอมห่างๆกันแทนที่จะปักหลุมละหลายๆต้นตามวิธีการเดิมๆ  ส่วนน้ำในนาก็ไม่ใช้การท่วมขังแต่แค่รักษาให้มีความชุ่มชื้นตลอด ปรากฏว่าผลผลิตโดยเฉลี่ยของแปลงทดลองอยู่ที่เฮกแตร์ละ 8 ตัน เขาตัดสินใจตีพิมพ์ผลงานนี้ขึ้นเป็นเรื่องหน้าปกของรายงานประจำปีของสถาบันฯที่คอร์แนลปี พ.ศ. 2539-40

“ผลที่ออกมาน่าประทับใจมากครับ นาข้าวทดลองให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึงสี่เท่า ประหยัดน้ำไปได้กว่าครึ่ง และใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวแค่ประมาณหนึ่งในสิบจากที่เคยใช้ ผมมารู้ทีหลังว่าบาทหลวงผู้พัฒนาระบบ S.R.I. มีชื่อว่า Henri de Laulanié แต่ผมไม่มีโอกาสได้เจอตัวจริงของท่านหรอกเพราะท่านเสียชีวิตไปก่อนในปี พ.ศ. 2538”

นอร์แมนพบว่าจุดเด่นที่สำคัญของระบบการปลูกข้าวแบบ S.R.I. คือต้นข้าวจะมีระบบรากที่แข็งแรงและใหญ่โตกว่าวิธีปกติแบบมาก การย้ายต้นกล้าตั้งแต่ยังเล็กและปลูกอย่างทะนุถนอมทำให้รากต้นข้าวไม่ช้ำ การปลูกเพียงหลุมละต้นและเว้นระยะห่างกันก็ทำให้ต้นกล้าสามารถรับแสงแดดและเติบโตได้เต็มที่โดยไม่ต้องแย่งกันเอง เป็นหลักการเดียวกับเกษตรกรรมธรรมชาติที่นอกจากจะเน้นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของพืชนั้นๆแล้ว ยังต้องสร้างสภาพแวดล้อมทั้งดิน น้ำ แร่ธาตุหมุนเวียนให้สมดุล เมื่อรากสมบูรณ์ต้นข้าวก็มีขนาดใหญ่ขึ้น มีรวงมากขึ้นและให้ผลผลิตมากขึ้น นอกจากนี้คุณภาพของดินก็ดีขึ้นเพราะวิธีการดังกล่าวเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และการไถกลบเพื่อกำจัดวัชพืชและช่วยให้ดินมีการระบายอากาศดีขึ้น

เขาพูดติดตลกว่าอุปสรรคสำคัญของ S.R.I. ก็คือ “มันฟังดูดีเกินไป” จนหลายคนไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ นักวิทยาศาสตร์การเกษตรหลายต่อหลายคนก็คิดอย่างนั้นจึงไม่คิดที่จะนำไปทดลองอย่างจริงจัง ยังไม่นับแรงต้านจากนักวิชาการด้านข้าวบางกลุ่มโดยเฉพาะจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ซึ่งเป็นหัวหอกของการปฏิวัติเขียวหรือการเพิ่มผลผลิตด้วยการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว  แม้แต่ในมหาวิทยาลัยคอร์แนลเองดร.นอร์แมนก็ถูกกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตรรวมตัวกันวิพากษ์วิจารณ์ว่าวิธีการนี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างแน่ชัดทางวิทยาศาสตร์และเป็นเพียงแค่การสร้างกระแส บางคนกระแนะกระแหนว่าศาสตราจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์อย่างเขาจะรู้อะไรเกี่ยวกับการปลูกข้าว

นอร์แมนยอมรับว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนเทคนิคการปลูกข้าวที่มีมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเช่นการใช้น้ำท่วมนาเพื่อป้องกันวัชพืช เขายืนยันว่าเขาเองก็รู้สึกเคลือบแคลงไม่แตกต่างจากนักวิชาการคนอื่นๆในทีแรก แต่จากการที่เขาได้ศึกษาเขารู้สึกว่าวิธีการดังกล่าวสอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการเกษตรเชิงนิเวศ (Agro-ecological approach) นั่นคือเมื่อพืชได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวให้เต็มที่ก็ย่อมให้ผลผลิตที่สูงขึ้น วิธีการดังกล่าวยังประยุกต์เอาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดินและน้ำมาใช้ในการจัดการการเกษตรอย่างเหมาะสม จากประสบการณ์และข้อมูลที่มีการทดสอบมากขึ้นเรื่อยๆในหลายๆพื้นที่ทั่วโลกทำให้เขาเชื่อมั่นกับวิธีดังกล่าว

“ผมคิดว่าวิธีการนี้จะช่วยแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมได้อีกด้วย เพราะชาวนาชาวไร่ที่มีที่นาขนาดเล็กจะได้ประโยชน์สูงสุดจาก S.R.I. ระบบนี้ช่วยให้พวกเขาได้ผลผลิตสูงสุดจากพื้นที่เพาะปลูกที่มีจำกัด และยังลดการใช้น้ำซึ่งในหลายพื้นที่เป็นทรัพยากรที่ขาดแคลน ลดรายจ่ายจากค่าเมล็ดพันธุ์และค่าปุ๋ย”

เขาบอกผมว่า “ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวสำหรับ S.R.I. เพราะแม้พื้นที่ต่างๆจะใช้หลักการเดียวกัน แต่ชาวนายังต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดินและระบบนิเวศธรรมชาติในแต่ละท้องที่มาปรับปรุงในรายละเอียดจึงจะประสบผลสำเร็จสูงสุด จะว่าไปแล้วการทดลองเพื่อพัฒนาเทคนิคที่เหมาะสมจากการปฏิบัติในแต่ละพื้นที่นี่เอง ที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยให้ชุมชนเข้มแข็ง มีการสร้างเครือข่ายที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ การขยายตัวของขบวนการ S.R.I. เริ่มต้นจากกลุ่มคนรากหญ้าเหล่านี้”

ถึงแม้จะถูกเคลือบแคลงสงสัยจากนักวิชาการด้านข้าวกระแสหลัก แต่นอร์แมนก็ไม่ย่อท้อ และได้ทำให้หลักการที่อาจฟังดูคลุมเครือกลายเป็นหลักปฏิบัติที่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับชาวนานับล้าน และมีการขยายแนวร่วมอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในแอฟริกาและกำลังเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆในเอเชีย ปัจจุบันมีการทดลองและส่งเสริมการปลูกข้าวด้วยหลัก S.R.I.ใน 30 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย แม้แต่ธนาคารโลกก็หันมาให้การสนับสนุนแนวคิด S.R.I. ภายใต้สโลแกน “Achieving More with Less: A new way of rice cultivation" หรือ “ผลิตให้มากขึ้นด้วยทรัพยากรที่น้อยลง: หนทางใหม่ในการเพาะปลูกข้าว” (http://info.worldbank.org/etools/docs/library/245848/index.html)

“ผมชินแล้วครับกับพวกที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า S.R.I. เป็นแค่ความเชื่อ แต่ผมอยากจะบอกว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์มากๆ ผมมีข้อมูลภาคสนามสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจากแปลงทดลองทั่วโลก เมื่อเร็วๆนี้ผมเพิ่งได้รายงานสรุปจากประเทศมาลีซึ่งตั้งอยู่ชายขอบทะเลทรายซาฮาร่า ปรากฏว่าที่นั่นได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34 แม้จะมีอุปสรรคมากมายในตอนแรกเพราะขาดแคลนน้ำมาก ส่วนที่ลาวเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรก็เพิ่งยืนยันว่าได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวในสามจังหวัดที่ทำการทดลองและกำลังจะขยายผลส่งเสริมให้ทดลองปลูกทั่วประเทศเช่นเดียวกับกัมพูชา ส่วนที่อินเดียและจีนก็กำลังตื่นเต้นกันมากกับผลสำเร็จของวิธีการนี้และเริ่มส่งเสริมกันอย่างกว้างขวาง ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของอินเดียเมื่อเร็วๆนี้ นายกรัฐมนตรีมานโมฮัน ซิงห์ เพิ่งหยิบยก S.R.I. ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ของวิธีการเพาะปลูกที่ประหยัดน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร”

ผมทราบจากนอร์แมนว่า ในประเทศไทยเองได้มีการจัดแปลคู่มือ S.R.I. ออกเป็นภาษาไทยแล้ว และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียก็ได้มีการทดสอบวิธีการดังกล่าวในแปลงทดลองที่จังหวัดร้อยเอ็ดและพบว่าต้นกล้าอายุน้อยแค่14 วันนั้นโตเร็วกว่าอายุ30วันตามวิธีการดั้งเดิมถึงร้อยละ25 ส่วนการปลูกแบบไม่ให้น้ำท่วมขังก็สามารถประหยัดน้ำไปได้กว่าสองในสามโดยผลผลิตไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด นอกจากนี้การทดลองปลูกข้าวร่วมกับถั่วเขียว ถั่วพร้าและถั่วพุ่มซึ่งเป็นการปรับปรุงดินตามหลัก S.R.I. ยังช่วยเพิ่มผลผลิตในปีแรกได้ราวร้อยละ15 และกำลังดำเนินการพัฒนาเทคนิคการจัดการอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อกลางปีที่ผ่านมาก็เพิ่งมีการจัดประชุมในระดับภูมิภาคอินโดจีนขึ้นที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้ทดลองปลูกข้าวตามหลักการ S.R.I. และหาแนวทางส่งเสริมวิธีการนี้ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

นอร์แมนเชื่อว่าเกษตรกรรากหญ้าและหน่วยงานที่นำหลักการนี้ไปทดลองปฏิบัติจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกหลายเท่าตัวในอนาคต และหลักฐานจากภาคสนามจะเป็นบทพิสูจน์ข้อกังขาต่างๆได้เอง เขาสริมว่าวิธีการนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยขนาดเล็กหรือเฉพาะการปลูกข้าวเท่านั้น แต่ยังสามารถปรับใช้กับระบบการผลิตขนาดใหญ่และพืชผักชนิดอื่นๆได้ด้วย ผลการทดลองเบื้องต้นในรัฐโอริสสาของอินเดียพบว่าเกษตรกรที่นำเทคนิคการจัดการน้ำแบบ S.R.I ไปประยุกต์ใช้ในการปลูกผักสามารถเพิ่มผลผลิตในระดับที่น่าพอใจ

นอร์แมนบอกว่าสิ่งที่เขาอยากเห็น จากหลักการ S.R.I. ก็คือการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เขายังเชื่อว่าระบบการปลูกข้าวที่เน้นการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและความรู้ทางด้านนิเวศวิทยาแบบนี้จะช่วยให้เกษตรกรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้นโดยเฉพาะในบริเวณที่อาจต้องประสบกับภัยแล้งยาวนานและบ่อยครั้งขึ้น นอกจากนี้ระบบการปลูกข้าวที่ไม่ใช้น้ำขังยังจะช่วยลดการผลิตก๊าซมีเธนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกสำคัญอีกตัวหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน

ดร.นอร์แมนในวัยใกล้ 70 ยังคงตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างแข็งขันและออกเดินทางเยี่ยมเยียนเครือข่ายชาวนา S.R.I.อย่างสม่ำเสมอ แม้จะทำงานหนักแต่นอร์แมนยังอารมณ์ดี มีแววตาและรอยยิ้มที่เหมือนเด็กๆ 

ก่อนจากกันเขาทิ้งท้ายว่า "ที่สุดแล้วการปฏิวัติข้าวอาจจะไม่ได้แก้ปัญหาทุกอย่างในโลก แต่ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร และปรับปรุงความเป็นอยู่ของชาวนาชาวไร่ให้ดีขึ้นได้ ผมว่าโลกนี้ก็ยังพอมีความหวัง”

ผมฟังแล้วก็รู้สึกไม่ต่างกัน และรู้สึกขอบคุณนอร์แมนที่ทำให้เชื่อว่าเรายังมีโอกาสเห็นโลกที่ดีกว่าเดิม

ภาพ: SRI/Cornell  

 

คำสำคัญ (Tags): #S.R.I
หมายเลขบันทึก: 471173เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2011 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2012 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

SRI เหมาะสำหรับนาผืนเล็กๆ มีการชลประทานที่ดี มีแรงงานพอเพียง ซึ่งประเทศไทยอาจทำได้ยากครับ

แต่ในประเทศไทยเองก็มีนักวิชาการเอามาทำผลงานกันมาก

ผมชอบวิธีของฟูกูโอกะมากกว่า (ทำนาแบบคนขี้เกียจ) เพราะใช้แรงงานน้อยและได้ผลผลิตมาก

ผมเองได้คิดค้นการทำนาแบบหยอดหล่น ลองหาอ่านดูนะครับ รวมทั้งการใช้มดและกบช่วยทำนาด้วย มีใน gtk นี้ครับ มันน่าจะเป็นการทำนาที่ประหยัดแรงงาน และได้ผลผลิตสูงโดยไม่ต้องใช้สารใดๆเลย ผมอยากหาชาวนามาเป็นเครือข่ายแล้วร่วมทดลองด้วยกัน ผมเคยคำนวณว่าการทำนาสลับกับปลูกผัก น่าจะทำกำไรได้ไร่ละแสนบาทโดยไม่ยากนัก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท