5 ขั้นตอนช่วยเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัย


มีคนใกล้ตัวเครียดเนื่องจากประสบภัยน้ำท่วมน้ำท่วมไหมคะ มาดูหลักการดูแลจิตใจกันดีกว่าค่ะ

จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ แม้หลายท่านจะไม่ได้ประสบกับตัวเองแต่คงรับรู้ถึงบรรยากาศแห่งความเครียดและความทุกข์จากคนรอบตัวได้ค่ะ มีวิธีง่ายๆ ที่เราสามารถช่วยดูแลจิตใจของผู้ประสบภัยเหล่านั้นได้ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ

1. Safety - ปลอดภัย

1.1 ปัจจัย 4 - ขั้นตอนแรกสุดคือทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ประสบภัยรู้สึกว่าเขาปลอดภัยแล้วในทางกายภาพค่ะ เช่น อาหารและน้ำดื่ม เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่พักรองรับอย่างเพียงพอ นอกจากนั้นต้องสนับสนุนให้ผู้ประสบภัยพูดคุยติดต่อกับญาติหรือคนที่รักอย่างสม่ำเสมอ กำลังใจจากคนรอบข้างนี่ล่ะค่ะที่ช่วยให้รู้สึกปลอดภัยขึ้น

1.2 สื่อสาร - พยายามส่งผ่านข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เที่ยงตรงไปยังผู้ประสบภัยให้ได้ ระหว่างที่ประสบภัย ถ้าเราไม่รู้ข่าวว่าสถานการณ์ขณะนั้นเป็นอย่างไร เรามักคิดล่วงหน้าแบบเลวร้ายที่สุดไปก่อน นอกจากทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่ปลอดภัยแล้วยังอาจทำให้เกิดข่าวลือแพร่ออกไปจนกลายเป็นการกระจายความกลัวโดยใช่เหตุ ดังนั้นจึงควรกระจายข่าวในชุมชนหรือทางโทรทัศน์เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน, วิธีป้องกันตัว, และวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นซึ่งจะช่วยให้รู้สึกว่าชีวิตปลอดภัยมากขึ้น

2. Calm - ใจสงบ

2.1 Normalize (ทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน) - เมื่อผ่านช่วงที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว ความรู้่สึกตื่นกลัวหรือกังวลอาจจะยังไม่หายไปรวดเร็วนัก หลายคนอาจยังนอนไม่หลับ, อ่อนเพลีย, ขาดอาหาร, ไม่สามารถตัดสินใจได้, หรือไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ขั้นตอนนี้จึงต้องการเรียกสติให้กลับมาอยู่กับตัวและสามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้ วิธีง่ายที่สุดคือให้พูดระบายความทุกข์ออกมาแล้วเรารับฟังค่ะ ต่อมาคือพยายามหากิจกรรมเพื่อการผ่อนคลายให้ทำ พยายามหลีกเลี่ยงการปล่อยให้ผู้ประสบภัยอยู่เงียบๆ คนเดียวเพราะอาจทำให้คิดวนเวียนแต่เรื่องร้ายๆ ที่ผ่านมาอยู่ตลอดเวลา

2.2 ให้ความรู้ - บอกผู้ประสบภัยว่าความรู้สึกกลัวหรือกังวลเช่นนี้เป็นเรื่องปกติที่พบได้ ไม่ว่าใครประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้ก็ต้องรู้สึกแบบเดียวกัน เมื่อผู้ประสบภัยรู้ว่าความรู้สึกของตนไม่ได้รุนแรงหรือผิดปกติถึงขนาดเป็นโรคเครียดก็จะเบาใจและสงบลงได้ หลังจากนั้นให้แนะนำว่าหากเขารู้สึกกลัวหรือกังวลมากขึ้นในอนาคตจะสามารถพูดคุยกับใครได้บ้าง

แนวทางการสงบใจ

  1. นั่งเอนหลังบนเก้าอี้ที่มีพนักหรือนอนในท่าสบาย หลับตา
  2. หายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ
  3. รับรู้ว่ามีส่วนใดของร่างกายเราบ้างที่ตึงปวด แล้วค่อยๆ ส่งความรู้สึกผ่อนคลายไปยังบริเวณนั้น
  4. คิดถึงภาพที่สวยงามหรือเหตุการณ์ที่ทำให้จิตใจเราสงบ
  5. ทำเช่นนี้ประมาณ 10-20 นาทีจะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายขึ้น

กิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยผ่อนคลายได้ เช่น การนั่งสมาธิ, ออกกำลังกาย, โยคะ, หัวเราะออกมาดังๆ เป็นต้น

3. Self - ฉันทำได้

3.1 ให้กำลังใจ - พยายามหากิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกว่าเขาสามารถควบคุมและตัดสินใจด้วยตนเองได้ วิธีนี้ช่วยให้รู้สึกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเล็กน้อยมาก เราสามารถจัดการฝ่าฝันมันไปได้ด้วยตัวของเราเองแน่นอน เมื่อเขาทำกิจกรรมใดแล้วประสบความสำเร็จให้เราช่วยเสริมกำลังใจเข้าไปด้วย วิธีนี้ช่วยสร้างความรู้สึกภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง ซึ่งความภูมิใจนี้มีส่วนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันเวลาต้องเผชิญหน้ากับเรื่องร้ายๆ ไม่ให้เขาเศร้าหรือหมดหวังมากเกินไปนัก

3.2 สนับสนุนให้ดูแลตัวเอง - พยายามหากิจกรรมที่ทำให้ได้แสดงความสามารถออกมาหรือได้มีโอกาสช่วยเหลือตัวเอง เช่น เป็นสมาชิกในกลุ่มดูแลความสะอาดหลังน้ำลดของหมู่บ้าน มีส่วนช่วยตัดสินใจหรือทำความสะอาดร่วมกับเพื่อนบ้าน นอกจากนั้นควรหาโอกาสให้ผู้ประสบภัยได้ทำกิจวัตรประจำวันของตัวเองตามปกติ เช่น ทำความสะอาด ซักผ้า ไม่จำเป็นต้องดูแลมากเป็นพิเศษ

4. Network - สร้างเครือข่าย

4.1 อยู่ใกล้ญาติมิตร - พยายามติดต่อกับคนที่รักหรือคนในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ ข้อนี้สำคัญมากนะคะเพราะผู้ประสบภัยจะรู้สึกว่าอย่างน้อยตนเองก็ไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก ยังมีญาติและเพื่อนอีกหลายคนที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือเมื่อเราต้องการ

4.2 ร่วมกิจกรรมในชุมชน - หาทางเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนซึ่งอาจจะไม่ใช่ชุมชนที่อยู่อาศัยก็ได้ แต่เป็นชุมชนที่มีคนทำกิจกรรมแบบที่เราต้องการ เช่น การเป็นจิตอาสาช่วยแพ็คถุงยังชีพ เป็นอาสาสมัครช่วยทำอาหาร ช่วยทำความสะอาดหน่วยงานราชการใกล้บ้าน

5. Hope - ความหวัง

5.1 พรุ่งนี้ยังมีหวัง - พยายามสื่อสารให้เห็นว่าถึงแม้น้ำจะท่วมและสูญเสียทรัพย์สินมากมายแต่สักวันมันก็จะผ่านไป เรายังสามารถลุกขึ้นมาสู้ใหม่ได้อีก ชีวิตวันพรุ่งนี้มีความหวังและสิ่งดีๆ รอเราอยู่เสมอ ควรมองโลกในแง่ดีเข้าไว้

5.2 พลังอยู่กับเรา - หากิจกรรมที่ช่วยคืนความแข็งแกร่งและกำลังใจกลับมาอีกครั้ง เช่น ช่วยซ่อมบ้าน ทำความสะอาดหลังน้ำลด หาเฟอร์นิเจอร์ใหม่ วิธีนี้นอกจากช่วยฟื้นกำลังใจแล้ว ยังช่วยให้ผู้ประสบภัยรู้สึกเข้มแข็งหากจะต้องรับมือกับภัยพิบัติครั้งหน้าอีกเพราะเขารู้ว่าสิ่งที่เสียไปก็ซ่อมแซมกลับมาดังเดิมได้เสมอ

 

ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ ถ้าใครมีเพื่อนประสบภัยก็ลองทำตามขั้นตอนเหล่านี้ดูค่ะ

Safety "ไม่ต้องห่วงนะ เธอปลอดภัยแล้ว" (หาปัจจัย 4 ให้พร้อม)

Calm "ทำใจให้สบาย พักผ่อนเถอะ" (นอนหลับเพียงพอ นั่งสมาธิ)

Self "เรายังใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมนะ" (กระตุ้นให้ขึ้นรถลงเรือหรือทำงานตามปกติ)

Network "มีอะไรก็โทรมาได้นะ" (มีเพื่อนหรือคนรู้จักคอยให้กำลังใจ ไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก)

Hope "เดี๋ยวฉันไปช่วยขัดบ้านหลังน้ำลดนะ" (พรุ่งนี้มีสิ่งดีๆ รออยู่เสมอ)

 

ที่มา: กรมสุขภาพจิต http://www.dmh.go.th/main.asp

Disaster Response for Mental Health Care Providers http://www.albertahealthservices.ca/MentalHealthWellness/hi-dis-emergency-mh-workers-brochure.pdf

หมายเลขบันทึก: 470709เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2011 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 07:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท