ชื่อเรื่อง : การศึกษาการนำหลักพุทธธรรมไปใช้ในการส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา


หลักพุทธธรรมตามคำสอนในพระพุทธศาสนาที่มีความสัมพันธ์กับการเป็นอาจารย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษานั้น ที่ช่วยมีประโยชน์ส่งเสริมค้ำจุนอยู่เป็นจำนวนมาก ในที่นี้ผู้ศึกษาค้นคว้า ได้ขอนำหลักพุทธธรรมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอาจารย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยสำหรับอาจารย์ที่ทำตัวเป็นที่รักต่อศิษย์และบุคคลทั่วไป การที่อาจารย์จะเป็นที่รักแก่ศิษย์ได้ ก็ควรตั้งตนอยู่ในหลักพรหมวิหาร ๔ และพละ ๕ รวมถึงการมีสังคหะวัตถุ ๔ ไว้คอยเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตนเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีหลักพรหมวิหาร๔

ชื่อเรื่อง  :  การศึกษาการนำหลักพุทธธรรมไปใช้ในการส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของคณาจารย์   มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตพะเยา

                                                                                      

ชื่อผู้วิจัย  : ผู้ช่วยศาสตราจารย์คนอง  วังฝายแก้ว   

ชื่อหน่วยงาน  : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา

 

ที่ปรึกษาโครงการ  : ผู้ช่วยศาสตราจารย์จักรแก้ว  นามเมือง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณรงค์ โวหารเสาวภาคย์  พระครูโสภณปริยัติสุธี, ผศ. ดร.

 

ปีที่ทำวิจัย / ปีงบประมาณ  :  ๒๕๕๕

 

๑. วามเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

การศึกษาเป็นรากฐานของชีวิตและเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างสรรค์สังคม ให้เกิดความรุ่งเรืองมีการพัฒนาและสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้  เนื่องจากการศึกษาเป็นกระบวนการที่ช่วยให้คนได้พัฒนาในทุกด้าน ตั้งแต่การวางรากฐานของชีวิต การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถที่จะดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้  ซึ่งการจัดการศึกษาในปัจจุบันเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) (ทบวงมหาวิทยาลัย, ๒๕๔๕)รวมถึงพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓ ) ๒๕๕๓ที่ยังคงความเน้นความสำคัญด้านการศึกษาแล้วยังเป็นการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒  ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่มีระบบและมีองค์ประกอบหลายประการที่จะนำไปสู่เป้าหมาย คือ การพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพ รู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง เป็นคนดี มีความสามารถและอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุขตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ,๒๕๔๔,หน้าคำนำ)
                 การศึกษาในสถานศึกษาให้บรรลุเป้าหมายของการเรียนการสอนที่สมบูรณ์นั้น การมีความรู้ต้องควบคู่กับการมีจริยธรรมอันดีงามด้วยเช่นกัน ทั้งทางด้านผู้เรียนที่จะรับความรู้ในห้องเรียน รวมถึงผู้ที่ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ในรายวิชาที่ทำการสอนให้กับผู้เรียน จากการถ่ายทอดความรู้แล้ว ทางด้านพฤติกรรมที่ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้กับผู้อื่น เป็นแนวทางที่ปฏิบัติดีด้วย การที่ต้องเป็นผู้ที่ต้องทำหน้าที่เป็นแบบอย่าง เป็นเสมือนแม่พิมพ์แห่งชาติด้วยนั้น การจะเป็นคนดีที่สมบูรณ์นั้น ควรต้องมีหลักคำสอนที่เป็นพุทธธรรมเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นครูที่ดี มีความสามารถทางด้านถ่ายทอดความรู้แล้วยังมีพฤติกรรมที่ดีมีจริยธรรมประจำตัวในการปฏิบัติตนด้วย จึงจะเป็นครูผู้สอนที่มีความดีพร้อมสมบูรณ์แบบ นั่นเอง   กระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแด่ ฯพณฯ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี คนที่  ๒๓ เนื่องในโอกาสเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๔ ความตอนหนึ่งว่า “การปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่จะลอกเลียนแบบต่างประเทศมาทั้งหมด ให้นำองค์ความรู้ทางด้านศาสนาพุทธและขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรมไทยเข้ามาประสมประสานด้วย” (สำนักโฆษก, ๒๕๔๕. หน้า  ๒๐๘, ๒๐๙)

ในปัจจุบันนี้มีคณาจารย์ที่ทำการสอนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้รับการยกย่องสรรเสริญในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็ยังมีเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบทั้งในด้านวินัย ความประพฤติและการปฏิบัติงาน จากสังคมด้วยเช่นกัน สภาพสังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อาจารย์และผู้บริหารสถานศึกษาประพฤติปฏิบัติตนขาดศีลธรรม ขาดคุณธรรมจริยธรรมไม่น้อย ดังจะพบเห็นจาก ข่าวหน้าหนังสือพิมพ์  หรือสื่อแขนงอื่น ๆ อยู่บ่อย ๆ เช่น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุจริตการซื้อวัสดุ  รายหัวนิสิตนักศึกษามีแต่รายการซื้อแต่ไม่มีของทุจริต  การดำเนินการโครงการอาหารกลางวัน ไม่ทำอาหารกลางวัน ให้นิสิตนักศึกษารับประทานโดยนำเงินไปซื้อของอย่างอื่นบ้าง เอาไปใช้จ่าย  ส่วนตัวบ้าง ทุจริต  การจัดซื้ออาหารเสริม (นม) นมบูด นมไม่มีคุณภาพ หรือไม่ซื้อนมเลย ผู้บริหารสถานศึกษาค้ายาบ้า ทำอนาจารนิสิตนักศึกษาหญิง ฯลฯ ( ชรินทร์  หงษ์ทอง, ๒๕๔๖. หน้า บทคัดย่อ)   ทำให้ภาพพจน์ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีส่วนที่ถูกมองด้านไม่ดีอยู่บ้างพอสมควร ทั้งนี้เพราะงานของอาจารย์เป็นงานที่ท้าทายความสามารถ นอกจากต้องมีทั้งความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดต่อนิสิตนักศึกษาแล้วงานทางด้านอื่นในมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องรวมถึงงานด้านวิชาการ แล้วยังต้องแสวงหาความรู้ตลอดเวลา  เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับการสอนในสถานการณ์ที่ทันเหตุบ้านการเมือง เป็นงานที่ต้องดูแลตลอดเวลา ยากที่บุคคลอื่นจะ เข้าใจได้ลึกซึ้งและถูกต้อง โดยลักษณะของงานในอาชีพนี้แล้ว เป็นงานที่มีการปฏิบัติหน้าที่กระทบต่อสังคมประชาชน ชุมชน ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับภาวะชื่อเสียงความรู้ความสามารถของนิสิตนักศึกษาในชุมชนตลอดถึงบุตรหลานของประชาชนในสังคมนั้น ที่อยู่ในช่วงอายุของคนอยากรู้ อยากเห็น อยากลอง เป็นวัยกำลังโต เป็นช่วงของวัยรุ่น โดยพฤติกรรมอาจจะไปกระทบกับการก่อให้เกิด การผิดศีลธรรม จริยธรรม สำหรับอาจารย์นั้นการที่ต้องศึกษาสรรหาความรู้ ข่าวสารทั่วไป รวมถึงการทำงานในความรับผิดชอบในการสอนของตนเอง งานวิชาการในโรงเรียนแล้วยังดูแลความประพฤติ ดูแลความถูกต้องและรักษาชื่อเสียงของสังคมในส่วนที่รับผิดชอบ ยังต้องปลูกฝังความรักในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การระวังป้องกันเรื่องยาเสพติด อบายมุข การให้การบริการแก่สังคมในรูปแบบต่าง ๆ ให้บรรลุผลสำเร็จ จึงจำเป็นที่จะต้องเป็นบุคคลที่มีความคิดที่รักในอาชีพและมีคุณสมบัติเฉพาะเป็นกรณีพิเศษ  นอกเหนือจากความรู้ความสามารถประสบการณ์และปฏิภาณไหว พริบแล้วจะต้องเป็นผู้มี “จริยธรรม” เป็นเครื่องชี้นำทางในการปฏิบัติหน้าที่ให้ไปสู่เป้าหมายของการเป็นอาจารย์ที่ดี 

          สังคมจะมีความสงบสุขได้ อยู่ด้วยกันได้อย่างดีนั้น ต้องมีความสามัคคีร่วมมือกันในสังคม มีกฎระเบียบที่ปฏิบัติด้วยกันอย่างดี แล้วยังต้องมีหลักธรรมประจำใจในการจะระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ตน ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น นั่นคือการรู้จักการนำเอาหลักธรรมคำสอนที่ดีมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้มีความประพฤติที่ดีร่วมกัน หลักพุทธธรรมการครองเรือนของฆราวาส  ที่มีความเหมาะสมในการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันมีมากมายหลายหมวดที่จะก่อให้เกิดแนวทางในการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สำหรับหลักพุทธธรรมที่ควรจะนำมาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของครู นั้นควรเป็นหลักพุทธธรรมที่มีส่วนในการช่วยทางด้านเกี่ยวกับงานในหน้าที่ และการใช้ชีวิตประจำวันด้วย เช่น การมีความปรารถนาดี มีความยินดี มีเมตตาเอ็นดูต่อผู้เรียน มีความกรุณามีการให้กำลังใจยกย่อง เชิดชู มีความเป็นกลางในการบอกถึงความถูกต้องยุติธรรมในสังคม เหล่านี้ล้วนเป็นหลักธรรมที่ควรค่าต่อการปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีอาชีพเป็นครู มีความศรัทธาในอาชีพ มีความเพียรในการสอน พร้อมทั้งมี สติ สมาธิในการพร่ำสอนเพื่อให้เกิดปัญญาในการถ่ายทอดวิชาความรู้ต่าง ๆ ให้แก่ผู้เรียนได้อย่างดี เพื่อสามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ในการเรียนการสอนและการปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนอย่างถูกต้อง เพื่อเป็นแบบอย่างต่อประชาชนและสังคม ทางศาสนาพุทธนั้นมองว่าการสร้างสันติสุขโดยใช้หลักพุทธธรรมนั้นเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาให้แก่สังคมได้เป็นอย่างดี

          หลักพุทธธรรมตามคำสอนในพระพุทธศาสนาที่มีความสัมพันธ์กับการเป็นอาจารย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษานั้น ที่ช่วยมีประโยชน์ส่งเสริมค้ำจุนอยู่เป็นจำนวนมาก ในที่นี้ผู้ศึกษาค้นคว้า ได้ขอนำหลักพุทธธรรมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอาจารย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยสำหรับอาจารย์ที่ทำตัวเป็นที่รักต่อศิษย์และบุคคลทั่วไป การที่อาจารย์จะเป็นที่รักแก่ศิษย์ได้ ก็ควรตั้งตนอยู่ในหลักพรหมวิหาร ๔ และพละ ๕ รวมถึงการมีสังคหะวัตถุ ๔ ไว้คอยเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตนเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีหลักพรหมวิหาร๔มีดังนี้
        ๑.มีเมตตา ปรารถนาดีต่อศิษย์ หาทางให้ศิษย์เป็นสุขและเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านวิชาการและการดำเนินชีวิตคอยระวังมิให้ศิษย์ตกอยู่ในความประมาท
        ๒.มีกรุณาสงสารเอ็นดูศิษย์อยากช่วยเหลือให้พ้นจากความทุกข์ความไม่รู้
        ๓.มีมุทิตาคือชื่นชมยินดีเมื่อศิษย์ได้ดีและยกย่องเชิดชูให้ปรากฏเป็นการให้กำลังใจและช่วยให้เกิดความภูมิใจในตนเอง
        ๔.มีอุเบกขา คือ วางตัวเป็นกลาง จิตใจที่ตั้งอยู่ในความยุติธรรม ไม่ลำเอียง ไม่มีอคติ ต่อศิษย์คนใดคนหนึ่งจนเกิดการขาดความถูกต้องในสังคม ครุ หรือ อาจาริโย หมายถึง การเป็นบุคคลที่มีความหนักแน่นมั่นคง ทั้งในด้านของจิตใจที่หนักแน่นมั่นคง ที่จะดำรงตนอยู่ในความดีไม่หวั่นไหว ไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา และความหนักแน่นในด้านของความรอบรู้ธรรม ที่จะช่วยให้อาจารย์มีคุณสมบัติดังกล่าวคือพละ๕ประการอันได้แก่
        ๑.ศรัทธาพละ คือ มีความเชื่อในทางที่ชอบ เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
        ๒. วิริยะพละ คือ ความเพียรในทางที่ชอบ คือ เพียรเลิกละความชั่ว ระวังความชั่วไม่ให้เกิดในตัว
        ๓. สติพละ หมายถึง ความระลึกได้ มีความรู้สึกตัวในการกระทำ การพูด การคิดให้รอบคอบ
       ๔. สมาธิพละ หมายถึง ความมีใจจดจ่อแน่วแน่มั่นคงในสิ่งที่เป็นบุญกุศล ต้านความฟุ้งซ่านมิให้เกิดขึ้นในใจ
       ๕. ปัญญาพละ หมายถึง ความรอบรู้ คือรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรควรทำอะไรควรเว้น อะไรเป็นประโยชน์ และอะไรไร้ประโยชน์

       สังคหวัตถุ ๔ หมายถึง ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว คือยึดเหนี่ยวใจบุคคล และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี เป็น หลักการสงเคราะห์  
        ๑.ทาน (การให้ คือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของตลอดถึงให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน
        ๒. ปิยวาจา วาจาเป็นที่รัก วาจาดูดดื่มน้ำใจ หรือวาจาซาบซึ้งใจ คือกล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใคร่นับถือ ตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผลเป็นหลักฐานจูงใจให้นิยมยอมตาม

         ๓. อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์ คือ ขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรม
       ๔. สมานัตตตา (ความมีตนเสมอ คือ ทำตนเสมอด้วยปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย และเสมอในสุขทุกข์โดยร่วมรับรู้ร่วมแก้ไข ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะ บุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี
        ดังนั้น ผู้วิจัยจึงมีความสนใจศึกษา การนำหลักพุทธธรรมมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ของ อาจารย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา     เพื่อนำผลการวิจัย ไปเป็นแนวทางใน การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของอาจารย์ที่ปฏิบัติหน้าที่สอนในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา   เพื่อเป็นแนวทางให้ได้รู้หลักวิธีการจัดการเรียนการสอนแล้วยังมีความประพฤติอยู่ในกรอบของจริยธรรม คุณธรรมที่ดีให้แก่นิสิตรวมถึงสังคม เพื่อเป็นแนวทางสร้างสุขให้กับสังคมและประชาชนได้อย่างดีต่อไป

 

๒. วัตถุประสงค์ของการวิจัย

      ๒.๑ เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรม ที่นำไปใช้ในการส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตพะเยา

      ๒.๒ เพื่อศึกษา วิเคราะห์  แนวทางการปฏิบัติหน้าที่ ที่สอดคล้องกับหลักพุทธธรรมที่มีผลต่อการส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตพะเยา

 

 

๓. ขอบเขตการศึกษา

๓.๑  ขอบเขตด้านเนื้อหา

ศึกษาเกี่ยวกับหลักพุทธธรรม ได้แก่ หลักพรหมวิหาร ๔ และ พละ ๕ และหลักสังคหวัตถุ  ๔  ที่นำไปใช้ในการส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่การเรียนการสอนของอาจารย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา  ซึ่งเป็นหลักธรรมที่สร้างสรรค์ให้อาจารย์มีพฤติกรรมที่ดี ที่ส่งผลต่อนิสิตในทางที่ดีไปด้วย รวมถึงการครองตนครองเรือนด้วย  ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้อาจารย์นั้น เป็นอาจารย์ที่ดี นิสิตก็มีพฤติกรรมที่ดีด้วย ทำให้สังคมมีความสุขเกิดการพัฒนา สร้างคุณค่าให้กับมหาวิทยาลัย ในที่นี้ จะศึกษาเฉพาะคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา  

       ๓.๒  ขอบเขตด้านประชากร    

           ๓.๒.๑  ประชากร ได้แก่  อาจารย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา คือ

- คณะพุทธศาสตร์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา      จำนวน   ๖      รูป/คน

                        - คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์             จำนวน   ๗      รูป/คน

                        - คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน   จำนวน   ๖     รูป/คน

                                                                                  รวม        จำนวน   ๑๘    รูป/คน

 

๓.๒.๒  ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา

   ๓.๒.๒.๑ ตัวแปรอิสระ ได้แก่ อาจารย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา เกี่ยวกับ ความรู้ความเข้าใจ อุปสรรค แนวทางการนำใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียน เช่น เพศ ระดับการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ ด้านครอบครัว  ด้านความรู้ ด้านความรอบรู้ทางพุทธธรรม  เป็นต้น

  ๓.๒.๒.๒ ตัวแปรตาม ได้แก่ หลักพุทธธรรม ได้แก่ หลักพรหมวิหาร ๔ มี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และ หลักพละ ๕ มี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา  หลักสังคหวัตถุ ๔ ได้แก่ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา ในการนำมาใช้ในการส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่การเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา

 

๔. นิยามศัพท์เฉพาะ

  ๔.๑ หักพุทธธรรม  หมายถึง หลักการหรือคำสอนใดก็ตามที่เป็นการคิดค้นหา

เหตุผลในเรื่องความจริงเพื่อสนองความต้องการทางปัญญา โดยมุ่งแสดงแนวทางสำหรับการประพฤติปฏิบัติในชีวิตจริงในทางที่สร้างพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ดี  เป็นคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้าในศาสนาพุทธ โดยมีคัมภีร์ ที่เรียกว่าพระไตรปิฏก เป็นแหล่งคำสอนนั้น เพื่อจะนำมาใช้ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้เกิดประโยชน์ทำให้การทำงานที่ราบรื่น มีผลดีส่งผลต่อคนรอบข้าง สร้างความสุขและสังคมที่ดี มีอยู่อย่างหลากหลายหลักธรรมมาก ในที่นี้จะนำเฉพาะ หลักธรรมพรหมวิหาร ๔ พละ ๕และ สังคหวัตถุ ๔ ในการศึกษาในงานศึกษาค้นคว้าอิสระในครั้งนี้ โดยหลักธรรมที่ใช้ในการศึกษาในครั้งนี้ จะอธิบายโดยพอสังเขปดังนี้

                  ๔.๑.๑ หลักพรหมวิหาร ๔  คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา พรหมวิหาร คือ ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ เป็นธรรมประจำใจเป็นหลักความประพฤติที่ต้องมีไว้เป็นหลักประจำใจ และกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด โดยปฏิบัติตนต่อเพื่อนมนุษย์โดยชอบ                      

                    ๔.๑.๒ พละ ๕  อันได้แก่  ศรัทธา วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ สร้างแต่งเติมชีวิตให้มีความหนักแน่นมั่นคง ทางด้านจิตใจ ไม่หวั่นไหวไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา ที่เข้ามากระทบและความหนักแน่นในด้านของความรอบรู้ธรรม ที่จะจรรโลง จริยธรรม ความเป็นครูอาจารย์

                  ๔.๑.๓ สังคหวัตถุ ๔  อันได้แก่  ทาน ปิยวาจา  อัตถจริยา  สมานัตตตา  ซึ่งเป็นหลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล หรือเป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน สำหรับครู ศิษย์ หรือบุคคลรอบข้างในสังคม

       ๔.๒  สถานภาพ  หมายถึง ข้อมูล ทั่วไป ได้แก่ เพศ สถานภาพ อายุ วุฒิการศึกษา การปฏิบัติงานในหน้าที่ รายได้ต่อเดือน ระดับของหน้าที่ ประสบการณ์ในการบวชหรือเข้าปฏิบัติธรรม หลักธรรมที่นำมาใช้ในการปฏิบัติน้าที่ เป็นต้น

       ๔.๓ ความรู้ความเข้าใจ   หมายถึง ความสามารถ ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผ่านมา

ที่จะสามารถเข้าใจ ที่จะสามารถ ตอบคำถาม ที่จะนำมาปฏิบัติเป็นแนวทางดำเนินของชีวิตได้

                ๔.๔  อาจารย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่  หมายถึง อาจารย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ทางการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย

    ๔.๕  มหาวิทยาลัย   หมายถึง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา

   ๔.๖  การส่งเสริม   หมายถึง แนวทางในการที่จะสร้างสิ่งที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น เป็นเหมือนแผนที่ ที่จะนำทางสู่ความสำเร็จ

 

 

๕. ระโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษา

 ๕.๑  ทำให้ทราบความรู้ความเข้าใจหลักพุทธธรรม ได้แก่ หลักพรหมวิหาร ๔ และ หลักพละ ๕ หลักสังคหวัตถุ ๔  ที่นำไปใช้ในส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของอาจารย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตพะเยา ได้

             ๕.๒  ทำให้ทราบถึงแนวทางการนำหลักพุทธธรรม ได้แก่ พรหมวิหาร๔ และ พละ๕ สังคหวัตถุ ๔ มาใช้ ในการส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ ของอาจารย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา  เพื่อเป็นแนวทางที่ดีในการดำเนินชีวิตได้

๕.๓  ทำให้ทราบและเป็นแนวทางหรือตัวอย่างของการศึกษาทางด้านพุทธธรรมที่ใช้ในการส่งเสริมความเป็นอาจารย์ที่ดี ที่จะสร้างประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษา

๕.๔  ผลการวิจัยจะเป็นแนวทางส่งเสริมให้อาจารย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการสอนใน

มหาวิทยาลัยได้มีแนวคิดแนวปฏิบัติและมีวิถีในการ ดำเนินชีวิตที่ดีตามหลักพุทธธรรม

หมายเลขบันทึก: 469836เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2011 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 19:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท