เทคนิคและวิธีการเขียนเฟรมในบทเรียนโปรแกรมชนิดเส้นตรง


เทคนิคและวิธีการเขียนเฟรมในบทเรียนโปรแกรมชนิดเส้นตรง

 

 

           เทคนิคและวิธีการเขียนเฟรมในบทเรียนโปรแกรมชนิดเส้นตรง

                      เฟรม (Frame)  คือ หน่วยย่อยของบทเรียนโปรแกรม  การเขียนเฟรมโดยปกติผู้เขียนจะมีช่องว่างไว้ให้นักเรียนเติมคำเติมข้อความหรือเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งหมดก็ได้  สิ่งที่ผู้เขียนจะต้องคำนึงและระลึกอยู่เสมอในการเขียนเฟรม ก็คือ ในแต่ละเฟรมจะต้องจบในตัวเอง  หรือเมื่อผู้เรียนเรียนจบในแต่ละเฟรมแล้วผู้เรียนจะต้องได้ความรู้ตามหน่วยของความรู้ย่อยสุดท้ายที่เราแยกไว้เดิมก่อนที่จะนำมาสร้างเฟรม

                      ในการเขียนเฟรมโดยปกติเฟรมที่เขียนขึ้นจะต้องไม่ยาวเกินไป  เพราะอาจจะทำให้ผู้เรียนสับสน  และจะต้องไม่สั้นจนเกินไปจนกระทั่งทำให้ขาดข้อความสำคัญบางตอนหรือข้อความบางอย่างที่ควรอธิบายในการเขียนเฟรม  โดยทั่วไปถ้าหากเป็นเฟรมที่ให้ข้อสนเทศจะมีความยาวของข้อความไม่เกิน 2-4 บรรทัดของหน้าพิมพ์ปกติ  และการเว้นช่องของกิจกรรมที่จะสร้างเป็นสิ่งเร้าสำหรับผู้เรียนในเฟรมหนึ่งๆ จะมีไม่เกิน 2-4 ช่องเช่นเดียวกัน  ในแต่ละช่องของกิจกรรมที่เป็นสิ่งเร้านั้นถ้าเป็นเฟรมตั้งต้น  ต้องแน่ใจว่าเราเว้นไว้เพื่อให้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากเฟรมตั้งต้นเท่านั้นไปใช้ในการตอบ

                      ในการเขียนเฟรมในบทเรียนโปรแกรมนั้นเป็นการจำลองรูปแบบของการสอนและการอธิบายของครูให้อยู่ในรูปตัวหนังสือที่สามารถอ่านให้ทำความเข้าใจด้วยตนเองและในการจำลองรูปแบบอธิบายเพื่อสร้างเฟรมนี้มีข้อที่ควรปฏิบัติสำหรับผู้สร้างดังนี้

                

                                    ภาพที่ 1 ตัวอย่างการเขียนเฟรมบทเรียนโปรแกรมแบบเส้นตรง 

                      1.  อย่าบรรยายให้มากจนเกินไป  การบรรยายในแต่ละเฟรมมากเกินไปในบางครั้งผู้เรียนจะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย  ในบางครั้งผู้สร้างหวังดีต่อผู้เรียนกลัวว่าผู้เรียนจะไม่เข้าใจจึงพยายามที่จะบรรยายทุกแง่ทุกมุมให้กับผู้เรียน  ที่เป็นเช่นนี้เพราะครูยึดมั่นอยู่ในหลักการที่ว่า “จำลองรูปแบบการสอน” แต่ครูไม่ได้คิดว่าการสอนจริงนั้น  การอธิบายโดยละเอียดหลายแนวเมื่อครูอธิบายแล้วคำพูดของครูก็หมดไปด้วยจึงไม่ทำให้เกิดการเบื่อ  แต่เวลาสร้างบทเรียนแบบโปรแกรมนั้น  คำอธิบายหรือข้อสนเทศผู้เรียนสามารถอ่านซ้ำเพื่อทำความเข้าใจได้  การที่จะเขียนอธิบายมากน้อยเพียงใดไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวขึ้นอยู่กับผู้เสร้างที่จะใช้วิจารณญาณในการพิจารณากฎเกณฑ์แก้ไขในขั้นการทดสอบก็ได้

                      2.  อย่าแนะทางหรือแนะแนวในการตอบให้มากเกินไป  ในการสร้างบทเรียนแบบโปรแกรมนั้น  กิจกรรมที่ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในบทเรียนก็คือ การเขียนตอบ  การเลือกคำตอบ  กิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ต้องการให้ผู้เรียนได้ฝึกการใช้ความคิด  ใช้วิจารณญาณเพื่อให้เกิดความรู้ความคิด  ทักษะและทัศนคติ  ตามวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนการสอน  ฉะนั้นผู้สร้างบทเรียนจะต้องพิจารณาว่ารายละเอียดของสิ่งเร้าและการสนองตอบในบทเรียนแบบโปรแกรมนั้นจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการใช้ความคิดของตนเองในการประกอบกิจกรรมด้วย

                 

                                  ภาพที่ 2  ตัวอย่างเฟรมบทเรียนโปรแกรมแบบเส้นตรง

                     3.  ในการสร้างเฟรมนั้นเกิดจากการที่เราแบ่งความคิดรวบยอดออกเป็นส่วนย่อยๆ จนได้ส่วนย่อยสุดท้ายที่เรานำมาเขียนอธิบายในเชิงการสอน  และเว้นช่องหรือวิธีการให้ประกอบกิจกรรม  นั่นก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าในแต่ละเฟรมนั้นจะต้องมีความรู้ที่ให้กับผู้เรียนเพียงจำกัดไม่มีมากมายหลายอย่างหลายชนิดจนเกิดความสับสนต่อผู้เรียน  ฉะนั้นข้อควรคำนึงประการที่ 3 สำหรับผู้สร้างบทเรียนโปรแกรมก็คือ อย่าให้ผู้เรียนรู้มากจนเกินไปในแต่ละเฟรม

                      4.  ข้อควรคำนึงอีกประการหนึ่งก็คือ  อย่าให้มีความรู้ใหม่สองอย่างในเฟรมเดียวกันถ้าไม่จำเป็น  เพราะในการสร้างบทเรียนแบบโปแกรมนั้นเราเรียงลำดับเนื้อหาไปตามขั้นตอนจากง่ายไปหายากและในการที่จะสอนความรู้ใหม่นั้นจะต้องให้มีความสัมพันธ์กับความรู้เดิมให้กลมกลืนอย่าให้มีความรู้ใหม่ถึงสองอย่างเข้าไปสร้างความสับสนในแนวความคิดของผู้เรียน

            การเขียนเฟรมแบบเส้นตรงนั้น  มีวิธีการเขียนได้หลายแบบด้วยกัน  ทั้งนี้ผู้เขียนจะต้องพิจารณาถึงระดับของอายุหรือวัยของผู้เรียน  ระดับความสามารถทางสติปัญญาประกอบการพิจารณาด้วยและผู้เขียนบทเรียนแบบโปรแกรมจะต้องระลึกเสมอว่า  บทเรียนแบบโปรแกรมเป็นการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แบบมีเงื่อนไข  โดยมีสิ่งเร้าและการสนองตอบและในการสร้างนั้นผู้สร้างเองก็สามารถดัดแปลงใช้ผสมกับสื่ออื่นตามแต่จะคิดสร้างและดัดแปลงให้เหมาะสม  เทคนิคชนิดหนึ่งที่เรานำมาใช้คือ เทคนิคการเขียนเฟรมแบบจำแนก (Discrimination Frame Sequence) ซึ่งการเขียนเฟรมแบบจำแนกนี้  ลักษณะคล้ายกับการสร้างข้อทดสอบแบบมีตัวเลือกให้เลือกตอบ  ผู้เรียนกับบทเรียนที่ใช้หลักการเขียนเฟรมแบบจำแนกจะใช้ข้อสนเทศจากเฟรมพิจารณาและเลือกข้อความที่คิดว่าถูกต้องที่สุด  ข้อเลือกตอบนั้นอาจมีลักษณะของข้อความที่ถามว่า ใช่หรือไม่ใช่ เพียงสองประการก็ได้หรืออาจมีทั้งตัวถูกและตัวลวงเหมือนการสร้างข้อสอบก็ได้  ในการเขียนเฟรมแบบจำแนกนี้สิ่งหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็คือเกณฑ์ที่นำมาใช้สำหรับให้เป็นตัวเลือกนั้นจะต้องชัดเจนไม่คลุมเครือ  นอกจากลักษณะการสร้างเฟรมแบบจำแนกแล้วยังมีอีกวิธีการหนึ่งในการสร้างเฟรม คือ วิธีการกำหนดรายละเอียด(List) เป็นวิธีการที่แจกแจงรายละเอียดแล้วให้ผู้เรียนแยกส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระหรือวิธีการแก้ปัญหาออกมาจากรายละเอียดที่ปรากฏบนเฟรมนั้น

 

 

เอกสารอ้างอิง

วิเชียร  ชิวพิมาย. บทเรียนแบบโปรแกรม. ขอนแก่น : คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2544.

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 469372เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2011 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท