นักวิทยาศาสตร์ชุมชน


ช่วงเดือนก่อน (ตุลาคม ๒๕๕๔) ได้มีโอกาสสนทนากับทันตแพทย์ท่านหนึ่งซึ่งมีความรักในงานศิลปะและโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความเสียสละที่จะทำงานให้กับชุมชนและท้องถิ่น

ซึ่งท่านเสียสละตนเอง ทุนของตนเเองในการปวารณาตัวเข้าไปบูรณะปฏิสังขรณ์โบสถ์ของวัดแห่งหนึ่งในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

Large_resize_of_dsc02475

 

ในงานนี้ท่านใช้ทุนส่วนตัวเองทั้งหมด โดยเดินทางจากเชียงใหม่ไปอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนั้นร่วมเวลากว่า ๔ เดือน

นอกจากงานศิลปะที่ท่านได้ทำแล้ว ท่านยังขวนขวายหาประวัติของชุมชนชาวลับแล มาสร้างแรงบันดาลในให้กับงานศิลปะในโบสถ์แห่งนั้นด้วย

จากการพูดคุยในช่วงที่เราได้เข้าไปเยี่ยมชมโบสถ์แห่งนั้น ท่านก็ได้กล่าวคำพูดหนึ่งขึ้นมา หลังจากท่านได้ไปค้นคว้าประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ของชุมชนนั้นว่า

"ได้ไปพบซากปรักหักพังของโบราณสถานในชุมชนนั้นค่อนข้างมาก น่าจะมีหน่วยงานเข้ามาพิสูจน์ทราบได้ว่า อายุโบราณสถานเหล่านั้นมีอายุสักเท่าไหร่..."

ข้าพเจ้าก็มาฉุกฉิดต่อไปอีกว่า หน่วยงานไหนจะเข้าไปทำ โดยปกติที่ข้าพเจ้าทราบ (ซึ่งอาจจะผิด) น่าจะเป็นกรมศิลปฯ หรือมหาวิทยาลัยศิลปากรเข้าไปใช้พิสูจน์ทราบและใช้นำยาตรวจสอบเพื่อที่จะหาค่าของอายุตามโบราณสถานเหล่านั้น

Large_vv614

 

แต่ข้าพเจ้าก็คิดเลยต่อไปอีกนิดว่า มันยากมากสักแค่ไหนที่ใครสักคนจะใช้นำยาตรวจสอบทราบค่าความโบราณเหล่านั้น

ซึ่งข้าพเจ้าตั้งคำถามกับตนเองว่า

1. มหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ที่อยู่ใกล้เคียงทำได้หรือไม่? 2. ยากเกินกว่าความรู้และภูมิปัญญาของคนในที่ชุมชนจะรับและทำการพิสูจน์เองได้หรือไม่? และ 3.โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยากกว่าคนที่จะทำได้หรือไม่...?

เพราะถ้าจะให้หน่วยงานส่วนกลางมาพิสูจน์ทราบก็คงจะต้องยื่นเรื่องกันเป็นงานเป็นการ กว่าจะอนุมัติคงต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะจะต้องมีทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าล่วงเวลา ค่าอาหารอะไรต่ออะไรจิปาถะ

ใครจะเป็นคนเสนอไป คนที่รับจะให้ความสำคัญหรือไม่...?

ถ้าให้มหาวิทยาลัยซึ่งน่าจะมี "นักวิทยาศาสตร์" ระดับปริญญาเอกหลายคนอยู่ในนั้นทำได้หรือไม่...?

การพิสูจน์ค่าแบบนี้ จำกัดไว้เฉพาะนักโบราณคดีหรือไม่? นักวิทยาศาสตร์ทั่วไปทำได้หรือเปล่า...?

ถ้าทำได้ ก็จะเป็นภารกิจสำคัญที่จะทำให้เกิด "นักวิชาการสายรับใช้สังคมไทย" ขึ้นได้จากโจทย์ง่าย ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน

 

 

เพราะมหาวิทยาลัยใกล้เคียงก็ตั้งอยู่ห่างประมาณสิบกว่ากิโลเมตร ไปเช้าเย็นกลับได้ ค่าที่พัก อาหาร คงจะไม่มีอะไรมากนัก

และถ้าหากจะให้ยั่งยืน ถ่ายทอดความรู้เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นได้หรือไม่...?

จำเป็นไหมว่านักวิทยาศาสตร์จะต้องเรียน สายวิทย์-คณิต หรือจะต้องได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัย...?

 

Large_resize_of_dsc09500

 

นักโบราณคดีนั้นต้องเรียนจบมาโดยเฉพาะ หรือว่าเรื่องประวัติศาสตร์นั้นอยู่ในสายเลือดของคนไทย...?

ข้าพเจ้าเชื่อว่าคนไทยเราเก่ง แต่ขาดโอกาส เพราะคนที่เรียนสูงมักมองว่าคนในชุมชนในไม่พร้อมที่จะรับความรู้ คืออาจจะเพราะเขาเรียนน้อย ไม่มีปัญญา หรืออาจจะติดคำว่า "ชาวบ้าน"

ชาวบ้านจะทำได้อย่างไง ชาวบ้านจะมีปัญญาเหรอ...?

คำเหล่านี้เป็นกำแพงที่ขวางกั้นภูมิปัญญาไทยมานานนับศตวรรษ

ถ้าหากมหาวิทยาลัยจะรับใช้ท้องถิ่นจะต้องกำจัดคำว่า "ชาวบ้าน" เป็นลำดับแรก

เลิกเรียกคนอื่นว่า "ชาวบ้าน" ซึ่งคงจะต้องหาคำอื่นมาใช้กันต่อไป โดยอาจจะเป็นคำว่า "พี่น้อง" หรือ "หมู่มิตร" หรือ "ผองเพื่อน" อะไรก็สุดแล้วแต่

 

 

 

ชื่อเรียกสำคัญอะไรนักหรือ...?

มันสำคัญในจิตในใจของคนเรียก เพราะเป็นการขีดกั้นชั้นและวรรณะไปโดยปริยาย

ถ้าหากเรามองว่าทุกคนเป็นเพื่อนกัน เป็นคนเหมือน ๆ กัน เขาก็ต้องรับรู้และเรียนรู้ได้เหมือน ๆ กัน

เราซึ่งอาจจะเป็น ดร. ในจังหวัดเรา คนกรุงเทพฯ เขาก็เรียกเราว่าชาวบ้านในความรู้สึกของเขา

ถ้าหากเปิดใจแล้วสร้างความเสมอภาคให้กัน นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานอย่างมีเหตุมีผลจะเกิดขึ้นทุก ๆ หย่อมหญ้าในเมืองไทย

 

Large_vv631

คนไทยมีเหตุมีผล เราก็ต้องใช้เหตุผลในการสร้างความเป็นธรรม ความยุติธรรมให้กับทุก ๆ คน

คนไทยเก่งและเรียนรู้ได้ เราก็ต้องให้โอกาสเพื่อให้เขาได้รู้ เขารู้แล้วอาจจะเก่งกว่าเราเสียอีก เพราะเขาคลุกคลี และมีพื้นฐานในบริบทนั้น ๆ มากกว่าเรา เขามีเวลาที่จะครุ่นคิด ใคร่ครวญมากกว่าเรา

ประสบการณ์เขาเยอะ แต่เขาขาดเพียงหลักการและทฤษฎี ไอ้เรามันมีทฤษฎีแต่ขาดประสบการณ์

เราและเขาควรจะปรับตัวเข้าหากัน เปิดใจให้กัน เพื่อสร้างสรรค์ชุมชนและท้องถิ่นไทย...

 Large_resize_of_bb03

หมายเลขบันทึก: 468922เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2011 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"..ประสบการณ์เขาเยอะ แต่เขาขาดเพียงหลักการและทฤษฎี ไอ้เรามันมีทฤษฎีแต่ขาดประสบการณ์.."
ตรงใจตนเองเช่นกันคะ
หากนักวิชาการในมหาวิทยาลัยได้ทำงานร่วมกับชุมชน
มหาวิทยาลัยชื่นชมคนที่ทำงานรับใช้สังคม
ประเทศไทยน่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้นได้
..
อ่านเรื่องนี้แล้วคิดถึง "จิตอาสา"
ของท่านพระอาจารย์ไพศาล  

จิตอาสานั้นมีอยู่ในตัวคนทุกคน
เพราะทุกคนล้วนมีความปรารถนาจะทำความดี
แต่ในบางครั้งนั้นความดีอาจจะถูกสกัดด้วยความกลัว
เช่น กลัวจะทำไม่ได้กลัวคนอื่นหัวเราะเยาะ
กลัวเพื่อนร่วมงานหมั่นไส้
ถ้าเรายอมให้ ความกลัว มาครอบงำ
การเป็นจิตอาสานั้นก็จะไม่มีวันที่เป็นคนที่มีจิตอาสาได้  

 

ในบางครั้งคนที่เก่ง ๆ อย่างพวกเรา ที่มักคิดว่าเราเก่งกว่าเขาเพราะเรามีเรียนมา มีปริญญา มีความรู้ความสามารถมากกว่าก็มักจะ "ตกม้าตาย"

สมัยเรียนเราอาจจะเก่งจริง เพราะเราตั้งใจเรียน เรากันหามรุ่งหามค่ำ แต่การเรียนแบบนั้นหลาย ๆ คนมันจบไปแล้ว

คือเมื่อมาทำงานก็หยุดเรียน แล้วก็นั่งนอนกอดปริญญาเอาไว้ แล้วคิดในใจเสมอว่า ตัวกู ปริญญาของกู...

แต่เราลืมนึกไปว่า ไอ้ที่เราเรียนมามันเป็นทฤษฎี มันเป็นปรัชญา ส่วนใหญ่มันถูกถอดความมาจากนักวิชาการที่อ่านตำหรับตำราอยู่ในห้องแคบ ๆ

ซึ่งแตกต่างจาก "คน" ที่แสวงหาความรู้มาด้วย "ชีวิต"

ต้องใช้ทั้งปากกัดและตีนถีบจึงมีชีวิตรอดมาถึงทุกวันนี้ได้

บ้านเมืองเราเพิ่งจะมาใช้คำว่า R2R (Research to Routine) กันไม่กี่ปี แต่ความจริง คนที่ปากกัดตีนถีบเขาทำกันมานานแล้ว แต่เขาไม่ใช้คำนี้ ไม่มีคำสวย ๆ หรู ๆ ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเรียกว่าอะไร...!

เราทำกันก็เพื่อผลงาน บางครั้งก็ฉาบฉวย บางครั้งก็เพื่อร่ำเพื่อรวย แต่เขาทำเพื่อครอบครัว เพื่อลูก เพื่อหลาน เพื่อชีวิต แรงผลักดันในตัวที่ขับออกมานั้นต่างกันเยอะ

แต่ไม่มีใครไปเชิดชูเขา มีแต่เหยียบย่ำ ซ้ำเติมด้วยคำว่า "ชาวบ้าน" เรียนน้อย ต้องรู้น้อยสิ ฉันเรียนมาก ฉันเป็นผู้รู้มาก

ถ้าหากเพียงเราเอาทฤษฎีที่เรารู้ไปจับสิ่งที่เขาทำ เราจะรู้ว่าทฤษฎีที่เราเรียนนั้นมีค่าไม่ถึงครึ่งหนึ่งในสิ่งที่เขามี

ทฤษฎีมันเกิดขึ้นจากความรู้และประสบการณ์ นักวิชาการสมัยใหม่บางครั้งไม่มีประสบการณ์แต่สามารถตั้งทฤษฎีได้

อันนี้ต้องย้อนรวมไปถึงประสบการณ์ในการทำวิจัยทั้งในระดับอุดมศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับปริญญาเอกที่น่าจะย้อนกลับมาตีความให้ดีกว่า การวิจัยที่ได้ปริญญามานั้นเพียงพอต่อการยกย่องจากสังคมหรือไม่

การวิจัยในระดับปริญญาเอกอาจจะสามปี หรือห้าปี จะเทียบได้หรือกับการทำ R2R ของคนคนหนึ่งที่ทำมาสามสิบหรือห้าสิบปี

ทุกย่างก้าวของทุก ๆ คนนั้นต้องเหยียบย่างไปบนความรู้ และทุก ๆ คนก็เก็บเกี่ยวความรู้นั้นมาพัฒนาและปรับปรุงตัวเองโดยธรรมชาติ

ดังนั้นทุกคนที่มีความต้องการในการที่จะพัฒนาตนเองนั้นย่อมไม่หยุดเรียนรู้

ปริญญาเป็นดาบสองคม เพราะบางคนได้แล้วก็หยุดเรียนรู้ เพราะมีปริญญาของกูกอดแนบแน่นอยู่ในหัวใจ

การไม่มีปริญญาก็ดีเหมือนกันนะ เพราะทำให้ตัวเองรู้สึกว่าต้องเป็นผู้เรียนรู้อยู่ตลอด

คนมีปริญญามักคิดว่าตัวเองเรียนจบ การไม่มีปริญญาก็ยังคิดว่าตัวเองเรียนไม่จบ ไอ้ที่คิดว่าตัวเองเรียนไม่จบนี่แหละดี เพราะจะได้มีการเรียนรู้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

คนเราเดี๋ยวนี้ทำงานนาน ตำแหน่งก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ บางครั้งก็ลดตัวลงมาเรียนรู้ยาก เพราะกลัวคนอื่นจะคิดว่าตัวเองไม่รู้ ต้องนั่งหน้าชูคอทำตัวเสมือนเป็นผู้รู้อยู่ตลอด

 

คนตัวน้อย ๆ ตำแหน่งเตี้ย ๆ นี่แหละดี จะไปเรียนรู้ที่ไหนก็สบาย เพราะไม่มีหัวโขนหรืออะไรต่ออะไรมาค้ำคอ

ไปที่ไหนก็ก้มหัวไหว้ใครต่อใครได้อย่างสบาย ๆ

ธรรมสี่ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พลัง ย่อมเจริญแก่ผู้มีปกติกราบไหว้ และมีความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิจ

ความอ่อนน้อมถ่อมตนนี่เองจึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญของคนที่ตั้งมั่นใน "การเรียนรู้..."

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท