จ.ชุมพรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


เมื่อถึงเวลาที่สังคมชุมพรหันมาตระหนักในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราจะต้องนำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาใช้ประโยชน์ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และสังคม โดยเฉพาะในการกำหนดยุทธศาสตร์จังหวัดเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่

     ท่านที่ติดตามข่าวน้ำท่วมทางทีวีอยู่ทุกวันคงจะคุ้นกับชื่อ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ของรัฐบาล ล่าสุด ดร.อานนท์ ได้รับการได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ชุดที่มี นายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษา

     ผู้เขียนมีโอกาสทำงานกับ ดร.อานนท์ มาตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2552 โดยการประสานงานของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ หรือ IUCN ให้เข้ามาร่วมงานกับศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (START) ที่ดร.อานนท์เป็นผู้อำนวยการอยู่ จากนั้นผู้เขียนก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ชมรมรักษ์เกาะเต่า” ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้เขียนทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการในการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) วาระต่าง ๆ เวลาเดินทางไปเกาะเต่าเราชอบที่จะนัดหมายมาขึ้นเรือพร้อมกันที่ จ.ชุมพร เดินทางไป-กลับในเที่ยวเดียวกัน จะได้มีเวลาพูดคุยกันมากขึ้น

     ข้อมูลดี ๆ ที่ ดร.อานนท์ วิเคราะห์ภายใต้แบบจำลองภูมิอากาศของเกาะเต่าในอนาคตช่วง 30 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2553-2582) ผู้เขียนได้เก็บรวบรวม สะสม และนำมาใช้ประโยชน์ในวาระต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้ในวิชา GE4010 การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิตทั้ง 3 แห่งของ จ.ชุมพร คือ เมืองชุมพร, หลังสวน และพะโต๊ะ ผู้เขียนได้สรุปเป็นประเด็นชัด ๆ นำเสนอพร้อมรูปภาพ กราฟสถิติ ฯลฯ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ร่วมกัน ดังนี้

  • อุณหภูมิ จะ ร้อนขึ้น โดยเฉลี่ย 0.5-1 องศาเซลเซียส แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ ร้อนจัด 35 องศาเซลเซียสของกรมอุตุนิยมวิทยา
  • ปริมาณฝนและปริมาณน้ำ ปีที่ ฝนตกหนักเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 26% แต่ยังคงมีจำนวนปีที่ฝนแล้งใกล้เคียงกับในอดีต คือ ประมาณ 10 ปีในรอบ 30 ปี ทำให้ปริมาณน้ำบนเกาะเต่ามีความแปรปรวนเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว การจัดการน้ำในระยะยาวที่สำคัญจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มศักยภาพของป่าต้นน้ำเพื่อให้ในปีที่มีน้ำมากคงเหลือปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้สำหรับปีที่มีน้ำน้อย รวมทั้งจะต้องมีระบบที่ไม่ใช่เพียงการจัดการเพียงเพื่อให้รอดฤดูแล้งเป็นปี ๆ ไปเท่านั้น
  • ลมมรสุม พบว่าจำนวนวันที่ลมมรสุมกระโชกแรง (ซึ่งไม่ใช่ลมจากพายุหมุน) อาจจะเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ทำให้เป็นอุปสรรคบ้างสำหรับการเดินเรือและขนส่งระหว่างเกาะ 
  • พายุหมุนจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ จำนวนพายุดีเปรสชั่นซึ่งเป็นพายุที่มีกำลังลมอ่อนที่มีสัดส่วนที่ลดลงจาก 54% เหลือ 46% ในขณะที่ พายุไต้ฝุ่นซึ่งเป็นพายุที่มีกำลังลมแรงกลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 13% เป็น 23% ดังนั้น จึงคาดว่าแนวโน้มของจำนวนพายุไต้ฝุ่นในช่วง 30 ปีข้างหน้านี้จะเพิ่มเป็น 4 ลูก ในขณะที่ดีเปรสชั่นอาจจะลดลงเหลือ 6 ลูก แต่สำหรับพายุโซนร้อนซึ่งเป็นพายุขนาดกลางนั้นน่าจะคงจำนวนอยู่ที่ 5 ลูกในช่วง 30 ปี
  • การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ในอีก 30 ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลน่าจะเพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2551 ประมาณ 20 เซนติเมตร ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อเสถียรภาพของชายฝั่ง โดยเฉพาะหาดทรายที่มีความลาดชันน้อย ทำให้ชายหาดถูกกัดเซาะลึกเข้ามาในแผ่นดินประมาณ 20 เมตร 

     ผู้เขียนประเมินว่าสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกาะเต่าใกล้เคียงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลชุมพร เพราะเกาะเต่าอยู่ห่างจากปากน้ำชุมพรเพียง 74 กิโลเมตร ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่สังคมชุมพรหันมาตระหนักในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราจะต้องนำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาใช้ประโยชน์ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และสังคม โดยเฉพาะในการกำหนดยุทธศาสตร์จังหวัดเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่.

หมายเลขบันทึก: 468879เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2011 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จากลามาถึงเร็ววัน

ความสุขแสนสั้นเสมอ

ความทุกข์ยาวมากไม่อยากเจอ

สุขทุกข์ไม่เผลอก็ต้องลา

 

นี่ก็ผ่านมา 5 ปีแล้ว มีใครไปวัดหรือยังว่าน้ำทะเลที่นั่นเพิ่มขึ้นกี่เซ็น แต่ที่สงขลาน้ำทะเลไม่เพิ่ม มี่แต่ชายหาดพังทลายที่เกิดจากการสร้างเขื่อนและกำแพงริมชายฝัง ดูได้ที่นี่ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท