แนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของสำนักฟิซิโอแครต


นักเศรษฐศาสตร์สำนักฟิซิโอแครต มีอิทธิพลต่อแนวความคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์ในประเทศฝรั่งเศสเป็นอย่างมากในตอนกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ พัฒนาการทางความคิดของนักเศรษฐศาสตร์สำนักนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากสภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศฝรั่งเศสที่ต้องเผชิญกับการทำสงครามอยู่ตลอดเวลา นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของสำนักฟิซิโอแครต คือ ฟรังซัวส์ เกส์เนย์ (Francois Quesnay) และมีนักเขียนอีกมากมายในสำนัก เช่น แคนติลอง (Cantillon) กูร์เนย์ (Gournay) มิราโบ (Mirabeau) ตูร-โกต์ (Turgot) ดูปองต์ เดอ เนอมูรส์ (Dupont de Nemours) และแมร์ซิเอร์ เดอ ลา ริเวียร์ (Mercier de la Riviere) เป็นต้น ซึ่งเสนอแนวทางให้รัฐบาลควบคุมและแทรกแซงการดำเนินงานของเอกชนให้น้อยที่สุด และให้เสรีภาพแก่ประชาชนให้มากที่สุด กลุ่มนี้เชื่อว่ามีกฎของธรรมชาติซึ่งมีอิทธิพลเหนือกิจกรรมของมนุษย์ทุกคน ปัญหาก็คือจะต้องค้นหากฎธรรมชาติดังกล่าวนี้ และดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎนั้น จึงเป็นที่มาของคำว่า “Physiocracy” ซึ่งมีความหมายว่า “กฎธรรมชาติ”  แรงจูงใจที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์สำนักฟิซิโอแครตเสนอแนะแนวความคิดดังกล่าว เนื่องจากว่า ในระยะเวลาเดียวกันกับที่ลัทธิพาณิชย์นิยมเฟื่องฟูอยู่ในประเทศอังกฤษนั้น ประเทศฝรั่งเศสเองก็ได้มีความพยายามที่จะทำให้ประเทศของตนเองมีความเจริญก้าวหน้าทางการค้าไม่น้อยไปกว่าประเทศอังกฤษ ในระยะนั้นประเทศฝรั่งเศสอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เป็นเวลาถึง ๗๒ ปี (ค.ศ. ๑๖๔๓-๑๗๑๕) และต่อจากนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ ก็ปกครองประเทศต่อมาอีกเป็นเวลา ๕๙ ปี (ค.ศ. ๑๗๑๕-๑๗๗๔)

           ช่วงระยะเวลาอันยาวนานที่ประเทศฝรั่งเศสมีกษัตริย์สองพระองค์เป็นผู้ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างมาก ประเทศฝรั่งเศสอยู่แต่การทำสงคราม การสูญเสียอาณานิคมบางส่วนไปและการได้อาณานิคมใหม่เพิ่มขึ้นมา การทำสงครามตลอดจนการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยในราชสำนักทำให้ประทศฝรั่งเศสตกอยู่ในฐานะที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวและประสบกับความหายนะทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันแม้ว่าการขยายตัวทางการค้าและอุตสาหกรรมจะได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในประเทศอังกฤษ แต่ประเทศฝรั่งเศสยังคงเป็นประเทศที่พึ่งพาเกษตรกรรมเป็นหลัก เกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของชาวฝรั่งเศส และเป็นแหล่งใหญ่ในการทำรายได้ให้แก่ราชสำนัก แต่เนื่องจากชาวนาต้องรับภาระภาษีที่สูงมาก ชาวนาซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจึงอยู่ในสภาพที่ยากจน อาจกล่าวได้ว่าประเทศฝรั่งเศสในยุคนี้เป็นประเทศที่เรียกเก็บภาษีมากมายหลายชนิดและอัตราภาษีก็สูงมาก ซึ่งสร้างความทุกข์ยากให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก บุคคลเพียงสองกลุ่มที่ได้รับอภิสิทธ์ไม่ต้องเสียภาษีคือ พวกขุนนางและพวกพระ โดยกลุ่มแรกอ้างว่าได้เสียสละเลือดเพื่อราชบัลลังก์ ส่วนกลุ่มหลังอ้างว่าได้ทำการสวดภาวนาให้แก่ราชบัลลังก์ ในขณะที่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมขาดแรงจูงใจในการผลิตเนื่องจากภาษีสูง แต่อุตสาหกรรมและการค้ากลับได้รับการคุ้มกันและได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ นานา ซึ่งทำให้การผลิตขาดประสิทธิภาพและมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้และผลผลิตให้แก่ประเทศน้อยมาก ดังนั้นนโยบายของประเทศที่ให้การสนับสนุนและสิทธิพิเศษแก่การค้าและอุตสาหกรรมโดยที่เกษตรกรรมเป็นฝ่ายที่ต้องเสียผลประโยชน์นับวันก็จะได้รับการต่อต้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งสภาพการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดแนวคิดอย่างกว้างขวางในอันที่จะทำให้ประเทศฝรั่งเศสรอดพ้นจากความหายนะ และด้วยเหตุนี้ แนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ในประเทศฝรั่งเศสในขณะนั้นจึงเป็นแนวความคิดที่มีแนวทางที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากลัทธิพาณิชย์นิยมและหันมาเน้นเรื่องการเกษตรกรรมซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของประเทศ

             แนวความคิดของฟิซิโอแครต หลักส่วนใหญ่ที่สำคัญจัดว่าเป็นเสรีนิยม (laissez faire) โดยเฉพาะการเสนอแนะทางด้านการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ มีทฤษฎีและแนวความคิดในการกำหนดบทบาทของรัฐบาลภายใต้ระบอบการปกครองที่สร้างระบบให้เป็นระเบียบตามธรรมชาติ (natural order) ไม่มีรูปแบบของการแทรกแซงใด ๆ ในระบบเศรษฐกิจโดยทั่วไป การปฏิบัติตนของบุคคลใดทางอ้อมจะบรรลุความดีงามในลักษณะที่คล้ายคลึงกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่าการแทรกแซงของรัฐบาล ทฤษฎีของสำนักฟิซิโอแครต กล่าวถึงการเกษตรว่า เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (economic activity) เพียงกิจกรรมเดียวที่มีประโยชน์ (productive) กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลง (Transformation of goods) เกี่ยวกับตัวสินค้าเท่านั้น การเกษตรเป็นการผลิตที่ธรรมชาติให้ความร่วมมือกับมนุษย์ทำการสร้างสินค้าประเภทใหม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสำนักฟิซิโอแครตก็เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นหมันหรือไม่ก้อให้เกิดประโยชน์อื่น ๆ เช่น การอุตสาหกรรมและการค้าขายยังคงมีประโยชน์อยู่บ้างแต่น้อยกว่าการเกษตร เนื่องจากว่ากิจกรรมเหล่านั้นไม่สามารถที่จะสร้างปริมาณสินค้าให้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่จะทำให้กิจกรรมในสาขาดังกล่าวสามารถดำเนินอยู่ได้ ในแง่ของสำนักฟิซิโอแครตแล้ว การเกษตรแต่เพียงกิจกรรมเดียวที่อยู่ในฐานะให้ผลตอบแทนที่เรียกได้ว่าสุทธิ (net product) ในทำนองเดียวกันภาษีอากรทุกชนิดจะเก็บจากผลผลิตสุทธิดังกล่าว เช่น การเก็บภาษีค่าเช่าจากเจ้าของที่ดิน เป็นต้น แนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์สำนักฟิซิโอแครตที่สำคัญคือ

 

ฟรังซัวส์ เกส์เนย์ (Francois Quesnay ค.ศ. ๑๖๙๔-๑๗๗๔) นับได้ว่าเป็นผู้วางรากฐานที่แท้จริงในแนวคิดของสำนักนี้ โดยเชื่อใน “กฎของธรรมชาติ” และเชื่อว่ากฎนี้จะช่วยชี้แนวทางให้แก่มนุษยชาติในการดำเนินงานไปโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวนี้อาจกล่าวได้ว่าได้วางพื้นฐานให้แก่ทฤษฎีซึ่งมีปรัชญาในการให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการที่จะประกอบกิจกรรมใด ๆ ตามความปรารถนา (laissez faire) นักฟิซิโอแครตไม่เห็นด้วยกับนักพาณิชย์นิยมที่ถือว่า การสะสมโลหะมีค่าจะนำประเทศไปสู่ความเจริญมั่งคั่ง แต่เขากลับให้ความสำคัญต่อที่ดินว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุด และเมื่อแรงงานได้ถูกนำไปใช้ร่วมกับที่ดินแล้ว ก็จะก่อให้เกิดส่วนเกิน (surplus) หรือผลผลิตสุทธิ (net product) แก่ประเทศ กิจกรรมอื่น ๆ เช่น การค้า การขนส่ง และหัตถกรรมไม่สามารถก่อให้เกิดส่วนเกินได้เช่นเกษตรกรรม เกษตรกรรมเท่านั้นซึ่งนำผลได้มาให้แก่ประเทศมากกว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไป ดังนั้นจึงก่อให้เกิดส่วนเกินขึ้นซึ่งไม่มีผู้ใดสูญเสียประโยชน์ ตำราที่เขียนโดย ฟรังซัวส์ เกส์เนย์ ชื่อ Tableau Economique ซึ่งจัดพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๗๕๘ เป็นตำราที่มีชื่อเสียงมาก นับเป็นเล่มแรกที่พยายามอธิบายถึงการทำงานของระบบเศรษฐกิจของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งพยายามใช้ตัวเลขและข้อมูลเพื่อแสดงให้เห็นจริงมากที่สุด โดยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของรากฐานของความเท่ากันหรือเหมือนกัน (fundamental identity) ระหว่างผลผลิต (output) และรายได้ (income) ของระบบเศรษฐกิจใดระบบเศรษฐกิจหนึ่ง รากฐานของความเท่ากันดังกล่าว แสดงได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า รายได้ของระบบเศรษฐกิจจำเป็นจะต้องเท่ากับปริมาณการผลิตของสินค้าและบริการซึ่งการผลิตดังกล่าวได้สร้างรายได้ขึ้น และยังแสดงให้เห็นว่า มีการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกันอย่างไรระหว่างชนชั้นที่มีประโยชน์สองชนชั้น คือ เจ้าของที่ดินผู้ที่ทำการผลิตสินค้าเกษตรกรรมและชนชั้นที่เป็นหมันหรือไม่มีประโยชน์ (sterile class) หรืออาจกล่าวได้ว่า ตำราดังกล่าวพยายามแสดงให้เห็นถึงการไหล (flow) ของสินค้าไปในทิศทางหนึ่ง และการไหลของอำนาจซื้อ (purchasing power) ไปในอีกทิศทางหนึ่ง กระบวนการไหลดังกล่าวจึงหล่อเลี้ยงหรือใช้จ่ายโดยการลงทุนหรือการใช้จ่ายล่วงหน้า (capital investment or asvances) ซึ่งจำเป็นจะต้องมีอยู่ตลอดไปตราบใดที่ยังคงต้องการให้วงจรหรือกระบวนการไหลดังกล่าวดำเนินอยู่

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 468208เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2011 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท